ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เปิดศักราชใหม่... มีประเด็นร้อนๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “Garb ถูกกฎหมาย” ภายใต้การผลักดันของ “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แห่งพรรคภูมิใจไทย
โดยคาดว่าจะประกาศภายใน เดือนมีนาคม 2563 ที่จะถึงนี้
โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของบรรดา “แท็กซี่ - วินมอเตอร์ไซค์” ที่ถูกจับตาว่าจะออกมาประท้วงดังเช่นภาพจำในอดีตหรือไม่!?
อย่างไรก็ดี แม้จะมีเสียงค้านดังฮึมๆ จากกลุ่มแท็กซี่และวินมอเตอร์ไซค์ที่เสียผลประโยชน์ต่อเนื่องตลอดปี 2562 แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่สนับสนุนให้ Grab (แกร็บ) ถูกกฎหมายเช่นกัน
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ตัวแทนจาก “ชมรมผู้ขับขี่แท็กซี่ 4.0” และ “ชมรมแท็กซี่ไทยพัฒนา” ที่มีเครือข่ายทั่วประเทศกว่า 80,000 คัน เดินทางไปยังกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)เพื่อแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนการให้บริการแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชัน (Grab Taxi) ถูกกฎหมาย ประกาศชัด “ไม่ฝืนกระแส” ขอปรับตัวให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้
นายจิรภัทร โสภาลัย ประธานเครือข่ายผู้ขับแท็กซี่จากชมรมผู้ขับขี่แท็กซี่ 4.0 เปิดเผยว่าปัจจุบันมีสมาชิกเครือข่ายผู้ขับรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประมาณ 500 - 1,000 คัน และเครือข่ายทั่วประเทศอีกกว่า 80,000 คัน “ยินดีสนับสนุนและผลักดันภาครัฐให้ Grab ถูกกฎหมาย” เพื่อส่งเสริมการให้บริการรถรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชัน
โดยมองว่าเป็นการยกระดับและส่งเสริมให้ระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะในประเทศไทยก้าวหน้า และรับมือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค จากที่ต้องขับรถเพื่อวนหาผู้โดยสาร การเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้ผู้โดยสารเรียกหารถโดยสารได้โดยตรง ทำให้เกิดความสะดวกสบายกับผู้โดยสารและช่วยผู้ขับขี่ลดต้นทุนการขับหาผู้โดยสารอย่างไร้จุดหมาย
นอกจากนี้ ยังช่วยให้ผู้ใช้บริการแท็กซี่มีรายได้เสริมจุนเจือครอบครัว รวมทั้ง จากค่าตอบแทน โบนัส และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ทางบริษัท Grab กำหนด ทำให้เกิดความเท่าเทียม เพราะการให้บริการผ่านแอปฯ ถูกกฎหมายทำให้ผู้ให้บริการสาธารณะแบบไม่ประจำทางทุกคันอยู่ภายใต้ระเบียบเดียวกัน โดยไม่มีผู้ใดได้เปรียบเสียเปรียบ เนื่องจากผู้ให้บริการรถโดยสารส่วนบุคคลปัจจุบันต้องปฏิบัติตามระเบียบเดียวกันกับผู้ให้บริการแท็กซี่ด้วยกัน รวมทั้ง เป็นการยกระดับคุณภาพความปลอดภัยของผู้โดยสารและคนขับ ซึ่งการให้บริการแท็กซี่ผ่านแอปฯ Grab ผู้โดยสารต้องจ่ายค่าเรียกเพิ่ม 20 บาท นอกเหนือจากค่าโดยสารตามมิเตอร์
ขณะที่ภาครัฐดำเนินการผลักดันนโยบายเปิดเสรีบริการรถส่วนบุคคลร่วมเดินทาง (Ride Hailing Service) หรือ Grab ถูกกฎหมาย ผ่านการแก้กฎกระทรวงคมนาคม
สำหรับความคืบหน้า กระทรวงคมนาคม ได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาการให้บริการรถรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชัน หรือแกร็บ (Grab) ถูกกฎหมาย โดยจะออกกฎกระทรวง 2 ฉบับ ประกอบด้วย 1. กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมารับจ้างผ่านแอปพลิเคชัน และ 2. กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และการออกใบอนุญาตสำหรับนิติบุคคลที่ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการรับจ้างบรรทุกผู้โดยสาร
นายไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ารัฐบาลมีนโยบายให้บริการรถจ้างสาธารณะผ่านแอปฯ ถูกกฎหมายเพิ่มความสะดวกและเป็นธรรมแก่ประชาชน เบื้องต้นคาดว่าจะมีการประกาศกฎกระทรวงฯ ในเดือน มี.ค 2563
เริ่มจากการให้บริการแกร็บแท็กซี่ (Grab Taxi) ถูกกฎหมายก่อน ส่วนรถจักรยานยนต์ หรือแกร็บไบค์ (Grab) รวมทั้ง รถยนต์ส่วนบุคคล แกร็บคาร์ (Grab Car) ยังต้องใช้เวลาศึกษา
“การเปิดให้แกร็บถูกกฎหมายนั้นถือว่าตอบโจทย์ประชาชนในการใช้ชีวิตยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย จึงเชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก” นายไตรศุลี กล่าว
ในส่วนรายละเอียดร่างกฎกระทรวงฯ การนำรถยนต์ส่วนบุคคล หรือGrab Car มารับจ้างผ่านแอปฯ Grab เบื้องต้นมีกฎเกณฑ์ ดังนี้ ผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ รถยนต์ที่ใช้เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน และมีอายุใช้งานไม่เกิน 9 ปี, ต้องให้บริการผ่านแอปพลิเคชั่นเท่านั้น, ต้องติดเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์แสดงว่ารถคันนี้เป็นผู้ให้บริการ Ride Hailing Service, ต้องแสดงรายละเอียดผู้ขับขี่ชัดเจน ชื่อ-นามสกุล รูปถ่าย เลขที่ใบอนุญาตขับรถ หรืออื่นๆ, ต้องแสดงค่าโดยสารให้ผู้โดยสารทราบล่วงหน้า อย่างน้อย 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ จีน, ห้ามโบกเรียกตามท้องถนน ต้องเรียกผ่านแอพพลิเคชั่นเท่านั้น, ต้องทำประกันภัยเพิ่มเติมจากที่กฎหมายบังคับ เป็นต้น
ย้ำว่ารายละเอียดร่างกฎกระทรวงฯ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอย่างรอบคอบ เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เพื่อรองรับการให้บริการอย่างถูกกฎหมายในอนาคต
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาแนวทางการกำหนดรถส่วนบุคคลที่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชั่นให้เป็นรถสาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมว่า การพัฒนาบริการเรียกรถผ่านแอพพลิเคชั่นครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมบริการขนส่งสาธารณะให้ตอบโจทย์ผู้ใช้มากขึ้น ประชาชนมีสิทธิ์เลือกรูปแบบบริการที่ต้องการว่า จะโบกเรียกแท็กซี่ หรือเรียกรถผ่านแอพพลิเคชั่น
“การเปิดเสรีครั้งนี้ จะเป็นช่วงทดลองระยะ 6 เดือน - 1 ปี เพื่อดูความเหมาะสมและเสียงตอบรับ หากระยะเวลาในช่วงดังกล่าวเอกชนไม่มีการพัฒนาให้ดีขึ้นหรือมีเหตุอาชญากรรมรุนแรงหรือสิ่งใดที่กระทบต่อคุณภาพบริการสาธารณะ กระทรวงคมนาคมมีสิทธิ์ยกเลิกเรื่องนี้ได้ทันที”
อ้างอิงผลการศึกษาและวิจัยเชิงวิชาการ เรื่อง “อุตสาหกรรมการให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชัน (Ride-hailing service) : บทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยและความจำเป็นในการพัฒนาหลักเกณฑ์และกฎหมายให้ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า อุตสาหกรรมการให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชัน หรือ Ride-hailing ในประเทศไทยในปี 2561 มีมูลค่าตลาดประมาณ 21,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ของ GDP ภาคขนส่งทางบกไทย และคาดว่าจะเติบโตสูงขึ้นเป็น 433,000 ล้านบาทภายในปี 2568 หรือคิดเป็นร้อยละ 27 ของ GDP ภาคขนส่งทางบกไทย
รวมถึง อุตสาหกรรมขนส่งทางบกไทยจะเติบโตขึ้นประมาณร้อยละ 3 - 5ต่อปี ทำให้ในปี 2568 มูลค่าตลาดจะเพิ่มสูงถึง 120,000 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 20 - 25 ของ GDP ภาคขนส่งทางบกไทย แสดงให้เห็นว่า Ride-hailing จะมีบทบาทมากขึ้นในการเป็นส่วนเสริมของระบบคมนาคมซึ่งเป็นอีกหนึ่งส่วนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว
ปัจจุบัน แกร็บให้บริการครอบคลุม 20 เมืองใน 18 จังหวัดทั่วประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล พัทยา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ เชียงราย อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา ขอนแก่น สุรินทร์ บุรีรัมย์ หัวหิน เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช หาดใหญ่ กระบี่ ภูเก็ต และตรัง
ประเทศไทยถือเป็น 1 ใน 3 ประเทศของภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ไทย, เมียนมาร์ และลาว ที่ยังไม่มีการรับรองให้แอปฯ เรียกรถถูกกฎหมาย ส่วนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้มีกฎหมายรองรับเรียบร้อยแล้ว
สำหรับแนวทางผลักดัน Grab ถูกกฎหมาย ชัดเจนแล้วว่า จะประกาศกฎกระทรวงฯ ภายในเดือน มีนาคม 2563 ประเดิมด้วย “Grab Taxi” ถูกกฎหมายก่อน ส่วน “Grab Bike - Grab Car” ประเภทรถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ส่วนบุคคลนั้นต้องใช้เวลาศึกษาอีกสักพักใหญ่ๆ ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่า “สุดท้าย” แล้ว จะลงเอยอย่างไร.