xs
xsm
sm
md
lg

ไม่มีการเปลี่ยนผ่าน (transition) มีแต่การเปลี่ยนดับ (disruption) (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ดร.เสรี พงศ์พิศ

โทนี ซีบา (Tony Seba) เป็นนักคิด นักเขียน อาจารย์ ผู้ประกอบการ ที่ปรึกษาทางธุรกิจ ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เรียนจบด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จาก MIT และการบริหารจัดการที่ Stanford เขียนหนังสือขายดีอันดับ 1 ของ Amazon ชื่อ “Clean Disruption of Energy and Transportation-การเปลี่ยนแบบถอนรากของพลังงานและการขนส่ง - ซิลิคอน วัลเลย์จะทำให้น้ำมัน นิวเคลียร์ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์น้ำมันวันนี้ล้าสมัยไปหมดได้อย่างไร”

หนังสือเล่มนี้เขียนเมื่อปี 2014 วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมแบบถอนรากถอนโคน และพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงไว้ถูกหมดอย่างไม่น่าเชื่อ เขาพูดเรื่องเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วแบบคาดไม่ถึง จนทำให้ธุรกิจยักษ์ใหญ่หลายแห่งเจ๊งไปเพราะปรับตัวไม่ทัน

เขาเคยทำงานในบริษัทก้าวหน้าในซิลิคอน วัลเลย์ วันนี้มีบริษัทของตนเอง บรรยายที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ปาฐกถาทั่วโลกเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสังคม เคยมาปาฐกถาที่เมืองไทยเมื่อปี 2016 โดยสถาบันปิโตเลียมของปตท.เชิญมาในโอกาสครบรอบ 30 ปีของสถาบันนี้

เนื้อหาในบทความนี้สรุปมาจากปาฐกถาของเขา ในการสัมมนาเกี่ยวกับอนาคตของการขนส่ง ชื่อว่า “Future of Transportation/Keynote: 2020 North Carolina Transportation Summit” เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2020

เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วอย่างคาดไม่ถึง

เขาเริ่มปาฐกถาโดยฉายภาพให้เห็นถนนที่นิวยอร์กเมื่อปี 1900 ที่เต็มไปด้วยรถม้า และมีรถยนต์แทรกอยู่ 1 คัน ภาพที่สองเป็นถนนสายเดียวกัน 13 ปีให้หลัง เต็มไปด้วยรถยนต์ มีรถม้าแทรกอยู่เพียง 1 คัน

เขาอยากบอกว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีหลายอย่างที่มาพร้อมกัน พบกัน ผสานกัน การเปลี่ยนแปลงทำให้อุตสาหกรรมเก่าถูกแทนที่ด้วยอุตสาหกรรมใหม่ งานเก่าหมดไป งานใหม่เข้ามาแทน เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่

การขนส่งได้ปฏิวัติเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกา ตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสังคม คืออุตสาหกรรมใหญ่ 2 อย่างที่เกิดขึ้น คือ รถยนต์และน้ำมัน นำไปสู่การปรับโครงสร้างพื้นฐาน คือ การสร้างถนนทั่วประเทศ สร้างงานให้คนทุกระดับ

มีคำถามว่า ทำไมผู้บริหารธุรกิจขนาดใหญ่ ผู้นำสังคม จึงคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงผิด เขายกตัวอย่างบริษัท AT&T ยักษ์ใหญ่การสื่อสารของสหรัฐว่า เมื่อปี 1985 ได้ให้บริษัท McKenzie ทำการศึกษาว่า ในปี 2000 หรืออีก 15 ปีข้างหน้าจะมีโทรศัพท์มือถือจำนวนเท่าใดในสหรัฐอเมริกา ผลการวิจัยบอกว่า 900,000 เครื่อง ในความเป็นจริง ปี 2000 มีอยู่ 109 ล้านเครื่อง

กรณีของโกดักที่เป็นธุรกิจใหญ่ครองตลาดการถ่ายรูปมานาน มีพนักงานเป็นแสน มีกำไรเป็นหมื่นล้านต่อปี แต่ล้มละลายเพราะตามไม่ทัน คนเลิกใช้กล้องอะนาล็อกที่ใช้ฟิล์ม หันมาถ่ายรูปแบบดิจิทัลด้วยมือถือกัน

เขาอ้างคนสำคัญที่คาดการณ์ผิดหลายคนอย่าง Bill Gates ผู้บริหาร Microsoft เมื่อปี 1994 ไม่คิดว่า Apple จะมีอนาคตมาแข่งกับตน หรือจะผลิตโทรศัพท์มือถือ Steve Bellnet, CEO ของ Microsoft เมื่อปี 2007 ที่บอกว่า IPhone ไม่มีทางครองตลาดได้ รวมทั้งนาย Bloomberg ที่เมื่อปี 2007 ดูถูก IPhone ว่าไม่มีน้ำยา Nokia และ Motorolla อย่าห่วง

