“ธรรมเหล่าใดเกิดจากเหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมนั้น และการดับแห่งธรรมนั้น พระมหาสมณะตรัสอย่างนี้” นี่คือคำตอบซึ่งพระอัสสชิ ได้ให้แก่ปริพาชกผู้ที่ถามว่า ศาสนาของท่านสอนอย่างไร
โดยนัยแห่งเถรกถาข้างต้น หมายถึงว่าพระพุทธเจ้าได้สอนความจริงอันประเสริฐ 4 ประการหรืออริยสัจ 4 คือ
1. ทุกข์ 2. สมุทัย 3. นิโรธ 4. มรรค
โดยนัยแห่งอริยสัจ 4 มีคำอธิบายขยายความดังต่อไปนี้
1. คำว่า ทุกข์ หมายถึงสภาวธรรมสรรพสัตว์ต้องเดือดร้อนคับแค้นใจ และต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และแตกดับในที่สุด แบ่งออกได้เป็น 2 ประการคือ ทุกข์กาย หรือกายิทุกข์ และทุกข์ใจ หรือเจตสิกทุกข์
2. สมุทัย ได้แก่เหตุให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ เหตุให้เกิดทุกข์ทางกาย คือ ความเป็นอนิจจัง อันแก่การที่สรรพสัตว์ และสรรพสิ่งต้องแปลงตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป ไม่อยู่คงที่ เริ่มจากการเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง และแตกดับ ทุกข์ประเภทนี้เกิดขึ้นทั้งในสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต
ส่วนสาเหตุให้เกิดทุกข์ทางใจหรือเจตสิก ทุกข์นั้นเกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิต และมีวิญญาณครองคือ คนและสัตว์เท่านั้น โดยเฉพาะคนเห็นได้ชัดเจนที่สุด เหตุที่ว่านี้ก็คือ ไม่ได้สิ่งที่ตนเองปรารถนา พลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก และการอยู่ร่วมกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก
3. นิโรค คือการดับทุกข์ หมายถึงการขจัดเหตุแห่งทุกข์ให้หมดไป
4. มรรค คือ ทางปฏิบัติเพื่อไปสู่การดับทุกข์ ประกอบด้วยองค์ 8 ประการมี สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ เป็นต้น
อริยสัจ 4 เป็นแนวทางแก้ปัญหาทั้งในระดับโลกุตตร และโลกิยะ คือเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ทั้งชั่วคราว และถาวร
ประเทศไทยมีประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธ ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหานำมาซึ่งความทุกข์ ความเดือดร้อน อันเนื่องมาจากมีเหตุให้เกิดความทุกข์ใจดังกล่าวแล้วข้างต้น เช่น ไม่ได้สิ่งที่ตนเองปรารถนา และอยู่รวมกับสิ่งที่อันไม่เป็นที่รัก ซึ่งมีรากเหง้ามาจากความอยากมี อยากเป็น และความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ดังที่เกิดขึ้นกับคนสองกลุ่ม ซึ่งมองต่างมุมกันในเรื่องความเป็นประชาธิปไตย อันสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 เป็นเหตุโดยที่กลุ่มแรกซึ่งประกอบด้วยนักเรียน นักศึกษา และประชาชนส่วนหนึ่งอยากได้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ตนเองต้องการ จึงมีความต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายแม่บทของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แล้วให้มีการยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยนักการเมือง และประชาชน ไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากพอใจในสิ่งที่มี และสิ่งที่เป็นในปัจจุบัน
ถ้านำความต้องการของคนกลุ่มนี้มาพิจารณาโดยอาศัยหลักของอริยสัจ 4 แล้ว จะเห็นได้ว่าปัญหาของคนสองกลุ่มเกิดจากเหตุอันเดียวกัน คือ รัฐธรรมนูญ และความเป็นประชาธิปไตย แต่มองต่างมุมกัน เนื่องจากความอยากมี ความอยากเป็นต่างกัน
ด้วยเหตุนี้ การแก้ปัญหาของคนสองกลุ่มนี้ จะต้องใช้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นที่ถูกต้อง ตามความเป็นจริงในการมองปัญหา และถามว่า ประชาธิปไตยในความหมายที่แท้จริงคืออะไร และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ประเทศไทยเป็นมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันถูกต้องตามความเป็นจริงหรือยัง และถ้าให้ตอบโดยยึดคำพูดโดยประชาชนเพื่อประชาชน ประชาธิปไตยของประเทศไทยที่ผ่านมา คงจะถูกต้องในความหมายของส่วนแรก ซึ่งเป็นเพียงรูปแบบคือ โดยประชาชน เนื่องจากมีการเลือกตั้งแต่ในส่วนหลังคือ เพื่อประชาชนซึ่งเป็นเนื้อหาของความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ เนื่องจากเมื่อได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้ว ส่วนใหญ่ทำเพื่อตนเองและพวกพ้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำเพื่อนายทุนทางการเมือง
ด้วยเหตุนี้ จึงสรุปได้ว่า ความทุกข์ของคนสองกลุ่ม ทั้งที่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ และไม่อยากให้แก้ไข คงจะต้องทบทวนความคิดของตนเองว่าทำเพื่อใคร และถ้าได้คำตอบว่าทำเพื่อประชาชน ก็จะต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ของคนในประเทศ และกำหนดแนวทางให้สอดคล้องกับความต้องการของคนส่วนใหญ่แล้วก้าวต่อไป ก็คงจะได้สิ่งที่ตนเองต้องการ