ดิฉันมีโอกาสไปดูงานอารยสถาปัตย์สำหรับมนุษย์ล้อ ในวันแรกที่จัดงานที่เมืองทองธานี ช่วง 28 พ.ย. -1 ธ.ค. 2562
ในงานนี้ได้พบน้องมนุษย์ล้อชื่อน้องสาลี่เข้ามาทักทายเพราะเคยเจอกันที่วัดญาณเวศกวัน ได้คุยกันเรื่องปัญหาในการเดินทางของมนุษย์ล้อ
น้องสาลี่เล่าให้ฟังว่าตัวเองเป็นคนนำพาเพื่อนมนุษย์ล้อหลายคนไปท่องเที่ยว ทั้งขึ้นรถเมล์ ขึ้นรถบีทีเอส ลงเรือข้ามฟากก็เคยทำมาแล้ว
ปัญหาใหญ่ของมนุษย์ล้อคือฟุตบาทที่ไม่เรียบ น้องสาลี่เล่าแบบขำๆ ว่าบางครั้งเธอต้องลงมาแว้นบนถนนเลย แม้จะอันตรายแต่ก็จำเป็น
ปัจจุบันรถเมล์ชานต่ำใน กทม.มีอยู่ประมาณ 500 คัน ซึ่งช่วยให้มนุษย์ล้อสามารถขึ้นรถเมล์ได้ น้องสาลี่เล่าให้ฟังว่าคนขับรถเมล์ และพนักงานเดินตั๋วมีน้ำใจดี ส่วนใหญ่จะลงมาช่วยให้เธอสามารถขึ้นลงรถเมล์ได้สะดวก ส่วนรถบีทีเอส เธอเล่าว่าเธอก็ใช้การเข้าคิวเหมือนปกติ ไม่มีสิทธิพิเศษอะไร แต่เลือกช่วงเวลาเดินทางที่ไม่ใช่ชั่วโมงเร่งด่วน
ถามน้องสาลี่ที่มาเป็นมนุษย์ล้อเพราะประสบอุบัติเหตุอะไร จึงได้ทราบว่าน้องสาลี่เป็นโรคพิการที่เกิดได้น้อยมากคือ ไมโตคอนเดรียไม่ทำงาน ทำให้กล้ามเนื้อขาไม่มีพลังงาน ซึ่งมาเกิดอาการตอนเธออายุ 12 ปี ทุกวันนี้เธอยังยินดีเป็นกรณีศึกษาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์แม้กายจะพิการแต่น้องสาลี่มีสุขภาพจิตดีมาก จิตใจเข้มแข็ง และมีจิตสาธารณะชอบช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ล้อด้วยกันให้ออกมาท่องเที่ยวได้ในโลกกว้างเหมือนคนปกติ สิ่งที่เธอขอก็คือ เมืองที่มีฟุตบาทเลียบสำหรับการเดินทางด้วยวิลแชร์ของมนุษย์ล้อทั้งหลาย
ในงานอารยสถาปัตย์ดิฉันได้สัมผัสนวัตกรรมเพื่อคนพิการหลากหลายนับตั้งแต่เทคโนโลยีช่วยเดินที่เป็นเอไอไซเบอร์สุดล้ำที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ที่ดิฉันสนใจเป็นพิเศษคือประดิษฐ์ยนต์ของคนไทยที่ผลิตรถสามล้อเครื่องสำหรับบริการมนุษย์ล้อผู้มีทุนทรัพย์น้อยและยังเป็นรถที่ใช้ระบบแบตเตอรี่ไฟฟ้า ไม่ปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมทั้งเสียงและอากาศ นับว่าเป็นยานอารยะพาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของเมือง ที่ควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้เป็นระบบขนส่งในเมืองสำหรับคนปกติและมนุษย์ล้อ
หลายๆ คนคงเคยได้ยินวาทกรรมบาดใจของคุณกฤษณะ ละไล แกนนำมนุษย์ล้อที่ว่า “จริงๆ แล้ว ความพิการไม่มี คนพิการไม่มี จะมีก็แต่เพียงสภาพแวดล้อมที่ยังพิการ ....หมายความว่าสภาพแวดล้อมที่ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับผู้พิการ...ดังนั้น การแก้ไขความพิการและแก้ปัญหาคนพิการได้อย่างเห็นผลชัดเจนและยั่งยืนนั้น ต้องเริ่มต้นแก้ไขที่สภาพแวดล้อมที่พิการให้หายจากความพิการก่อน”
คุณกฤษณะ ละไล เคยบอกความฝันของตนครั้งแล้วครั้งเล่าว่า “กรุงเทพฯ นอกจากจะเป็นเสมือนสรวงสวรรค์ของคนทั่วไปแล้ว ยังเป็นสวรรค์ของชาวมนุษย์ล้ออีกแห่งในโลกใบนี้ ด้วยความพร้อมสรรพของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆครบวงจร”
ดิฉันขอร่วมฝันกับชาวมนุษย์ล้อและผู้พิการทั้งหลายว่า เราจะร่วมมือกันสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครแห่งอารยสถาปัตถ์ที่ผู้ทุพลภาพและผู้สูงอายุทั้งหลายทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศจะได้รับความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนทั่วไปอย่างปกติสุข
รสนา โตสิตระกูล
2 ธันวาคม 2562