แล้วเป็นไง ปี 2009 ด้วยเทคโนโลยีระบบ IOS ของ Apple และ Android ของ Google ทำให้ทั้ง Nokia และ Motorolla รวมทั้ง Black Berry ที่เคยโด่งดังหายไปจากตลาด ขณะที่แอปเปิลทำ IPhone และเกาหลี จีน ใช้ Android ทำให้ Samsung และมือถือจีนครองตลาดโลก ทั้งๆ ที่ไม่เคยทำมือถือมาก่อน

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแบบดับของเก่า (disruptive) มาพร้อมกันในปี 2007 ในเรื่องคอมพิวเตอร์ ที่พัฒนาขึ้น ราคาลดลง Data Storage, Digital Imaging, Networking Capacity, Li-Ion Battery

การคาดการณ์ของผู้บริหารธุรกิจ ผู้นำต่างๆ ที่ผิดพลาดเพราะคิดแบบ “เส้นตรง” (linear) เปลี่ยนแปลงปีละ 2-3% เอง แล้วบอกว่า คงอีกหลายสิบปีกว่าจะมีผลกระทบต่อวงการธุรกิจเดิม นายโทนี ซีบา บอกว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจะพบว่า ไม่เคยเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบเส้นตรงเลย มีแต่การเปลี่ยนแบบ “ตัว S” คือ เริ่มช้าแล้วพุ่งขึ้นไปรวดเร็ว เมื่อกลายเป็นกระแสหลักแล้วก็ค่อยๆ ช้าลง

ดูสมาร์ทโฟนเป็นตัวอย่าง เริ่มเมื่อปี 2007 แรกๆ ก็ช้า ต่อมากระจายไปรวดเร็ว จนวันนี้ที่แทบทุกคนมีสมาร์ทโฟนกันหมดจึงช้าลง เขาย้อนกลับไปในอดีตเมื่อเปลี่ยนจากรถม้ามาเป็นรถยนต์ จาก 0-95% ใช้เวลา 20 ปี และส่วนแบ่งตลาดจาก 11% เป็น 81% ใน 10 ปีเท่านั้น

การคาดการณ์ของภาคธุรกิจตามไม่ทันเพราะมักมองไปข้างหลัง แล้วคาดการณ์ไปข้างหน้าเป็นเส้นตรงเหมือนเดิม เมื่อการเปลี่ยนแปลงปีกลาย 40% ก็คาดการณ์บนฐาน 40% ว่าปีหน้าจะเพิ่มขึ้น 5-10% เหมือนเดิม และคาดการณ์แบบแยกส่วนเป็นเรื่องๆ อย่างๆ ไม่มองภาพรวมแบบบูรณาการที่เทคโนโลยีต่างๆ ล้วนเสริมกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกว่าที่คิดแบบแยกส่วน

รวมไปถึงองค์ประกอบทางการเมือง อย่างกรณีภาษีน้ำมันในสหรัฐฯ เมื่อปี 1919 รัฐโอเรกอนเริ่มเก็บภาษีน้ำมันเป็นรัฐแรก ภายใน 6 ปี 91% ของรัฐทั้งหมดก็เก็บภาษีน้ำมันด้วย เมื่อเป็นนโยบายก็จะเร่งการเปลี่ยนแปลง

บางครั้ง การคาดการณ์นอกจากบอกว่าจะไม่เพิ่มแล้ว ยังบอกว่าจะลดอีก อย่างกรณีพลังงานแสงอาทิตย์ หรือที่ EIA (หน่วยงานประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา) คาดการณ์เมื่อปี 2005 ว่า อเมริกาจะนำเข้าก๊าซในอีกไม่กี่ปี ปรากฏว่า สหรัฐฯ กลายเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติ ถ้าเชื่อตาม EIA ไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ สร้างท่าเรือ และอื่นๆ คงเจ๊งกันหมด EIA พยากรณ์ผิดไป 500%

EIA 2010 พยากรณ์ว่าในปี 2035 จะมีรถยนต์ไฟฟ้า 118 คัน ไม่ทราบนั่งเทียนเอาตัวเลขนี้มาจากไหน เพราะปี 2010 นั้น Tesla ผลิตรถไฟฟ้าไปแล้วหลายพันคัน วันนี้ปี 2020 จีนผลิตรถไฟฟ้าแล้วกว่า 1 ล้านคัน ยังไม่รวมอีกหลายสิบบริษัททั่วโลก
(โปรดติดตาม ตอนที่ 2)


กำลังโหลดความคิดเห็น