"สนธิรัตน์" ลดค่าครองชีพประชาชน ฝ่าวิกฤติโควิด-19 เคาะลดราคา LPG 45 บาท/ถัง (15 กก.) ยาว 3 เดือน มีผล 24 มี.ค.นี้ ให้ ปตท.คงราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะ 3 เดือน และ NGV รถทั่วไป 5 เดือน “กฟน.-กฟภ.” เผยลดค่าไฟ 3% ให้ผู้ใช้ไฟทุกประเภท เม.ย.-มิ.ย. แบกภาระเกือบ 5 พันล้าน
วานนี้ (19 มี.ค.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชน ช่วงภาวะวิกฤตไวรัสโควิด-19 กบง.ได้เห็นชอบให้ทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โดยกำหนดราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นจากเดิม 17.1795 บาท/กิโลกรัม (กก.) เหลือ 14.3758 บาท/กก. ทำให้ราคาขายปลีก LPG ขนาดถัง 15 กก. จาก 363 บาท/ถัง เหลือ 318 บาท/ถัง ลดลง 45 บาท/ถัง เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.63
“ขั้นตอนหลังจากนี้ ทางคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะไปประชุมเพื่อพิจารณากลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงวันที่ 23 มี.ค.63 นี้เพื่อให้มีผลวันที่ 24 มี.ค.ต่อไป” นายสนธิรัตน์ ระบุ
นอกจากนี้ ที่ประชุมกบง. ยังขอความร่วมมือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (บมจ.ปตท.) ให้คงราคาขายปลีก NGVที่ 13.62 บาท/กก. สำหรับรถโดยสารสาธารณะ ในเขต กทม./ปริมณฑล ได้แก่ รถแท็กซี่, ตุ๊กตุ๊ก และรถตู้ ร่วม ขสมก. ส่วนในต่างจังหวัด ได้แก่ รถโดยสาร, มินิบัส, สองแถวร่วม ขสมก., รถโดยสารและรถตู้ ร่วม บขส. และรถแท็กซี่ ต่อไปอีก 3 เดือน มีผลตั้งแต่ 1 พ.ค.– 31 ก.ค.63 และให้คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV รถทั่วไปที่ 15.31 บาท/กก. ต่อไปอีก 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. –15 ส.ค.63
"ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก มีแนวโน้มปรับตัวลดลงเพราะผลกระทบโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณการจำหน่ายก๊าซ NGV การคมนาคม ขนส่ง และเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ จึงขอความร่วมมือ ปตท. ให้ดูแลราคา NGVไว้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน" นายสนธิรัตน์ กล่าว
สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกฯเป็นประธาน ได้เห็นชอบร่างแผนด้านพลังงานที่ปรับปรุงใหม่ 4 ฉบับ ทั้งแผนผลิตไฟฟ้า (PDP), แผนพลังงานทดแทน (AEDP), แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) และแผนด้านก๊าซ Gas Plan เพื่อสนับสนุนนโยบาย Energy For All นอกจากนี้ ยังเห็นชอบการส่งเสริมพื้นที่ติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station Mapping) ให้ครอบคลุมพื้นที่อย่างทั่วถึง รวมถึงผลการศึกษาอัตราค่าไฟฟ้า และการจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า และความเป็นไปได้ในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า สำหรับระบบขนส่งสาธารณะ (Mass Transit) โดยเป็นอัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ ตลอดทั้งวัน มีค่าเท่ากับอัตราค่าพลังงานไฟฟ้า ช่วงเวลา Off Peak ของผู้ใช้ไฟฟ้าตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปัจจุบันประเภท 2.2 กิจการขนาดเล็ก อัตราตามช่วงเวลา (Time Of Use : TOU) หรือเท่ากับ 2.6369 บาท ต่อหน่วย (สำหรับแรงดันไฟฟ้าน้อยกว่า 22 kV) เป็นต้น ขณะเดียวกัน ยังกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยให้อัตราคงเดิมที่ 0.1000 บาทต่อลิตร ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 2 ปี (22 เม.ย.63 –21เม.ย.65 )
ขณะที่ นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA เปิดเผยถึงการดำเนินมาตรการลดค่าไฟฟ้าตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กับผู้ใช้ไฟทุกประเภท 3% จะเริ่มในบิลเดือนเดือน เม.ย. – มิ.ย.63 ซึ่งต้องแบกภาระ 3,560 ล้านบาท ส่วนผู้ใช้ไฟประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 เช่น โรงแรม รีสอร์ต หอพัก เป็นต้น ที่มติ ครม.ให้ขยายเวลาชำระค่าไฟฟ้าออก 6 เดือน จะเริ่มบิลเดือน เม.ย. ขยายไปได้ ต.ค. และ พ.ค.63 จะขยายไปได้ใน พ.ย. 63 โดยไม่คิดดอกเบี้ย ทั้งนี้ ต้องยื่นคำร้องขอขยายเวลาชำระค่าไฟฟ้าผ่านทางแอปพลิเคชันของ PEA ก่อน ซึ่งจะประกาศให้ประชาชนทราบต่อไป
ขณะที่ นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า กฟน.จะปรับลดค่าไฟฟ้า 3% ให้กับประชาชนทุกคน แบบอัตโนมัติในใบเสร็จ (บิล) งวดเดือนเม.ย., พ.ค.และเดือนมิ.ย. 63 ตามมติ ครม.เช่นกันกับ กฟภ. ซึ่งส่วนนี้ กฟน .จะต้องแบกรับภาระเองประมาณ 1,400 ล้านบาท ส่วนยืดการชำระค่าไฟ 6 เดือน สำหรับกิจการประเภท 5 ที่ กฟน.มีทั้งสิ้น 3,477 รายนั้น กำลังพิจารณารายละเอียด ซึ่งเบื้องต้นจะต่างกับ กฟภ. แต่ก็ต้องรอข้อสรุปอีกครั้ง
