xs
xsm
sm
md
lg

อุดมการณ์การเมือง (๑๓-๑): ฟาสซิสต์- ต่อต้านเหตุผล นิยมการต่อสู้ บูชาผู้นำ และชังเชื้อชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 ฮิตเลอร์ VS มุสโสลินี
"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ฟาสซิสต์ในฐานะอุดมการณ์ทางการเมืองปรากฎขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ และมีบทบาทสำคัญต่อเนื่องมาจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นก็จางหายไปจากพื้นที่การเมืองที่เป็นทางการ ทว่า ยังคงมีกลุ่มการเมืองใต้ดินในหลายประเทศที่ยึดมั่นอุดมการณ์ฟาสซิสต์ไม่เสื่อมคลาย แก่นความเชื่อของฟาสซิสต์คือ ต่อต้านเหตุผล นิยมการต่อสู้ บูชาผู้นำ และชังเชื้อชาติ

ฟาสซิสต์เป็นอุดมการณ์แห่งศตวรรษที่ ๒๐ เป็นปฏิกิริยาต่อต้านความทันสมัย ต่อต้านความคิดและค่านิยมของยุคแห่งการตื่นรู้ทางปัญญา และลัทธิการเมืองที่มีรากฐานทางปัญญาจากยุคนั้น สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือคำขวัญของฟาสซิสต์ในอิตาลีซึ่งประกอบด้วย “ความเชื่อ การเชื่อฟัง การต่อสู้ และระเบียบ” เข้ามาแทนที่คำขวัญ “เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ” แห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส

ปัจจัยที่มีส่วนต่อการกำเนิดฟาสซิต์มี ๕ ประการหลักคือ ประการแรก ความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยในยุโรปยุคต้นศรรตที่ ๒๐ ที่เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ซึ่งทำให้อ่อนแอและขาดเสถียรภาพ โดยเฉพาะยามเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจและการเมือง ประกอบกับในหลายประเทศยุโรปยุคนั้น ค่านิยมประชาธิปไตยไม่สามารถข้าไปแทนที่ค่านิยมแบบอำนาจนิยมดั้งเดิมได้ ภายใต้บริบทเช่นนี้ ทำให้เกิดกระแสสังคมเรียกร้องและแสวงหาผู้นำการเมืองที่กล้าตัดสินใจ และกล้าใช้อำนาจเด็ดขาดในการแก้ปัญหาขึ้นมาบริหารประเทศ

ประการที่สอง ความอึดอัดคับข้องใจของชนชั้นกลางระดับล่างต่อสภาพทางการเมือง ในยุคนั้นสังคมยุโรปถูกอภิวัฒนาการโดยกระบวนการการเป็นอุตสาหกรรม ซึ่งคุกคามความมั่นคงในการดำรงชีพของชนชั้นกลางระดับล่าง ไม่ว่าจะเป็น ผู้ค้ารายย่อย ธุรกิจขนาดเล็ก ชาวนา และช่างฝีมือ ก็ตาม ต่างก็ถูกบีบหรือตกอยู่ระหว่างขั้วการเมืองสองขั้ว ขั้วแรกคือความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของนายทุน จากการเติบโตของธุรกิจขนาดใหญ่ และขั้วที่สองคือ การมั่นคงทางอำนาจของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งมีการตั้งพรรคการเมืองและรวมกลุ่มอย่างเหนียวแน่น จนสามารถเข้าถึงอำนาจได้

ขณะที่กลุ่มชนชั้นกลางระดับล่าง ไม่มีทั้งความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจแบบนายทุน และอำนาจทางการเมืองแบบกรรมกร พวกเขาจึงเกิดความรู้สึกโหยหาพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของตนเอง ขบวนการฟาสซิสต์เห็นถึงความปรารถนาและช่องว่างทางการเมืองเช่นนี้ จึงกำหนดเป้าหมายละมุ่งเคลื่อนไหวหาสมาชิกและการสนับสนุนจากชนชั้นกลางระดับล่างเหล่านั้น จนกลายเป็นพรรคการเมืองที่มีบทบาทสำคัญทั้งในประเทศอิตาลีและเยอรมนี เงื่อนไขนี้เองทำให้เกิดความเข้าใจกระจ่างขึ้นว่า ทำไมฟาสซิต์จึงต่อต้านทั้งทุนนิยมและ คอมมิวนิสต์

ประการที่สาม ความกลัวต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ การปฏิวัติรัสเซียและกระแสการปฏิวัติสังคมภายใต้หลักคิดคอมมิวนิสต์กระจายไปทั่วทั้งยุโรป ซึ่งสร้างความรู้สึกกลัวในกลุ่มชนชั้นที่มีทรัพย์สินส่วนตัวขึ้นมาอย่างกว้างขวาง กลุ่มชนชั้นกลางระดับล่างซึ่งยังพอมีทรัพย์สินอยู่บ้างก็กลัวถูกยึด และกลุ่มนักธุรกิจที่มั่งคั่งก็ยิ่งกลัวมากขึ้นไปอีก พวกคนกลุ่มนี้จึงให้การสนับสนุนทั้งทางการเงินและการเมืองแก่กลุ่มฟาสซิสต์ เพื่อต่อต้านการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพนั่นเอง

