ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในช่วง “โควิด-19” ระบาด แม้รัฐบาลจะใช้มาตรการ “ล็อกดาวน์” และ “เคอร์ฟิว” เพื่อควบคุมการการกระจายของเชื้อไวรัสมรณะ แต่ทั้งสองมาตรการก็ไม่อาจหยุดยั้ง “พวกชังชาติ” ที่แห่แหนแสดงความคิดเห็นกันอย่างอึกทึกครึกโครมในโลกโซเชียล
ดรามากันเยอะเหลือเกินว่า ประเทศไทยไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้
แต่ในความเป็นจริงก็คือ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกแล้ว ต้องบอกว่า การควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ของไทยไม่เป็นสองรองใคร ดังจะเห็นได้จากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่แต่ละวันที่เหลือแค่ “หลักสิบ” กระทั่ง “องค์การอนามัยโลก(WHO)” ประจำประเทศไทย “ชื่นชม” พร้อมระบุว่า ไทยมีระบบการดูแลสุขภาพถึงระดับครอบครัว คือ “อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)” กว่า 1,040,000 คน ทำให้สามารถดูแลคนได้อย่างใกล้ชิด
ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์ ที่ฝ่ายตรงข้ามเคยหยิบยกมาเบิ้ลบลัฟใส่รัฐบาล แต่ดูวันนี้มีแต่คนอิจฉาไทย
สถานการณ์วันนี้พูดได้ว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี “เอาอยู่” ในระดับหนึ่ง
อย่างน้อยอุดช่องไม่ให้ “พวกฉวยโอกาส” ขย่มรัฐบาล ทำให้ปัญหาแก้ยากกว่าเก่า แม้จะมีความพยายามจากบางฝ่ายอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็ไม่พอที่จะทำให้ประชาชนเปิดประตูออกจากบ้านมาตะเพิดไล่
กางสูตร รบ.ปราบโควิด
ประเทศไทย “เอาอยู่ดู่แลดี”
แม้จะมีการพยายามหาช่องทางจับผิด โดยเฉพาะตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันที่น้อยลงว่า รัฐปกปิดข้อมูล ไม่ได้หว่านตรวจเหมือนประเทศต่างๆ แต่เมื่อเจอบรรดาบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังเป็น ‘พระเอก” ในด่านหน้าออกมาอธิบายเหตุผลถึงที่มาที่ไป ก็ทำให้ความคลางแคลงใจของประชาชนได้รับความกระจ่างลงไปบ้าง
ยิ่ง “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลไทยรักไทย ที่ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ดึงมาช่วยเป็นที่ปรึกษา ยืนยันคอนเฟิร์มเองว่า ตัวเลขการตรวจของไทยไม่ได้ด้อยกว่าต่างชาติในแง่ประสิทธิภาพ ประเด็นตรวจน้อย เจอน้อย จากฝ่ายค้านเลยจุดไม่ขึ้น
หลังๆ กองแช่งจากฝ่ายตรงข้าม เริ่มหมดมุกที่จะเล่น หันไปกระโดดงับ “หมอทวีศิลป์” ว่า เชลียร์ “บิ๊กตู่” เกินหน้าที่หมอ แต่ “หมากัด ไม่กัดตอบ” เล่นบท “จิตแพทย์” ไม่ตอบโต้ ทำเอาคนด่ากลายเป็นพวก “โรคจิต” ไปทันควัน
สถานการณ์วันนี้ที่เบาบาง จนทำทั่วโลกอิจฉา มาตรการรัฐนั้นส่วนหนึ่ง แต่ส่วนสำคัญวันนี้คือ ความร่วมมือจากประชาชนที่ช่วยกันกดตัวเลขผู้ป่วยไม่ให้บานตะไทไปกว่านี้ อย่างที่มีนักวิชาการประเมินกันว่า หากไม่ทำอะไรเลย กลางเดือนเมษายน ผู้ป่วยจะทะลุไปถึง 350,000 ราย แต่ถึงวันที่ 15 เมษายน ประเทศไทยร่วมแรงร่วมใจ สะกด “โควิด-19” ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยสะสมอยู่แค่ 2 พันกว่าราย ถือว่าประสบความสำเร็จ เมื่อมองย้อนไปถึงสถานการณ์วันที่ตัวเลขกำลังทะยานแบบก้าวกระโดด
