ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผลพวงจากกระแสเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้ “3 สารเคมีการเกษตร” คือ พาราควอต ไกลโฟเซตและคลอร์ไพริฟอส ในที่สุดที่ประชุม “คณะทำงานเพื่อพิจารณาความเห็นของส่วนรัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค” นำโดย “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีมติ 9 ต่อ 0 ให้แบน 3 สารชนิดไปเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา
หลังจากนี้ มติของคณะทำงานฯ จะถูกนำเสนอไปที่ “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” เพื่อ พิจารณาให้สารทั้ง 3 ชนิดซึ่งอยู่ในบัญชีประเภทที่ 3 ไปเป็นบัญชีประเภทที่4 ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.62 โดยจะเป็นผลให้ห้ามครอบครอง ห้ามจำหน่าย ห้ามนำเข้าและห้ามผลิต
ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้ว “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” จะมีมติออกมาอย่างไร
ขณะที่ “ท่าที” ของ “เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะนอกจากจะเลิก “แทงกั๊ก” ประกาศสนับสนุนการแบนสารทั้ง 3 ชนิด(เสียที) แล้ว ยังแก้เกมเรียกคะแนนเสียงด้วยการเดินหน้าส่งเสริมการทำ “เกษตรอินทรีย์”
“เสี่ยต่อ” ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2562 ว่า ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานในสังกัดเร่งขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเร่งด่วน 3 เรื่องให้เร็วขึ้น เพื่อรองรับการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด ได้แก่
1.เร่งส่งเสริมการใช้สารชีวภาพชีวภัณฑ์ทดแทน 3 สาร ซึ่งก่อนหน้านี้ได้สั่งการให้กระทรวงรวบรวมมาให้ได้มากที่สุดโดยให้ศูนย์วิจัยข้าวพืชไร่พืชสวนใช้ทดสอบในแปลงทดลองทุกภาคทั่วประเทศ
2.เสนอร่างพ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน ฉบับที่ พ.ศ....ต่อสภาผู้แทนฯ โดยเร็ว ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนออยู่ในชั้นกฤษฎีกาแล้ว จากนั้นจะเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเข้าสภาผู้แทนฯ ต่อไป ปัจจุบันมีพื้นที่เกษตรยั่งยืนกว่า 3 ล้านไร่ และจะให้ขยายเป็น 5 ล้านไร่ในเฟสที่หนึ่งโดยเร็ว และ3.ยกระดับการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ สามารถขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ได้ถึง 570,000 ไร่ ที่ผ่านการรับรองออแกร์นิก มีอัตราเติบโตร้อยละ 16 ต่อปี เป็นอันดับ 7 ของเอเชีย โดยให้วางเป้าหมายว่าต้องเติบโตขยายตัวร้อยละ 25 ต่อปี เพื่อบรรลุเป้าหมายแรก 1 ล้านไร่ โดยกำลังพิจารณาจัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์แห่งชาติเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์แบบบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน
กระนั้นก็ดี แม้ทิศทางมีแนวโน้มที่จะจบแบบ “สวยๆ” แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะ “ผ่านฉลุย” เพราะต้องยอมรับว่า “ฝ่ายสนับสนุน 3 สารเคมีเกษตร” ก็มี “พละกำลัง” อันไม่ธรรมดา
แน่นอน พวกเขาคงไม่เคลื่อนไหวแบบโฉ่งฉ่าง หากแต่น่าจะทำผ่าน “สงครามตัวแทน” ที่ฝังรากลึกในแวดวงเกษตรกรรมประเทศไทยมาช้านาน โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวผ่าน 3 สมาคมที่พวกเขาให้การสนับสนุน
นั่นก็คือ สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร สมาคมอารักขาพืชไทยและสมาคมนวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ลงลึกก็จะเห็นได้ว่า ล้วนแล้วแต่มีสมาชิกเป็นบริษัทค้าสารเคมีการเกษตรทั้งสิ้น
