"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
แนวคิดอินโด - แปซิฟิกมีลักษณะเป็น Grand Strategy ของญี่ปุ่น ซึ่งต่อยอดมาจากสุนทรพจน์เรื่อง “Confluence of the Two Seas” ที่นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแถลงต่อรัฐสภาอินเดีย เมื่อปี 2550 รวมทั้งนโยบาย“The Arc of Freedom and Prosperity” และยุทธศาสตร์ “Diamond Strategy” ในสมัยแรกของนายอาเบะ
ต่อมา เมื่อนายอาเบะได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งเป็นสมัยที่ 2 เมื่อปี 2555 เป็นช่วงที่บทบาทของจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในขณะที่บทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียเริ่มลดลง จึงน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้นายอาเบะสานต่อแนวคิดข้างต้น โดยได้ประกาศแนวคิด อินโด - แปซิฟิกอย่างเป็นทางการในการประชุม Tokyo International Conference on Africa Development (TICAD) เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ที่กรุงไนโรบี ซึ่งสะท้อนจุดยืนทางนโยบายของญี่ปุ่นในปัจจุบัน คือ (1) ตั้งอยู่บนพื้นฐานภูมิภาคนิยม (regionalism) (2) ยึดหลักนิติธรรมและการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ และ (3) มุ่งเพิ่มบทบาททางการทหาร
ท่าทีของประเทศต่างๆ ต่อแนวคิดอินโด - แปซิฟิก
ญี่ปุ่น
แนวคิดยุทธศาสตร์อินโด - แปซิฟิกของญี่ปุ่น เน้น 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ การส่งเสริมและปลูกฝังค่านิยมพื้นฐาน เช่น หลักนิติธรรมและประชาธิปไตย การแสวงหาความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ โดยภายใต้แนวคิดยุทธศาสตร์อินโด - แปซิฟิกนี้ ญี่ปุ่นมุ่งความสนใจไปที่อินเดียและแอฟริกา และเมื่อปี 2557 ได้มีการยกระดับความสัมพันธ์กับอินเดียเป็น “Special Strategic and Global Partnership” ความสนใจดังกล่าวน่าจะมาจากการที่อินเดียตั้งอยู่ในตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ตรงกลางของภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก
นอกจากนั้น ญี่ปุ่นยังร่วมมือกับอินเดียในการผลักดัน Asia - Africa Growth Corridor (AAGC) เพื่อมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมาตรฐานสูง (Quality Infrastructure) ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือแอฟริกาเพื่อการพัฒนาประเทศทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจบนพื้นฐานหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน โดยญี่ปุ่นมองว่า แอฟริกาเป็นดินแดนที่มีศักยภาพเนื่องจากมีจำนวนประชากรประมาณร้อยละ 15 ของประชากรโลก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 22 ของโลก มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 4.2 (โดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2545 - 2556) และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งเป็นตลาดในอนาคต
อาจกล่าวได้ว่า ญี่ปุ่น มีแนวคิดเรื่องอินโด - แปซิฟิกที่ชัดเจน มีการนำแนวคิดฯ ไปปรับและจัดทำเป็นยุทธศาสตร์การต่างประเทศ โดยแนวคิดดังกล่าวสะท้อนท่าทีของญี่ปุ่นในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจที่ต้องการเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเข้ากับอินเดียและแอฟริกามากขึ้น และด้านการเมืองโดยญี่ปุ่นจะเน้นการส่งเสริมความร่วมมือกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ
สหรัฐฯ
สุนทรพจน์ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในช่วงการประชุม APEC ที่นครดานัง เวียดนาม เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ได้กล่าวถึงความร่วมมืออย่างจริงจังในด้านการค้าและเศรษฐกิจกับประเทศในอินโด - แปซิฟิกเช่นกัน อย่างไรก็ดี นักวิชาการหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า แนวคิดของสหรัฐฯ ครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและอินเดีย แต่ยังไม่ขยายรวมถึงแอฟริกา และดูเหมือนว่า สหรัฐฯ จะเน้นในเรื่องการค้าเสรี ซึ่งเป็นข้อแตกต่างในการตีความคำว่า “Free and Open” ของสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น สหรัฐฯ และญี่ปุ่นต่างตระหนักถึงความสำคัญของการที่อินเดียจะเข้ามามีบทบาทในภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลต่อสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศในอนาคต โดยเฉพาะการแข่งขันขับเคี่ยวกันของมหาอำนาจ
หากพิจารณาถึงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของสหรัฐฯ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้น่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน มากกว่าปัจจัยการเมือง โดยความร่วมมือในอินโด - แปซิฟิก จะเป็น “ทางเลือก” หนึ่งของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคและสามารถก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่สหรัฐฯ ด้วย
อินเดีย
อินเดียน่าจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อความสำเร็จของการผลักดันแนวคิดอินโด - แปซิฟิก เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่กึ่งกลางของภูมิภาค มีขนาดเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่องและรวดเร็ว อินเดียมองจีนในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีทั้งผลประโยชน์และความท้าทาย และบางครั้งมีการกระทบกระทั่งกันในเรื่องพรมแดนและอธิปไตย อินเดียมีความกังวลต่อการขยายอิทธิพลของจีนในมหาสมุทรอินเดียผ่านการสร้างท่าเรือและท่าอากาศยานจีนในประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ อาทิ บังกลาเทศ ศรีลังกา มัลดีฟส์ และปากีสถาน ภายใต้แนวคิด Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งอินเดียมองว่าส่งผลกระทบต่อการเมืองและความมั่นคงของอินเดียโดยตรง นอกจากนี้ ข้อกังวลอีกประการของอินเดีย คือ การที่สหรัฐฯ ลดบทบาทลง ทำให้แนวคิดอินโด - แปซิฟิกจะเป็นอีกหนึ่งมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ที่อินเดียน่าจะใช้ต่อไป
ออสเตรเลีย
ออสเตรเลียได้เผยแพร่ Foreign Policy White Paper 2017 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 เป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี ซึ่งเป็นเอกสารที่กำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศของออสเตรเลียใน 10 ปีข้างหน้า ที่มุ่งให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก โดยเอกสารดังกล่าวระบุถึงการเพิ่มบทบาทและความรับผิดชอบของออสเตรเลียในภูมิภาคนี้ เป้าหมายสำคัญคือการส่งเสริมความมั่นคง เปิดกว้าง และเจริญรุ่งเรือง รวมทั้งกล่าวถึงสภาวะความเสี่ยงด้านความมั่นคงในทะเลจีนใต้จากบทบาทของจีนด้วย
ความท้าทายของแนวคิดอินโด - แปซิฟิก
แม้ว่าแนวคิดอินโด - แปซิฟิกจะอยู่ในช่วงการเริ่มต้นและมีแนวโน้มจะเปลี่ยนรูปร่างไปสู่การเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองระหว่างประเทศของหลายประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น สหรัฐฯ อินเดียและออสเตรเลีย หรืออาจรวมไปถึงประเทศอื่น ๆ ที่มีผลประโยชน์สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นท้าทายเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศภายใต้แนวคิดอินโด - แปซิฟิก
นโยบาย America First ของสหรัฐฯ อาจเป็นอุปสรรคในการสร้างเอกภาพของกลุ่มพันธมิตร เนื่องจากสหรัฐฯ มีความสนใจด้านการค้าเสรีและเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าของสหรัฐฯ ขณะที่ญี่ปุ่นสนใจด้านความมั่นคงทางทะเลและความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค
ญี่ปุ่นไม่มีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอในการขับเคลื่อนนโยบายฯ ทำให้ญี่ปุ่นต้องร่วมมือกับสหรัฐฯ
ซึ่งต่างจากจีนที่มีกลไกการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank - AIIB) และ Silk Road Fund เพื่อรองรับข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) ของตนเอง ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นความท้าทายของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ที่จะต้องแสดงความชัดเจนและเป็นรูปธรรมว่า แนวคิดอินโด - แปซิฟิก ไม่ใช่แนวคิดที่มีเพื่อคานอำนาจและอิทธิพลของจีน แต่จะก่อให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ทุกฝ่ายอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ทุกฝ่ายยังต้องคำนึงถึงสถานการณ์ในภูมิภาค รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อการขยายความร่วมมือภายใต้แนวคิดอินโด - แปซิฟิก เช่น สถานการณ์ในรัฐยะไข่ และคาบสมุทรเกาหลี ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ และปัญหาโจรสลัดในโซมาเลียและอ่าวเอเดน เป็นต้น
ที่มา : เว็บไซต์ Eastasiawatch.in.th กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