xs
xsm
sm
md
lg

แผนที่ความลึกของอ่าวไทย เรือดำน้ำจะดำไปได้ลึกแค่ไหน และจำเป็นแค่ไหน?

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


เมื่อราวสองปีก่อน ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองท่านหนึ่งได้วานให้ผมช่วยหาแผนที่ความลึกของอ่าวไทย แล้วกรุณาเล่าให้ฟังเรื่องเรือดำน้ำโกกุ้ม ที่ใหญ่โตสูงมาก จนไม่สามารถเข้ามาในอ่าวไทยรูปตัว ก ไก่ ได้เลย แต่ก็พยายามจะซื้อมาใช้กัน

โดยส่วนตัวผมมีความชื่นชมกองทัพเรือในแง่ของการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ ว่าทำได้ดีกว่ากองทัพบกมาก มีการต่อเรือตรวจการชายฝั่ง ได้เอง ที่เรียกว่าเรือ ต. หลายรุ่น หลายขนาด ใช้งานได้จริง คือ เรือ ต.991 เรือ ต.992 และเรือ ต.993 โดยกรมอู่ทหารเรือ ทั้งนี้เรือ ต.991 ต่อด้วยตัวเองทั้งลำ ณ อู่ทหารเรือธนบุรี ส่วนเรือ ต.992 และ เรือ ต.993 ต่อโดยบริษัทเอกชนในประเทศไทย

ที่ผมชื่นชมกองทัพเรือมากกว่ากองทัพบก เพราะผมยังไม่เคยได้ยินว่ากองทัพบกต่อรถถังได้เอง (ถ้าผมผิดพลาดในข้อมูลนี้โปรดแจ้งผมด้วยจักขอบพระคุณยิ่ง) และเคยได้ยินว่ากองทัพอากาศไทยเคยต่อเครื่องบินรบได้เองสมัย พลอากาศโท มุนี มหาสันทนะ หรือ คุณพระเวชยันตรังสฤษดิ์ ซึ่งราชทินนามท่านก็บอกเป็นนัยอยู่แล้วว่าสร้างเครื่องบินได้ เพราะรังสฤษดิ์ แปลว่าสร้าง เวชยันต์ แปลว่าเครื่องยนต์วิ่งบนอากาศหรือเครื่องบินนั่นเอง คุณพระเวชยันต์เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศคนแรก เป็นอดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีกหลายกระทรวง

ที่กองทัพเรือเก่งกาจสร้างนวัตกรรม ประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองค่อนข้างมาก น่าจะเป็นเพราะกองทัพเรือเป็นกองทัพที่มีอำนาจน้อยสุด ขนาดเล็กสุด มีงบประมาณจำกัดสุด หลังกบฏแมนฮัตตันหรือกบฏวังหลวง เนื่องจากดอกประดู่บานไม่พร้อมกัน ทำให้การรัฐประหารไม่สำเร็จกลายเป็นกบฏไปแทน แม้ว่าจอมพลแปลก พิบูลสงครามจะว่ายน้ำข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเอาชีวิตรอดไปได้อย่างทุลักทุเลก็ตาม แต่ความอัตคัตและความจำเป็นเป็นมารดาแห่งนวัตกรรมเสมอ (Scarcity and necessity is the mother of innovation.)

อันที่จริงกองทัพเรือเองก็เคยมีเรือดำน้ำมาก่อน และเคยมีมากถึงสี่ลำ แต่พอสงครามโลกก็ขาดการซ่อมบำรุงหมดสภาพไปจนใช้ไม่ได้ หาอะไหล่ไม่ได้ แล้วก็ไม่ได้มีเรือดำน้ำใช้มาเลยจนปัจจุบัน

เชื่อหรือไม่ว่ากองทัพเรือสนใจจัดหาเรือดำน้ำเข้ามาประจำการตั้งแต่ปี 2453 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีเอกสารโครงการจัดสร้างกำลังทางเรือ พ.ศ.2453

