ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปลุกกระแสอีกครั้งสำหรับประเด็น “ถอดพระพุทธศาสนาออกจากบทเรียน” บนเวทีชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการของ “ม็อบนักเรียนเลว” กลุ่มเยาวชนขบถการศึกษาที่รวมตัวเฉพาะกิจ เพื่อเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
“การปฏิรูปการศึกษา เด็กไทยใช้เวลาเรียนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศในทวีปอัฟริกา เด็กไทยใช้เวลาเรียนสูง 1,200 ชั่วโมงต่อปี ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่เจริญแล้วใช้เวลาเรียนประมาณ 600 - 800 ชั่วโมงต่อปี ผู้ใหญ่บางคนอาจจะคิดว่า เออ...ดีแล้วนิ ยิ่งเรียนเยอะ ยิ่งเก่ง ยิ่งมีความรู้ แต่ถามจริงๆ เถอะ หลักสูตรไทยในปัจจุบันมีประสิทธิภาพแล้วจริงๆ เหรอ? การศึกษาที่ประสบความสำเร็จ คือ สามารถดึงประสิทธิภาพของเด็กออกมาให้มากที่สุด”
“แต่ถามจริงๆ เถอะ วิชาที่ไม่จำเป็นอย่างพระพุทธศาสนา กิจกรรมที่ไม่จำเป็นสมุดจริยธรรม สามารถดึงศักยภาพเด็กออกมาได้ตรงไหน ศักยภาพเพียงอย่างเดียวที่ดึงออกมาได้ คือความอดทนอดกั้นต่อระบบการศึกษาที่โคตรห่วยแตก”
นั่นคือส่วนหนึ่งของเนื้อหาปราศรัยบนเวทีม็อบนักเรียนเลวที่เป็นไปอย่างดุเดือดและประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันก็คือเรื่องการเรียนการสอน “วิชาพระพุทธศาสนา” ในโรงเรียน
ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนกลับไป ปี 2533 เคยเกิดกระแสรณรงค์ให้ยกเลิกวิชาพระพุทธศาสนาเป็นวิชาบังคับ เรียกร้องให้กระทรวงศึกษาตัดทอนเนื้อหาและเวลาเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในระดับมัธยมฯ และประถมฯ โดยมีเหตุผลสนับสนุนว่า ผู้เรียนควรมีสิทธิ์เลือกเรียนศาสนาตามความเชื่อหรือความสนใจของตนเอง
โดยปัญหาสำคัญที่ออกมาเรียกร้องคือ การเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาของไทยไม่ประสบความสำเร็จ เต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรค โดยเฉพาะเรื่องเนื้อหาซ้ำๆ เน้นท่องจำ ครูผู้สอนขาดความรู้ทักษะเฉพาะทาง ดังนั้น ควรลดเนื้อหาและลดเวลาเรียนพระพุทธศาสนา หรือให้ยกเลิกการเรียนการสอนไปเลย ซึ่งในขณะนั้นมีผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาฯ เสนอให้มีวิชาจริยธรรมสากล แทนวิชาพระพุทธศาสนา แต่สุดท้ายประเด็นถูกปัดตกไป
เนื่องจากเสียงทัดทานจาก “พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)” ซึ่งปัจจุบันมีสมณศักดิ์ที่ “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” โดยสมเด็จฯ เขียนหนังสือชื่อ “ทำไมคนไทยจึงเรียนพระพุทธศาสนา? ข้อพิจารณาเกี่ยวกับวิชาพระพุทธศาสนาและจริยศึกษาในหลักสูตรการศึกษาของชาติ” ให้ข้อมูลความรู้และข้อโต้แย้ง มีจุดยืนสำคัญ 2 ประการ คือ 1. พุทธศาสนาเป็นแกนหลักของวัฒนธรรมไทย/ความเป็นไทย และ 2. พุทธศาสนามีคุณค่าต่อชีวิตปัจเจกบุคคล สังคมไทย และมนุษยชาติ สรุปได้ว่าเด็กไทยทุกคนควรศึกษาพุทธศาสนา
