xs
xsm
sm
md
lg

บี้”ฌอน”ใช้เงินบริจาคมั่ว เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

"ศรีสุวรรณ" จี้กรมการปกครอง ตรวจสอบเอาผิด "ฌอน" เปิดรับบริจาคช้วยเหลือดับไฟป่าภาคเหนือ ได้ขออนุญาตหรือไม่ และยังนำเงินบริจาคไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เข้าข่ายฉ้อโกงหรือไม่ ด้านรองโฆษกตร. เผยยังไร้ผู้เสียหายแจ้งเอาผิด 'ฌอน' ปมเปิดรับบริจาค

จากกรณี "ฌอน บูรณะหิรัญ" ไลฟ์โค้ชชื่อดัง ถูกทีมอาสาร่วมดับไฟป่าที่เชียงใหม่ ฝากเพจสายดาร์ก "แหม่มโพธิ์ดำ" ถามหาเงินบริจาคที่หายไป ระบุเปิดรับบริจาคใหญ่โต คนแชร์เพียบ กดไลก์เป็นแสน แต่ไม่เคยมีการเปิดเผยยอดบริจาค และไม่เคยได้รับสิ่งของจากฌอนเลย

ต่อมา เพจ "Sean Buranahiran-ฌอน บูรณะหิรัญ" ได้โพสต์ชี้แจงถึงเรื่องนี้ว่า ได้นำเงินช่วยแก้ปัญหาวิกฤตไฟป่า และ Covid-19 ยืนยันลงพื้นที่จริง พร้อมโชว์ใบเสร็จในการซื้ออุปกรณ์ต่างๆ

หลังจากการออกมาชี้แจงดังกล่าว กลับถูกชาวเน็ตเข้ามาคอมเมนต์ วิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบกว่า 2 หมื่นคอมเมนต์ โดยส่วนใหญ่มองว่า "ฌอน" พูดโกหก หาเงินช่วยดับไฟป่า หรือหาเงินช่วยทีมงานตัวเอง อีกทั้งยังพูดถึงกรณีเงินจำนวนกว่า 2 แสนบาท ที่ ฌอน อ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ทีมงาน ตัดต่อ และโปรโมตโพสต์โดยจ่ายค่าโฆษณา ซึ่งชาวเน็ตมองว่า เป็นจำนวนเงินที่สูงเกินไปหรือไม่ และเงินจำนวน 2 แสนบาท เข้ากระเป๋าของตัวเองหรือไม่

อีกหนึ่งประการคือ ชาวเน็ตส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า เพจดังอย่าง "Sean Buranahiran-ฌอน บูรณะหิรัญ" ที่มีผู้ติดตามกว่า 3 ล้านคน จะมียอดเงินบริจาคเข้ามาเพียงแค่ 8 แสนบาท โดยนำไปเปรียบเทียบกับทางเพจอื่น ที่มีผู้ติดตามเพียง 5 แสนคน แต่มีผู้บริจาคเข้ามากว่า 3 ล้านบาท

ล่าสุด นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า กรณีนายฌอน ได้ด้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ขอรับเงินบริจาคระหว่าง วันที่ 30 มี.ค. 63 ถึง 1 พ.ค.63 จากแฟนเพจ เพื่อนำมาช่วยดับไฟป่าดอยสุเทพ อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่ โดยมีผู้ร่วมบริจาคเป็นเงิน 875,741.53 บาท แต่กลับนำเงินบริจาคส่วนหนึ่งมูลค่า 254,516.53 บาท มาใช้ทำสื่อเพื่อประชาสัมพันธ์ตนเองนั้น

เบื้องต้นการรับบริจาค แม้มีวัตถุประสงค์เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่จะต้องขออนุญาตจากคณะกก.ควบคุมการเรี่ยไรเสียก่อน ตาม ม.6 ประกอบ ม.8 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 ซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดให้ นายอำเภอ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ม.8 สำหรับในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งต้องตรวจสอบต่อไปว่า ผู้ขออนุญาตเคยต้องโทษเกี่ยวกับทรัพย์ กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายลักษณะอาญา หรือไม่ หากใครฝ่าฝืนย่อมมีความผิดตาม ม.17 ประกอบ ม.19 ได้ หรือหากผู้จัดกิจกรรมปิดบังอำพรางข้อเท็จจริง ก็อาจเข้าข่ายความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตาม ปอ.ม.172 ด้วย

ดังนั้น สมาคมฯ จึงได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังอธิบดีกรมการปกครอง เพื่อขอให้ตรวจสอบว่า กรณีการขอรับบริจาคของนายฌอน ได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ดังนี้

1. กิจกรรมการเรี่ยไรดังกล่าว มีการดำเนินการขออนุญาตถูกต้อง แล้วหรือไม่ อย่างไร 2. มีการออกใบรับเงินให้กับผู้บริจาค และมีต้นขั้วใบรับไว้เป็นหลักฐานตามที่กำหนดไว้ใน ม.13 หรือไม่ 3. เงินบริจาคที่ได้มา มีการนำไปใช้จ่ายในการจัดทำสื่อเพื่อประชาสัมพันธ์ตนเอง เป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ตาม ม.14 หรือไม่ และหากนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ อาจเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกง ตามกฎหมายอาญา ม.341 ได้ที่ระบุว่า "ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

ทั้งนี้ กิจกรรมการขอรับบริจาคของนายฌอน ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นลงไปแล้ว หากเป็นการดำเนินการที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร และประมวลกฎหมายอาญา ก็ย่อมที่จะฝ่าฝืน พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 ตามไปด้วย ย่อมถือได้ว่า เป็นความผิดที่สำเร็จแล้ว กรมการปกครอง ต้องดำเนินการทางกฎหมายเพื่อแจ้งความดำเนินคดีตามครรลองของกฎหมายต่อไป

ด้านพ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกตร. กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสวิจารณ์การเปิดรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ ของ นายฌอน ว่า การกระทำในลักษณะดังกล่าวข้างต้นนั้น หากจะเป็นความผิดที่เกี่ยวกับเรื่องการฉ้อโกง ก็จะต้องเป็นการกระทำโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยการหลอกลวงดังกล่าวนั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม โดยในเบื้องต้น ขณะนี้นั้นยังไม่ได้รับรายงานว่ามีประชาชน หรือผู้ที่ได้รับความเสียหายมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เกี่ยวกับการเปิดรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องไฟป่าแต่อย่างใด

ทั้งนี้ หากมีประชาชนหรือมีผู้ที่รับความเสียหายจากการเปิดรับบริจาคดังกล่าว ก็สามารถมาพบพนักงานสอบสวน เพื่อร้องทุกข์ให้ดำเนินตามขั้นตอนของกฎหมายได้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็พร้อมที่จะทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวข้องตามขั้นตอนต่อไป โดยจะดำเนินการด้วยความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย


กำลังโหลดความคิดเห็น