และต่อมาในปี 2458 สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นเจ้าฟ้าทหารเรือ ทรงสำเร็จวิชาการทหารเรือมาจากเยอรมัน ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะพัฒนากองทัพเรือให้เข้มแข็ง ทรงเป็นนายทหารหนุ่มไฟแรง และทรงมุมานะพยายามอย่างยิ่งในการพัฒนากองทัพเรือ นายเรือโท พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ได้ทรงจัดทำเอกสารรายงานความเห็นเรื่องเรือ ส. (ย่อมาจากเรือสับมารีน Submarine ในภาษาอังกฤษ) โดยระบุแนวทางการจัดหาเรือดำน้ำ การใช้งานเรือดำน้ำสำหรับประเทศไทย และสิ่งสนับสนุนต่าง ๆ โดยละเอียด ทรงเห็นว่าโดยภูมิประเทศของอ่าวไทย เป็นทะเลน้ำตื้น ไม่ควรใช้เรือรบขนาดใหญ่กินร่องน้ำลึกที่ไม่สามารถแล่นเข้าปากอ่าวหรือแม่น้ำเจ้าพระยาได้เลย แต่ควรเป็นเรือขนาดเล็กและเรือดำน้ำขนาดเล็กที่คล่องตัวและพรางตัวได้ง่ายมากกว่า

ขออัญเชิญพระราชดำริในสมเด็จพระบรมราชชนกเรื่อง เรือ ส มาดังนี้
ความมุ่งหมายของเรือ “ส” ในเวลาสงครามนั้น จะรักษาทะเลใหญ่ไว้ให้นานที่สุด ที่จะนานได้ และถ้าเห็นเรือข้าศึกแล้ว จะเข้าโจมตีโดยไม่คิดเสียดายลูกตอร์ปิโดหรือลำเรือเอง เพราะถึงแม้จะเสีย แต่ถ้าข้าศึกเสียเรือด้วยก็พอคุ้มกัน ความตกใจของข้าศึกนั้นสำคัญมาก ถ้าทำอย่างนั้นได้แล้ว ข้าศึกจะต้องระวังตัวอยู่เสมอ



อย่างไรก็ตามความตั้งพระทัยดีที่สูงยิ่งของสมเด็จพระบรมราชชนกทำให้ต้องทรงผิดหวังเสียพระทัยอย่างยิ่งที่ข้อเสนอจากนายทหารเรือหนุ่มผู้ทรงได้รับการศึกษาด้านการทหารเรืออย่างดีที่สุดไม่ได้รับการตอบสนองหรือปฏิบัติตาม ว่ากันว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทรงเบื่อหน่ายและท้อถอยจากกิจการทหารเรือ และอีกนัยทรงสนพระทัยเรื่องโภชนาการและสุขภาพของลูกเรือในเรือดำน้ำด้วย จนเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์พระองค์เจ้ารังสิต ประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระเชษฐาที่ทรงสนิทชิดเชื้อด้วยมาชักชวนให้ทรงเบนเข็มไปทรงงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ทำให้สมเด็จพระบรมราชชนกทรงเอาจริงเอาจังจนไปทรงศึกษาวิชาแพทย์จนสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและทรงสร้างคุณูปการแก่วงการแพทย์ไทยมาจนทุกวันนี้

ขณะนี้ฝ่ายที่ต่อต้านการซื้อเรือดำน้ำ ได้อัญเชิญพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2550 เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษามาเผยแพร่ว่า

"เราสร้างเรือ เราสร้างเรือให้พอเพียง เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง นั่นน่ะ มันไม่พอเพียง มันเล็กเกินไป ยังเล็กเกินไป ก็ควรจะใหญ่กว่าหน่อย แต่ถ้าใหญ่เกินไปไม่พอเพียง ถ้าลึกเกินไปก็ไม่พอเพียง เรือที่เขาจะทำ เรือดำน้ำน่ะ ดำลงไป ไปปัก ปักเลนเลย นี่เดี๋ยวเขาโกรธเอา เรือแล่น ๆ ไป ลงไป ดำน้ำ ไม่พอ ใครมาเครื่องบินเห็นแจ๋วเลย ต้องไปจมเลนถึงจะไม่เห็น แล่นๆไป ปักเลน ถ้าอยากไปที่ที่ลึกก็ไปอยู่นอกเส้น ก็รู้สึกว้าเหว่

