xs
xsm
sm
md
lg

รัฐ-เอกชนร่วมผลักดันBCG-เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ4.4ล้านล.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360- นายกฯ เป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือ BCGโมเดล แนะทุกฝ่ายปรับตัวในโลกยุคใหม่ พร้อมขับเคลื่อนนโยบาย สอดคล้องรัฐบาลนิวนอร์มอล กำชับใช้เม็ดเงินทุกก้อนสนองประชาชน ไม่ใช่แค่บริหารให้หมดๆไป ลั่นติดตามเองทุกโครงการ ด้าน อว.คาดหวังความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน ลงขันเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ 4.4 ล้านล้านบาท ช่วยขับเคลื่อนประเทศ

เช้าวานนี้ (15ก.ค.) ที่อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCGโมเดล) สร้างความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน พร้อมด้วย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และผู้บริหารหน่วยงานเข้าร่วม ทั้งนี้การลงนามดังกล่าวเป็นความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐเอกชนและสถาบันการเงินจำนวน 18 หน่วยงาน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวปาฐกถาในการประชุม“สมัชชา BCG:ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”ตอนหนึ่งว่า วันนี้ยินดีและเป็นเกียรติที่ได้พบปะทุกคนทั้งภาครัฐ ราชการ ผู้นำภาคธุรกิจ เอกชนและประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่ได้มาทำงานร่วมกันใน BCGโมเดล ซึ่งทุกคนทราบดีจากหนังสือของ นายสุวิทย์ เรื่องโลกเปลี่ยนเราต้องปรับ ซึ่งเรามีศักยภาพมากมาย ทั้งด้านอาหาร เกษตร การท่องเที่ยว การแพทย์และการบริการ มีอาหารอร่อย ธรรมชาติสวยงาม และมีรอยยิ้มสยาม แต่สิ่งเหล่ากลับถูกแทรกด้วยปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะปัญหาโควิด-19 เข้ามา

อย่างไรก็ตามหวังว่า BCGโมเดลนี้ เป็นโอกาสอันดีที่จะได้รับฟังแนวคิดซึ่งกันและกัน ให้ทุกส่วนมีส่วนร่วม ว่าใครจะขับเคลื่อนตรงไหน กลไกเป็นอย่างไรไม่เช่นนั้นไม่สำเร็จสักอัน เพราะเป้าหมายมีเยอะ สิ่งสำคัญที่สุดขอให้ไปเปิดดูข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย ทั้ง 77 จังหวัด ว่าท้ายตารางที่รายได้แทบไม่มีเลย มีจังหวัดอะไรบ้าง เพราะไม่มีอาชีพ รวมถึงจังหวัดที่ทำการเกษตร หากเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมีมูลค่ามากขึ้นปัญหา แต่วันนี้ใช้พื้นที่มากแต่ผลผลิตน้อย ทำให้ต้องขยายพื้นที่เพื่อให้ได้ผลประโยชน์มากขึ้น แต่ก็มีปัญหาเรื่องน้ำ วันนี้พยายามบริหารจัดการน้ำให้ดีที่สุด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนอยากให้ทำ BCG โมเดล นี้อย่างจริงจัง และนำมาขับเคลื่อนให้เป็นนโยบาย สอดคล้องกับรัฐบาลนิวนอร์มอลด้วย ทำในลักษณะครบองค์รวม รวมทั้งมีหลักคิดมายด์เซต บูรณาการขับเคลื่อนประเมินผล หรือทางทหารเรียกว่า วางแผนย้อนกลับจากที่หมายสู่ที่ตั้ง โดยต้องมองว่าปัญหาระหว่างทาง คืออะไรบ้าง ไม่ใช่คิดแค่โครงการแล้วเดินหน้าไปเรื่อย ถูกสกัดก็ไม่ถึงเป้าหมายสักที และตนมีความเป็นห่วงชีวิตประชาชนในช่วงต่อจากนี้ ที่เราจะเป็นโลกยุคใหม่ โลกเทคโนโลยี และโลกดิจิทัลที่มีบางส่วนยังเข้าไม่ถึง

