xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ย้อนรอย “สุสานช้างป่า” โศกนาฏกรรม 11 ชีวิตสังเวยเหวนรก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

แผนผังเหนือน้ำตกเหวนรก เส้นปะสีดำ แสดงเส้นทางชีวิตช้างป่าสู่หุบเหว เส้นปะสีเหลือง แสดงเส้นทางเดินปลอดภัยของช้างป่า ถูกทับเส้นทางโดยสิ่งปลูกสร้างต่างๆ อาทิ ร้านค้า จุดบริการนักท่องเที่ยว ที่ทำการอุทยานฯ (ขอบคุณภาพจาก เข็มทอง โมราษฎร์ : เฟซบุ๊ก จืด เข็มทอง)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - วิบากกรรมสัตว์ป่าเมืองไทยดำเนินไปอย่างไม่มีวี่แววว่าจะยุติลง เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่สะเทือนแวดวงอนุรักษ์ตั้งแต่กรณีพะยูนเกยตื้นตายต่อเนื่องกว่า 17 ตัว พรานป่านอกคอกล่านกชนหินในพื้นที่ภาคใต้ ฯลฯ กระทั่ง เกิดเหตุอันน่าเศร้าสลด กรณีโขลงช้างป่าพลัดตกลงไปในน้ำตกเหวนรก ก่อนพบซาก 11 ตัว กระจัดกระจายในร่องลำธารชั้นต่างๆ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2562

“สุสานช้างป่า” น้ำตกเหวนรก ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทางด้านอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ในบริเวณ กม.ที่ 24 บนทางหลวงหมายเลข 3077 นับเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สุดและสูงที่สุดของอุทยานฯ แห่งนี้

ลักษณะเป็นน้ำตกที่มีหน้าผาสูงชัน จำนวน 5 ชั้น รวมความสูงของน้ำตกประมาณ 150 เมตร ลึกประมาณ 200 เมตร สายน้ำที่ไหลกระทบสู่หุบเหวเบื้องล่าง ในช่วงฤดูฝนน้ำไหลเชี่ยวแรงและอันตรายมาก ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดเหตุร้ายกับช้างป่าอย่างมาก ตลอดลำน้ำมีโขดหินตลอดแนว

ใต้หุบเขาน้ำตกเหวนรกเปรียบดัง “สุสานช้างป่า” ชะตาพลิกผันกำหนดเส้นทางชีวิตให้ช้างป่าจำนวนมากให้มาสิ้นสุด ณ สถานที่แห่งนี้ ย้อนกลับไปช่วงปี 2529 มีนักท่องเที่ยวพบศพช้าง 1 ตัว นอนตายอยู่ที่น้ำตกเหวนรก หลังแจ้งเจ้าหน้าที่ฯ รุดเข้าที่เกิดเหตุทันที โดยพบซากช้างพลายนอนแน่นิ่งติดโขดหินแช่อยู่ในน้ำ ระหว่างชั้น 1 กับชั้นที่ 2 สภาพน่าจะจมน้ำตายมา 4 - 5 วัน คาดว่าตกมาจากด้านบนของน้ำตกซึ่งมีความสูงประมาณกว่า 60 เมตร กระทบกับผาหินหรือด้วยแรงกดของกระแสน้ำ เป็นเหตุทำให้บาดเจ็บช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และจมน้ำตายในที่สุด เพราะตามลำตัวไม่พบบาดแผลที่แสดงว่าถูกทำร้ายหรือถูกล่า

เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญช้างป่า สันนิษฐานว่าช้างพลายตัวนี้อยู่ในโขลงช้างที่มาหากินอยู่ในละแวกนั้น ระหว่างเดินลงมาลำคลองอาจถูกช้างอีกตัวชนทำให้เสียหลักตกลงไปในลำคลองที่กระแสน้ำแรง ก่อนพัดพาช้างเคราะห์ร้ายลอยไปตกยังน้ำตกเหวนรก

ปี 2530 เกิดเหตุช้างป่าตกเหวตายอีก 4 ตัว ทั้งหมดพยายามที่จะกระเสือกกระสนต่อสู้กับแรงกระแสน้ำหนีตาย ทั้งๆ ที่บาดเจ็บขาหัก ต่อสู้ดิ้นรนอยู่ 2 วัน โดยที่ไม่มีผู้ใดสามารถเข้าช่วยเหลือได้เนื่องจากไม่มีเครื่องมือดำเนินการ ท้ายที่สุดถูกกระแสน้ำเชี่ยวกรากพรากชีวิตไปอย่างน่าสลดใจ

ปี 2531 ช้างป่าตกเหวตายอีก 2 ตัว โดยตกมาจากตอนบนของน้ำตกชั้นที่ 1 สูงกว่า 50 เมตร ประกอบกับกระแสน้ำแรงพัดพาเอาซากช้างป่าจมหาย ก่อนสายน้ำก่อนพาร่างตกลงไปถึงน้ำตกชั้นที่ 3 ลึกลงไปกว่า 200 เมตร โดยที่ไม่มีใครสามารถลงช่วยได้
แผนที่ทางอากาศลำคลองเหนือน้ำตกเหวนรก ฤดูฝนเชี่ยวกรากสายน้ำพัดพาสู่หุบเหวสุสานช้างป่า
ปี 2535 เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ โขลงช้างป่า 8 ตัว ถูกกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากพัดตกเหวนรกตายยกครัว ขณะพากันเดินข้ามธารน้ำเหนือน้ำตกเหวนรก เป็นเหตุเศร้าสลดสร้างความสะเทือนใจอย่างมาก ซึ่งสาเหตุเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าเกิดจากฝนที่ตกหนักติดต่อกันหลายวัน กระทั่ง เกิดน้ำป่าไหลหลากจากทุ่งงูเหลือม ลงสู่คลองเหนือน้ำตกเหวนรก จากนั้นกระแสน้ำพัดพาครอบครัวช้างป่าที่กำลังข้ามลำน้ำลอยไปตกเหว

ต่อมา อุทยานฯ เขาใหญ่ ได้สร้าง “เพนียด” แท่งคอนกรีตเป็นแนวกั้นช้างห่างจากหน้าผาประมาณ 100 เมตรเพื่อป้องกันช้างป่าตกหน้าผา ผ่านไป 27 ปี นับตั้งแต่ปี 2535 ไม่มีช้างป่าตกเหวอีกเลย

กระทั่ง ปี 2562 เกิดโศกนาฏกรรมสะเทือนหัวใจคนไทยทั้งประเทศอีกครั้งเมื่อช้างป่าพลัดตกเหวตายพร้อมกันถึง 11 ตัว นับเป็นเหตุสูญเสียช้างป่าที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย โดยพบว่าโขลงช้างฝูงนี้มีทั้งหมด 13 ตัว ตายไป 11 ตัว เหลือรอดช้างแม่ลูก 2 ตัว คืนสู่โขลงเครือญาติตามธรรมชาติของช้างป่า

ความสูญเสียช้างป่าครั้งใหญ่ในรอบ 27 ปี สะท้อนปัญหาเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง เป็นเหตุสุดวิสัยไม่มีผู้ใดอยากให้เกิดขึ้น นายเข็มทอง โมราษฎร์ นักอนุรักษ์ธรรมชาติซึ่งเป็นหนึ่งพลังในการผู้เคยเรียกร้องแนวทางคุ้มครองช้างป่าหลังโศกนาฏกรรมปี 2535 โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “จืด เข็มทอง” ถึงเหตุการณ์ซ้ำรอยสุดสะเทือนใจ วิเคราะห์ความสูญเสียช้างป่า 11 ตัว รวมถึงข้อเสนอแนะไปยังผู้มีอำนาจ ความว่า

“เรียน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เรื่องขอให้ รื้อ ย้าย จุดบริการนักท่องเที่ยวน้ำตกเหวนรก

ตามที่ช้าง 11 ตัวตกน้ำตกเหวนรกเสียชีวิต รอดชีวิต 2 ตัว สร้างความเศร้าเสียใจแก่ประเทศเราเป็นอย่างมาก

ตั้งแต่ปี 2535 ช้างตกเหวนรก ตายทั้งหมด 8 ตัว ได้มีข้อเสนอให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้มีมาตรการร่วมกันกับภาคประชาชนแก้ไขได้แล้วในระดับหนึ่ง เป็นเวลา 27 - 28 ปี ที่ช้างไม่เคยตกเหวนรกเลย

สาเหตุที่ช้างตกน้ำตกเหวนรกครั้งนี้

ประเด็นที่ 1 น่าจะเกิดจากความบกพร่องเจ้าหน้าที่ หละหลวม ประมาท ไม่มีเวรยามป้องกันช้างตกเหวนรก เหมือนที่ผ่านมา