"เรือดูแลใกล้ฝั่งนี่ดีกว่า แต่ลำที่เราทำเราสร้าง ก็ใช้ได้ดีแล้ว แต่ที่ควรจะสร้างต่อไปให้ใหญ่กว่านี้หน่อย แต่ตอนนี้คงไม่มีเงินแล้ว ต้องใหญ่กว่าหน่อย เพราะถ้าไม่ใหญ่พอจะไม่สามารถที่จะปฏิบัติการณ์อย่างต่อเนื่อง

"นี่พูดกลายเป็นราชการลับ ที่พูด ๆ ราชการลับว่า เรือที่ควรจะซื้อคือเรือของรัสเซีย เรือที่เขาสร้างใหม่ ใหญ่กว่าที่เราสร้างมาไม่มาก นั่นจะมีประสิทธิภาพสูงสุด ถ้าซื้อของรัสเซีย ราคาไม่ถึงครึ่งของเยอรมัน ของอเมริกัน อเมริกันก็โกรธแน่ เราไปซื้อของรัสเซีย ลองไปดู ลองไปดูเรือของรัสเซีย แต่เขาอาจจะไม่ขายก็ได้ เขาอาจจะขายราคาแพง แต่ความจริงเขาควรจะขายเรา ไปขอเขาดู ของรัสเซียดีจริง ๆ

"นี่พูดความลับราชการ แต่เมืองไทยนี่ ความลับราชการก็เผยเรื่อย เผยความลับราชการ ถ้าเผยความลับราชการก็อาจจะดีก็ได้ เพราะความลับราชการก็ไม่ได้เรื่องอยู่ดี ยังไงก็จะทำอะไรก็มาเผยกันหมดก็ได้ ทุกกองทัพน่ะ

"กองทัพเรือเขาก็มีเรือดำน้ำ กองทัพอากาศก็มีเรืออะไรล่ะ สมัยใหม่นี่ แต่เดี๋ยวนี้เขาก็เกิดจะมาซื้อลำนิดเดียวแต่ราคาแพงเหมือนลำใหญ่ แต่ตอนนั้นจะซื้อลำใหญ่ราคานิดเดียวเหมือนลำเล็ก แต่ก่อนนี้ที่จะซื้อเครื่องบินลำใหญ่ในราคาของลำเล็ก ก็ชอบกลอยู่นะ ก็รัสเซียเหมือนกันนะ ทำไปทำมาจะซื้อเรือบินรัสเซีย เราก็ไม่เห็นด้วย แต่ถ้าจะซื้อเรือน้ำรัสเซียก็น่าใช้



แต่การเผยแพร่พระราชดำรัสนั้นมักจะตัดตอนแค่ว่า ปักเลน และใครมาเครื่องบินเห็นแจ๋วเลย แทนที่จะเผยแพร่ทั้งหมดของพระราชดำรัส ที่ทรงเน้นเรื่องความพอเพียง กระทั่งการสร้างเรือตรวจการณ์ชายฝั่งที่กองทัพเรือสร้างเองนั้นก็ทรงมีความเห็นว่าเล็กเกินไป ปฏิบัติการณ์ได้ไม่ต่อเนื่อง ไม่พอเพียงต้องใหญ่กว่านี้ แต่ถ้าใหญ่เกินไปก็ไม่พอเพียง เพราะจะแล่นเข้าอ่าวไทยที่ค่อนข้างตื้นได้ลำบาก

เรือดำน้ำก็เช่นกัน ทรงกล่าวไว้ว่า ถ้าอยากไปที่ที่ลึกก็ไปอยู่นอกเส้น ก็รู้สึกว้าเหว่ เพราะเรือดำน้ำของไทยหากลำใหญ่เกินไป ก็ไม่พอเพียง ดำน้ำในอ่าวไทยไม่ได้ ต้องออกไปทะเลหลวง ซึ่งไม่น่าจะพอเพียง ไม่น่าจะเหมาะสมหรือไม่คุ้มค่า