ดังนั้น ส่วนราชการต้องทำเทคโนโลยีดิจิทัลให้คนเข้าถึงให้ได้ ไม่ใช่เพื่อคนใดคนหนึ่ง ต้องทำเพื่อคนทั้งประเทศ ส่วนไหนต้องเร่งทำก่อนต้องจัดสรรให้เหมาะสม เพราะมีงบฯและค่าใช้จ่ายจำนวนมาก หลายกระทรวงต้องการเม็ดเงินไปบริหาร ดังนั้นเม็ดเงินแต่ละก้อนต้องตอบสนองประชาชน ไม่ใช่เพียงบริหารให้หมดๆไป ซึ่งตนจะติดตามทุกโครงการ

วันนี้โลกใบเดียวมีหลายมหาอำนาจ เราต้องรักษาสมดุลให้ได้ ย้ำว่าทุกประเทศไม่ได้รังเกียจประเทศไทย แต่เราต้องยึดโยงตลาดโลกด้วย หากพังก็จะพังกันทั้งหมด วันนี้ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด ดังนั้นต้องรักษาวินัย เอาใจใส่ และเห็นใจเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้วย อย่าคอยให้เจ้าหน้าที่มาห้าม หรือมาจับ อย่าเป็นฝ่ายรับอย่างเดียว ต้องให้ความร่วมมือกันด้วย ลดการใช้กฎหมาย เพราะทุกคนไม่ชอบกฎหมาย แต่กฎหมายเป็นสิ่งทำให้เท่าเทียมกัน หากทำผิดก็ผิดเหมือนกันเป็นสิ่งที่ตนยืนยันมาตลอด

นอกจากนี้ การทำงบประมาณ ต้องให้ตรงความต้องการของประชาชน พร้อมมีการตรวจสอบการทุจริต ข้อสำคัญการมีส่วนร่วมประชาชนต้องทำให้ประชาชนเข้าใจให้ได้ วันนี้ยังมีระยะห่างระหว่างข้าราชการประชาชน ซึ่งต้องลงไปพบประชาชนในพื้นที่ และรายงานนายขึ้นมา ถ้านายไม่ทำรายงานมาถึงตน ที่ผ่านมาได้ทำให้หลายที่ ทั้งที่บางเรื่องไม่ควรถึงตน ก็ต้องถึง ดังนั้นต้องไม่ทำงานบนโต๊ะอย่างเดียว นอกจากนี้ขอให้ทำโครงการให้เป็นผลสำเร็จ เพื่อเป็นเกียรติต่อตนเอง ซึ่งเกียรติเป็นสิ่งที่คนอื่นยกให้เรา เหมือนเป็นนายกฯ ก็เป็นไปแต่ถ้าคนไม่ให้เกียรติก็คือ ไม่ให้เกียรติ เพราะเกียรติเป็นสิ่งที่คนอื่นยกให้ แต่ยืนยันตนพยายามทำทุกอย่างให้สำเร็จ ไม่ใช่เพื่อตัวเองแต่เพื่อทุกคน

สำหรับการประชุมสมัชชาดังกล่าว จัดขึ้นโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พื่อแสดงให้เห็นถึงโอกาสและศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้านจากการใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG และเป็นการร่วมกันกำหนดเป้าหมายการพัฒนา รวมถึงผลิตภัณฑ์เป้าหมาย หรือสิ่งที่ต้องการให้เกิดการขับเคลื่อน เช่น ปรับแก้กฎหมาย ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สร้างตลาด มาตรการทางการเงิน การเร่งรัดความสามารถด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี การกระจายความรู้ และเทคโนโลยีไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ผลักดันเศรษฐกิจ 4.4 ล้านล้านบาท

พร้อมกันนี้ ยังมีพิธีลงนามความร่วมมือ “โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG โมเดล) สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการเงิน จำนวน 18 หน่วยงาน หนุนการลงทุนให้เกิดผลกระทบไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาท และมีผู้ได้รับผลประโยชน์ไม่น้อยกว่า 50,000 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น