ตามปกติ ระหว่างเดือน สิงหาคม ต้นฝน ไปจนถึง พฤศจิกายน ต้นหนาว ช้างจะใช้เส้นทางนี้อพยพ เดินหากิน ตั้งแต่ปี 2535 เคยมีเจ้าหน้าที่เวรยาม ตั้งจุดสกัดที่ศาลาช้างน้อย เวลาช้างจะข้าม เจ้าหน้าที่จะจุดไฟไล่ ทำเสียงดังให้ช้างเบี่ยงทางเดิน นี่เป็นการทำงานเฝ้าระวังตรงจุดอันตราย ที่ได้ผลจริง แต่เมื่อเวลาผ่านมาไม่มีเหตุการณ์ช้างตกเหว จนเกิดการประมาท การเฝ้าระวังต่ำ ช้างจึงตกเหวนรก

ประเด็นที่ 2 เกิดจาก จุดบริการนักท่องเที่ยวน้ำตกเหวนรก ทับเส้นทางเดินตั้งแต่บรรพบุรุษของช้าง ใช้ทำมาหากิน จึงควรรื้อ 1.ร้านอาหาร 2.ลานจอดรถ 3.ห้องน้ำ 4.ศาลาพักนักท่องเที่ยว ทั้ง2หลัง 5.ศาลานิทรรศการ 6.ร้านขายของที่ระลึก รวมไปถึง 6.หน่วยพิทักษ์ป่าเขาใหญ่ น้ำตกเหวนรก

ทั้งหมดในประเด็นที่ 2 เป็นฆาตกรที่ฆ่าช้างทุกตัวที่ตกเหวนรก
ตามแผนที่ทางอากาศ (ดูภาพประกอบ) จะเห็นว่า ช้างเกรงใจมนุษย์ไม่เดินในจุดที่ปลอดภัย ที่ห่างจาก จากระยะคอขวดน้ำตกเหวนรก เพราะมีสิ่งปลูกสร้างขวางกั้น

ทั้งหมดควรรื้อออกมาให้หมด นักท่องเที่ยว จอดรถฝั่งเขาสมอปูน กิน ช้อป เข้าห้องน้ำ บริเวณนี้ แล้วค่อยเดินข้ามถนนไกลกว่าเดิม แค่ 50 เมตร เพื่อคืนทางเดินที่ปลอดภัย ให้ลูกช้าง

ในเบื้องต้น ต้องขอรบกวนท่านรัฐมนตรี จัดการ ข้อเท็จจริงทั้ง 2 นี้ก่อน

ส่วนวิธีการแก้ปัญหาในระยะยาว มีพี่น้องประชาชน ที่รักช้าง รักธรรมชาติ พร้อมจะระดมความคิดแก้ปัญหานี้ร่วมกัน

ช้างตัวใหญ่ ไม่ตกเหวนรกตาย ถ้าไม่ใช่ลูกช้างน้อยตกเหวนรกลงไปก่อน แม่ช้าง พ่อช้าง พี่ช้าง ล้วนรักและปกป้องลูกช้างด้วยชีวิตแล้ว พวกเราควรปกป้องลูกช้างน้อย ให้รอดพ้น จากการตกเหวนรกให้ได้

จึงเรียนมายังท่านรัฐมนตรี โปรดใส่ใจเรื่องนี้ จงคิดว่า ลูกช้างก็คือลูกเล็กเด็กแดงของคนไทยทุกคน ที่ต้องได้รับการคุ้มครอง

เรียนท่านรัฐมนตรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยความเคารพ

เรียนพี่ๆ เพื่อนๆ โปรดเรียกร้องให้มีการรื้อจุดบริการนักท่องเที่ยวร่วมกัน”

สถานการณ์ปัญหาสัตว์ป่าเป็นอีกโจทย์ใหญ่ของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งหลังเกิดเหตุช้างป่าตกเหวตาย 11 ตัว ได้สั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สร้างเพนียดกันช้างตกเหวให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเพนียดเก่าสร้างไว้ตั้งแต่ 2535 อาจผุพังไม่แข็งแรงพอ ไม่สามารถกันช้างจึงเดินผ่านเข้าไปในบริเวณอันตราย รวมทั้ง เร่งออกมาตรการป้องกันมิให้เกิดเหตุสลดขึ้นอีกในภายภาคหน้า

