xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดยอดสิ่งประดิษฐ์สู้ “โควิด” นวัตกรรมการแพทย์เมดอินไทยแลนด์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในการรับมือกับ “โควิด-19” มนุษย์ได้มีการประดิษฐ์นวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมามากมาย เช่น ชุดตรวจหาเชื้อรูปแบบต่างๆ เครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติรุ่นใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงความพยายามในการคิดค้นหา “วัคซีน” และ “ยา” ในการต่อสู้กับไวรัสมรณะชนิดนี้กันอย่างไม่ลดละ

สำหรับประเทศไทยนั้น สถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ได้พร้อมใจกันประดิษฐ์เครื่องไม้เครื่องมือจำนวนมากขึ้นมาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งแต่ละชิ้นล้วนแล้วแต่มีประโยชน์กับสถานการณ์ในยามนี้ทั้งสิ้น

ห้องแยกโรคความดันลบ
ในการควบคุมปริมาณการกระจายของโควิด-19 ห้องแยกโรคความดันลบ (Negative pressure room) ถือว่ามีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยคุณสมบัติที่เป็นห้องปรับความดันอากาศภายในห้องต่ำให้เป็น Negative หรือมีแรงดันต่ำกว่าภายนอกห้อง เพื่อไม่ให้อากาศภายในห้องที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนไหลออกสู่ภายนอกห้อง

ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ สจล. ได้วิจัยและพัฒนา ห้องแยกโรคความดันลบ เพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิต โดยปรับเปลี่ยนและหันมาใช้วัสดุทดแทนที่หาได้ภายในประเทศ อาทิ พัดลมอัดอากาศ และระบบกรองอากาศฆ่าเชื้อโรคแบบกรองอนุภาคขนาดเล็ก เป็นต้น ทำให้ทุนในการผลิตลดลงเหลือราว 150,000 ถึง 200,000 บาทต่อห้อง จากปกติที่ต้องใช้เงินในการผลิตห้องละ 1 ล้านบาท

นอกจากนี้ทีมคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ยังเตรียมดัดแปลงห้องแยกโรคความดันลบในรูปแบบเคลื่อนที่ได้ (Movable room) เพื่อความสะดวกในการขนย้าย และสามารถเคลื่อนไปตั้งที่จุดคัดกรองในสถานที่ต่างๆ ตามความต้องการใช้งานอีกด้วย

เครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติขนาดเล็ก
อีกหนึ่งผลงานของ สจล.ที่น่าสนใจก็คือ เครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติขนาดเล็ก (Mini Emergency Ventilator) ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์การใช้งานเพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อในปอด ในภาวะฉุกเฉิน อาทิ อยู่ในระหว่างการส่งตัว หรือรอเข้ารับการรักษาด้วยเครื่องช่วยหายใจในโรงพยาบาล สอดรับกับสถานการณ์ที่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 5,000 -10,000 บาทต่อเครื่อง

หลักการของเครื่องช่วยหายใจดังกล่าวได้รับแนวคิดมาจากเครื่องช่วยหายใจชนิดบีบมือ (Ambu bag) โดยนำมาประยุกต์ใช้กับระบบควบคุมโดยเมคคานิก ที่สามารถตรวจจับจังหวะการหายใจของผู้ป่วย และเครื่องจะทำการบีบอัดแรงดันบวกเข้าไปโดยอัตโนมัติ ในจังหวะที่เข้ากับอัตราการหายใจของผู้ป่วย ทำให้การใช้งานมีความง่าย สะดวก และปลอดภัย ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบระดับสูง

นอกจากนี้ ยังมีตู้ Swab Test ปลอดเชื้อที่ใช้ระบบควบคุมความดันลบภายในห้อง พร้อมติดตั้งระบบกรองและฆ่าเชื้อก่อนปล่อยอากาศสู่ภายนอก ทำให้สามารถควบคุมการปนเปื้อนของเชื้อขณะแพทย์ทำหัตถการ Swab เชื้อจากช่องโพรงจมูกและกระพุ้งแก้มของผู้ป่วย อีกทั้งมีระบบฆ่าเชื้อทั้งก่อนและหลังทำหัตถการ โดยแพทย์จะไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง

สำหรับโรงพยาบาล หรือหน่วยงานที่สนใจรับคำแนะนำ และต้นแบบการผลิตนวัตกรรมดังกล่าว สามารถติดต่อสำนักงานบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) โทร. 091-812-0416 หรืออีเมล kannika.li@kmitl.ac.th หรือประชาชนที่สนใจร่วมบริจาคเพื่อสมทบทุนการผลิตเพื่อแจกจ่ายแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ สามารถบริจาคได้ที่ธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี สจล. นวัตกรรมสู้ COVID-19 เลขที่บัญชี 693-031-750-0


ห้องตรวจผู้ที่มีความเสี่ยง (Modular Swab Unit)
ไปกันที่บรรษัทขนาดใหญ่อย่าง “ปูนซิเมนต์ไทย” กันบ้าง เที่ยวนี้ “มูลนิธิเอสซีจี” ได้สร้าง “ห้องตรวจผู้ที่มีความเสี่ยง (Modular Swab Unit) และระบบติดตามสุขภาพทางไกล (Tele-Monitoring)” ขึ้นมาเพื่อมอบ ให้โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลราชวิถี

ห้องตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงนี้มีขนาดกะทัดรัด เหมาะสมกับพื้นที่ แต่สามารถรองรับการใช้งานของทีมแพทย์ได้ถึงคราวละ 5 คน และคนไข้อีก 5 คน อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบคัดกรองที่ทางโรงพยาบาลมีอยู่แล้วได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถดำเนินการตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ด้วยระบบควบคุมแรงดันและการหมุนเวียนของอากาศ ที่ช่วยให้อากาศสะอาด ลดโอกาสติดเชื้อ และระบบการป้องกันอากาศรั่วไหล ที่ช่วยป้องกันฝุ่น เสียง และอากาศ เข้า-ออกตัวอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ

อีกทั้งจะแยกคนไข้และทีมแพทย์ออกจากกัน เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสฟุ้งกระจาย และทีมแพทย์จะดำเนินการเก็บตัวอย่าง (Swab) โดยสอดมือผ่านแผ่นอะคริลิกที่เจาะเป็นช่องและมีถุงมือติดไว้ ซึ่งนอกจากจะมีการใช้แสงยูวีเข้มข้นสูงในการฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ (UV Germicide) ที่ถุงมือและภายในห้องหลังการใช้งานทุกครั้งแล้ว ยังมีถุงมือพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เปลี่ยนสำหรับคนไข้แต่ละคนครอบด้านนอกอีกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้ทั้งแพทย์และคนไข้ นอกจากนี้ ห้องปฏิบัติการทั้งหมดยังจะถูกแยกเป็นส่วนย่อย ๆ เพื่อแยกปิดได้ในกรณีฉุกเฉินที่เกิดการรั่วระหว่างห้องบุคลากรทางการแพทย์กับห้องผู้เข้ารับการตรวจอีกด้วย

ผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คอลเซ็นเตอร์ โทร. 02-586-2888

เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และบริษัท เอ ไอ แอนด์โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ได้ร่วมกับ บริษัท เอ.ไอ.เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทพันธมิตร ได้จัดสร้าง “ต้นแบบเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ” ที่พัฒนาขึ้นโดยคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (Vajira negative pressure transfer) โดยนำองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมเข้าไปช่วยพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องให้สูงขึ้น คือนอกจากจะปรับแรงดันอากาศให้เป็นลบแล้ว ยังสามารถกรองเชื้อโรค และฆ่าเชื้อโรคด้วยรังสี UV-C ได้ในเครื่องเดียวกัน

นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนาเครื่องกำเนิดแรงดันลบแบบเคลื่อนที่ ซึ่งนำไปติดตั้งร่วมกับ “กล่องทำหัตถการแรงดันลบ” เพื่อให้การควบคุมเชื้อในขณะที่ทำการรักษาคนไข้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ตู้ความดันลบสำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจ
เป็นนวัตกรรมจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้บุคลากรทางการแพทย์ในการเก็บสารคัดหลั่งต่างๆ จากคอหอยและโพรงจมูกของคนไข้มาตรวจ โดยตัวตู่ทำจากอะคริลิกหนา 15 มิลลิเมตรซึ่งทนต่อน้ำยาฆ่าเชื้อ มีลักษณะใส สามารถมองเห็นได้จากภายนอก ภายในตู้มีเครื่องดูดอากาศผ่าน HEPA Filter เกรดที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ซึ่งสามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กเท่าไวรัสได้ 99.995% โอกาสที่ไวรัสจะหลุดรอดจากฟิลเตอร์แทบจะเป็น 0% นอกจากนี้ยังมีการฆ่าเชื้อด้วยหลอด UV-C ทำให้ไวรัสหมดความสามารถ ในการก่อโรค เมื่อเทียบกับหน้ากาก N95 ที่สามารถกรองอนุภาคได้ขนาด 0.3 ไมครอน ตู้นี้จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสมากกว่า 1 พันเท่า