ประการที่สี่ วิกฤติเศรษฐกิจในทศวรรษ ๑๙๓๐ ซึ่งทำให้เกิดการว่างงานอย่างกว้างขวาง และรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถแก้ไขความล้มเหลวของเศรษฐกิจได้ ประเด็นนี้จึงกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยที่เปราะบางของประเทศอิตาลีและเยอรมนีในยุคนั้นจึงถึงกาลอวสาน ขณะเดียวกันก็เป็นเงื่อนไขที่เกื้อหนุนและเปิดทางให้กับอุดมการณ์ทางการเมืองที่สุดขั้วและเป็นอันตรายต่อสังคมอย่างฟาสซิสต์ได้รับความนิยมและถูกนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติในโลกความเป็นจริง

ประการที่ห้า ความล้มเหลวขององค์การระหว่างประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งและการแข่งขันระหว่างชาติต่าง ๆ ได้ ทำให้เป็นมรดกแห่งความขมขื่นของชาวชาตินิยมผู้คับแค้นใจจากผลของการจัดการหลังสงคราม และความปรารถนาแห่งการแก้แค้นเป็นประดุจเพลิงที่คุโชน โดยเฉพาะชาวชาตินิยมในประเทศเยอรมันนี ยิ่งกว่านั้นการมีประสบการณ์ในสงคราม ทำให้เกิดลัทธิทหารนิยมขึ้นมาในกลุ่มชาตินิยมด้วย และค่านิยมแบบทหารนิยมก็ถูกผนึกลงไปเป็นเนื้อเดียวกับอุดมการณ์ชาตินิยม

สำหรับแก่นความคิดหลักของอุดมการณ์ฟาสซิสต์มีห้าประเด็น คือ การต่อต้านเหตุผลนิยม (anti-rationalism) การเชิดชูการต่อสู้ดิ้นรน การบูชาผู้นำและชนชั้นนำ สังคมนิยม และชาตินิยมสุดขั้ว

การต่อต้านเหตุผลนิยม มาจากหลักคิดแบบ “ชีวิตนิยม” (vitalism) ซึ่งมองว่า เป้าประสงค์ของการดำรงอยู่มนุษย์คือการแสดงออกแห่งพลังชีวิต มากกว่าที่จำกัดกรอบอยู่ภายใต้เหตุผลที่เย็นชาและการคำนวณที่ไร้จิตวิญญาณ การต่อต้านเหตุผลทำให้ฟาสซิสต์ต่อต้านการใช้ปัญญา ฟาสซิสต์มองว่า ชีวิตที่มุ่งสติปัญญาเป็นชีวิตที่เย็นชา แห้งแล้ง และไร้ชีวิตชีวา ซึ่งเป็นชีวิตที่ไม่น่าพึงปรารถนา ชีวิตที่พึ่งปรารถนาคือชีวิตที่เปี่ยมล้นด้วยจิตวิญญาณ การแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึก และการใช้สัญชาตญาณ ฟาสต์ซิสต์จึงใช้การโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้คนจมอยู่ในอารมณ์และความเชื่อ ซึ่งจะกระตุ้นการกระทำทางการเมืองตามมา

ยิ่งกว่านั้นการต่อต้านมรดกของยุคแห่งการตื่นรู้ทางปัญญาทำให้ฟาสซิสต์ต่อต้านทุกอย่าง ต่อต้านปรัชญา ต่อต้านเสรีนิยม ต่อต้านอนุรักษ์นิยม ต่อต้านนายทุน ต่อต้านคอมมิวนิสต์ การต่อต้านทุกสรรพสิ่งเป็นลักษณะของลัทธิทำลายล้าง (nihilism) ฟาสซิสต์ยังได้ตีความแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองของเสรีนิยมแบบกลับตัวกลับหางอีกด้วย เช่น ตีความคำว่า “อิสรภาพ” ว่าหมายถึง การสยบยอมโดยปราศจากคำถาม ส่วน “ประชาธิปไตย” ถูกทำให้เชื่อมโยงผูกติดกับเผด็จการสัมบูรณ์แบบ ส่วน “ก้าวหน้า” มีนัยของการต่อสู้และการทำสงครามอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีทัศนะแบบทำลายล้าง แต่ฟาสซิสต์กลับมองตนเองว่าเป็นพลังแห่งการสร้างสรรค์ ซึ่งกำลังสร้างอารยธรรมใหม่ โดยการทำลายล้างเชิงสร้างสรรค์ (creative destruction)

