xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผลาญงบสร้าง “ศาลาหมาเมิน” โมเดิร์นเก๋ไก๋ ใช้งานไม่ได้จริง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลายเป็นกระแสดรามา “ศาลาหมาเมิน” ศาลาพักริมทางของกรมทางหลวงราคาหลักแสน จนต้องปรับแก้ใหม่และไล่เช็กกันทั้งประเทศ ขณะที่ชาวบ้านซึ่งเดือดร้อนร่วมใจกันบริจาคเงินสร้างศาลาที่พักขึ้นเองด้วยงบเพียงหลักหมื่นเป็นที่หลบแดดหลบฝนได้ดีกว่า หักหน้าวิศวกรห้องแอร์กรมทางฯให้ได้อาย

ไม่แน่ว่าหากชาวโซเซียลมีเดียไม่โพสต์ภาพศาลาที่พักริมทาง ถนนสี่เลน สายศรีสะเกษ-วังหิน พร้อมข้อความเพื่อนๆ คิดเห็นกันอย่างไร ทำให้ชาวเน็ตแห่เข้าไปวิพากษ์วิจารณ์กันจำนวนมาก และสื่อสำนักต่างๆ แห่ขยายผลจนกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา กรมทางหลวงจะคิดปรับปรุงแก้ไขใหม่หรือไม่ และจะรู้ไหมว่าศาลาริมทางที่สร้างๆ กันนั้นดีแต่ผลาญงบแต่ใช้ประโยชน์ไม่ได้จริงจนเจอชาวบ้านโวย

ไม่แต่ศาลาที่พักริมทางถนนสายดังกล่าวที่ศรีสะเกษเท่านั้น ที่จังหวัดชุมพร ก็มีสภาพเช่นเดียวกัน เป็นไปตามที่กรมทางหลวงว่ามีการสร้างที่พักริมทางรูปแบบนี้ทั่วประเทศ ที่ผ่านมา ประชาชนคงเดือดร้อนที่ศาลาพักริมทางใช้เป็นที่หลบแดดหลบฝนไม่ได้แต่ไม่รู้จะไปร้องเรียนกับใครได้ กระทั่งเมื่อใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นช่องทางฟ้องด้วยภาพ จึงทำให้กรมทางหลวง ร้อนก้นรีบออกมาชี้แจงและจะปรับปรุงแก้ไขใหม่ทั้งหมด

คำชี้แจงจากพื้นที่ในส่วนของการสร้างถนนและศาลาที่พักริมทางในจังหวัดศรีสะเกษนั้น นายสิริ สิงหรัตน์ นายช่างโยธาชำนาญงาน สำนักก่อสร้างทางที่ 2 กรมทางหลวง ผู้ช่วยนายช่างโครงการก่อสร้างทางสายศรีสะเกษ-อำเภอวังหิน จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ถนนสายดังกล่าวสำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง เป็นผู้ออกแบบในการก่อสร้างทั้งหมด รวมทั้งศาลาพักริมทาง ใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 518 ล้านบาท เฉพาะตัวศาลาที่พัก ใช้งบก่อสร้างหลังละ 120,000 บาท

สำหรับศาลาพักฯ เป็นการออกแบบรูปแบบใหม่ และก่อสร้างอยู่หลายแห่งทั่วประเทศ เพื่อให้มีความทันสมัย สวยงาม มีความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งอาจจะดูเล็กเนื่องจากสภาพพื้นที่เขตทางบางจุดคับแคบ จากเดิมศาลาริมทางจะเป็นศาลาไม้ 4 เสา หลังค่อนข้างใหญ่ แต่ใช้งานมานานหลายปีมีสภาพทรุดโทรม ศาลาชำรุดทรุดตัว

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวถึงการตรวจสอบภาพที่มีการแชร์กันในสื่อสังคมออนไลน์ ว่าศาลาริมทางดังกล่าว อยู่ในโครงการก่อสร้างขยายทางเป็น 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 220 งานก่อสร้างเริ่มต้นสัญญาตั้งแต่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 งานแล้วเสร็จ 12 มิถุนายน 2563 และส่งมอบพื้นที่ให้แขวงทางหลวงศรีสะเกษที่ 1 ดูแล

ส่วนเหตุที่ต้องสร้างศาลาขนาดเล็กลง เนื่องจากถนนสายดังกล่าว แบ่งรูปแบบการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่มีเขตทาง 30 เมตร และ 40 เมตร โดยช่วงเขตทาง 30 เมตร เมื่อก่อสร้างเป็นทางหลวง 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบยกกว้าง 3.00 เมตร แล้วจะเหลือพื้นที่จากไหล่ทางจนถึงเขตทางหลวงเพียง 4.00 เมตร ไม่สามารถก่อสร้างช่องจอดรถ และศาลาทางหลวงแบบเดิมที่มีความกว้างประมาณ 6.25 เมตร ได้ จึงต้องก่อสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารตามที่ปรากฏ โดยมีความกว้างประมาณ 2.50 เมตร เพื่อให้ไม่เลยออกนอกเขตทาง

ขณะที่ช่วงเขตทาง 40 เมตร เมื่อขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบยกกว้าง 4.20 เมตร พร้อมช่องจอดรถโดยสาร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการจอดรับผู้โดยสารแล้ว จะเหลือพื้นที่ก่อสร้างที่พักผู้โดยสาร กว้างประมาณ 4.40 เมตร ไม่สามารถก่อสร้างศาลาทางหลวงแบบเดิมได้เช่นกัน ขณะนี้ได้สั่งปรับปรุงโดยทำกันสาดเพิ่มเติมทั้งด้านหน้าและด้านหลังเพื่อกันแดดกันฝนและปรับปรุงพื้นที่โดยรอบให้ดูร่มรื่นขึ้น

ส่วนประเด็นที่มีการแชร์ภาพศาลาจุดรอรถโดยสารของหมู่บ้านโดยชาวบ้านที่มีการก่อสร้างใหม่นั้น จุดดังกล่าวเดิมมีศาลาที่ใช้งานมานานกว่า 10 ปี แต่ช่วงเดือน พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ศาลาหลังเดิมโดนลมพายุพัดพังลงมา ชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างศาลาขึ้นมาใหม่แทนหลังเดิมที่พังลง

ศาลาพักริมทางที่อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวถึงก็คือ ศาลาฯ ที่ชาวบ้านหนองโตน ม.8 ตำบลธาตุ อำเภอวังหิน จังหวัดศรีสะเกษ ที่ชาวบ้านได้ร่วมกันบริจาคเงินสร้างศาลาพักริมทางรถโดยสารขึ้นมาแทนหลังเดิมที่พังชำรุดด้วยเงิน 19,000 บาท เพื่อใช้ประโยชน์เป็นที่พักรอโดยสาร

ชาวบ้านหนองโตน บอกว่า ศาลพักรอรถโดยสารริมทาง สามารถใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี แม้การก่อสร้างจะยังไม่เสร็จเรียบร้อย ยังขาดไม้รองพื้นนั่งอีกด้านหนึ่ง โดยศาลาริมทางทั้ง 2 แบบนี้ตั้งอยู่คนละฝั่งถนน

กระแสดรามาศาลาพักริมทางที่ศรีสะเกษ ยังชวนให้ชาวโลกโซเซียลแห่แชร์ศาลาริมทางหลวงที่จังหวัดชุมพร และวิพากษ์วิจารณ์กันอึงมี่ โดยโฟกัสไปที่โครงการก่อสร้างทางหลวง สาย 3180, 3201 สายชุมพร-ปะทิว (สนามบินชุมพร) รวมระยะทาง 28.820 กิโลเมตร งบก่อสร้าง 365,400,000 บาท เริ่มต้นสัญญาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2561 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 19 มีนาคม 2563

ตามถนนสายดังกล่าวมีการสร้างศาลาที่พักลักษณะรูปทรงเดียวกันกับศาลาพักริมทางที่จังหวัดศรีสะเกษ มีรูปทรงสมัยใหม่สีเหลืองสวย กว้างและสูงประมาณ 2.50 เมตร รวมทั้งหมด 15 หลัง แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์กันแดดและฝนได้ ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าเสียงบประมาณก่อสร้างไปโดยเปล่าประโยชน์

นายสะอาด ทาระการ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร กล่าวว่า ศาลาหลังคาทรงหมาแหงน ไม่ว่าจะเป็นเวลาเช้าสายบ่ายเย็น ทั้งแดดและฝนก็สาดเข้าถึง ชาวบ้านต้องไปยืนแอบข้างต้นเสา เวลาฝนตกน้ำก็จะนองท่วมพื้น ตอนนี้ชาวบ้านเรียกว่า ศาลาหมาเมิน เพราะขนาดหมามันยังเมิน เนื่องจากหลบแดดหลบฝนไม่ได้

การปรับปรุงถนนสายดังกล่าวพร้อมศาลาพักรอรถโดยสาร มีคำชี้แจงจากนายวัฒนะ โพธิ์นาคเงิน ผอ.แขวงทางหลวงชุมพร และนายฉลองชัย จุรุพันธุ์ นายช่างโครงการฯ ว่า ศาลาที่นั่งรอรถโดยสารประจำทางที่สร้างอยู่ริมถนนสายดังกล่าวตามที่เป็นข่าวนั้นมีทั้งหมด 16 หลัง มีราคาเฉพาะตัวศาลาหลังละประมาณ 38,000 บาท ไม่รวมปูพื้นทางเท้าและปรับปรุงภูมิทัศน์อื่นๆ ไม่ใช่มีราคาสูง 3-4 แสนบาท ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

ส่วนรูปแบบของศาลานั้นได้ออกแบบมาจากส่วนกลางคือ กรมทางหลวง อาจจะมองถึงตามความจำกัดของสภาพพื้นที่ริมถนนที่จะมีการก่อสร้างศาลาและต้องการให้มีรูปทรงดูทันสมัยสวยงาม ให้เหมาะกับถนนที่ผ่านแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด ขณะที่ศาลาแบบเดิมที่เป็นทรงไทยที่ผ่านมามีชาวบ้านหลายแห่งร้องเรียนว่ากลายเป็นแหล่งมั่วสุม บางแห่งใช้เป็นที่ขายสินค้า ฯลฯ

กระแสวิพากษ์วิจารณ์ลามไปไม่หยุด นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ได้สั่งการให้นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย รองอธิบดีกรมทางหลวง ฝ่ายก่อสร้าง สำรวจศาลาที่พักรอรถโดยสารทั่วประเทศไทยว่า ที่ไหนมีปัญหาบ้าง ให้เร่งปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมใช้งานได้ดีขึ้น และต้องสอบถามชาวบ้านมาประกอบการพิจารณาด้วย โดยกรมทางหลวงจะปรับแบบศาลาพักคอยให้เหมาะสม ส่วนที่ยังไม่สร้างก็ให้ชะลอไว้ก่อนเพื่อปรับรูปแบบและความต้องการของประชาชน

ดรามาศาลาที่พักริมทางหลวง คงจะไม่เกิดถ้าหากกรมทางหลวงคิดคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยได้จริงตั้งแต่ต้น และคงไม่ต้องเสียงบประมาณแผ่นดินมาปรับปรุงแก้ไขใหม่อีกให้สิ้นเปลือง นี่เพียงองค์ประกอบหนึ่งของโครงการก่อสร้างถนนยังมีปัญหา อย่าถามถึงคุณภาพถนนหนทางที่สร้างกันไม่ทันไรก็พังต้องซ่อมใหม่ เงินทอนสะพัดทั้งสร้างทั้งซ่อม




กำลังโหลดความคิดเห็น