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสนพระทัยในกิจการทหารเรือเป็นอย่างยิ่ง ตามสมเด็จพระบรมราชชนก ทรงต่อเรือใบด้วยพระองค์เอง และทรงชำนาญแผนที่และภูมิศาสตร์ไทยอย่างยิ่ง ความรู้รอบด้านเช่นนี้ทำให้ทรงเตือนกองทัพเรือให้ตัดสินใจทำสิ่งใดอยู่บนความพอเพียง และบนฐานความรู้ และโดยนัยต้องการให้กองทัพเรือตัดสินใจอย่างรอบคอบ เพียงพอ สมเหตุสมผล พอประมาณ บนฐานความรู้และฐานคุณธรรม อันเป็นไปตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเรือดำน้ำหรือเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ผู้ฟังพระราชดำรัสต้องฟังให้ครบถ้วน และต้องไตร่ตรองวิเคราะห์ให้รอบคอบรอบด้าน เพราะพระราชดำรัสมีความลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้นการตัดสินใจใด ๆ ก็ต้องทำบนฐานความรู้เป็นพื้นฐานเสียก่อน

ย้อนกลับไปเรื่องที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองให้ผมหาแผนที่ความลึกของอ่าวไทยให้เมื่อราวสองสามปีก่อน ความรู้เรื่องภูมิศาสตร์และความลึกของอ่าวไทย น่าจะสำคัญที่สุดในการตัดสินใจเรื่องเรือดำน้ำ

คราวนั้นทำให้ผมได้วานนักศึกษาสามคน คนหนึ่งจบปริญญาตรีทางภูมิศาสตร์ คนหนึ่งจบปริญญาตรีทางภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ และอีกคนหนึ่งจบปริญญาตรีทางธรณีวิทยา ให้ช่วยกันหาแผนที่ความลึกอ่าวไทยมาให้ได้ นักศึกษาทั้งสามคนใช้ความพยายามอย่างมากที่สุดในการหาความรู้ ติดต่อไปที่ GISTDA ไม่มีข้อมูลเพราะแผนที่ความลึกใช้การยิงโซนาร์สะท้อนกลับวัดความลึกจากเรือ ไม่ได้ใช้ดาวเทียม นักศึกษาติดต่อไปที่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเจ้าท่า กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ ได้รับคำตอบว่าเป็นความลับของทางราชการ ความลับทางการทหาร และนักศึกษาได้พยายามติดต่อไปยังบริษัทขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทยของไทย ก็ได้รับคำตอบว่าเป็นความลับของบริษัทเช่นกัน

นักศึกษาสามคนกลับมาแจ้งผลว่าหาไม่ได้ ผมเลยทดลอง search ด้วย Google ดู โดยใช้คำหลักสามคำคือ 1. Gulf of Siam 2. Depth 3. Contour หรืออ่าวไทย ความลึก และเส้นโค้ง ทำให้ได้รายงานเป็น pdf จาก NAGA report โดยสถาบันสมุทรศาสตร์สคริปส์ มหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย ลาโยลลา เป็นรายงานการสำรวจในปี 1956-1961 ที่เข้ามาสำรวจทะเลจีนใต้และอ่าวไทย อย่างละเอียดลึกซึ้ง ทั้งความลึก ความเค็ม ออกซิเจนที่ละลายในน้ำ ความร้อน ความสูงคลื่น ตะกอนผิวดินใต้ทะเล สารเคมีและโลหะหนักในทะเล โดยได้รับเงินสนับสนุนทุนวิจัยจาก National Science Foundation: NSF อันแสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกาสนใจอ่าวไทยและทะเลจีนใต้มายาวนาน สำรวจทุกแง่มุมจนพรุน รู้ทุกอย่างมากกว่าคนไทยและนักวิชาการไทยเสียอีก

แผนที่ความลึกแสดงด้วยเส้นโค้ง (Contour) หรือเส้นเท่า (Isolines) ด้านล่างนี้ เส้นแต่ละเส้นแสดงความลึกที่เพิ่มขึ้นห้าเมตรของอ่าวไทย อ่าวไทยรูปตัว ก ไก่ นับจากบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ไปจนถึงอำเภอสุดท้ายของชลบุรีนั้นค่อนข้างตื้นมาก ไม่เกิน 25 เมตร ในขณะที่ส่วนที่ลึกสุดของอ่าวไทยน่าจะลึกราว ๆ 75 เมตร


กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เขียนเผยแพร่ความรู้เรื่องภูมิศาสตร์และความลึกของอ่าวไทยเอาไว้ว่า

