หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
ผมไปขึ้นศาลในฐานะบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา มาหลายครั้งโดยหลักการทำงานของกองบรรณาธิการนั้นเป็นที่รู้กันโดยเปิดเผยว่า มีการแบ่งงานรับผิดชอบเป็นบรรณาธิการฝ่ายต่างๆ เช่น บรรณาธิการข่าวการเมือง บรรณาธิการข่าวสังคม บรรณาธิการข่าวกีฬา เป็นต้น และในการทำงานของบรรณาธิการโดยทั่วไปจะมีการบริหารตามลำดับชั้นคือ บรรณาธิการบริหาร และหัวหน้ากองบรรณาธิการ และบรรณาธิการฝ่ายต่างๆลดหลั่นกันไป
ส่วนบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณานั้น ไม่มีหน้าที่ในการเข้าไปบริหารและตรวจสอบการทำงานของกองบรรณาธิการเพราะมีบรรณาธิการฝ่ายต่างๆ ที่เป็นผู้รับผิดชอบอยู่แล้วและพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ก็ไม่มีบทบัญญัติโทษเอาไว้ว่าบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาต้องรับผิดชอบแทนผู้เขียน ซึ่งในการสืบพยานทุกครั้งก็จะให้การด้วยถ้อยคำเหล่านี้
ทั้งนี้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 นั้น สืบเนื่องมาจาก พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ซึ่งใน พ.ร.บ.การพิมพ์ฯ ฉบับนี้มีบทบัญญัติโทษไว้อย่างชัดแจ้งในมาตรา 48 ว่า เมื่อมีความผิดนอกจากที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้นด้วยการโฆษณาสิ่งพิมพ์ นอกจากหนังสือพิมพ์ผู้ประพันธ์ซึ่งตั้งใจให้โฆษณาบทประพันธ์นั้นต้องรับผิดเป็นตัวการถ้าผู้ประพันธ์ไม่ต้องรับผิดหรือไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการ
ในกรณีแห่งหนังสือพิมพ์ผู้ประพันธ์และบรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการและถ้าไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการด้วย
มาตรานี้เป็นโซ่ตรวนที่สื่อมวลชนได้ต่อสู้กันมา เพราะเห็นว่า เป็นการเอาผิดแบบเหวี่ยงแห และได้มาซึ่ง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ซึ่งพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์พ.ศ.2550ไม่ได้ระบุโทษเอาไว้ว่าบรรณาธิการต้องรับผิดชอบแทนผู้เขียนเอาไว้แต่อย่างใด
และเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9328/2557วางหลักไว้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการซึ่งหมายถึงผู้รับผิดชอบในการเผยแพร่ข้อความในหนังสือพิมพ์การที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดฐานดูหมิ่นและหมิ่นประมาทตามป.อ. จะต้องได้ความว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะกระทำการดังกล่าวต่อโจทก์โดยตรงซึ่งสอดคล้องกับหมายเหตุท้ายพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์พ.ศ.2550 ที่บัญญัติว่าเหตุที่ให้มีกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์เพื่อวางหลักเกณฑ์ในการรับจดแจ้งการพิมพ์เป็นหลักฐานให้ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณาบรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบของประชาชนที่ได้รับความเสียหายในการฟ้องร้องดำเนินคดีดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการมีเจตนาร่วมกับผู้เขียนหรือผู้ประพันธ์ในการกระทำความผิดดังกล่าวต่อโจทก์จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิด
และเราเข้าใจอยู่แล้วว่าโดยหลักกฎหมายอาญานั้น ผู้กระทำการที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิดจะต้องรับผิดทางอาญาเมื่อได้กระทำโดยเจตนาเท่านั้นเว้นแต่มีกฎหมายกำหนดไว้ว่าแม้ไม่ได้กระทำโดยเจตนาก็เป็นความผิดเช่นการกระทำโดยประมาทการกระทำความผิดลหุโทษ
ผมเพิ่งทราบในภายหลังว่า ศาลฎีกาได้มีการประชุมใหญ่กลับหลักในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2562 ดังนี้
พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์พ. ศ. 2550 มาตรา 4 บัญญัติว่าในพระราชบัญญัตินี้“ผู้พิมพ์”หมายความว่าบุคคลซึ่งจัดการและรับผิดชอบในการพิมพ์ “ผู้โฆษณา” หมายความว่าบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใดๆไม่ว่าจะเป็นการขายหรือให้เปล่า “บรรณาธิการ” หมายความว่าบุคคลผู้รับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รวมทั้งวัสดุหรือเอกสารที่แทรกในหนังสือพิมพ์โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วยจากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดของบุคคลผู้เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาต้องรับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รับผิดชอบในการพิมพ์และรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใดๆ จำเลยที่ 2 ในฐานะบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ ท. จึงต้องรับผิดชอบในการจัดหาและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ท. มิให้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นเมื่อกฎหมายกำหนดให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณามีหน้าที่กระทำการดังกล่าวแล้วแต่จำเลยที่ 2 กลับไม่ได้ใส่ใจตรวจสอบคัดเลือกหรือควบคุมข่าวที่ลงพิมพ์โดยปล่อยให้มีการตีพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์ ท. ที่ไม่เป็นความจริงกระทบสิทธิและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นเป็นการไม่รักษาจริยธรรมของสื่อมวลชนอันเป็นการกระทำการโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคท้ายถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดและต้องรับผิดในข้อความที่ลงพิมพ์หากข้อความนั้นเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ตามป.อ. มาตรา 83
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2562) (ชัยเจริญดุษฎีพร-วรงค์พรจิระภาค-ชูชีพปัณฑะสิริ) ศาลแขวงราชบุรี-นายอนุชาติปีติภิญโญภาสศาลอุทธรณ์ภาค 7-นายนเรศกลิ่นสุคนธ์
จะเห็นว่า แนวที่ศาลนำมาตรา 59 มาลงโทษจำเลยนั้นอ้างเอาว่า เป็นตัวการร่วมโดยยกเอานิยามในมาตรา 4ที่ว่า บรรณาธิการ”หมายความว่าบุคคลผู้รับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รวมทั้งวัสดุหรือเอกสารที่แทรกในหนังสือพิมพ์โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วย
ทั้งที่ผมได้ให้การในชั้นศาลอธิบายถึงการทำงานของหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สากลปฏิบัติว่ามีความรับผิดชอบอย่างไร และผมในฐานะบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหาได้มีหน้าที่ในการตรวจทานไม่และมีหน้าที่ตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 วางหลักเกณฑ์ไว้ตามที่กล่าวแล้วในฎีกาที่ 9328/2557เท่านั้น
ซึ่งแม้ว่ามาตรา 4จะนิยามบทบาทและความรับผิดชอบของบรรณาธิการไว้เช่นนั้นก็เป็นเพียงการอธิบายหน้าที่โดยรวมของความหมายคำว่า บรรณาธิการเท่านั้น
ในทางกฎหมายนั้น “งดเว้น” ในมาตรา 59 วรรคท้ายบัญญัติว่า ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นเช่น เห็นคนกำลังจะจมน้ำร้องขอความช่วยเหลือขณะเดินผ่านลำคลอง ทั้งที่ผู้นั้นจะจมน้ำตายได้ และผู้พบเห็นอยู่ในฐานะที่จะช่วยได้ ถ้าไม่ช่วยก็จะเกิดผลในทันใดว่า คนที่กำลังจมน้ำต้องเสียชีวิต หรือพ่อแม่ไม่ให้อาหารแก่บุตรจนบุตรเสียชีวิต ซึ่งการ “งดเว้น”มีหลักใหญ่ 4 หลักคือ ครอบครัว พ่อแม่ อาสาสมัคร และสถานการณ์อันตราย โดยมีหลักการสำคัญคือ การกระทำผิดต่อมโนธรรม
ผมตั้งคำถามในใจสมมติว่า ถ้ายอมรับในชั้นศาลว่า ผมได้ตรวจทานแล้ว และไม่เห็นว่า เป็นการหมิ่นประมาทแต่เห็นว่าข้อความนั้นเป็นเรื่องการตรวจสอบการทำงานของรัฐที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แม้ว่าต่อมาศาลได้ทำการไต่สวนพยานทั้งสองฝ่ายตามกระบวนพิจารณาแล้ว ใช้หลักกฎหมายและดุลพินิจของศาลว่า ข้อความนั้นเข้าข่ายหมิ่นประมาทซึ่งไม่ตรงกับดุลพินิจของผม ผมจะยังเข้าข่าย “งดเว้น”ตามวรรคท้ายของมาตรา 59 หรือไม่ ดุลพินิจของผมจำเป็นต้องตรงกับที่ศาลได้พิพากษาออกมาในตอนท้ายเมื่อถูกนำคดีขึ้นสู่ศาลหรือไม่