นายวิชัย พรลีแสงสุวรรณ์ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 กล่าวถึงส่วนการป้องกันในระยะสั้นจะมีการซ่อมแซมเพนียดที่ชำรุด ส่วนระยะยาวทาง มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี จะติดตั้งเซนเซอร์ เพื่อแจ้งเตือนมายังเจ้าหน้าที่เมื่อช้างเดินเข้ามาใกล้แนวเพนียด และตั้งจุดสกัดโดยมีเจ้าหน้าที่สแตนบาย 24 ชั่วโมง รวมถึงคอยดูแลช้างที่จะเข้ามาใกล้เพนียด ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นเส้นทางอันตรายมีกระแสน้ำเชี่ยวที่จะพัดตกลงไปในหุบเหว
ช้างป่า 11 ตัว พลัดตกลงไปในน้ำตกเหวนรก พบซากช้างป่าติดอยู่กับโขดหินในน้ำตกเหวนรก ไล่ตั้งแต่ชั้น 2 ไป จนถึงชั้น 5 (ภาพจาก กรมอุทยานฯ)
2 ช้างป่าแม่ลูกรอดชีวิตราวปาฏิหาริย์
ภาพมุมสูงน้ำตกเหวนรก มีหน้าผาสูงชันแบ่งเป็น 5 ชั้น ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 5 (ภาพจาก กรมอุทยานฯ)
อย่างไรก็ตาม การสูญเสียช้างป่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 11 ตัว ในเขตอุทยานฯ เขาใหญ่ จะไม่กระทบต่อระบบนิเวศของช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งมีอยู่มากกว่า 300 ตัว เพราะช้างป่ามีอัตราการผสมพันธุ์และเกิดขึ้นค่อนข้างสูง

สำหรับการวางแนวทางกู้ซากช้างบริเวณน้ำตกเหวนรก พื้นที่บริเวณน้ำตกเหวนรกเป็นหน้าผาสูงกว่า 210 เมตร มีกระแสน้ำไหลเชี่ยวตลอดเวลา ไม่สามารถใช้วิธีการส่งเจ้าหน้าที่โรยตัวสำรวจได้ ดังนั้น “โดรน” จึงเป็นอุปกรณ์เดียวที่สามารถบินลงไปสำรวจได้ ซึ่งภาพมุมสูงเห็นซากช้างป่า 11 ตัว กระจายอยู่บริเวณชั้นที่ 2 - 5 ของน้ำตกเหวนรก เบื้องต้นทำการโรยปูนขาวซากช้างโดยใช้โดรนบินโรยเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อไม่ให้น้ำเน่าเสีย ทั้งนี้

ปฏิบัติการเก็บกู้ทำลายซากช้างทั้ง 11 ตัว เป็นไปด้วยความยากลำบากเสี่ยงอันตราย เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเข้าถึงยาก มีโขดหินจำนวนมาก ฝนตกต่อเนื่องเป็นอุปสรรค สำหรับ ซากช้างที่อยู่จุดชั้นที่ 5 สามารถเดินเท้าเข้าไปได้ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร จะทำการเก็บกู้เป็นลำดับแรก ขณะเดียวกันได้ติดตั้งตาข่ายขนาดใหญ่เพื่อดักซากช้างที่จะไหลลงมาบริเวณคลองต้นไทร เพื่อป้องกันไม่ให้ซากช้างป่าไหลตกลงในเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก เพราะอาจกระทบต่อคุณภาพน้ำในเขื่อน

ทั้งนี้ น้ำตกเหวนรก ห่างจากเขื่อนขุนด่าน ประมาณ 8 กิโลเมตร ส่วนจุดที่ติดตั้งตาข่ายดักซากช้างป่า หากลอยมาตามลำน้ำดักไว้บริเวณคลองต้นไทร ห่างจากน้ำตกเหวนรกประมาณ 3 กิโลเมตร

สำหรับประเด็นดังกล่าว นายเจษฎา บุญสุยา ผู้อำนวยการเขื่อนขุนด่านปราการชล ยืนยันว่าซากช้างป่าทั้ง 11 ตัว ที่ตายบริเวณน้ำตกเหวนรก แม้ไหลเข้าสู่เขื่อนขุนด่านฯ ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในเขื่อน เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนกว่า 194 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากซากสัตว์เป็นเพียงส่วนน้อยอีกทั้งช้างป่าที่ตายเกิดจากอุบัติเหตุไม่ได้มีโรคร้าย ที่สำคัญบริเวณสุสานช้างจุดเกิดเหตุห่างไกลจากต้นน้ำของเขื่อนขุนด่านฯ ที่กั้นน้ำไว้ จึงไม่ต้องวิตกกังวลถึงการระบาดของโรค และซากช้างไม่ลงมาถึงเขื่อนอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ได้ตรวจวัดคุณภาพน้ำแล้วไม่มีปัญหาใด ซึ่งหลังจากนี้จะเพิ่มความถี่ในการตรวจวัดคุณภาพจากเดิมเดือนละครั้ง เป็น 4 วันหนึ่งครั้ง

นสพ.อลงกรณ์ มหรรณพ กรรมการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เปิดเผยถึงแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้ช้างป่าเกิดเหตุการณ์น้ำตกเหวนรกอีกในอนาคต วิธีการป้องกันที่ดีคือใช้ธรรมชาติเข้ามาช่วย คือการทำเพนียดที่ช้างไม่สามารถเข้าไปถึงจุดที่เป็นน้ำตกได้ ที่น่าเป็นห่วงในช่วงฤดูฝนน้ำตกจะมีเป็นจำนวนมาก ละอองน้ำแตกกระเซ็นเป็นฝอย ทำให้ทั่วบริเวณลื่น หากช้างตกลงไปและยังไม่ตายจะต้องทนแช่อยู่ในน้ำเย็นที่อุณหภูมิของน้ำ 10 - 18 องศาเซลเซียส เทียบกับอุณหภูมิร่างกายของช้าง 37 - 38.5 องศาเซลเซียส แน่นอนย่อมทนความหนาวเย็นไม่ไหวกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด

สำหรับแนวทางการป้องกันเริ่มแรกควรสำรวจแนวหรือเส้นทางที่เป็นเหวนรกหรือจุดที่เปราะบางที่ช้างอาจพลาดตก และเลือกปลูกต้นไม้ธรรมชาติที่คิดว่าเหมาะสมและแข็งแรงทนต่อแรงกระแทกของช้าง ซึ่งมีให้เลือกหลายชนิดในเขาใหญ่ อย่างเช่น ต้นไผ่ตงที่มีขนาดลำเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้วขึ้นไป จะมีความสูง 30 - 40 เมตร ปลูกเป็นระยะๆ ความห่างระหว่างกอไผ่ 10 - 20 เมตร ช่องว่างความห่างระหว่างกอไผ่ตงให้ปลูกกอไผ่หนาม เมื่อโตเต็มที่จะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 - 10 เมตร สูงประมาณ 10 เมตร เวลา 3 ปีขึ้นไปกำแพงไผ่ดังกล่าวจะอัดกันแน่นเป็นกำแพงทึบ เพราะต้นไผ่จะแตกหน่อไม้ทุกปี และเจริญออกในแนววงกลมโดยรอบ ถ้าต้องการให้กำแพงหนา 10 เมตร และอาจจะปลูกไผ่ 2 แนว ยิ่งเป็นการเพิ่มจำนวนไผ่และความหนาของไผ่เร็วยิ่งขึ้น อันนี้เป็นหลักการในการสร้างกำแพงธรรมชาติป้องกันช้าง กำแพงดังกล่าวอาจยาวได้ถึง 1 - 10 กิโลเมตร ตามแนวป้องกันที่คดเลี้ยวตามธรรมชาติ อย่าไปสร้างแนวป้องกันใหม่ขึ้นมาเพราะจะไปทำลายธรรมชาติโดยไม่จำเป็น

นสพ.อลงกรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่าการป้องกันที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ลดกิจกรรมนักท่องเที่ยวที่จะไปเที่ยวบริเวณน้ำตกเหวนรก ควรกันบริเวณนี้ให้เป็นที่อยู่ของช้างป่าและสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ เท่านั้น ไม่ควรให้มนุษย์เข้าไปรบกวน ควรให้เป็นที่ส่วนตัวของสัตว์ป่าอาจกำหนดรัศมีจากบริเวณเหวนรกออกไป 5 กิโลเมตร เป็นอย่างน้อย ผลพลอยได้ที่จะตามมาก็คือ ป่าไม้จะเพิ่มจำนวนขึ้น ภาวะเครียดในสัตว์ป่าลดลงเนื่องจากไม่ต้องระแวง

อย่าให้การสูญเสียในครั้งนี้สูญเปล่า...ขอให้เป็นช้างป่าโขลงสุดท้ายที่ต้องมาสังเวยชีวิตในหุบเหวนรกแห่งนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น