เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจว่าในภาพรวมเศรษฐกิจอาเซียนและไทยไม่ได้ใช้คำว่าเศรษฐกิจถดถอย แต่เป็นเศรษฐกิจเติบโตช้าลงในปีหน้าและปีต่อไป
ต่อมานายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองกรรมการและเลขานุการครม.เศรษฐกิจได้แถลงผลการประชุมว่า ครม.เศรษฐกิจมีมติรับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดในไตรมาสที่ 3 ของปีตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2562 โดยเมื่อดูตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาจากธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวานนี้จะเห็นว่า การบริโภคภาคเอกชนแผ่วลงเล็กน้อยเนื่องจากการซื้อสินค้าคงทนโดยเฉพาะรถยนต์ชะลอตัวลง จากการที่ผู้บริโภครอรถรุ่นใหม่ทำให้ยอดขายรถยนต์ในเดือนกันยายนลดลงส่งผลกระทบทำให้ดัชนีการบริโภคสินค้าคงทนลดลงไปพอสมควร แต่ถือเป็นข้อดีคือเมื่อรถรุ่นใหม่ออกมาในไตรมาสที่ 4 จะทำให้ยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้น
“อย่างเช่นรถยนต์เพราะประชาชนรอรถรุ่นใหม่ในช่วงปลายปี เช่น โตโยต้าอัลติส และอีซูซุดีแม็กที่ยอดจะลดลงเพราะว่าจะมีรุ่นใหม่ออกมาในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเชื่อว่ามีข้อดีจะทำให้ไตรมาส 4 จะรุมซื้อรถรุ่นใหม่ในขณะนั้น” นายกอบศักดิ์กล่าว
ถ้าเราฟังให้ดีจะเห็นว่า ดัชนีเศรษฐกิจที่รัฐบาลฝากไว้กับรถยนต์นั้น เป็นรถรุ่นที่ใช้สำหรับคนระดับกลางลงล่าง เดิมเราเคยได้ยินแต่ดัชนีมาม่า มาวันนี้มีดัชนีรถยนต์ซึ่งฟังแล้วเป็นเรื่องที่แปลกหูมากที่รัฐบาลฝากความหวังการบริโภคของคนไทยไว้กับการซื้อรถยนต์ ในขณะที่เราพยายามสร้างรถไฟฟ้าเพื่อลงปริมาณการใช้รถลง
แต่คนในวงการรถยนต์บอกว่า สาเหตุจริงๆ มาจากการที่ไฟแนนซ์อนุมัติเงินกู้น้อยลง เพราะเกิดหนี้เสียมาก
ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 เหลือ 2.8% จากประมาณการเดิมที่ 3.0% โดยระบุว่า สาเหตุหลักมาจากสงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อ ผลกระทบสะสมดังกล่าวเริ่มส่งผลเป็นวงกว้างมากขึ้นในหลายประเทศ นอกจากนี้ผลกระทบในระยะหลังเริ่มกระจายตัวส่งผลทำให้ภาคบริการชะลอตัวลง ซึ่งไม่ได้กระจุกตัวแต่เพียงการผลิตภาคอุตสาหกรรมการค้าระหว่างประเทศ และการลงทุนเท่านั้น
มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำสุดในอาเซียน โดยชาติที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตสูงสุดคือกัมพูชาประมาณ 6.8%
ในขณะที่รัฐบาลกำลังจะแจกเงินชิมช้อปใช้ในรอบที่ 3 หลังจากแจกไปแล้วสองรอบ โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีคลังบอกว่า มาตรการชิมช้อปใช้เป็นมาตรการที่รัฐบาลตั้งใจทำ แม้ว่าหลายหน่วยงานจะประเมินว่าไม่ช่วยผลักดันให้จีดีพีปี 2562 ขยายตัวถึงเป้าหมายที่ร้อยละ 3 แต่ส่วนตัวยืนยันว่ามาตรการนี้มีผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมแน่นอน
คำถามว่า การใช้ชิมช้อปใช้นั้น เกิดขึ้นจากประชาชนคนชั้นกลางลงมาไม่เอาเงินออกมาจับจ่ายใช้สอยให้เกิดการหมุนเวียนหรือเพราะพวกเขาต่างพากันประสบความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ แต่บางคนพยายามบอกว่า มาตรการชิมช้อปใช้นั้นเป็นกลยุทธ์ที่รัฐบาลจะผลักดันให้ประชาชนใช้เงินผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อลดการใช้เงินสดในอนาคต
แล้วเศรษฐกิจไทยจริงๆ เป็นอย่างไร ถ้าเราฟังคนที่ค้าขายคนระดับกลางถึงล่างลงมาก็บ่นกันเป็นเสียงเดียวว่า ตอนนี้เศรษฐกิจย่ำแย่การค้าขายหรือการทำมาหากินลำบาก แต่ถ้าไปฟังรัฐบาลก็บอกว่าเศรษฐกิจกำลังดี และเพิ่งพูดว่า ไม่ใช่เศรษฐกิจถดถอย แต่เป็นเศรษฐกิจเติบโตช้า ซึ่งเป็นน้ำเสียงที่ไม่ยอมรับความจริงหรือในทางภาษาตำรวจก็ต้องบอกว่าให้การแบบภาคเสธ ซึ่งขัดกับภาวะที่คนระดับกลางลงล่างประสบอยู่