อ่าวไทยมีลักษณะเป็นเอสทูรี่แบบแม่น้ำในหุบเขาที่จมน้ำ (drowned river valley) ก้นทะเลเคยเป็นที่ราบที่เคยโผล่พ้นน้ำมาก่อน บนก้นทะเลจะมีร่องน้ำโบราณที่ต่อกับแม่น้ำในปัจจุบัน เช่น แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำจันทบุรี ร่องน้ำชุมพรร่องน้ำหลังสวน ร่องน้ำสงขลาที่ก้นอ่าวมีแม่น้ำสำคัญ 4 สาย ไหลลงสู่อ่าว คือ แม่กลอง ท่าจีนเจ้าพระยา และบางปะกง ตามลำดับ นอกจากนี้ฝั่งซ้ายและขวาของอ่าวไทยยังมีแม่น้ำสายสั้น ๆ ที่ไหลลงสู่อ่าวอีกหลายสาย อ่าวไทยเป็นแอ่งรองรับตะกอนจากแม่น้ำที่ไหลลงสู่อ่าว จากการสำรวจพื้นท้องทะเลของกรมอุทก-ศาสตร์พบว่าท้องทะเลกลางอ่าวเป็นโคลนปนทราย หรือโคลน ส่วนท้องทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันตกจะเป็นโคลนปน-ทราย โคลนปนทรายขี้เป็ด ทรายปนโคลนและทราย เป็นแห่ง ๆ ไป

ความลึกของพื้นผิวทะเลมีท้องทะเลคล้ายแอ่งกะทะ ส่วนที่ลึกที่สุดของอ่าวไทยมีความลึกประมาณ 80 เมตร บริเวณร่องน้ำลึกกลางอ่าว มีความลึกมากกว่า 50 เมตร และยาวเข้าไปจนถึงแนวระหว่างเกาะช้าง จังหวัดตราด กับ อำเภอบางสะพานใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนก้นอ่าว คือ อ่าวไทยตอนบนหรืออ่าวไทยรูปตัว “ก” มีรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดประมาณ 100x100 ตารางกิโลเมตร อ่าวไทยตอนบนมีความลึกสูงสุดประมาณ 40 เมตร ทางฝั่งขวาของอ่าวส่วนฝั่งซ้ายจะตื้นเขินกว่าความลึกเฉลี่ยในอ่าวไทยตอนบนประมาณ 15 เมตร โดยอ่าวไทยถูกกั้นออกจากทะเลจีนใต้ด้วยสัน-เขาใต้น้ำ 2 แนวทางฝั่งซ้ายและขวาของอ่าวสันเขาใต้น้ำฝั่งซ้ายมีความลึกประมาณ 50 เมตร เป็นแนวยาวจากโกตา-บารู (ร่องน้ำโกลก) ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 160 กิโลเมตร ทางฝั่งขวามีความลึกประมาณ 25 เมตร เป็นแนวยาวจากแหลมคาเมาไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร และในบริเวณร่องน้ำลึกมีชั้นแนวตั้งของเปลือกโลก (sill) ณ ที่ความลึกประมาณ 67 เมตร กั้นอยู่ซึ่งจะเป็นเสมือนตัวควบคุมการไหลของน้ำระดับล่างในอ่าวไทย (โปรดอ่านเพิ่มเติมได้จาก https://km.dmcr.go.th/th/c_51/d_1132)

นอกจากแผนที่ความลึกของอ่าวไทยที่เก่าแก่สุดฉบับนี้แล้ว ยังมีแผนที่ความลึกของอ่าวไทยที่สำรวจใหม่ได้แก่

1.แผนที่ความลึกอ่าวไทยที่สำรวจโดย อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอาจารย์จากประเทศญี่ปุ่น Sojisuporn, Morinoto, A., & Yanagi, T. (2010). Seasonal variation of sea surface current in the gulf of Thailand., Coastal Marine Science., 31(1). 1-34. ดังรูปด้านล่างนี้