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายตัวอย่างที่สะท้อนว่า เมืองไทย “ไฉไล” ไม่แพ้ “ชาติไหน” โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาซึ่งมีหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพที่สุดในโลก แต่กลับมีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
กรณีศึกษาที่สะท้อนภาพได้เป็นอย่างดีก็คือ กรณีที่ “นายตุลย์ ฟูตระกูล” นักธุรกิจไทยในสหรัฐอเมริกา ที่โพสต์เปิดเผยสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ว่าที่สหรัฐฯ ต่อให้มีเงินก็ไม่สามารถไปหาหมอได้ เพราะจะรับรักษาเฉพาะคนที่อาการหนัก และเชื่อว่าไทยมีการรับมือโรคระบาดได้ดีกว่าหลายประเทศ
“ตอนนี้ถ้าเลือกได้ อยากกลับประเทศไทยมากๆ ก่อนหน้านี้ยังคุยกันในหมู่เพื่อนๆ ว่า พวกเรานี้เก่งนะ ยังไม่ใครติดโควิดกันเลย เช้าวันนี้คนที่มีพระคุณกับชีวิตผมและครอบครัวมากๆ เพิ่งเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ที่สหรัฐอเมริกา ต่อให้คุณมีเงินคุณก็ไปหาหมอไม่ได้ คุณต้องใกล้จะตายจริงๆ คุณถึงมีสิทธิ์ที่จะเข้าโรงพยาบาลได้ พี่เขาตรวจพบเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน อาการก็เหมือนกับไข้หวัดใหญ่ อ่อนแรง ไอ เบื่ออาหาร ปวดเนื้อปวดตัวเหมือนกับคนอื่นๆ ได้พบหมอในเวลา 4 วันต่อมาพบเชื้อไวรัส หมอบอกว่าให้นอนอยู่บ้านกินยาแก้หวัดธรรมดา ไม่ได้มียาอะไรพิเศษเหมือนที่เราเข้าใจกัน ยามีไว้สำหรับคนทื่ใกล้เสียชีวิตจริงๆ แกก็กลับมาบ้านแยกตัวกับลูกเมีย จนแกไอมากทนไม่ไหวไปหาหมอ หมอให้กลับบ้าน แต่ยังไม่ได้กลับบ้าน เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในวันนั้น ไม่ได้ร่ำลาภรรยาและลูก ร่างศพก็ไม่มีโอกาสได้เห็น หมอไม่เปิดให้ดูเพราะกลัวจะติดโรคต่อไป ญาติจะกอดกันร้องไห้ก็ไม่ได้เพราะต้องเว้นระยะห่างกันเอง”
“ผมรู้ว่าตอนนี้คนไทยกำลังบ่นด่ารัฐบาล หาว่าประเทศตัวเองอย่างโน้นอย่างนี้ คุณรู้มั้ยว่า ถ้าให้เลือกว่าป่วยที่เมืองไทย กับป่วยที่เมืองนอก ผมบอกเลยทุกคนอยากย้ายกลับเมืองไทย ประเทศที่ล้าหลังต่ำตมในสายตาของคุณ ผมมองว่าเป็นประเทศที่มีการรับมือมากกว่าหลายๆ ประเทศในมหาอำนาจ ที่ประกาศว่าจะปล่อยเงินโน้นนี่นั้น ทุกวันนี้ยังไม่ได้เข้ากระเป๋าคนซักบาท เห็นว่ารัฐบาลจะปล่อยออกมาชุดแรกอาทิตย์หน้า หมอพยาบาลที่รู้จักค่อยๆ เสียชีวิตกันไปทีละคนสองคน ถ้าขอเลือกได้ อยากให้คนที่บ่นด่ารัฐบาลมาอยู่ตรงนี้แล้วเอาผมทั้งบ้านไปอยู่ตรงโน้นแทน ผมยินดีออกเงินให้แลกกับบ้านผมไปอยู่ตรงโน้น เอาไหม”
นอกจากนี้ เพจ “Drama-addict” ของ “นายแพทย์ วิทวัส ศิริประชัย” เจ้าของนามแฝง “จ่าพิชิต ขจัดพาลชน” ยังได้ขยายความในประเด็นดังกล่าวโดยโพสต์ให้เห็นว่า ค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีราคาสูงถึงประมาณ 40,000-70,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,300,000-2,300,000 บาท แต่ทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้ช่วยเหลือและลดค่าใช้จ่ายให้บางส่วน เหลือประมาณ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1 ล้านบาท
ขณะที่ประเทศไทย ประชาชนสามารถใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ( บัตรทอง) ซึ่งครอบคลุมดูแลทั้งป้องกันโรค และดูแลค่าใช้จ่ายให้หมด แม้แต่โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งในไทยตอนนี้ ก็เข้าร่วม UCEP covid-19 คือ เข้าร่วมบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตโควิดหมดแล้ว โดยจะเบิกค่าบริการตามราคากลางที่โรงพยาบาลกำหนด
“จากเหตุการณ์ระบาดของโควิดทั่วโลก และเราได้เห็นปัญหาของประเทศต่างๆ ที่ใช้ระบบประกันสุขภาพแตกต่างกันไปจากเรา ตอนนี้เราน่าจะพอพูดได้เต็มปากเต็มคำ ว่าเรามาถูกทางมาก แต่ก็ยังมีช่องโหว่ที่ต้องพัฒนาอีกพอสมควร เช่น เรื่องของ การผลิตยา ผลิตอุปกรณ์ป้องกัน ที่เรายังต้องพึ่งพิงกำลังการผลิตจากต่างประเทศอยู่เยอะ ถ้าหมดระบาดเมื่อไหร่ แล้วมีการลงทุน สร้างองค์ความรู้ด้านนี้ให้พร้อม เอาให้เราผลิตเองได้ทั้งหมด แบบนั้นจะแจ่มมาก”จ่าพิชิตโพสต์
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ปัจจุบันชาวอเมริกันสามารถเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพผ่าน 3 ช่องทาง (คนอเมริกันส่วนใหญ่จะอยู่ในระบบประกันสุขภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง) ได้แก่ รัฐบาลเป็นผู้ประกัน บริษัทเอกชนผู้ว่าจ้างเป็นผู้ประกัน และการซื้อกรมธรรม์ประกันสุขภาพด้วยตัวเอง นอกจากนั้น ยังมีชาวอเมริกันที่ยังไม่มีประกันสุขภาพอยู่ที่ราว 40 ล้านคน
ตามไปดู “อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส”
ไม่แพ้แต่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น หากแต่ในหลายประเทศก็มีปัญหาในการรับมือกับ “โควิด-19” ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “ระบบบริการสุขภาพ” มีช่องว่างช่องโหว่ และทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ยาก
ยกตัวอย่างเช่น อังกฤษ ซึ่งมีระบบสวัสดิการสุขภาพที่ชื่อว่า National Health Service หรือ NHS เป็นองค์กรมีลักษณะคล้ายกับ “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)” ของไทย เป็นสวัสดิการที่คนอังกฤษได้รับเมื่อจ่ายภาษี และขณะนี้กำลังเผชิญกับปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ แม้การดูแลสุขภาพฟรีเป็นหนึ่งในสวัสดิการที่รัฐมอบให้ แต่บางครั้งผู้ป่วยต้องใช้เวลาในการรอนาน และมีตัวเลือกสำหรับโรงพยาบาล และแพทย์ไม่มากนัก นั่นคือเหตุผลที่คนอังกฤษราว 11% มีประกันสุขภาพของเอกชน ที่ถูกเสนอโดยนายจ้าง และขณะนี้อังกฤษมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เฉียด 1 แสนคนเข้าไปทุกทีและมีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ราว 13,000 คน สูงกว่าประเทศไทยมากมายนัก
ที่น่าสนใจก็คือ พวกนักวิจารณ์เตือนว่าประเทศแห่งนี้อาจจบลงด้วยการเป็นชาติที่มีอัตราการเสียชีวิตเลวร้ายที่สุดในยุโรป สืบเนื่องจากความล้มเหลวของรัฐบาล
สำหรับ “เยอรมนี” ที่มีตัวเลือกมากมายในการทำประกันสุขภาพ แต่ “โควิด-19” ก็ทำให้คนเยอรมันติดไวรัสมรณะไปแล้วกว่า 130,000 ราย และเสียชีวิตร่วม 4,000 คน ซึ่งต้องถือว่าจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยเมื่อเทียบกับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อระดับ TOP10 ของโลก
“ดิฉันอยู่เยอรมันมา 42 ปีค่ะ ระบบประกันสุขภาพของเขาไม่ฟรีนะคะ เราต้องจ่ายเบี้ยประกันทุกเดือนหักออกไปจากเงินเดือนเลย ถึงแม้เกษียณแล้วก็ยังต้องจ่ายต่อไปเรียกว่าต้องจ่ายจนตายค่ะ เวลาเจ็บป่วยไปหาหมอ ค่าหมอประกันจ่าย แต่ค่ายาจะมีส่วนต่างที่เราต้องจ่าย ตามขนาดแพ๊คของยาว่ามีกี่เม็ด ยาบางชนิดประกันไม่จ่ายให้เลย เช่น ยาฆ่าเชื้อราในลำไส้ที่เป็นผลข้างเคียงของยาปฏิชีวนะ ยาแก้ไข้พวกพารา สเปรย์พ่นจมูก ยาหยอดตา และอื่นๆอีกมากที่ต้องจ่ายเอง
“เวลาไปทำกายภาพบำบัดก็มีส่วนต่างที่เราต้องจ่ายเอง แม้แต่เข้า รพ. ก็มีค่าธรรมเนียมบางอย่างที่ต้องจ่ายเอง ถึงแม้จะไม่มากนักก็ตาม การไปหาหมอต้องนัดก่อนเสมอ ถ้าป่วยกะทันหันต้องไปนั่งรอ บางทีเขาเมตตาก็ลัดคิวให้ ส่วนการเข้า รพ. เพื่อผ่าตัด ต้องรอนานกว่าจะได้คิวค่ะ ถ้าไปหาหมอฟัน ถอนฟัน อุดฟัน ประกันจ่าย แต่ครอบฟัน หรือสะพานฟัน จะมีส่วนต่างที่ต้องจ่ายเองเกินกว่า 50% ถ้าทำรากฟันเทียมจะแพงมากและต้องออกเงินเองเกือบทั้งหมด ยกเว้นค่าทำงานของหมอค่ะ ที่คลินิกหมอและ รพ. ไม่มีห้องยา คนไข้ต้องไปเอายาเองที่ร้านขายยา ไม่ว่าจะป่วยแค่ไหน ใครมีญาติหรือเพื่อนที่ขอร้องกันได้ก็โชคดีไป ถ้าคนแก่อยู่คนเดียว ลำบากมาก เช่นเวลาเป็นแผล เขาให้ทำแผลเอง ถ้าเป็นแผลด้านหลังต้องไปวานใครทำให้ค่ะ ยกเว้นเป็นกรณีฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ เขาจะมียาให้คนไข้ที่เข้ารักษาใน รพ. จนกว่าจะเสร็จสิ้นการรักษาค่ะ”
นั่นคือเสียงจากคนไทยในเยอรมนีที่แสดงความคิดเห็นเอาไว้
ที่ “ฝรั่งเศส” ระบบริการสุขภาพของประเทศนี้ติดอันดับต้นๆ โดยชาวฝรั่งเศสผู้เสียภาษีถูกบังคับให้ทำประกันสุขภาพแห่งชาติโดยรัฐบาล ประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับสุขภาพคิดเป็นประมาณ 20% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
อย่างไรก็ตามชาวฝรั่งเศสกว่า 90% ก็ยังคงถือประกันสุขภาพโดยเอกชน ส่วนใหญ่มักดำเนินการโดยนายจ้าง ปัจจุบันระบบริการสุขภาพของฝรั่งเศสก็เผชิญกับปัญหาขาดดุลเรื้อรังเช่นกัน เนื่องจากปัญหาการว่างงานที่สูงขึ้น
ส่วนการระบาดเที่ยวนี้ ฝรั่งเศสมีผู้ติดเชื้ออยู่ “อันดับ 4” ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา สเปนและอิตาลี โดยมีผู้ติดเชื้อเกือบ 150,000 คนและมีผู้เสียชีวิตกว่า 17,000 คนเลยทีเดียว
...เห็นแบบนี้แล้ว “รักเมืองไทย” ขึ้นมาอีกเยอะว่าไหม?.