xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

หนีไม่พ้น ! ลุยรีดภาษี “ร้านค้าออนไลน์” “อินบ็อกซ์” แจ้งราคาปรับหมื่นบาท

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  มูลค่าตลาดออนไลน์ (E-commerce) ของไทย ปี 2563 คาดการณ์ไว้ว่า มีมูลค่าสูงถึง 220,000 หรือ เติบโต 35 %  ไม่เพียงเท่านั้น นับตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่าคนไทยซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นกว่า 478% 

หลายปีที่ผ่านมาเม็ดเงินสะพัดในตลาดออนไลน์หลายหมื่นหลายแสนล้าน สร้างกำไรเต็มเม็ดเต็มหน่วยให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์โดยไม่ต้องเสียภาษี กรมสรรพากรพยายามอุดช่องโหว่ผลักดันกฎหมายใหม่ กำหนดให้ร้านค้าออนไลน์เสียภาษีตามเกณฑ์กำหนด ตามกฎหมายใหม่  “ภาษีอีเพย์เมนต์ (e-Payment) พ.ศ. 2562” หรือ “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562” โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 2562

และให้สถาบันการเงินส่งรายงานธุรกรรมครั้งแรกต่อกรมสรรพากร ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2563 พุ่งเป้าไปที่บัญชีที่มียอดฝากโอนตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปีและยอดรวมตั้งแต่ 2 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป หรือ ยอดฝาก-โอนเข้าบัญชีตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป ทั้งนี้ กรมสรรพากรจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับตัวบุคคล เลขที่บัญชีเงินฝาก, จำนวนครั้งของการฝากหรือโอนรับเงิน, ยอดรวมของการฝากหรือโอนรับเงิน เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลและดำเนินการเก็บภาษี

ปี 2563 กรมสรรพากรตั้งเป้าดึงกลุ่มนิติบุคคล บุคคลธรรมดา และกลุ่มค้าออนไลน์ที่อยู่นอกระบบภาษี ให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น โดยตั้งเป้าเพิ่มการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดาให้ได้ 11 ล้านคน จากปีงบ 2562 มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี 10.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี 10 ล้านคน

นอกจากนี้ ได้จัดตั้งกองสำรวจคนที่อยู่นอกระบบและตรวจสอบกลุ่มค้าออนไลน์ ทั้งในรูปแบบที่ค้าขายปกติ และรูปแบบไลฟ์เพื่อขายสินค้า โดยใช้ web scraping ซึ่งเป็นระบบที่ดึงข้อมูลจากออนไลน์มาวิเคราะห์ตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ปี 2562 สามารถสแกนและดึงคนที่อยู่นอกระบบเข้ามาเสียภาษีได้ถึง 100,000 ราย เป็นเงิน 1,000 ล้านบาท ส่วนปี 2563 ตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 170,000 ราย รวมทั้ง ได้นำระบบ Data Analytics มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์

สำหรับมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเฉพาะ B2C (Business-to-Consumer) และ C2C (Consumer-to-Consumer) ช่องทาง E-Marketplace อย่าง Shopee และ Lazada มีสัดส่วน 47% เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมาสัดส่วนเพียง 35% ขณะที่ Social Media อย่าง Facebook, Instagram, Line) มีสัดส่วนลดเหลือ 38% จากปีที่ผ่านมาสัดส่วน 40% และส่วนช่องทางทางเว็บไซต์ Official ลดเหลือ 18% จากปีที่ผ่านมามีสัดส่วน 25%

เมื่อเร็วๆ นี้ กรรมสรรพากรออกโรงเตือนพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ให้ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ปี 2563 ซึ่งกำหนดให้ยืนภาษีที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาภายในสิ้นเดือน ก.ย. และยื่นภาษีออนไลน์ผ่านเว็บไซต์กรมฯ ภายในช่วงต้นเดือน ต.ค. 2563 หากยื่นแบบเกินเวลาถูกปรับ 2,000 บาท

 นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ  ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ระบุว่านับแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พบว่าคนไทยนิยมซื้อสินค้าทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เพิ่มขึ้นกว่า 478% เนื่องจากมีการซื้อที่ง่าย สะดวกสบาย มีโปรโมชั่นที่ถูกใจ และราคาถูก สร้างยอดขายให้กับผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

ก่อนหน้านี้  นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ  อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่าในปี 2563 กรมสรรพากรตั้งเป้าหมายในการเข้าไปติดตามผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ ที่ขายของผ่านโซเชียลมีเดีย ที่ยังเสียภาษีไม่ถูกต้อง ประมาณ 170,000 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 100,000 ราย โดยกรมสรรพากรประชาสัมพันธ์ขอไปยังผู้ที่มีรายได้จากการขายของออนไลน์ มายื่นแบบเสียภาษีให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เสียเบี้ยปรับเงินเพิ่ม

