"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
ในความเข้าใจของคนทั่วไปยามกล่าวถึง อนาธิปไตย (anarchism) มักนึกถึงสภาพที่ ไร้กฎ ปราศจากเกณฑ์ ไม่มีระเบียบ และจลาจล คำนี้มีการเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส และแฝงด้วยความรู้สึกเชิงลบ ซึ่งมีนัยถึงการแตกสลายของอารยธรรมและระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคม ทว่า ชาวอนาคิสต์เองปฏิเสธอย่างรุนแรงต่อการเชื่อมโยงอนาธิปไตยกับสภาพจลาจล ดังนั้น หากจะทำความเข้าใจกับอุดมการณ์ของชาวอนาธิปไตยให้ถ่องแท้ คงต้องวางอคติและความรู้สึกเชิงลบที่ถูกปลูกฝังลงเสียก่อน
อนาธิปไตยในฐานะขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมปรากฎตัวชัดเจนระหว่างศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งเป็นกระแสที่เกิดขึ้นควบคู่กับการเติบโตของขบวนการเคลื่อนไหวของสังคมนิยม ช่วงแรกมีการร่วมมือกันระหว่างมาร์กซิสต์กับอนาคิสต์ แต่ต่อมาก็ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ในปลายศตวรรษที่ ๑๙ อนาคิสต์เคลื่อนไหวเผยแพร่ความคิดและจัดตั้งกลุ่มชาวนาไร้ที่ดินในรัสเซียและยุโรปใต้ และใช้แนวคิดสหการนิยม (syndicalism) โน้มน้าวจูงใจชนชั้นแรงงานอุตสาหกรรม ให้เข้าร่วมขบวนการ
ลัทธิสหการนิยม หรือ การที่ให้กรรมกรหรือสหภาพแรงงานเป็นผู้ควบคุมโรงงานได้รับความนิยมในฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน ซึ่งทำให้อนาคิสต์กลายเป็นขบวนการมวลชนอย่างแท้จริงในต้นศตวรรษที่ ๒๐ และได้แพร่ขยายไปสู่อเมริกาใต้อีกด้วย โดยเฉพาะในอาร์เจนตินา และอุรุกวัย รวมทั้งขบวนการปฏิวัติในเม็กซิโก
อย่างไรก็ตาม การแพร่กระจายของลัทธิอำนาจนิยมและการปราบปรามทางการเมืองได้บั่นทอนอิทธิพลของลัทธิอนาคิสต์ทั้งในยุโรปและละตินอเมริกา ในยุโรปชัยชนะของ นายพลฟรังโก ในสงครามกลางเมืองสเปนทำให้ชาวอนาคิสต์ถูกประหัตประหารเป็นจำนวนมาก และอนาคิสต์ก็ถึงจุดจบในฐานะขบวนการมวลชน พร้อมๆ กันนั้นในรัสเซีย อนาคิสต์ก็ถูกบั่นทอนด้วยชัยชนะของ พรรคบอลเชวิค ของ เลนิน
กล่าวได้ว่าในฐานะอุดมการณ์ทางการเมือง อนาคิสต์ไม่เคยประสบความสำเร็จในการช่วงชิงอำนาจในการเมืองระดับชาติ ไม่มีชาติหรือประเทศใดที่ใช้ตัวแบบทางอุดมการณ์ของอนาคิสต์เป็นพื้นฐานบริหารปกครองประเทศ ดังนั้นความดึงดูดใจของอนาคิสต์ในฐานะอุดมการณ์จึงมีนัยสำคัญน้อยกว่าเสรีนิยม สังคมนิยม อนุรักษ์นิยม หรือแม้แต่ฟาสซิสต์ ที่พิสูจน์อย่างประจักษ์แล้วว่าศักยภาพในการช่วงชิงอำนาจได้สำเร็จและปรับเปลี่ยนสังคมได้
อนาคิสต์เคยเดินเข้าใกล้ประตูแห่งความสำเร็จ เมื่อประสบชัยชนะระหว่างสงครามกลางเมืองสเปน ซึ่งชาวอนาคิสต์ควบคุมแคว้นคาตาโลเนียได้ และมีการจัดตั้งสภาผู้ใช้แรงงานและชาวนาขึ้นมา แต่ก็เป็นช่วงสั้น ๆ เท่านั้น
ความดึงดูดใจของอนาธิปไตยในฐานะขบวนการทางการเมืองมีอุปสรรคทั้งจากเป้าหมายและวิธีการของอนาคิสต์เอง เป้าหมายของอนาธิปไตยคือ การล้มล้างรัฐและกวาดล้างรูปแบบทั้งมวลของอำนาจทางการเมือง ซึ่งถูกมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน และยากที่จะเป็นไปได้ในสังคมมนุษย์ ในแง่ของวิธีการ อนาคิสต์ปฏิเสธวิธีการกระแสหลักในการแสดงอิทธิพลทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งพรรคการเมือง การสมัครรับเลือกตั้ง การวางแผนยุทธศาสตร์ การแสวงหาตำแหน่งในหน่วยงานรัฐ และอื่น ๆ
ชาวอนาคิสต์เน้นในเรื่องศรัทธาต่อความสมัครใจของมวลชนและอิสรภาพของประชาชน แม้ว่าไม่ประสบความสำเร็จในการสถาปนาอำนาจในสังคม ทว่า อนาคิสต์ไม่เคยตาย ด้วยเหตุผลที่ว่า ความคิดที่ไม่ประนีประนอมต่ออำนาจและการเมืองกระแสหลักมีความคงทนและบ่อยครั้งก็เข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนหนุ่มสาว ดังที่เราสามารถเห็นความคิดของอนาคิสต์ได้จากคำขวัญและข้อเสนอของการเคลื่อนไหวกลุ่มต่อต้านทุนนิยมและกลุ่มต่อต้านโลกาภิวัฒน์อยู่เสมอในปัจจุบัน
แก่นความคิดของอนาธิปไตยมีสี่เรื่องหลักคือ การปฏิเสธรัฐ การปฏิเสธศาสนา การมุ่งหายูโธเปีย และคการสนับสนุนเสรีภาพทางเศรษฐกิจ
อนาคิสต์มองว่า “รัฐเป็นสิ่งชั่วร้าย และไม่มีความจำเป็นใดต่อสังคมมนุษย์” สังคมที่พึงปรารถนาคือสังคมที่ปราศจากรัฐ ซึ่งปัจเจกบุคคลมีเสรีภาพในการจัดการกิจกรรมทางสังคมด้วยการตกลงร่วมกันแบบสมัครใจ การต่อต้านรัฐของชาวอนาคิสต์หมายถึงการต่อต้านอำนาจทางการ เพราะว่าอำนาจเช่นนั้นบั่นทอนเสรีภาพและความเท่าเทียม อนาธิปไตยสนับสนุนเสรีภาพที่สัมบูรณ์และความเท่าเทียมทางการเมืองที่ปราศจากข้อจำกัดใดๆ
เช่นเดียวกัน ชาวอนาคิสต์มองว่า ศาสนาเป็นรูปแบบของอำนาจที่ครอบงำมนุษย์ ในมุมมองของชาวอนาคิสต์ความคิดเกี่ยวกับพระเจ้า คือความคิดเกี่ยวกับองค์อำนาจสูงสุดที่สามารถสั่งการและใช้อำนาจโดยมนุษย์ไม่สามารถตั้งคำถามหรือข้อสงสัยใดได้ ซึ่งทำให้มนุษย์ขาดอิสรภาพและต้องพึ่งพาตลอดไป ชาวอนาคิสต์จึงต่อต้านศาสนาที่มีพระเจ้าโดยเฉพาะศาสนาคริสต์ ดังนั้นชาวอนาคิสต์จึงเสนอให้ยกเลิกทั้งโบสถ์ซึ่งเป็นตัวแทนการใช้อำนาจของศาสนาและรัฐไปพร้อม ๆ กันเป็นสิ่งแรกและเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อเงื่อนไขการปลดปล่อยสังคมให้มีเสรีภาพอย่างแท้จริง
ชาวอนาคิสต์มุ่งมั่นในการสรรค์สร้างสังคมอุดมคติหรือยูโธเปีย ซึ่งเชื่อว่ามนุษยชาติมีความดีมาตั้งแต่กำเนิด หรือ มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความดีนั่นเอง มีศักยภาพในการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีต่อกัน และร่วมมือกัน ความสมานฉันท์เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างเป็นตามธรรมชาติในสังคมมนุษย์ และเป็นระเบียบของธรรมชาติที่มีแนวโน้มร่วมมือและพึ่งพาอาศัยกันอย่างกลมกลืน ในแง่นี้บางครั้งชาวอนาคิสต์ได้นำความคิดมาจากศาสนาพุทธและลัทธิเต๋า ที่เน้นการพึ่งพาซึ่งกันและกันของสรรพสิ่งและความเป็นองค์รวม อิทธิพลของความคิดนี้ในยุคปัจจุบันพบเห็นได้ในแนวคิดนิเวศวิทยา โดยเฉพาะนิเวศวิทยาสังคม
ในแง่เศรษฐกิจ ชาวอนาคิสต์มองว่าอำนาจการเมืองและความมั่งคั่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ ชาวอนาคิสต์มีสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนระบบเศรษฐกิจที่มีรากฐานอยู่บนระบบสหกรณ์และการเป็นเจ้าของร่วมกันในปัจจัยการผลิต ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งสนับสนุนระบบตลาดและระบบกรรมสิทธิส่วนบุคคล แต่แม้ว่าจะมีความคิดต่างกันในเรื่องนี้ แต่ชาวอนาคิสต์เห็นตรงกันในเรื่องการต่อต้านระบบทุนนิยมที่มีการแทรกแซงโดยรัฐ เพราะที่รัฐแทรกแซงระบบเศรษฐกิจนั้นด้านหนึ่งเป็นบรรเทาภาพการขูดรีดของระบบทุนนิยม แต่อีกด้านหนึ่งเป็นการบิดเบือนการแข่งขันในตลาด ทำให้ระบบเศรษฐกิจถูกควบคุมทั้งจากรัฐและกลุ่มทุนผูกขาด (ยังมีต่อ)