2. แผนที่ความลึกของอ่าวไทยแบบอินเตอร์แอคทีฟ (Interactive Bathymetric Chart) จัดทำโดย National Centers for Environmental Information, National Oceanic and Atmospheric Administration ตามลิงค์นี้ https://maps.ngdc.noaa.gov/viewers/bathymetry/ แต่น่าเสียดายที่มีข้อมูลการสำรวจค่อนข้างหยาบมาก เนื่องจากจัดทำโดยสหรัฐอเมริกาไว้สำหรับการบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศของสหรัฐอเมริกาเป็นหลักทำให้มีข้อมูลไม่ค่อยครบถ้วน ไม่ละเอียดพอ แต่สามารถคลิกรูปเพื่อแสดงข้อมูลความลึกของอ่าวไทยในแต่ละพิกัดได้ แม้จะมีข้อมูลไม่ครบถ้วนมากนัก


3. แผนที่ความลึกของอ่าวไทยตอนบน จัดทำโดยสำนักเทคโนโลยี กรมทรัพยากรธรณี มีความละเอียดสูง เพราะสำรวจละเอียด กริดในการสำรวจค่อนข้างละเอียดมาก ทั้งยังมีแผนที่ความลึกอ่าวไทยตอนบนที่เป็นภาพสามมิติด้วย




ในแผนที่ความลึกอ่าวไทยตอนบน จะเห็นได้ว่ามีร่องน้ำลึกของอ่าวไทย แถบจังหวัดชลบุรี เช่นรอบเกาะไผ่ เกาะคราม เกาะล้าน และเกาะสีชัง

การเดินเรือสินค้าต่าง ๆ ของไทย มีเรือเดินสมุทรลำใหญ่จำนวนมากไม่สามารถเข้ามาที่ท่าเรือคลองเตยได้ ต้องจอดกลางทะเลแถวนั้น แล้วใช้เรือเล็กที่เรียกว่า feeder ขนถ่ายสินค้ากันกลางทะเล เพื่อแล่นส่งเข้ามาที่ท่าเรือคลองเตย เพราะน้ำทะเลอ่าวไทยตัว ก. ไก่ มีความตื้นมาก จะติดสันดอนปากน้ำได้ง่าย ๆ หากใช้เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่เกินไป

โดยส่วนตัวผมเข้าใจว่าเรือดำน้ำเป็นความจำเป็นสำหรับประเทศไทย ดังที่ ภัทร เหมะสุข ได้เขียนบน Facebook เอาไว้ว่า

ตอนหลังกองทัพเรือถอยหนึ่งก้าว บอกใหม่ว่าจะซื้อทีละลำ เอาลำแรกก่อน ต้องสามครั้งห่างกันสามปี รวมเก้าปีถึงจะครบสามลำตามแผน ซึ่งผมยังคิดเลยว่ากว่าได้รับครบตามจำนวน ลำแรกก็ต้องเข้าอู่ปรับสภาพให้สมบูรณ์ตามอายุใช้งานแล้ว

แต่วันนี้ลุงตู่บอกว่าซื้อสองลำจีนแถมฟรีหนึ่งลำ แถมยังมีอ็อฟชั่นแถมมาด้วยเพียบไปหมด อย่างนี้ออเดอร์เดียวจบใช่ไหมครับ ไม่ใช่สามออเดอร์ตามแผนสอง

แสดงว่าที่นายทหารระดับสูงไปจีนเมื่อครั้งที่แล้ว นอกจากได้รถถัง VT-4 มาครบหนึ่งกองพันในราคามิตรภาพกว่ายูเครนเจ้าเก่าขายให้เราแล้ว ยังได้เรือดำน้ำซื้อสองแถมหนึ่งบวกอ็อฟชั่นแถมเพิ่มมาด้วยอีกต่างหาก