ขณะนี้ได้มีการนำตู้ความดันลบสำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วยแบบเคลื่อนที่มาใช้งานจริงแล้วที่หอผู้ป่วย COVID-19 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นตู้ที่สามารถเคลื่อนที่ไปที่ไหนก็ได้ ซึ่งจะช่วยป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ในเรื่องความเสี่ยงในการติดเชื้อ

หุ่นยนต์ “Pinto” ปิ่นโต
Quarantine Delivery robot

หุ่นยนต์ “Pinto” ปิ่นโต Quarantine Delivery robot เป็นผลงานจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยโครงการหุ่นยนต์และอุปกรณ์สนับสนุนการแพทย์ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 หรือ ทีม CURoboCovid ซึ่งทีมงานประกอบด้วย กลุ่มคณาจารย์ ดร สุรัฐ ขวัญเมือง จาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กลุ่ม Startup ของศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ คือ บริษัท HG Robotics และ Obodroid

PINTO เป็นหุ่นยนต์ซีรีส์หนึ่งของ CU-RoboCOVID ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาหุ่นยนต์เเละอุปกรณ์สนับสนุนการเเพทย์เพื่อส่งไปช่วยหมอสู้ภัยโควิดฯ ช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อ เเบ่งเบาภาระงาน เเละช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้บุคลากรทางการเเพทย์ ทำให้มีการพัฒนาหุ่นยนต์ช่วยเหลือเเพทย์ 3 ชุดหลัก ได้เเก่ หุ่นยนต์ส่งของ (Remote Control Delivery Robot) หุ่นยนต์สื่อสารทางไกล (Telepresence Robot) เเละหุ่นยนต์เครื่องช่วยหายใจ (Ambu Bag)

สำหรับหุ่นยนต์ส่งอาหารเเละเวชภัณฑ์ระยะไกลมีการติดตั้งระบบTelepresence โดยทำหน้าที่ส่งอาหารเเละเวชภัณฑ์ไปยังห้องผู้ป่วย พร้อมมีระบบภาพสื่อสารทางไกลที่ใช้งานง่าย ช่วยลดความเสี่ยงโดยเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ เเละยังอำนวยความสะดวกให้บุคลากรทางการเเพทย์ทำงานได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ยังมีซีรี่ส์น้องกระจก (Quarantune Telepresence) เป็นหุ่นยนต์เเท็บเล็ตที่นำไปไว้ที่ห้องผู้ป่วย ทำหน้าที่สอดส่องดูเเลเเละพูดคุยกับผู้ป่วย โดยไม่ต้องกดรับสาย เเละผู้ป่วยยังสามารถกดเรียกหาพยาบาลได้ เมื่อต้องการความช่วยเหลือ ช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อเเละลดอัตราการใช้อุปกรณ์ทางการเเพทย์ลง ขณะเดียวกันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เเพทย์เเละพยาบาลได้อย่างดี

ส่วนหุ่นยนต์นินจา เป็นซีรีส์ช่วยสื่อสารทางไกลระหว่างเเพทย์กับผู้ป่วยโควิดฯ ผ่านระบบ Video Conference โดยที่เเพทย์ พยาบาล ยังสามารถพูดคุย โต้ตอบ สอบถามอาการกับผู้ป่วยผ่านระบบ Telemedicine โดยไม่ต้องเข้าไปในหอผู้ป่วย เเละยังสามารถควบคุมเเละสั่งการทำงานของหุ่นยนต์ได้จากระยะไกล เเละที่มากไปกว่านั้น หุ่นยนต์ชุดนี้ยังเชื่อมอุปกรณ์วัดเเละบันทึกสัญญาณชีพต่าง ๆ เช่น วัดความดัน วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ วัดชีพจร วัดอุณหภูมิ เเละส่งข้อมูลไปให้เเพทย์ใช้ประกอบการวินิจฉัยอาการได้ทันทีด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น