xs
xsm
sm
md
lg

โควิด-19 : ทุกข์ซ้ำเติมคนไทยวันนี้

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง



ในขณะนี้คนยากจนหรือผู้มีรายได้น้อยในประเทศไทย มีความทุกข์ ความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นจากการเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19

คนจนเหล่านี้ได้แก่ คนระดับล่าง ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มคือ

1. เกษตรกรรายย่อยในชนบท คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง หรือมีแต่ไม่มากพอที่จะทำเกษตรกรรม เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตนเอง และครอบครัว จึงต้องเช่าที่ดินจากนายทุนประกอบกับไม่มีเงินทุน ดังนั้น ในทุกฤดูกาลผลิตจึงต้องเป็นหนี้เพื่อนำมาเป็นค่าเช่าที่ดิน และเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิต โดยการกู้ยืมทั้งในและนอกระบบ

ดังนั้น เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่จึงมีรายได้หลังหักรายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายอันเกิดจากการกู้ยืมแล้วจะเหลือเงินไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในแต่ละปี จึงต้องกู้ยืมมากินมาใช้ ทำให้มีหนี้สะสมไม่มีวันจบสิ้น

2. ผู้ใช้แรงงานระดับล่างหรือแรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled Labor) ซึ่งได้รับค่าจ้างรายวัน

รายได้ของคนกลุ่มนี้เมื่อเทียบกับราคาสินค้า และบริการที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตแล้วนับได้ว่าน้อยมาก ต่อให้ประหยัดก็อยู่ได้ยาก ดังนั้น คนเหล่านี้จึงต้องเป็นหนี้ ทั้งเป็นหนี้บัตรเครดิต และหนี้เงินกู้นอกระบบประเภทรายวัน รายเดือนในอัตราสูง และมีการทวงหนี้แบบโหดร้ายดังที่ปรากฏเป็นข่าวบ่อยๆ

3. ผู้ประกอบอาชีพอิสระได้แก่ พ่อค้า แม่ค้าขายของเล็กๆ น้อยๆ และคนขับรถรับจ้าง เป็นต้น

คนกลุ่มนี้มีสถานะความเป็นอยู่ไม่ต่างไปจากกลุ่มที่สองคือ มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จึงต้องจำยอมเป็นหนี้จากการกู้ยืม และจากการซื้อของผ่อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อไหร่ก็ตามที่ประเทศเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ จนเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการธุรกิจประสบปัญหาขาดทุนถึงขั้นต้องปิดกิจการ หรือไม่ถึงขั้นปิดกิจการ แต่ต้องลดต้นทุนเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ โดยการลดคนงานทำให้ลูกจ้างส่วนหนึ่งว่างงาน ทำให้ลูกจ้างซึ่งอยู่นอกประกันสังคมไม่มีรายได้ ส่วนผู้ที่อยู่ในประกันสังคม จะยังมีรายได้ส่วนหนึ่งสามารถอยู่ไปได้ระยะหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างที่หางานใหม่

วิกฤตทางเศรษฐกิจนอกจากทำให้ลูกจ้างส่วนหนึ่งเดือดร้อนแล้ว ยังทำให้ผู้มีอาชีพอิสระเดือดร้อนไปด้วย เนื่องจากในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ ผู้คนในสังคมต่างก็พากันประหยัดใช้เงินน้อยลง ทำให้การค้าขายได้น้อยลง ส่งผลกระทบถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระทางอ้อม

จากปัญหาทางเศรษฐกิจดังกล่าวข้างต้น เป็นเหตุให้เกิดปัญหาสังคมตามมา จะเห็นได้จากการเกิดปัญหาอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น การจี้ ปล้น ชิงทรัพย์ เป็นต้น

แต่วันนี้และเวลานี้ คนจนในประเทศไทยมีความทุกข์เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากความทุกข์ ความเดือดร้อน อันเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำมาแล้วก่อนหน้านั้นก็คือ ความทุกข์อันเกิดจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้คนจนซึ่งปกติลำบากอยู่แล้ว ต้องลำบากเพิ่มขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ความทุกข์ของคนจนบรรเทาลงได้บ้าง เมื่อทางภาครัฐได้ให้การช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ แต่ก็คงทำได้แค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากงบประมาณจำกัด

ดังนั้น ในระยะยาวทุกคนคงจะต้องพึ่งตนเอง หลังจากการช่วยเหลือจากภาครัฐสิ้นสุดลง เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเกิดจากโควิด-19 นี้ได้จบลงในทันทีที่การระบาดจบลง แต่คงยืดเยื้อต่อไปอีกระยะหนึ่งอาจเกิน 1-2 ปี ทั้งนี้อนุมานโดยอาศัยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ถึงแม้ว่าไม่มีการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจของประเทศไทย ก็มิได้อยู่ในระดับที่เรียกได้ว่าดี ทั้งนี้ จะเห็นได้จากการจัดเก็บรายได้ของประเทศน้อยกว่ารายจ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละปี จึงต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลติดต่อกันมาหลายปีแล้ว

2. รายได้ของประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากการส่งออกสินค้า และจากการท่องเที่ยว ดังนั้น การที่จะอนุมานว่า เศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้นหรือไม่ หลังจากการระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลงแล้ว จะต้องพิจารณาจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

2.1 ศักยภาพในด้านการผลิต และการขายของประเทศไทย ภายใต้การบริหารของรัฐบาล ต่อจากนี้ไปทำได้ดีกว่าที่ผ่านมาหรือไม่มากน้อยเพียงใด

2.2 ประเทศผู้นำเข้าสินค้าของไทย เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น และประเทศซึ่งเป็นแหล่งที่มาของนักท่องเที่ยวเช่น จีน เป็นต้น ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เช่นเดียวกับประเทศไทยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากการระบาดของโควิด-19 ได้รวดเร็วมากน้อยเพียงใด

ถ้าเหตุปัจจัยทั้งสองประการข้างต้น เป็นไปในทางบวก ก็อนุมานได้ว่าเศรษฐกิจของประเทศไทย ก็คงจะดีขึ้น และเมื่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้น ความยากจนของคนในประเทศก็คงจะลดลง

แต่ถ้าเป็นไปในทางกลับกัน เศรษฐกิจของประเทศไทย ก็คงจะย่ำแย่ไปอีกนานจนกว่าเหตุปัจจัย 2 ประการจะเป็นไปในทางบวก
กำลังโหลดความคิดเห็น