หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
ต้องยอมรับว่า ม็อบของธนาธร นั้นจุดติดเพราะรัฐบาลเองก็มีบาดแผลไม่น้อยที่ทำให้คนที่เชียร์ธนาธร หรือไม่เชียร์ธนาธรแต่ไม่ชอบทหารออกมารวมตัวกันได้
ผมต้องเขียนบทความนี้ไว้ล่วงหน้า เพราะต้องเดินทางไปต่างประเทศ ไม่รู้ว่าระหว่างที่บทความนี้สู่สายตาของผู้อ่านสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ในกรณีของพรรคอนาคตใหม่ที่ กกต.มีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค
แต่ผมเห็นความเห็นของ คุณไพศาล พืชมงคล แพร่หลายอยู่ ณ เวลานี้ ผมคิดว่า เป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง แม้จะเคารพนับถือกันก็ตาม
คุณไพศาล ระบุว่า “การตีความกฎหมายมหาชนในเรื่องที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติห้ามว่าทำไม่ได้ ถ้าทำก็ผิดกฎหมายนั้น เป็นการตีความที่ต้องห้าม! เพราะกฎหมายมหาชนนั้น อะไรที่กฎหมายห้ามก็ทำไม่ได้ อะไรที่กฎหมายไม่ห้ามก็ทำได้!! ต่างกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งวางหลักการตีความไว้ในกฎหมายอย่างแน่นอน เป็นอย่างอื่นไม่ได้ ในกรณีที่เป็นที่สงสัย กฎหมายก็ยังวางหลักการตีความไว้ด้วย ว่าต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณกับผู้ต้องเสียหายในมูลหนี้! สำหรับกฎหมายมหาชนนั้น ถ้าตีความในสิ่งที่กฎหมายไม่ห้าม ว่าทำไม่ได้ ย่อมเป็นการตีความที่กฎหมายเรียกว่า"วิปริต"”
ผมไม่ใช่กูรูแม้จะพออ่านกฎหมายเข้าใจอยู่บ้างและเคยเรียนกฎหมายมาบ้าง ถ้าจะยกความเห็นผมไปเทียบชั้นกับคุณไพศาลก็คงไม่เสมอกัน เอาเป็นว่า ผมจะยกความเห็นเรื่องหลักกฎหมายมหาชนกับกฎหมายเอกชนที่ อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง เคยเขียนเอาไว้
อาจารย์ชำนาญวันนี้ก็คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อและกรรมการบริหารของพรรคอนาคตใหม่นั่นแหละ
อาจารย์ชำนาญเขียนบทความเรื่อง ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ เมื่อมีอำนาจ ต้องไม่ขัดกฎหมาย ลงใน www.http://public-law.net เมื่อ 11 ธันวาคม 2549 ตอนหนึ่งว่า
“สำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษากฎหมายมาเป็นการเฉพาะหรือแม้แต่ศึกษามาเหมือนกันแต่ไม่ได้ครอบคลุมทั้งระบบกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน มักจะเกิดความสับสนงงงวยอยู่เสมอกับหลักการของการตีความกฎหมายที่ดูเผิน ๆ แล้ว ดูเหมือนจะขัดแย้งกันเอง อาทิ หลักกฎหมายที่ว่าเมื่อไม่มีกฎหมายห้ามให้ถือว่าทำได้กับหลักกฎหมายที่ว่าในกรณีที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ย่อมทำไม่ได้ ซึ่งที่จริงแล้วถูกต้องทั้งสองหลัก แต่เป็นการใช้ตีความในลักษณะของประเภทกฎหมายแต่ละประเภทแตกต่างกันไป มิใช่ใช้หลักใดหลักหนึ่งอย่างเดียวแล้วเหมารวมไปทุกระบบกฎหมายทั้งหมด
“ในหลักของการตีความกฎหมายเอกชนซึ่งได้แก่กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญานั้น ถือว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพเต็มที่ภายในกรอบที่กฎหมายกำหนดหรือหากไม่มีกฎหมายกำหนดเป็นข้อห้ามไว้บุคคลย่อมสามารถกระทำในสิ่งที่ตนต้องการได้ อาทิ การรื้อทำลายทรัพย์สินของตนเองหรือการตกแต่งทรงผม เจาะหู เจาะจมูกของตน รวมไปถึงการกระทำการอันพิสดารใดๆแก่ตนเอง แม้ในที่สุดถึงกับทำลายชีวิตตนเองก็ตาม เมื่อไม่มีกฎหมายห้ามไว้การกระทำนั้นย่อมไม่เป็นความผิด
“แต่ในหลักของการตีความกฎหมายมหาชนที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน ซึ่งประกอบไปด้วยกฎหมายหลักๆคือกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครอง ที่ปกติแล้วรัฐจะมีอำนาจเหนือกว่าเอกชนนั้น มีแนวคิดและนิติวิธีแตกต่างไปจากหลักการพื้นฐานในระบบกฎหมายเอกชนอย่างมาก
“หนึ่งในหลักนิติรัฐที่สำคัญคือ “บรรดาการกระทำทั้งหลายขององค์กรของรัฐ ฝ่ายบริหารจะต้องชอบด้วยกฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวคือองค์กรของรัฐฝ่ายบริหารจะมีอำนาจสั่งการให้ราษฎรกระทำการหรือละเว้นไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ต่อเมื่อมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจไว้อย่างชัดแจ้งและจะต้องใช้อำนาจนั้นภายในกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น”
“ประกอบเข้ากับหลักการพื้นฐานของกฎหมายปกครอง คือ “การกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมาย” ซึ่งจะประกอบไปด้วยหลักที่สำคัญคือหลัก “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ” และหลัก “เมื่อมีอำนาจ ต้องไม่ขัดกฎหมาย”(การกระทำทางปกครองต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย) การที่องค์กรหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ได้นั้น เพราะกฎหมายได้ให้อำนาจไว้เพื่อให้วัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการทางปกครองซึ่งมุ่งประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์สาธารณะบรรลุผล”
ผมคิดว่า ถ้าใครอ่านที่อาจารย์ชำนาญเขียนก็คงจะเข้าใจ ยิ่ง รศ.ดร.ปิยะบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค นักกฎหมายมหาชนย่อมจะต้องเข้าใจกว่าใคร
ส่วนที่อาจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต.แล้วโพสต์เฟซบุ๊กว่า “อ่านข่าวแจก 8 บรรทัดของ กกต.แล้ว จะเห็นว่าการลงมติของ กกต. ไม่พยายามพูดถึง เงินกู้เป็นเงินบริจาค เพราะเงินกู้คือเงินกู้ ไม่ใช่เงินบริจาค ดังนั้น จึงไม่สามารถไปเอาความผิดพรรคอนาคตใหม่ว่าไปรับเงินบริจาคเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ เหตุผลจึงออกมาในการอิง มาตรา 72 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง
“แต่หากพิจารณาสาระของ มาตรา 72 จะอยู่ที่ เงินที่บริจาคที่ "ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย" ไม่ใช่เรื่องบริจาคเงินเกินกว่า กฎหมายกำหนด
“สาระของมาตรานี้ จึงเป็นการห้าม "เงินสกปรก" ที่จะเข้ามาสนับสนุนพรรคการเมือง เช่น เงินบ่อน เงินซ่อง เงินค้าอาวุธสงคราม เงินค้าของหนีภาษี ฯลฯ ไม่ว่าจะบริจาคสักกี่บาทก็ตาม ถือว่า ห้ามรับ เพราะเป็นการเอาเงินธุรกิจสีเทามาสนับสนุนฝ่ายการเมือง
“คำถามจึงกลับไปที่ กกต.ว่า "แน่ใจแล้วหรือที่ใช้มาตรานี้ ในการจัดการกับพรรคอนาคตใหม่ ท่านรู้แล้วใช่ไหมว่าเงินที่มาให้กู้เป็นเงินสกปรก"”
ข้างบนนั้นเป็นความเห็นของอาจารย์สมชัย
ทีนี้เราไปดูว่า มาตรา 72 เขียนไว้อย่างไร เขาเขียนว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
มาตรา 72 ไม่ได้เขียนว่า เป็นเงินบริจาคอย่างเดียว อย่างที่มาล้อกันว่า ถ้าอย่างนั้นเงินกู้มาก็ไม่ต้องจ่ายแล้วเพราะถือเป็นเงินบริจาค เงินกองทุนกู้ยืมการศึกษาก็ไม่ต้องจ่ายคืนเพราะเป็นเงินบริจาค แต่จริงๆไม่ใช่ เพราะมาตรานี้เขาพูดถึงการให้ “ทรัพย์สิน” และ “ประโยชน์อื่นใด” ด้วย ในมุมของผม เงินกู้ก้อนนี้คือ ประโยชน์อื่นใด
ส่วนที่อาจารย์สมชัยบอกว่า สาระของมาตรานี้ จึงเป็นการห้าม “เงินสกปรก” ที่จะเข้ามาสนับสนุนพรรคการเมือง เช่น เงินบ่อน เงินซ่อง เงินค้าอาวุธสงคราม เงินค้าของหนีภาษี ฯลฯ
แต่จริงไม่ใช่นะครับ เขาเขียนว่า “ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
ได้มา “ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” คืออะไร
พูดแบบทุบโต๊ะง่ายๆ เลยก็ได้ว่า ก็พรป.พรรคการเมือง 2560 ไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองกู้เงิน คือไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ หลักง่ายๆลองนึกภาพดูว่า ถ้าพรรคการเมืองสามารถกู้เงินมาใช้ในการเลือกตั้งได้ อนาคตจะเกิดอะไรขึ้นครับ ต่อไปใครจะให้เงินช่วยพรรคการเมืองก็อำพรางกันมาในรูปเงินกู้โดยไม่จำกัดวงเงินตามกฎหมายเช่นนั้นหรือครับ และไม่คิดหรือว่านายทุนเงินกู้จะไม่มีอิทธิพลเหนือพรรค
หรือกรณีหนึ่งคือโยงไปที่ มาตรา 62 ที่ระบุว่า พรรคการเมืองอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้
(1) เงินทุนประเดิมตามมาตรา 9 วรรคสอง
(2) เงินค่าธรรมเนียมและค่าบํารุงพรรคการเมืองตามที่กําหนดในข้อบังคับ
(3) เงินที่ได้จากการจําหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรคการเมือง
(4) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง
(5) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการรับบริจาค
(6) เงินอุดหนุนจากกองทุน
(7) ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง
ดังนั้นเงินพรรคการเมืองที่ชอบด้วยกฎหมายต้องมาตาม 7 วงเล็บนี้เท่านั้น ทั้งนี้เพราะหลักกฎหมายมหาชนนั้น กำหนดว่าในกรณีที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ย่อมทำไม่ได้ ดังนั้นเงินกู้จึงเป็นเงินมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 62ไม่ใช่ตะแบงกันว่า เมื่อไม่มีกฎหมายห้ามให้ถือว่าทำได้
หรือถ้าตีความว่า ทำได้ตามมาตรา 62 ก็ยังเข้าเงื่อนไขต้องห้ามวงเงินเกินกว่าสิบล้านบาทตามมาตรา 66 และมีความผิดอยู่ดี
ย้อนดูมาตรา 72 อีกครั้ง “ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
มาตรา 92 เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทําการ อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น (3) กระทําการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74
มาตรา 126 ผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 72 ต้องระวางโทษจําคุก ไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
คำถามว่า ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์กี่ปีหรือตลอดไป เพราะถ้าตัดสิทธิ์ 5 ปี ศาลจะระบุไว้ ดังเช่น มาตรา 127
มาตรา 127 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 73 ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่ สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนดห้าปี
หรือว่านี่คือการตัดสิทธิ์ตลอดชีวิต
เหตุผลนี้ใช้หรือไม่ว่า ไม่มีทางเลือกที่ธนาธรและชาวอนาคตใหม่ต้องนำมวลชนลงถนน ไม่ใช่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติหรอก แต่เพื่อผลประโยชน์ของธนาธรนั่นเอง