xs
xsm
sm
md
lg

คลังทุ่ม1.1แสนล้านปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำช่วย“เอสเอ็มอี”เพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - คลังเตรียมวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1.1 แสนล้านบาท ปล่อยกู้ผ่านสถาบันการเงินของรัฐเพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ด้าน ศบค. เผย สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย พบผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย เดินทางกลับจากต่างประเทศ รัสเซีย 2 ราย อินเดีย 1 ราย เข้าพักในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ ผู้ป่วยรักษาหายได้กลับบ้านเพิ่มอีก 1 ราย ขณะที่ ครม.เห็นชอบขยายเวลาโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ได้ขยายตัวเป็นวงกว้างและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) รวมไปถึงประชาชนทั้งผู้ประกอบอาชีพอิสระและผู้มีรายได้ประจำ ขาดรายได้ ขาดสภาพคล่อง มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเลิกจ้างและปิดกิจการ แม้ว่ารัฐบาลได้มีมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ยังมีผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน

โดยการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบ เรื่อง การทบทวนมติครม.และเสนอมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ใน 3 กลุ่ม ได้แก่

1) กลุ่ม SMEs ทั่วไป 2) กลุ่ม SMEs ท่องเที่ยว และ 3) กลุ่ม SMEs รายย่อยและประชาชน วงเงินสินเชื่อและวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 114,100 ล้านบาท โดยในกลุ่มแรก คือ กลุ่ม SMEs ทั่วไป ประกอบด้วย 1.1) สินเชื่อ Soft loan ธนาคารออมสิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยธนาคารให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงินในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อต่อให้ผู้ประกอบการ SMEs วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี

สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป วงเงิน 10,000 ล้านบาท และผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินจะปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs โดยตรงจำนวน 3,000 ล้านบาท

1.2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft loan พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก. Soft loan คิดอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 8 ปี โดย บสย.จะเริ่มค้ำประกันและเก็บค่าธรรมเนียมในต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการ SMEs แต่ละรายได้รับสินเชื่อ

1.3)โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 8 วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป วงเงินไม่เกิน 20 ล้านต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน ในอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี

กลุ่มที่สอง กลุ่ม SMEs ท่องเที่ยว ได้แก่ 2.1) สินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply Chain วงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี

2.2) สินเชื่อ Extra Cash วงเงิน 9,600 ล้านบาท โดยธนาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี

และกลุ่มสุดท้าย กลุ่ม SMEs รายย่อยและประชาชน คือ 3.1) สินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดา ผู้มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และบุคคลในครอบครัว วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน

3.2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 3 วงเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย คิดอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 - 2 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี ขยายเวลารับคำขอค้ำประกันถึง 30 ธันวาคม 2563

พบคนไทยติดเชื้อเพิ่ม 3 ราย


วานนี้ (18 ส.ค.) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ เดินทางกลับจากต่างประเทศ จากรัสเซีย 2 ราย อินเดีย 1 ราย เข้าพัก State Quarantine

สำหรับผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,381 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,444 ราย และตรวจพบในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จำนวน 444 ราย จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้วรวม 3,198 ราย ส่วนผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 125 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม โดยยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย

ขณะที่ผู้ป่วยรายใหม่เดินทางกลับมาจากประเทศรัสเซีย 2 ราย ทั้งหมดเป็นหญิงไทยอายุ 38 ปี และ 49 ปี อาชีพพนักงานนวดเดินทางถึงไทยวันที่ 2 ส.ค. 63 เข้าพัก State Quarantine ในกรุงเทพมหานคร และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ในวันที่ 15 ส.ค.ผลตรวจพบเชื้อโดยผู้ป่วยรายแรกไม่มีอาการและอีกรายพบว่ามีไข้ 37.9 องศา

ส่วนอีก 1 รายเดินทางกลับมาจากประเทศอินเดีย เป็นชายไทยอายุ 62 ปี อาชีพพนักงานร้านอาหารเดินทางถึงไทยวันที่ 8 ส.ค. 63 (เที่ยวบินเดียวกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 17 ราย) เข้าพัก State Quarantine ในกรุงเทพมหานคร และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ในวันที่ 15 ส.ค.ผลตรวจพบเชื้อโดยพบว่ามีอาการถ่ายเหลว

สำหรับจำนวนคนไทยที่จะเดินทางกลับวันนี้ มีจำนวน 504 คน จาก 5 เที่ยวบิน โดยเดินทางกลับจากประเทศอียิปต์ ภูฏาน สหรัฐฯเกาหลีใต้ และ จีน และในวันพรุ่งนี้จะมีจำนวนคนไทยเดินทางกลับมาอีก 575 คน จากบรูไน เอธิโอเปีย กาตาร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และยังคงมีการเดินทางกลับมาอย่างต่อเนื่อง

ด้านสถานการณ์ทั่วโลกล่าสุดมีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 203,909 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมรวม 22,048,933 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 4,398 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมรวม 777,430 ราย โดยสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยยืนยันสะสมสูงสุด 5,612,027 ราย รองลงมา คือ บราซิล มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,363,235 รายอันดับ 3 คือ อินเดีย มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,701,604 ราย อันดับ 4 คือ รัสเซียมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 927,745 ราย อันดับ 5 คือ แอฟริกาใต้ มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 589,886ราย

ครม.ต่อเวลาจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร


น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมครม. ว่า ที่ประชุมเห็นชอบขยายเวลาโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิค-19 โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขยายระยะเวลาการติดตามเกษตรกรที่ยังไม่มาแจ้งเลขที่บัญชีรับโอน จำนวนไม่เกิน 115,892 ราย ออกไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.63 โดยให้จ่ายเงินงวดเดียว จำนวน 15,000 บาทต่อราย และหากพ้นกำหนด ให้ยุติการติดตามและการโอนเงิน

พร้อมทั้งให้จ่ายเงินให้แก่เกษตรกรที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรได้อย่างสมบูรณ์ในวันที่ 15 พ.ค.63 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตรวจสอบรับรองสิทธิ์อย่างสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว จำนวนไม่เกิน 38,737 ราย โดยจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรกลุ่มดังกล่าวงวดเดียว จำนวน 15,000 บาทต่อราย ภายในวันที่ 15 ก.ย.63

ทั้งนี้ยังให้จ่ายเงินให้กรณีเกษตรกรที่ไม่ได้สิทธิรับเงินช่วยเหลือภายใต้โครงการ เนื่องจากในช่วงแรกมีความซ้ำซ้อนกับสิทธิโครงการเราไม่ทิ้งกัน แต่ต่อมาได้สละสิทธิโครงการเราไม่ทิ้งกันแล้ว และกรณีหน่วยงานรับขึ้นทะเบียนขอส่งข้อมูลเกษตรตกหล่นจำนวนไม่เกิน 759 ราย ให้จ่ายงวดเดียว จำนวน 15,000 บาทต่อราย ภายในวันที่ 15 ก.ย.63 และให้ขยายระยะเวลาการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรที่มาอุทธรณ์และผ่านการพิจารณาแล้ว แต่ไม่สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือฯ ได้ทันในวันที่ 31 ก.ค.63 ไม่เกิน 269 ราย โดยจ่ายงวดเดียว จำนวน 15,000 บาทต่อราย ภายในวันที่ 15 ก.ย.60


กำลังโหลดความคิดเห็น