จะเห็นว่า “งดเว้น”คือมีหน้าที่ต้องกระทำเพื่อป้องกันผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ในทันที แม้บรรณาธิการจะทำหน้าที่ตามนิยามในมาตรา 4 ก็ไม่อาจจะเล็งผลซึ่งจะเกิดขึ้นตามดุลพินิจของศาลเมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในภายหลังได้
เพราะเมื่อผมบอกว่าได้ตรวจทานผมเห็นว่า เป็นบทความที่มีประโยชน์ และผมไม่ใช่ศาลที่มีอำนาจในการพิพากษาได้ว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาทผมไม่ได้เรียนรู้หรือบ่งเพาะกระบวนการพิจารณาคดี ขนาดการพิจารณาของศาลก็ต้องใช้หลักกฎหมายการสืบพยานทั้งแม้แต่ผู้พิพากษาเองก็ยังมีดุลพินิจต่างกันได้ ถ้าเรื่องนั้นไม่ใช่ความผิดที่ประจักษ์แจ้งซึ่งปุถุชนทั่วไปควรจะรับรู้ หรือเห็น “ผล”ได้ในทันใด หรือถ้า “งดเว้น”ไม่กระทำจะส่งผลในทันที
ทั้ง พ.ร.บ.จดแจ้งฯนั้นไม่ได้มีเจตนารมณ์ให้บรรณาธิการต้องรับผิดชอบแทนผู้เขียนและไม่ได้บัญญัติโทษเอาไว้แบบ พ.ร.บ.การพิมพ์พ.ศ.2484 ผมจึงไม่ทราบว่า ทำไมต้องรับผิดชอบในฐานะตัวการร่วมด้วย
การแสดงความเห็นในบทความนี้มิได้หมายถึงการไม่เคารพในกระบวนการพิจารณาของศาล แต่เป็นการตระหนักว่า กระบวนการยุติธรรมชั้นศาลเป็นหลักสำคัญของสังคมไทยหลักเดียวที่ยังตั้งมั่นอยู่ได้ เพราะบรรดาตุลาการทั้งหลายต่างยึดมั่นในความยุติธรรมเป็นสำคัญ มีมาตรฐานทางจริยธรรม และยึดมั่นในหลักธรรมแห่งการปฏิบัติตนของผู้เป็นตุลาการที่เรียกว่า “หลักอินทภาษ4”
สื่อมวลชนเองก็มีหลักความเป็นอิสระ(Indenendence)เช่นเดียวกับผู้พิพากษามีหลักเกียรติศักดิ์(Integrity) มีจรรยาบรรณที่ต้องยึดปฏิบัติถ้าผู้เขียนยืนยันว่า ข้อมูลที่เขาได้มาถูกต้องบรรณาธิการก็ต้องเคารพการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว ทั้งนี้มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า สื่อมวลชนต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
แน่นอนผมเข้าใจว่า ไม่ใช่ว่ามีเสรีภาพในการกล่าวหาบุคคลอื่นด้วยข้อความที่เป็นเท็จเพื่อให้เกิดความเสียหาย
ทั้งนี้หลักความเป็นอิสระของสื่อมวลชนเคยบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ2550 มาตรา46พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์หรือสื่อมวลชนอื่นย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจํากัดตามรัฐธรรมนูญโดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐรัฐวิสาหกิจหรือเจ้าของกิจการนั้นแต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพและมีสิทธิจัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรมรวมทั้งมีกลไกควบคุมกันเองขององค์กรวิชาชีพ
ผมเข้าใจครับว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้บังคับใช้แล้ว แต่ผมต้องการสะท้อนให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญเคยวางหลักความเป็นอิสระไว้อย่างไร
ผมจึงไม่สามารถยอมรับการวางหลักใหม่ของที่ประชุมศาลฎีกาได้ทั้งใน พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ไม่ได้ระบุความผิดเอาไว้ ดังโซ่ตรวนใน พ.ร.บ.การพิมพ์พ.ศ.2484 ในกรณีที่บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาต้องรับผิดชอบร่วมกับผู้เขียนและมีความผิดด้วยทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้กระทำตามหลักของกฎหมายอาญา
และเห็นว่า ดุลพินิจดังกล่าว เป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 และขัดการหลักการความเป็นอิสระของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน