xs
xsm
sm
md
lg

ถกเปิดบินในประเทศ1พ.ค. วางเกณฑ์ขายตั๋วเว้นที่นั่ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กพท.หารือ 20 สายการบินเตรียมมาตรการก่อนเปิดบินภายในประเทศ 1 พ.ค. เข้มมาตรการเว้นระยะห่าง ขายตั๋วได้ไม่เกิน 70% ของจำนวนที่นั่ง ห้ามบริการอาหารบนเครื่อง คุมค่าตั๋วต้องไม่เกินเพดาน “อุตตม” เตรียมหารือแผนฟื้นฟู “การบินไทย”กับ “คมนาคม

วานนี้ (23 เม.ย.) นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับสายการบินสัญชาติไทยและสายการบินต่างชาติ กว่า 20 สายการบิน เมื่อวันที่ 23 เม.ย. เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการควบคุมโรค และเตรียมความพร้อมในการกลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศอีกครั้ง ในวันที่ 1 พ.ค. 63 หลังจากที่ก่อนหน้านี้สายการบินส่วนใหญ่ได้ประกาศหยุดให้บริการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเบื้องต้นมี 2 สายการบิน คือ ไทยแอร์เอเชีย และไทยไลออนแอร์ แจ้งว่ามีความพร้อมในการทำการบินในวันที่ 1 พ.ค. นอกจากนี้ มีปัจจัยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปจากวันที่ 30 เม.ย.นี้หรือไม่ รวมถึงมาตรการในแต่ละจังหวัดที่มีการประกาศล็อกดาวน์ เช่น ภูเก็ต ที่ส่งผลให้ต้องปิดสนามบินภูเก็ตไปด้วย

นายจุฬา กล่าวต่อว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจะลดลง และสายการบินภายในประเทศจะกลับมาให้บริการเส้นทางได้ แต่ทุกสายการบินยังจะต้องปฏิบัติตามมาตรการการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่ขั้นตอนการขายบัตรโดยสารในลักษณะที่นั่งเว้นที่นั่ง และในช่วงเดินทางจะต้องปฎิบัติการเพื่อรักษาระยะห่างระหว่างผู้โดยสาร (Social Distancing) ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเช็กอิน การขึ้นและลงเครื่องบิน โดยจะไม่มีบริการอาหาร และเครื่องดื่มระหว่างเที่ยวบิน ส่วนเส้นทางที่มีระยะเวลาการบินเกินกว่า 90 นาที สายการบินจะต้องกันที่นั่งแถวหลังไว้พิเศษสำหรับแยกผู้โดยสารที่มีอาการน่าสงสัยระหว่างเที่ยวบิน ด้านลูกเรือจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ถุงมือ และ Face shield ส่วนผู้โดยสารต้องรับผิดชอบสวมใส่หน้ากากอนามัยมาเองและใส่ตลอดเวลาการเดินทาง รวมถึงไม่สามารถนำอาหารของตนเองมารับประทานในเครื่องบิน

“มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมนั้น จะทำให้การจำหน่ายตั๋วได้ในสัดส่วน 70 %ของจำนวนที่นั่ง เช่น เครื่องบินที่มีประมาณ 70 ที่นั่ง จะขายตั๋วได้ไม่เกิน 49 ที่นั่ง ซึ่งสายการบินจะต้องพิจารณาในเรื่องของความคุ้มทุน ในการเปิดบินแต่ละเส้นทาง”

นายจุฬา กล่าวย้ำด้วยว่า ในส่วนของค่าโดยสารนั้นสายการบินจะต้องกำหนดตามโครงสร้างของอัตราที่ กพท.กำหนด ไม่เกินเพดาน 9.40 บาทต่อกิโลเมตร (กม.) ซึ่งที่ผ่านมา สายการบิน กำหนดค่าโดยสารโดยคำนวนที่ระดับ 3- 5 บาทต่อ กม. ซึ่งยังไม่เกินเพดานโครงสร้างราคา ที่กำหนดไว้ ส่วนสายการบินจะกำหนดราคาเพิ่มขึ้นจากเดิมหรือไม่ ขึ้นกับสายการบินเอง เพราะปริมาณผู้โดยสารลดลงอยู่แล้ว เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 การเดินทางจึงมีเฉพาะคนที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น.

อีกด้าน นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 เม.ย. กระทรวงการคลัง จะมีการหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคม ถึงแผนฟื้นฟูการบินไทย ขณะที่มาตรการเยียวยาสายการบินอื่นได้มอบหมายให้ธนาคารออมสิน และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พิจารณาแนวทางการเยียวยาต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น