เมื่อไม่กี่วันก่อนบริษัท ไทยซัมมิทแหลมฉบังออโตพาร์ท จำกัด ตั้งอยู่อ.ศรีราชา จ.ชลบุรีผลิตอุปกรณ์ประเภทชิ้นส่วนเหล็ก ชิ้นส่วนพลาสติก, ไส้กรองน้ำมันเครื่อง, และไส้กรองอากาศ ฯลฯ ของตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจได้มีประกาศหยุดการทำงานในวันที่ 26 ตุลาคมถึง 25 ธันวาคม 2562 เนื่องจากลูกค้ามีคำสั่งซื้อสินค้าลดลง โดยระหว่างหยุดทำงานชั่วคราวตามประกาศบริษัทพร้อมจ่ายเงินค่าจ้างให้กับพนักงานทุกระดับในอัตราร้อยละ 75 ของค่าจ้างปกติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานและการหยุดจะไม่มีผลใดๆ กับการคำนวณเบี้ยขยันหรือการประเมินผลงาน
รวมถึงบริษัท ไฮเทรนด์อุตสาหกรรม (กรุงเทพ) จำกัด โรงงานผลิตกระเป๋า ที่ตั้งอยู่ที่ศรีราชาก็เพิ่งประกาศปิดตัวเองลง ทำให้พนักงานหลายร้อยคนตกงานทันที ทั้งที่พบว่าผลประกอบการของบริษัทใน 3 ปีล่าสุดยังคงมีกำไร ซึ่งคาดว่าเป็นผลกระทบจากการส่งออกที่ลดตัวลงอย่างต่อเนื่อง จนมองเห็นอนาคตว่าไม่สามารถดำเนินการต่อได้
ในเวลาไล่เลี่ยกันบริษัท นิปปอนสตีล สตีล โพรเซสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม NIPPON STEEL จากประเทศญี่ปุ่น ประกาศขอให้พนักงานหยุดงานชั่วคราว โดยระบุว่าความต้องการใช้วัตถุดิบจากลูกค้าลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ จึงส่งผลกระทบต่อยอดการผลิตของบริษัททำให้ไม่สามารถเดินแผนงานปกติได้ ส่งผลให้บริษัทต้องปรับลดกำลังการผลิตลงถึงจุดที่ไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการผลิตเป็นระยะชั่วคราว
ทั้ง 3 โรงงานนี้อยู่ในภาคตะวันออกซึ่งรัฐบาลกำลังจะผลักดันโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ซึ่งเป็นความหวังจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจนั่นเอง และเพิ่งจะเซ็นสัญญารถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินซึ่งหวังว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของโครงการนี้
คำถามว่า ภาวะเศรษฐกิจของเรากำลังประสบกับภาวะถดถอยหรือชะลอตัวอย่างที่นายกรัฐมนตรีกล่าวกันแน่ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ที่พยายามเอาใจกลุ่มทุนใหญ่เพื่อให้ส่งผลถึงทุนระดับล่างนั้นได้ผลจริงหรือ หรือมีผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่กี่รายเท่านั้น ที่สามารถอยู่ได้กับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ ทำให้เมืองไทยมีเศรษฐีที่ติดอันดับโลกเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำของไทยก็กลายเป็นแชมป์โลกอยู่ในเวลานี้
เมื่อปลายปีที่ผ่านมา CS Global Wealth Report 2018 มีข้อมูลในด้านความมั่งคั่ง (Wealth) ไทยที่ได้อันดับ 3 ในการสำรวจเมื่อสองปีที่แล้ว แต่สามารถแซงทั้งรัสเซียทั้งอินเดียขึ้นป้ายอันดับหนึ่งได้อย่างค่อนข้างห่างด้วยซ้ำ
โดยเมื่อปี 2016 คนไทย 1% แรก (5 แสนคน) มีทรัพย์สินรวม 58.0% ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศมาปี 2018 1% มีเพิ่มเป็น 66.9% แซงรัสเซียที่ลดจาก 78% เหลือแค่ 57.1% ตกไปเป็นที่สอง ขณะที่ตุรกีเศรษฐกิจไม่ดีแต่คนรวยกลับเพิ่มสัดส่วนขึ้นได้เป็น 54.1% แซงอินเดียที่ตกไปเป็นที่สี่จาก 58.4% เหลือแค่เพียง 51.5%
นอกจากนั้นพบว่าคนไทยที่จนสุด 10% มีทรัพย์สิน 0% โกแบร์เว็บไซต์ด้านประกันภัยและผลิตภัณฑ์ทางการเงินข้ามชาติเผยข้อมูลดัชนีวัดสุขภาพทางการเงิน ณ วันที่ 17 ต.ค. ระบุว่าคนไทยอายุ 18-65 ปี 49.8% มีเงินเพียงพอครอบคลุมเฉพาะรายจ่ายในชีวิตประจำวันหรือเดือนชนเดือนเมื่อหักรายจ่ายอื่นๆ ไปแล้ว
ตัวเลขดังกล่าวน่าตกใจขึ้นไปอีก เมื่อพบว่ากลุ่มอายุที่อยู่แบบเดือนชนเดือนมากที่สุดคือ 36-45 ปีที่สัดส่วน 53% รองลงมาคือกลุ่มอายุ 56-65 ปีที่ 51% เท่ากับกลุ่มอายุ 26-35 ปีที่ 51%
นั่นแสดงว่าคนไทยครึ่งหนึ่งแม้จะกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยก็มีเงินใช้แบบเดือนชนเดือน มีคำถามว่าหากเลยวัยทำงานเขาจะมีชีวิตอย่างไร
แล้วเราคิดว่ารัฐบาลชุดนี้จะพาเราหลุดรอดจากหุบเหวแห่งความหายนะไหม
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan