xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

นโยบายรัฐสร้างสนามกีฬาฯ ความจุ1 แสนไม่ใช่เรื่องใหม่!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ชัดเจนแล้ว กับมติที่ประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน ครั้งที่ 5 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อสุดสัปดาห์ สอดคล้องกับผู้นำอาเซียนที่เสนอตัว 5 ชาติอาเซียน ไทย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี ค.ศ.2034

ตัวแทนจากไทย มี "นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ" รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เข้าร่วม และมอบหมายให้ประเทศไทยเป็นหลัก ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีของไทยทราบและให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนอีกครั้งหนึ่ง ส่วน“คณะทำงาน”ประเทศมาเลเซีย จะเป็นเจ้าภาพ ไป"บิด" แข่งกับจีน , อียิปต์ , ซิมบับเว , ไนจีเรีย รวมทั้ง ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

นอกจากเรื่องข้างต้น ไทยยังเตรียมร่วมลงนามกับกลุ่มรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน ในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางด้านกีฬาฟุตบอล ระหว่าง สมาคมประชาชาติ แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ตามที่ กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

สาระสำคัญ ของเรื่องนี้คือ การนำงบประมาณเพื่อนำไปสนับสนุนการทำงาน ร่วมกัน และแนวทางในการร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย “อาเซียน กับ ฟีฟ่า” โดยนำกีฬาฟุตบอลเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน การพัฒนาสังคม และวิถีสุขภาพที่ดี รวมถึงการส่งเสริมให้กีฬาฟุตบอลมีการขยายเครือข่าย และการสร้างขีดความสามารถสู่มาตรฐานสากลทัดเทียมนานาอารยประเทศ ทั้งยังปลูกฝังค่านิยมให้มีน้ำใจนักกีฬา เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน

มีการเปิดเผย คร่าวๆว่า จะมีโครงการกีฬาฟุตบอลสำหรับ "จัดสร้างโรงเรียนของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ และการสร้างขีดความสามารถระดับมืออาชีพ"

บันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่มีการลงนาม และจะมี อายุ 5 ปี รวมทั้งบันทึกความเข้าใจนี้ อาจมีการต่ออายุตามความเห็นชอบ ของทั้งสองฝ่าย และฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งอาจยกเลิกบันทึกความเข้าใจฯนี้ได้ สามารถแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 6 เดือน หากยกเลิกดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการต่อเนื่องทีได้รับการตกลงกับก่อนวันที่ยกเลิก

"ทั้งสองฝ่ายจะต้องจัดเตรียมงบประมาณ ค่าใช้จ่ายของตนเอง โดยไม่ขัดต่อข้อตกลง และพิจารณาเป็นกรณีไป"

เมื่อลงนามแล้ว จะมีผลผูกพัน หากมีการลงนามแล้วและมีการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน จะมีค่าใช้จ่ายที่จะต้องขอจัดตั้งงบประมาณประจำปี ที่มีการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน

นอกจากนี้จะไม่มีพันธะผูกพันทางกฎหมายระดับรัฐบาล จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และขั้นตอนสุดท้าย เมื่อได้รับการรับรองจากประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว เลขาธิการอาเซียน จะเป็นผู้ลงนามร่วมกับ ประธานสหพันธ์กีฬาฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ต่อไป

สำหรับภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการ ภายหลังจากการลงนาม "กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา" เตรียมตั้งงบประมาณใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข การใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน หรือเสนอขอตั้งงบประมาณ รายจ่ายประจำปีตามความจำเปีนและเหมาะสม แล้วแต่กรณี ซึ่งต้องรอดูว่า กลุ่มรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน จะลงขันกันประเทศละเท่าไร ?

กลับมาที่เจ้าภาพบอลโลก ฝ่ายไทยได้มีการตั้งคณะกรรมการ ทำงานร่วมกับหลายกระทรวง และได้มอบหมายให้ "ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา" เป็นประธานในการไปหารือกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอาเซียน กระทรวงการค่างประเทศ , กรมพลศึกษา , การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.), รวมถึงสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย เป็นต้น

การหารือล่าสุด เมื่อต้นสัปดาห์ มีมติให้ศึกษาข้อมูลก่อนนำเสนอนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยเฉพาะสนามแข่งขัน ที่จะต้องมีอย่างน้อย 8 สนาม จุคนได้ไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นคน ส่วนสนามที่ใช้ในพิธีเปิด-ปิด ต้องมีความจุ 80,000-100,000 คน ตามมาตรฐานใหม่

ทางตัวแทน กกท. วาดฝันว่า จะปรับปรุงขยายความจุสนามที่มีอยู่ในสังกัด ให้เป็น 40,000 ที่นั่ง และฝันจะหาพื้นที่ในการสร้างสนามแห่งใหม่ ที่มีความพร้อมและ มีความจุผู้ชมมากกว่านี้ด้วย