การเลี่ยงภาษีไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ กรมสรรพากรยุคใหม่นำเทคโนโลยีเอไอในตรวจสอบติดตามการเสียภาษี ทำให้รู้ข้อมูลว่ายังมีผู้ขายของออนไลน์เสียภาษีไม่ถูกต้องอีกเป็นจำนวนไม่น้อย เป็นการเอาเปรียบผู้ค้าที่มีหน้าร้านค้าขายเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย เรียกว่าหลบอย่างไรก็ตามตัวเจอ ทางที่ดียื่นภาษีให้ถูกต้องดีกว่า


 ขณะเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ คลอดมาตรการคุมเข้มพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ต้องระบุรายละเอียดสินค้าต้องแจ้งราคาชัดเจน หากพบอินบ๊อกซ์แจ้งราคา มีโทษปรับสูงสุด 10,000 บาท นอกจากนี้ ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับสินบนนำจับ 25% ของค่าปรับ เช่น หากโทษปรับ 10,000 บาท ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับเงินส่วนแบ่ง 2,500 บาท 

ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 70 พ.ศ. 2563 เรื่อง การแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 (5) มาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ

กรมการค้าภายใน ระบุถึงกรณีผู้ขายสินค้าออนไลน์ ไม่แจ้งราคาผ่านช่องทางที่จำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, ไลน์ และเว็บไซต์ แต่จะให้อินบ็อกซ์เข้ามาสอบถามราคาแทนนั้น จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับสินบนนำจับ 25% ของค่าปรับ เช่น หากโทษปรับ 10,000 บาท ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับเงินส่วนแบ่ง 2,500 บาท ส่วนหลักฐานที่ต้องเตรียมเพื่อรับสินบนนำจับ ได้แก่ ข้อความที่พูดคุยกัน, การแจ้งราคาทางอินบ็อกซ์ รวมถึงบัญชีธนาคารของคนขาย เพื่อความสะดวกต่อการนำจับ หากพบผู้กระทำความผิดดังกล่าว

เนื้อหาสำคัญระบุว่า ผู้ประกอบธุรกิจแสดงราคาจำหน่าย ค่าบริการ รวมถึงประเภท ชนิด ลักษณะ ขนาด น้ำหนัก และรายละเอียดของสินค้าหรือบริการ โดยการเขียน พิมพ์ หรือกระทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่นใดในระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือระบบออนไลน์ของผู้ประกอบธุรกิจนั้น ในลักษณะที่ชัดเจน ครบถ้วน เปิดเผย สามารถอ่านได้โดยง่าย ราคาที่แสดง ต้องแสดงให้ตรงกับราคาที่จำหน่าย หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 28 และมีโทษตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ต้องระวางโทษปรับ ไม่เกิน 10,000บาท

สำหรับการจ่ายเงินสินบนนั้น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาตรา 33 ประกอบมาตรา 43 กำหนดให้คณะกรรมการ มีอำนาจสั่งจ่ายเงินสินบนจากจำนวนเงินค่าปรับตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดไว้ ในกรณีที่มีการจับกุมผู้กระทำความผิดและได้มีการเปรียบเทียบ ซึ่งการจับกุมและเปรียบเทียบจะเกิดขึ้นได้เฉพาะกรณีความผิดซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 80 เท่านั้น

นอกจากนี้ ตามระเบียบคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัล พ.ศ. 2547 ข้อ 4 ข้อ 7 และข้อ 8 กำหนดให้ผู้ที่จะมีสิทธิได้รับเงินสินบนจะต้องเป็นผู้ที่แจ้งความนำจับถึงเบาะแสแห่งการกระทำความผิด และเป็นผลให้ทำการจับกุมสำเร็จ และการจ่ายเงินสินบนจะทำได้ต่อเมื่อคดีเลิกกัน โดยมีการจับกุมและเปรียบเทียบและได้มีการชำระค่าปรับแล้ว ซึ่งผู้แจ้งเบาะแสมีสิทธิได้รับเงินสินบน ในอัตราร้อยละ 25 ของเงินค่าปรับ


 ท้ายที่สุด กฎหมายเกี่ยวกับการค้าขายออนไลน์เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย และเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องศึกษาเรียนรู้ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของตัวเอง และเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม 


กำลังโหลดความคิดเห็น