หากยังจำกันได้ เมื่อครั้งที่ “น.ส.มนัญญา” นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาความเห็นของส่วนรัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค ต่อการยกเลิกคลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต และมีมติ 9 ต่อ 0 ให้แบน 3 สารเคมี น.ส.เสาวลักษณ์ พรกุลวัฒน์ ซึ่งเป็นนายกสมาคมอารักขาพืชไทย ไม่ได้เข้าประชุม
นี่ไม่นับรวมถึงบรรดา “นักวิชาการ-อดีตข้าราชการกระทรวงเกษตรและเครือข่ายเกษตรกรในสังกัด” ที่พร้อมจะดาหน้าออกมาสาธยายถึงคุณประโยชน์ของ “สารเคมีทางการเกษตร” ด้วยประโยคเดิมๆ “สารเคมี ไม่ได้เลวร้ายไปทุกอย่าง ถ้าเราเรียนรู้การใช้อย่างถูกวิธี และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด”
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณี “สมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย” พร้อมด้วยเกษตรกรราว 50 คนที่ยกพลไปคัดค้านการยกเลิกใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดที่หน้ากระทรวงเกษตรฯ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2562ที่ผ่านมา
สมาพันธ์ฯ ยื่นคำขาดเพื่อขอเข้าพบ “เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย” ภายใน 15 วันและหากไม่ได้พบก็จะเดินหน้ายื่นฟ้องศาลปกครองต่อไป
ทั้งนี้ ถ้าหากย้อนหลังเกี่ยวกับบทบาทและความเคลื่อนไหวของ สมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย ก็จะไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะเป็นสมาพันธ์ฯที่สนับสนุนการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ ได้เดินทางไปที่กระทรวงพาณิชย์เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อ “นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ว่า ต้องการใช้ “พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส” ต่อ จากนั้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมาก็เคลื่อนขบวนไปหา “เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย” ที่กระทรวงเกษตรฯ
“ปัจจุบันมีองค์กรออกมาเสนอให้ใช้สารทดแทนโดยไม่เคยลงมือทำ เกษตรกรไม่ใช่หนูทดลองที่ภาครัฐ NGO หรือผู้ขายจะเข้ามาสั่งให้ซ้ายหันขวาหันแล้วเกษตรกรต้องทำตาม เกษตรกรขอเป็นคนเลือกเองว่าจะใช้อะไร สารตัวไหน มีอะไรมาทดแทนได้จริงหรือไม่ ปลอดภัยจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรกลุ่มปาล์มน้ำมัน ขอให้กำลังใจท่านนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการวัตถุอันตราย และข้าราชการทุกคน ในการยืนยันมติจำกัดการใช้ 3 สารเคมี พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส รวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรเพาะปลูกตามมาตรฐาน GAP ใช้สารเคมีได้อย่างถูกต้องตามข้อปฏิบัติกรมวิชาการเกษตร ซึ่งถือเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด” นายมนัส กล่าว
นายมนัสบอกด้วยว่า สิ่งที่เกษตรกรสงสัยที่สุด ตอนนี้ คือ ความพยายามแบนพาราควอต อย่างรุนแรง และไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ควบคู่ไปกับ ความพยายาม ผลักดันสารเคมีทดแทนตัวใหม่ ที่ราคาแพงกว่าหลายเท่า แถมสารที่แนะนำเอ็นจีโอที่อังกฤษ บอกว่าก่อมะเร็งและทำลายระบบประสาท สามารถตกค้างในสิ่งแวดล้อม ซึ่งสารทดแทนที่แนะนำนี้ ขายในไทยมานานแล้ว แต่เกษตรกรไม่ใช้เหตุเพราะแพงและอันตรายกว่า งานนี้ อาจมีเบื้องหลังจากกลุ่มทุนรายใหญ่ร่วมแบน หากพาราควอตยังอยู่ตัวนี้ก็ขายไม่ได้ ท้ายสุดเกษตรกรก็รับเคราะห์เหมือนเดิม
อีกกลุ่มสนับสนุนที่น่าสนใจก็คือ เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ที่นำโดย นางอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ซึ่งเดินทางไปพร้อมกับสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทยเพื่อขอเข้าพบ “เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย” โดยทั้ง 2 กลุ่มเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันทางอย่างต่อเนื่อง
นางอัญชุลี บอกว่าการลงมติดังกล่าว ไม่ได้เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย พร้อมยืนยันว่า ผลการตรวจสอบไม่มีพาราควอต และ ไกลไฟเซต ที่เป็นยาฆ่าหญ้า ตกค้างในผัก โดยเหตุผลที่ต้องการใช้สารเคมี เนื่องจากเห็นว่า เป็นต้นทุนที่ประหยัด หากเปรียบกับการใช้สารเคมีตัวอื่น ปัจจุบัน ญี่ปุ่น สหรัฐ มาเลเซีย ไม่ได้แบนสารพาราควอต แล้ว โดยในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ จะยื่นศาลปกครอง ฟ้องกระทรวงสาธารณสุข ถอดถอนมติคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้สารเคมีที่มีความเสี่ยงสูง ป้องกันการจำกัดศัตรูพืช
หลังจบภารกิจที่กระทรวงเกษตรฯ นางอัญชุลีก็เคลื่อนขบวนต่อไปที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอเข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. และ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. โดยขอชี้แจงกรณีการที่โรงพยาบาลและหน่วยงานในสังกัด สธ.ขึ้นป้ายคัดค้านการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต และข้อมูลการป่วยตายจากสารเคมี เพราะเหมือนเป็นการกล่าวหาเกษตรกรเหมือนเป็นผู้ร้ายฆ่าคนตาย ซึ่งที่ผ่านมาเคยขอเข้าพบ แต่ไม่เคยได้พบ แต่กลับให้โอกาสเอ็นจีโอ ถือเป็นการฟังความข้างเดียวหรือไม่
น.ส.อัญชุลี กล่าวว่า การที่ สธ.ออกมาบอกว่า มีผู้ป่วยจากสารเคมี 3 ชนิด 1.4 หมื่นคน และเสียชีวิต 600 คน ขอให้เอาหลักฐานมายืนยันว่า มีการเก็บข้อมูลอย่างไร เกิดจากการใช้สารเคมีตัวไหน ใช้ถูกวิธีหรือไม่ เพราะถ้าเสียชีวิตจากการกินเข้าไปโดยตรง ถือเป็นการใช้ผิดวิธี เพราะสารเคมีเหล่านี้เอาไว้ฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง และขอให้เปิดเผยข้อมูลวิธีการตรวจผักผลไม้ที่บอกว่า มีการปนเปื้อนสารเคมี ว่ามีวิธีการตรวจสอบอย่างไร เก็บข้อมูลจากไหน ว่าตรวจเจอจริง เพราะไม่ว่าที่ จ.น่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านก็บอกว่าไม่พบ หรือโครงการหลวงก็ตรวจไม่พบ หรือว่าเป็นการรับข้อมูลมาจากกลุ่มเอ็นจีโออย่างเดียว
“เราไม่เชื่อข้อมูลของ สธ. เพราะไม่เคยเอาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาให้เราดูเลย ขณะที่เราผ่านการตรวจจากกรมวิชาการเกษตรที่มีการจดชื่อ ที่อยู่ บ้านเลขที่ ผลผลิต เก็บวันไหน ปริมาณเท่าไร ถ่ายรูปชัดเจน เมื่อส่งเข้าห้องปฏิบัติการ หรือห้องแล็บ ทั้ง AMARC และเซ็นทรัลแล็บ ก็มีผลตรวจชัดเจนว่า พบสารอะไรในพืชผักหรือไม่ แต่เราถามมาที่เอ็นจีโอ หรือ สธ.กลับไม่มีมาให้เราเห็นเลย คนที่กล่าวหาเพื่อนำมาสู่การแบนสารเคมีไม่เคยมีหลักฐานอะไรมาให้เราเห็นเลย” น.ส.อัญชุลี กล่าวและว่า วันที่ 22 ต.ค.นี้ จะมีการฟ้องต่อศาลปกครอง โดยเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลองจะเป็นโจทก์ฟ้อง สธ. ใน 3 ส่วนคือ 1.รมว.สธ. 2.รมว.สธ.และปลัด สธ. และ 3.คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่นำมาสู่การแบนสารเคมี 3 ตัว
งานนี้ถึงกับทำให้ 2 รมต.เกษตรฯ ถึงขั้นต้อง “ล้มหมอนนอนเสื่อ” กันเลยทีเดียว
...บอกแล้วไง สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร
นอกจากนี้ ดูเหมือนว่า ประเด็นที่น่าสนใจและเป็นประเด็นใหม่ที่ถูกหยิบยกมาก็คือเรื่อง “สารทดแทน” ที่ถูกตั้งคำถามว่า “เอื้อทุนใหม่” หรือไม่อย่างไร ดังที่สมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย หยิบยกขึ้นมากล่าวอ้าง และกลายเป็น “เกม” ที่สั่นสะเทือนอยู่ไม่น้อย
กระทั่ง “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” ต้องออกมายืนยันว่า “ผมไม่รู้ พอดีพรรคภูมิใจไทยไม่ต้องใช้นายทุน ไม่มีนายทุน คนไหนมีอิทธิพล” พร้อมยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขจะให้คนป่วยจากสารพิษไม่ได้ หากมีสารอะไรที่ให้ประชาชนป่วยเข้ามาอีกเราให้มีไม่ได้ สารพวกนี้ต้องผ่านองค์การอาหารและยา (อย.) และตนจะตัดตั้งแต่ต้นตอไม่ให้เกิด เป็นอะไรที่ไม่มีผลเสียต่อร่างกาย
เช่นเดียวกับ นางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สารทดแทน 3 สารพิษ ขณะนี้ยังไม่มี แต่มีเป็นสารตัวเดิมที่มีใช้และจำหน่ายในเมืองไทยอยู่แล้ว ซึ่งค่าความเป็นพิษและอันตรายน้อยกว่า และมีหลายแนวทางที่เป็นทางเลือก ทั้งใช้แนวทางเก่าๆโดยการใช้สารดั้งเดิม ที่ไม่อันตรายเท่า 3 สาร หรือใช้แนวทางเกษตรปลอดภัยหรือเกษตรอินทรีย์ อย่างไรก็ตาม เรื่องแบนสารพิษไม่มีเบื้องหลัง ไม่มีนักการเมือง หรือไม่เป็นมาตรการเปลี่ยนผู้ค้า รายใหม่แน่นอน การนำเข้าสารแต่ละครั้งต้องผ่านขั้นตอนตรวจสอบหลายขั้นตอนกว่าจะผ่านเข้ามา
แล้วก็ไม่ใช่แค่ “เอื้อทุนใหม่” เท่านั้น เพราะหากยังปักธงใช้สารเคมี สถานการณ์ก็จะกลับกลายเป็น “เตะหมูเข้าปากหมา” เนื่องจาก “ทุนเก่า” หรือบรรดาบริษัทสารเคมีทางการเกษตรก็จะสามารถ “นำเข้า” ผลิตภัณฑ์เคมีอื่นๆ มาได้เหมือนเดิมตราบใดที่แผนยุทธศาสตร์ชาติยังไม่ได้ปักธง “เกษตรอินทรีย์” อย่างจริงๆ จังๆ
ขณะที่การเดินหน้าผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน” ของ “เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย” ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนับแต่มีการเดินเครื่องเรื่องนี้มานานกว่า 10 ปี ก็เผชิญอุปสรรคขวากหนามหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดค้านจากกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีเกษตร
ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ คือ แม้กระทั่งในยุคที่กระทรวงเกษตรฯ มีรัฐมนตรีช่วยฯ ชื่อ “อาจารย์ยักษ์-นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร” โดยหยิบยกและผลักดันอย่างเต็มตัวร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติและเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน-เกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศ แต่ก็ไปได้ไกลแค่เพียงคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และผ่านไปสู่ชั้นกฤษฎีกาเท่านั้น
นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่องและเชื่อว่า สังคมอาจจะยังไม่ทราบก็คือ สารเคมีการเกษตรที่จำหน่ายในท้องตลาดนับร้อยยี่ห้อในช่วง 40 ปีที่ผ่านมานั้น “ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า” ด้วยข้ออ้างคือทำให้มี “ราคาถูก” และทำให้ “ต้นทุนของเกษตรกรถูกลง”
เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมประเทศไทยถึงอุดมไปด้วยสารเคมีการเกษตร และทำไมการทำ “เกษตรอินทรีย์” ถึงไม่เดินหน้าไปไหนเสียที
จาก เอกสารประกอบการพิจารณา ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ซึ่งก่อให้เกิดสารพิษตกค้างเป็นอันตรายแก่เกษตรกรและผู้บริโภค ได้รวบรวมข้อมูลจาก กรมวิชาการเกษตร, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่าตั้งแต่ปี 2551-2561 ประเทศไทยนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร (สารกำจัดวัชพืช, สารกำจัดแมลง และสารป้องกันและกำจัดโรคพืช) ดังนี้ :- ปี 2551 นำเข้า 109,908 ตัน มูลค่า 19,182 ล้านบาท | ปี 2552 นำเข้า 137,594 ตัน มูลค่า 16,816 ล้านบาท | ปี 2553 นำเข้า 117,698 ตัน มูลค่า 17,924 ล้านบาท | ปี 2554 นำเข้า 164,383 ตัน มูลค่า 22,044 ล้านบาท | ปี 2555 นำเข้า 134,377 ตัน มูลค่า 19,357 ล้านบาท | ปี 2556 นำเข้า 172,826 ตัน มูลค่า 24,416 ล้านบาท | ปี 2557 นำเข้า 147,375 ตัน มูลค่า 22,812 ล้านบาท | ปี 2558 นำเข้า 149,546 ตัน มูลค่า 19,326 ล้านบาท | ปี 2559 นำเข้า 160,824 ตัน มูลค่า 20,618 ล้านบาท | ปี 2560 นำเข้า 198,317 ตัน มูลค่า 27,922 ล้านบาท | ปี 2561 นำเข้า 170,932 ตัน มูลค่า 36,298 ล้านบาท | รวมปริมาณนำเข้า 11 ปี (2551-2561) จำนวน 1,663,780 ตัน มูลค่ารวม 246,715 ล้านบาท