วานนี้ (19 มี.ค.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชน ช่วงภาวะวิกฤตไวรัสโควิด-19 กบง.ได้เห็นชอบให้ทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โดยกำหนดราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นจากเดิม 17.1795 บาท/กิโลกรัม (กก.) เหลือ 14.3758 บาท/กก. ทำให้ราคาขายปลีก LPG ขนาดถัง 15 กก. จาก 363 บาท/ถัง เหลือ 318 บาท/ถัง ลดลง 45 บาท/ถัง เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.63
“ขั้นตอนหลังจากนี้ ทางคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะไปประชุมเพื่อพิจารณากลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงวันที่ 23 มี.ค.63 นี้เพื่อให้มีผลวันที่ 24 มี.ค.ต่อไป” นายสนธิรัตน์ ระบุ
นอกจากนี้ ที่ประชุมกบง. ยังขอความร่วมมือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (บมจ.ปตท.) ให้คงราคาขายปลีก NGVที่ 13.62 บาท/กก. สำหรับรถโดยสารสาธารณะ ในเขต กทม./ปริมณฑล ได้แก่ รถแท็กซี่, ตุ๊กตุ๊ก และรถตู้ ร่วม ขสมก. ส่วนในต่างจังหวัด ได้แก่ รถโดยสาร, มินิบัส, สองแถวร่วม ขสมก., รถโดยสารและรถตู้ ร่วม บขส. และรถแท็กซี่ ต่อไปอีก 3 เดือน มีผลตั้งแต่ 1 พ.ค.– 31 ก.ค.63 และให้คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV รถทั่วไปที่ 15.31 บาท/กก. ต่อไปอีก 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. –15 ส.ค.63
"ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก มีแนวโน้มปรับตัวลดลงเพราะผลกระทบโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณการจำหน่ายก๊าซ NGV การคมนาคม ขนส่ง และเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ จึงขอความร่วมมือ ปตท. ให้ดูแลราคา NGVไว้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน" นายสนธิรัตน์ กล่าว
สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกฯเป็นประธาน ได้เห็นชอบร่างแผนด้านพลังงานที่ปรับปรุงใหม่ 4 ฉบับ ทั้งแผนผลิตไฟฟ้า (PDP), แผนพลังงานทดแทน (AEDP), แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) และแผนด้านก๊าซ Gas Plan เพื่อสนับสนุนนโยบาย Energy For All นอกจากนี้ ยังเห็นชอบการส่งเสริมพื้นที่ติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station Mapping) ให้ครอบคลุมพื้นที่อย่างทั่วถึง รวมถึงผลการศึกษาอัตราค่าไฟฟ้า และการจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า และความเป็นไปได้ในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า สำหรับระบบขนส่งสาธารณะ (Mass Transit) โดยเป็นอัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ ตลอดทั้งวัน มีค่าเท่ากับอัตราค่าพลังงานไฟฟ้า ช่วงเวลา Off Peak ของผู้ใช้ไฟฟ้าตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปัจจุบันประเภท 2.2 กิจการขนาดเล็ก อัตราตามช่วงเวลา (Time Of Use : TOU) หรือเท่ากับ 2.6369 บาท ต่อหน่วย (สำหรับแรงดันไฟฟ้าน้อยกว่า 22 kV) เป็นต้น ขณะเดียวกัน ยังกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยให้อัตราคงเดิมที่ 0.1000 บาทต่อลิตร ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 2 ปี (22 เม.ย.63 –21เม.ย.65 )
ขณะที่ นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA เปิดเผยถึงการดำเนินมาตรการลดค่าไฟฟ้าตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กับผู้ใช้ไฟทุกประเภท 3% จะเริ่มในบิลเดือนเดือน เม.ย. – มิ.ย.63 ซึ่งต้องแบกภาระ 3,560 ล้านบาท ส่วนผู้ใช้ไฟประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 เช่น โรงแรม รีสอร์ต หอพัก เป็นต้น ที่มติ ครม.ให้ขยายเวลาชำระค่าไฟฟ้าออก 6 เดือน จะเริ่มบิลเดือน เม.ย. ขยายไปได้ ต.ค. และ พ.ค.63 จะขยายไปได้ใน พ.ย. 63 โดยไม่คิดดอกเบี้ย ทั้งนี้ ต้องยื่นคำร้องขอขยายเวลาชำระค่าไฟฟ้าผ่านทางแอปพลิเคชันของ PEA ก่อน ซึ่งจะประกาศให้ประชาชนทราบต่อไป
ขณะที่ นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า กฟน.จะปรับลดค่าไฟฟ้า 3% ให้กับประชาชนทุกคน แบบอัตโนมัติในใบเสร็จ (บิล) งวดเดือนเม.ย., พ.ค.และเดือนมิ.ย. 63 ตามมติ ครม.เช่นกันกับ กฟภ. ซึ่งส่วนนี้ กฟน .จะต้องแบกรับภาระเองประมาณ 1,400 ล้านบาท ส่วนยืดการชำระค่าไฟ 6 เดือน สำหรับกิจการประเภท 5 ที่ กฟน.มีทั้งสิ้น 3,477 รายนั้น กำลังพิจารณารายละเอียด ซึ่งเบื้องต้นจะต่างกับ กฟภ. แต่ก็ต้องรอข้อสรุปอีกครั้ง