สิ่งหนึ่งที่ผมฝันเอาไว้นะครับว่าอยากให้เราซื้อเรือทีเป็นรุ่นหยวนคลาสโมดิฟายจากรุ่น 039C ไปแล้ว คาดว่ากองทัพเรือก็น่าจะรู้ดีมากกว่าผมเสียอีก แต่คนดีลเรื่องนี้จะขอไปหรือเปล่าผมไม่มีข้อมูล ผมเคยเขียนเรื่องเรือดำน้ำ S26T ที่ไทยสั่งซื้อไปนั้นมันคือรุ่นที่โมดิฟายมาจาก 039A Yuan Class แต่ลดขนาดลง แต่ไม่ถึงขนาดเล็กจนกลายเป็น Ming Class ที่ขายไปแล้วให้ประเทศต่าง ๆ จะบอกว่าเราได้ของดีกว่า ที่ปากีสถานและบังคลาเทศมีก็ว่าได้ เพราะผมมั่นใจว่าตัวนี้คือ Yuan Class แบบย่อส่วนลง ใส้ในก็เป็นหยวนคลาสไม่ใช่หมิงคลาสเอามาระเบิดใส่หยวนคลาสแล้วบวกด้วย AIP มาหลอกขายไทย ผมเชื่อว่าราชนาวีไทยไม่โง่ขนาดนั้น

แต่ 039A Yuan Class นั้นได้พัฒนาไปจนถึง รุ่นเจนเนอเรชั่น C แล้ว สิ่งที่ต่างออกไปคือ หอบังคับการที่มีลักษณะโค้งเว้าลู่น้ำและเก็บเสียงที่ไม่ใช่หอตัดตรงมุมฉากแบบรุ่น 039A และเรือชั้นหมิงที่เล็กกว่า ซึ่งการดัดแปลงหอบังคับการนี้มีมาตั้งแต่รุ่น 039AG แล้ว

และอีกจุดหนึ่งคือหลังจากพัฒนาไปแล้วหลายปีจนเป็น 039B และ 039Cได้มีการย้ายโซน่าจากข้างลำเรือไปไว้ที่ท้องเรือแทน และเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ที่เคยเก็บไว้ที่กระเปาะนูนในหอบังคับการหายไป ซึ่งผมคิดว่ามีการย้ายตำแหน่งไปอยู่ที่เหมาะสมกว่าเดิม น่าจะเป็นเส้นยาวที่ข้างหอบังคับการที่มีอยู่สามเส้น แทนก็เป็นไปได้สูงมาก เพราะเรือชั้นหยวนคลาสตั้งแต่ปี 2014 เป็นแบบนี้หมด

สิ่งอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าราชนาวีไทยอยากได้มากที่สุดคือเทคโนโลยีและความรู้ในการซ่อมบำรุงที่ต่อยอดไปถึงการต่อเรือเองในอนาคตที่เรากำลังทำอยู่

ถ้าเราต่อรองดี ๆ เราจะได้สิ่งนี้มาด้วยครับ ซึ่งไม่ต่างกับเวลานี้เรามีความรู้มากพอที่จะต่อเรือ OPV ตรวจการณ์ไกลฝั่งลำแรกคือ เรือหลวงกระบี่ และลำที่ 2 ที่กำลังจะเสร็จในอีกสองปีข้างหน้า


ผมเข้าใจความจำเป็นของเรือดำน้ำ ในด้านความมั่นคงตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

แต่การจัดซื้อเรือดำน้ำควรต้องอยู่บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คำว่าพอเพียงต้องมีความรู้ด้วย ไม่ควรซื้อเรือดำน้ำขนาดใหญ่เกินไป เพราะจะทำงานในอ่าวไทยไม่ได้ และในอีกมุมหนึ่ง เรือดำน้ำขนาดเล็กที่ใช้งานได้ดีก็ไม่น่าจะราคาถูกเท่าใดนัก และลำใหญ่อาจจะไม่ได้แพงกว่ามาก แต่อาจจะใช้งานจริงในภูมิประเทศของอ่าวไทยไม่ได้ด้วย อันเป็นแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วย

ขอให้กองทัพเรือน้อมรับพระราชดำริของทั้งสองพระองค์มาเป็นแนวทางในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ในขณะเดียวกันก็ต้องฟังเสียงของประชาชนด้วย โดยเฉพาะในภาวะที่บ้านเมืองกำลังจะประสบวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก The great depression จาก COVID-19

ผมเชื่อมั่นในการเรียนรู้เทคโนโลยีของกองทัพเรือ และเชื่อมั่นว่ากองทัพเรือจะจัดซื้อเรือดำน้ำได้อย่างพอเพียงบนพื้นฐานแห่งความรู้ เพื่อทะเลไทยและความมั่นคงของราชอาณาจักรไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น