แนวโน้มปริมาณและมูลค่าการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรของไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพิจารณาสัดส่วนการนำเข้าปี 2561 พบว่า “สารกำจัดวัชพืช” มีสัดส่วนสูงสุดประมาณ 3 ใน 4 หรือประมาณร้อยละ 73 รองลงมาคือ “สารป้องกันและกำจัดโรคพืช” คิดเป็นร้อยละ 12 ตามมาด้วย “สารกำจัดแมลง” คิดเป็นร้อยละ 11 และสารอื่นๆ อีกร้อยละ 4
นอกจากนี้ ในเอกสารประกอบการพิจารณาญัตติด่วนฯ ยังระบุว่าเนื่องจากประเทศไทยยังไม่สามารถที่จะผลิตสารออกฤทธิ์ได้ ส่วนใหญ่จึงเป็นการนำเข้ามาเพื่อบรรจุขายภายในประเทศหรือมีการผสมสารอื่นๆ แล้วจึงบรรจุขาย จากข้อมูลการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการ ปี 2542-2561 พบว่าประเทศผู้ผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ประเทศไทยนำเข้ามากที่สุด คือ ประเทศจีน และเมื่อพิจารณาเฉพาะปี 2561 พบว่าจีนเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วย อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และเยอรมนี
สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหามีความสลับซับซ้อนและไม่ใช่เรื่องที่บริหารจัดการได้ง่ายๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการยุทธศาสตร์จับ “เกษตรกรเป็นตัวประกัน” ด้วยการอ้างผลกระทบต่อเกษตรกร เพื่อรักษาผลประโยชน์และผลกำไร โดยไม่ใส่ใจแยแสกับสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค
ดังนั้น รัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ต้องปักหมุดหมายในการทำงานเสียใหม่ โดยสนับสนุนให้เกษตรกร ประมาณ 6% ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมดให้สามารถปรับตัวไปสู่การปลูกพืชที่ไม่ต้องพึ่งพา 3 สารพิษร้ายแรง โดยปรับตัวไปใช้วิธีกล เครื่องจักรกลการเกษตร การปลูกพืชคลุมดิน และการปลูกพืชแบบผสมผสาน วิธีชีวภาพอื่นๆหรือในกรณีจำเป็นก็อาจไปใช้สารทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า
ทั้งนี้ วิธีการที่ดีที่สุดคือการเก็บภาษีสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเคยเก็บสูงถึง 30% ของมูลค่าการนำเข้า และปรับลดมาเป็นลำดับเหลือ 10% และเหลือ 0 ตั้งแต่ปี 2534-2535 เป็นต้นมา ไม่นับภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% ซึ่งยกเว้นให้กับบริษัทค้าสารพิษเหล่านี้ แล้วนำภาษีดังกล่าวมาสนับสนุนเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนไปสู่เกษตรกรรมที่ปลอดภัย
ก็ได้แต่หวังว่า “เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย” ที่พลิกเกมจากตั้งรับมาเดินหน้า “เชิงรุก” แบบเฉียดฉิวชนิดเกือบทำ “พรรคประชาธิปัตย์ตายยกรัง” ด้วยการประกาศสนับสนุนและขยายการทำเกษตรอินทรีย์จะตั้งมั่นในแนวทางใหม่อย่างตรงไปตรงมา อย่าเตะหมูเข้าปากหมา เพื่อมิให้เสียชื่อคำโฆษณาของตัวเองที่ติดแฮชแท็กเอาไว้ว่า “# รัฐมนตรีลูกเกษตรกรใช้ใจเเก้ปัญหา”
เช่นเดียวกับ “ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่จะต้องตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวให้มาก ไม่ใช่แค่พูดว่า “ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน”