xs
xsm
sm
md
lg

ยื่นขอค่ามิเตอร์ไฟ25มี.ค. จ่ายออนไลน์-สะพัด3.3หมื่นล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

กกพ. คลอดเกณฑ์คืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้ากว่า 23 ล้านราย วงเงิน 3.3 หมื่นล้าน กฟภ.-กฟน. เปิดให้ลงทะเบียน 25 มี.ค.เป็นต้นไป ไม่มีวันปิด และทยอยคืนเงินได้ตั้งแต่ 31 มี.ค. ผ่านเว็บไซต์ สแกนคิวอาร์โค้ด ในบิลค่าไฟ แอปพลิเคชั่น หรือที่สำนักงานเขต แต่เพื่อหลีกเลี่ยงโควิด-19 แนะใช้ผ่านระบบออนไลน์เป็นหลัก

วานนี้ (19 มี.ค.) นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ.ได้ประกาศหลักเกณฑ์การคืนหลักประกันการใช้ไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย และ ประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก มีผลตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. เป็นต้นไป ส่งผลให้ 3 หน่วยงานได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และกิจการไฟฟ้าสวัสดิการกองทัพเรือ (กฟส.) จะต้องคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าดังกล่าว กว่า 23 ล้านรายทั่วประเทศ วงเงินกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเปิดลงทะเบียนตั้งแต่ 25 มี.ค.นี้ เพื่อให้มีการตรวจสอบสิทธิ์ และเริ่มทยอยจ่ายคืนเงินได้ตั้งแต่ 31 มี.ค. เป็นต้นไป

“เราขอเน้นให้ประชาชนใช้ช่องทางลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ เพื่อแจ้งขอรับคืนเงินเป็นหลักเพราะจะได้หลีกเลี่ยงไวรัสโควิด-19 ซึ่งการลงทะเบียนออนไลน์จะเปิดตลอด 24 ชม.ไม่เว้นวันหยุดราชการ และต่อไปจะไม่มีการเรียกเก็บเงินหลักประกันการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟรายใหม่ สำหรับประเภทที่ 1 และที่ 2 อีกต่อไป" นายคมกฤชกล่าว

ด้าน นายประเทศ ศรีชมภู รองเลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า ผู้มีสิทธิ์ที่จะได้คืนเงินประกัน เบื้องต้นจะเป็นกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นผู้วางเงินประกัน ที่ชื่อต้องตรงกับบิลค่าไฟฟ้า กรณีที่ผู้วางเงินเสียชีวิตนั้น หากเป็นทายาทให้นำใบมรณบัตรมาประกอบ แต่หากอยู่ในช่วงขอเป็นผู้จัดการมรดก จะต้องขอดูคำสั่งศาลฯ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้สามารถสอบถามที่การไฟฟ้าแต่ละแห่งได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม หากใครไม่ขอคืนเงินประกันฯ ก็จะยังคงได้รับคืนเงินผลประโยชน์ทุกๆ 5 ปี ตามที่ กกพ.กำหนดไว้เช่นเดิม แต่อนาคตก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้

ขณะที่ นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ กฟภ.หรือ PEA กล่าวว่า ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถตรวจสอบสิทธิ์ และลงทะเบียนการขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าผ่าน เว็บไซต์ https://dmsxupload.pea.co.th/cdp/ หรือสแกนคิวอาร์โค้ดที่อยู่ในบิลค่าไฟ ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 63 เป็นต้นไป โดยกรอกชื่อ นามสกุล หมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้า หมายเลขบัตรประชาชน และส่งเอกสารหลักฐานผ่านระบบและรอรับเงินตามช่องทางการคืนที่ระบุ ผ่านทางพร้อมเพย์บัญชีเงินฝากธนาคาร บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือรับเงินสด ที่สำนักงานการไฟฟ้าทั่วประเทศ ทั้งนี้จะมีเอสเอ็มเอส ยืนยันผลการลงทะเบียน และแจ้งผลการคืนเงินให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทราบ โดย กฟภ. จะเริ่มจ่ายเงินดังกล่าวตั้งแต่ 31 มี.ค.63 เป็นต้นไป

"การลงทะเบียนที่สำนักงานเขต กฟภ. ก็ได้ เพราะมีเจ้าหน้าที่ไว้ แต่ก็ต้องลงทะเบียนผ่านออนไลน์อยู่ดีและเพื่อหลีกเลี่ยงติดเชื้อโควิด-19 จึงเห็นว่าระบบออนไลน์เป็นช่องทางที่ดีสุดโดยไม่ต้องเดินทางมา เพราะหากมีข้อสงสัย ทางเราได้เตรียมเจ้าหน้าที่เพื่อตอบข้อซักถาม เป็นจำนวน 90 คู่สาย ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1129 ได้ตลอด" นายสมพงษ์ กล่าว

เช่นเดียวกับ นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟน.หรือ MEA ที่ระบุว่า กฟน. จะเปิดให้ยื่นลงทะเบียนผ่านช่องทางที่หลากหลายได้แก่ 1.ลงทะเบียนทางออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.63 เป็นต้นไป ทั้งทางแอปพลิเคชัน MEA Smart Life, เว็ปไซต์ www.mea.or.th, เฟซบุ๊ค การไฟฟ้านครหลวง MEA, ทวิตเตอร์ @mea_news, ไลน์ @meathailand หรือสแกนคิวอาร์โค้ดในใบแจ้งค่าไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.63 เป็นต้นไป ช่องทางที่ 2 ลงทะเบียนทางโทรศัพท์ หมายเลข 02-256-3333 จำนวน 50 คู่สาย ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.63 – 29 พ.ค.63 เวลา 08.00 –15.30 น. ในวันทำการ และช่องทางที่ 3 ลงทะเบียน ณ ที่ทำการของการไฟฟ้านครหลวง 18 เขต แต่เพื่อหลีกเลี่ยงโควิด-19 จึงขอให้เริ่มใช้ช่องทางนี้ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค.63 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ผู้ขอคืนหลักประกันสามารถเลือกช่องทางการคืนเงินได้ 3 ช่องทาง โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ ดังนี้ ช่องทางที่ 1 บัญชีพร้อมเพย์ (Prompt Pay) เฉพาะที่ผูกกับหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ของผู้วางหลักประกัน ช่องทางที่ 2 บัญชีธนาคารพาณิชย์ ที่มีชื่อตรงกับผู้วางหลักประกันที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือธนาคารกสิกรไทย และช่องทางที่ 3 เคาน์เตอร์เซอร์วิส โดยจำนวนเงินต้องไม่เกิน 5 หมื่นบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น