กกท.ระบุว่า มีที่ดินที่มีมติ ครม.ที่ผ่านมา รองรับทำเป็นสปอร์ตคอมเพล็กซ์ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุ เนื้อที่ 371 ไร่ คาดว่า สามารถรองรับการจัดฟุตบอลโลก และกีฬายูธโอลิมปิกเกมส์ 2026 ในอนาคต ยังมีข่าวว่า กกท. ยังพิจารณาจ.กระบี่ ซึ่งตรงนั้นมีเนื้อที่ ราชพัสดุ เช่นกันกว่า 1,000 ไร่

ขณะที่ "กรวีร์ ปริศนานันทกุล" เลขาธิการสมาคมฟุตบอลฯ ยอมรับว่าข้อเสนอจากแฟนบอลให้ทำประชาพิจารณ์ “ไทยเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก”ก่อนหรือไม่นั้น

"ส่วนตัวก็ไม่เห็นว่าจะมีข้อเสียอะไร เพราะการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ รวมทั้งสนามกีฬา ถ้าเราไม่ได้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดฟุตบอลโลก ในอนาคตก็จะนำสนามกีฬาเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ ในการจัดกีฬาระดับนานาชาติชนิดต่างๆต่อไปในอนาคต ไม่ใช่เพียงแค่กีฬาฟุตบอลเท่านั้น เพราะตอนนี้ถือว่า สนามกีฬาต่างๆ ในไทยตกรุ่นไปพอสมควร จึงถึงเวลาในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทันยุคสมัย"

สอดรับกับ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ที่เห็นด้วยว่า มีแผนที่จะสร้างสนามที่สามารถรองรับผู้ชมได้ถึง 1 แสนที่นั่ง ขึ้นมาใหม่ พร้อมชูจุดแข็งของประเทศไทย ในเรื่องของการคมนาคม สิ่งอำนวยความสะดวก ที่พัก และสถานที่ท่องเที่ยว แผนสร้างสนามกีฬา จุ 1 แสนคนนี้ นายกสมาคมฟุตบอลคนปัจจุบัน ผลักดันมาหลายรัฐมนตรี ทั้งสมัย นายวีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ นั่ง รมว.ท่องเที่ยวฯ ก็เคยเข้าไปพบมาแล้ว หลังกลับจากฟุตบอลโลก ที่รัสเซียใหม่ๆ

ปีที่แล้ว รมว.กีฬาท่านนี้ มีแนวคิดที่จะเสนอรัฐบาล สร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ เพื่อดันให้ไทยเป็น Sport Hub ของภูมิภาคในอนาคต หลังจากที่ไปดูจัดงาน Asian Games ครั้งล่าสุดที่ อินโดนีเซีย

"สนามกีฬาแห่งใหม่จะต้องก่อสร้างตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพ Asian Games หรือรวมไปถึงการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน Olympics ตามแผนที่วางไว้ในอีก 8-20 ปีข้างหน้า"

ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้ร่างไว้ และต่อมาก็ล้มไป !!

ย้อนกลับไปดูแผน ปี 2557 ของ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในยุคนั้น ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ช่วงที่"พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา" ยังเป็น ประธานกรรมการ ก่อนจะโอนถ่ายมาเป็น "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ"

มีนโยบายแผนงานที่หารือกับ “กรมธนารักษ์”เพื่อขอใช้ที่ดินราชพัสดุ บริเวณสถานีเครื่องรับวิทยุการบินบางปิ้ง อ.เมืองฯ จ.สมุทรปราการ ประมาณ 1,400 ไร่ สร้าง สนามกีฬาแห่งชาติแห่งใหม่ และเป็นที่ตั้ง กรมพลศึกษาแห่งใหม่

โอลิมปิกไทย กับกระทรวงท่องเที่ยวฯ เห็นว่า อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ 15-20 นาที อีกทั้งในอนาคต ยังมีรถไฟฟ้าบีทีเอสและแผนการขนส่งอื่นๆ รองรับอีกด้วย

มีการคาดการณ์ว่าจะ ใช้งบราว 1 หมื่นล้านบาท และใช้เวลาก่อสร้าง ประมาณ 2-3 ปี โดยจะประกอบด้วยสนามกีฬาแห่งชาติ หรือ“เมน สเตเดียม”ที่รองรับความจุ 8 หมื่น -1 แสนคน รวมถึง“อควอติก เซ็นเตอร์” สำหรับรองรับกีฬาทางน้ำ, สนามซ้อม, สนามอินดอร์สำหรับกีฬาอื่นๆ และหมู่บ้านนักกีฬา

ล่าสุดโครงการนี้ ล้มไปแล้ว !!

หากย้อนกลับไปเมื่อก่อน รัฐมีนโยบายสร้างสนามกีฬากระจายไปทั่วภูมิภาค เป็นสิบๆสนาม ด้วยงบประมาณมหาศาล แต่สร้างเท่าไร ก็ไม่เพียงพอ และ ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เองก็ไม่สามารถดูแลรักษาสนามกีฬาให้อยู่ในสภาพที่ดีได้.




กำลังโหลดความคิดเห็น