นอกจากนี้ ยังมีฝ่ายสนับสนุนออกมาคัดค้านการยกเลิกวิชาพระพุทธศาสนาเป็นวิชาบังคับว่า วิชาพระพุทธศาสนานั้นดีมีประโยชน์ นำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ขัดเกลาเป็นคนดีมีศีลธรรม รวมไปถึงการเรียนพุทธศาสนาสอดคล้องกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมความไทย
ดังนั้น การเรียกร้องให้ถอดพระพุทธศาสนาออกจากระบบการศึกษาของไทยของ “ม็อบนักเรียนเลว” ในปี 2563 ที่ตั้งเป้าให้เกิดปฏิรูปในระบบการศึกษาไทย จึงถูกสังคมจับตามองเป็นพิเศษ รวมทั้ง ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใหญ่บางคนว่าอนาคตของชาติมีแนวคิดที่ไม่ถูกไม่ควร
อย่างไรก็ดี ม็อบนักเรียนเลว ที่มีการชุมนุมบริเวณหน้ากระทรวงศึกษาฯ เมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ได้เรียกร้องให้เกิดปฏิรูประบบการศึกษาไทย โดยประเด็นที่น่าสนใจคือข้อเรียกร้องเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องยังคงล้าหลัง ไม่แปรเปลี่ยนไปตามสภาพสังคมอย่างวิชาพระพุทธศาสนา
บทความเรื่อง ยกเลิก “วิชาพระพุทธศาสนา” เรียนจริยศาสตร์ (Ethics) ระดับมัธยมปลาย โดย สุรพศ ทวีศักดิ์ อธิบายความเป็นมาของการเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในเมืองไทย ระบุว่าในสมัยก่อนเป็นวิชาศีลธรรมจากนั้นมีพัฒนาการมาเรื่อยๆ โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 เปลี่ยนมาเป็น “วิชาพระพุทธศาสนา” ในปัจจุบันที่เรียนกันตั้งแต่ระดับประถมจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย สนับสนุนให้ยกเลิกการเรียนวิชาพระพุทธศาสนาระดับมัธยมปลาย และให้เรียนวิชาจริยศาสตร์ (Ethics) แทน
ทั้งนี้ ภาพรวมการศึกษาด้านศาสนา (religious education) แบ่งเป็น 2 แบบหลักๆ แบบแรก คือ การศึกษาที่มุ่งให้เกิดความรู้และศรัทธาในคำสอน การปฏิบัติพิธีกรรม การสร้างอัตลักษณ์ทางศาสนา หรือความเป็นศาสนิกที่ดีของศาสนานั้นๆ แบบที่สอง คือการศึกษาศาสนาเชิงวิชาการที่มุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องศาสนาแบบกลางๆ เช่นการศึกษาศาสนาในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา หรือศึกษาเปรียบเทียบคำสอนของศาสนาต่างๆ ในวิชาศาสนาเปรียบเทียบ หรือการศึกษาแบบวิเคราะห์ตีความหลักปรัชญา โลกทัศน์ ชีวทัศน์ในหลักคำสอนของศาสนานั้นๆ อย่างที่ศึกษากันในวิชาปรัชญาศาสนาเป็นต้น
“ปัญหาของระบบการศึกษาไทยที่ต่างจากที่อื่นๆ คือ การกำหนดให้วิชาพระพุทธศาสนาเป็นวิชาบังคับในโรงเรียนของรัฐ เป็นการบังคับให้คนทุกศาสนา และคนไม่มีศาสนาต้องเรียนวิชาพระพุทธศาสนา ไม่เช่นนั้นก็ไม่จบตามหลักสูตรภาคบังคับ จึงขัดกับหลักการที่รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา และขัดหลักเสรีภาพทางศาสนาชัดเจน แม้ว่าจะไม่ใช่การบังคับให้คนศาสนาอื่น หรือคนไม่มีศาสนาหันมานับถือพุทธศาสนาก็ตาม แต่ก็ย่อมเป็นการบังคับให้พวกเขาต้องเรียนในสิ่งที่ขัดต่อเจตจำนงของตนเอง (ในแง่นี้จึงขัดหลักสิทธิมนุษยชน)”
ข้อเขียนของ สุรพศ ทวีศักดิ์ สะท้อนมุมมองสนับสนับสนุนการยกเลิกวิชาพระพุทธศาสนาเป็นวิชาบังคับ เรียกร้องให้พัฒนาปรับปรุงบทเรียน เน้นย้ำว่าทุกคนควรมีเสรีภาพในการเลือกเรียนรู้ศาสนาในแบบที่ตนเองสนใจ และนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้มากกว่าถูกบังคับให้เรียน
ผศ.ดร.กิตติชัย สุธาสิโนบล ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อนุกรรมการด้านหลักสูตรการปฏิรูปการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยปัญหาการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนา ผ่านบทความเรื่องการจัดการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาที่เหมาะสมกับผู้เรียนในสังคมไทยยุคปัจจุบัน ความว่า
ปัญหาด้านการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน พบว่า เนื้อหามากและยากเนื่องจากนำหลักธรรมมาใช้มากเกินไป เวลาที่ใช้สอนมีน้อย มีความซ้ำซ้อนไม่เหมาะกับบริบทของผู้เรียนในแต่ละช่วงชั้น ปัญหาด้านกระบวนการเรียนการสอน ครูผู้สอนส่วนใหญ่ใช้การสอนแบบบรรยายเป็นหลักซึ่งเป็นวิธีการสอนแบบ Passive Learning มากกว่าที่จะจัดการเรียนการสอนที่อยู่ในรูปของการปฏิบัติ Active Learning ไม่ได้สอนให้เด็กเรียนรู้ถึงคุณค่าแท้จริงของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
โดยเสนอแนะในประเด็นดังกล่าวว่า ครูผู้สอนและพระสอนศีลธรรมควรเปลี่ยนมุมมองในการจัดการเรียนการสอนใหม่ที่ให้เด็กได้คิดและนำไปดำเนินชีวิตโดยใช้กระบวนการทางปัญญา คิดค้นรูปแบบการเรียนการสอนที่สามารถพัฒนา พฤติกรรมพัฒนาจิตใจ และเสริมสร้างปัญญาให้กับเด็ก รวมทั้ง ด้านการวัดและประเมินผลในวิชาพระพุทธศาสนา ไม่ควรตัดเกรด เนื่องจากเป็นวิชาชีวิตที่ควรใช้รูปแบบการประเมินเชิงพัฒนาการในการเรียนรู้ และพฤติกรรมที่สอดคล้องกับความดีงามในชีวิตประจำวัน
ข้อเรียกร้องของ “ม็อบนักเรียนเลว” ต่อประเด็นปฏิรูปการศึกษา วันนี้อาจไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้ยกเลิกการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนา แต่กระทุ้งให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหลียวมองปัญหาหลักสูตรและกระบวนการสอนอีกครั้ง
อาจไม่ถึงขั้นถอดวิชาพระพุทธศาสนาออกจากระบบการศึกษาไทย เพียงแต่ปรับให้ทันยุคทันสมัย
แต่ที่สำคัญและต้องคำนึงถึงให้มากก็คือ “พุทธศาสนา” คือรากฐานที่สำคัญในการเป็น “ประเทศไทย” เป็นหนึ่งใน 3 สถาบันหลักที่ประกอบไปด้วย “ชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์” ดังนั้น นี่จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะไม่ใช่แค่เรื่องตื้นเขินแบบที่ “นักเรียนเลว” เสนอขึ้นมาอย่างสนุกปากแน่นอน.