การละทิ้งมาตรฐานของเหตุผลสากล ทำให้ฟาสซิสต์ทุ่มเทความศรัทธาต่อประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และชุมชนแห่งชีวิต การเปลี่ยนแปลงชุมชนมิใช่มาจากการคำนวณและผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลที่มีเหตุผล หากแต่มาจากความจงรักภักดีและความผูกพันทางอารมณ์ที่เชื่อมโยงและส่งผ่านจากอดีต ชุมชนชาติคือองค์รวมที่มิอาจแบ่งแยกได้ ความขัดแย้งทั้งมวลจะต้องขึ้นต่อเป้าประสงค์ของส่วนรวมที่สูงส่ง ความเข้มแข็งของชาติจึงเป็นการสะท้อนความเป็นเอกภาพทางศีลธรรมและวัฒนธรรมนั่นเอง การปฏิวัติของฟาสซิสต์คือ การปฏิวัติของจิตวิญญาณ มีเป้าประสงค์เพื่อสร้าง “มนุษย์สายพันธุ์ใหม่” หรือ “มนุษย์ฟาสซิสต์” หรือวีรบุรุษ ที่มีหน้าที่ เกียรติยศ และการเสียสละเป็นแรงบันดาลใจ และเตรียมพร้อมที่สละบุคลิกส่วนตนเพื่อหลอมรวมเข้ากับองค์รวมของสังคม

ความคิดเกี่ยวกับ “การต่อสู้ดิ้นรน” เป็นฐานคิดที่สำคัญอีกอย่างของฟาสซิสต์ ฟาสซิสต์มองว่าการต่อสู้ดิ้นรนเป็นภาวะธรรมชาติ และเป็นเงื่อนไขที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ทั้งในชีวิตทางสังคมและนานาชาติ มีเพียงการแข่งขันและความขัดแย้งที่เป็นหลักประกันความก้าวหน้าของมนุษย์ และยืนยันว่า ผู้ที่เหมาะสมที่สุดและแข็งแกร่งที่สุดเท่านั้นจะอยู่รอดและรุ่งเรือง ส่วนผู้อ่อนแอก็ต้องถูกทำลายลงไป ในแง่นี้ฟาสซิสต์จึงมองว่าสงครามเป็นสิ่งที่ดีในตัวของมันเอง เพราะเป็นกระบวนคัดสรรมนุษยชาตินั่นเอง หลักคิดเช่นนี้ของฟาสซิสต์ได้รับอิทธิพลมาจากความคิดวิวัฒนาการโดยการเลือกสรรค์ตามธรรมชาติ ของชาร์ลส์ ดาร์วิน นั่นเอง

ฟาสซิสต์ยังประดิษฐ์สร้างชุดของค่านิยมทางการเมืองใหม่ขึ้นมา โดยนิยามคำใหม่หลายคำ เช่น ความเข้มแข็งคือความดี และ ความอ่อนแอคือความเลว ทั้งยังชื่นชมชุดค่านิยมทางทหารอันได้แก่ ความจงรักภักดี การยึดมั่นในหน้าที่ การเชื่อฟังผู้นำ และการเสียสละตนเอง การไม่อดทนต่อความอ่อนแอและการไร้ความสามารถ ใครหรือพวกใดอ่อนแอจะต้องถูกขจัดทิ้งไป ซึ่งแนวคิดนี้ถูกทำอย่างเป็นรูปธรรมโดย พรรคนาซีของฮิตเลอร์ ในประเทศเยอรมนีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และแนวคิดฟาสซิสต์เกี่ยวกับชีวิตในฐานะ “การต่อสู้ดิ้นรนนิรันดร์กาล” ก่อให้เกิดลัทธิการขยายอำนาจ ซึ่งมีนัยว่าคุณภาพของชาติเพียงสามารถบ่มเพาะได้โดยผ่านความขัดแย้งและการแสดงให้ถึงการพิชิตและชัยชนะ หลักคิดนี้เห็นได้ชัดในนโยบายต่างประเทศของฮิตเลอร์ นั่นเอง

ลัทธิบูชาผู้นำและเทิดทูนชนชั้นนำ ฟาสซิสต์ปฏิเสธความเท่าเทียม และมีฐานคิดแบบชนชั้นนำนิยมและผู้ชายเป็นใหญ่ ชาวฟาสซิสต์เชื่อว่า มนุษย์เกิดมามีความแตกต่างทั้งความสามารถและบุคลิกภาพ มีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่เกิดมาเป็นผู้นำ คนในสังคมแบ่งออกเป็นสามพวก พวกแรกคือ อภิมนุษย์ ซึ่งเป็นเกิดมาเป็นผู้นำ พวกที่สองคือ พวกนักรบ ซึ่งเป็นชนชั้นนำที่เป็นบุรุษและมีลักษณะพิเศษ เป็นวีรบุรุษ มีวิสัยทัศน์ และสามารถเสียสละตนเองเพื่อส่วนรวมได้ ในเยอรมนนีคือพวกเอสเอส ซึ่งเริ่มจากเป็นผู้คุ้มครองผู้นำและพัฒนาเป็นกองกำลังติดอาวุธในช่วงนาซีครองอำนาจ และพวกที่สามมวลชน ซึ่งอ่อนแอ เฉื่อยชา และล้าหลัง ชะตากรรมของพวกนี้คือ การเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้นำโดยปราศจากเงื่อนไข

ลัทธิบูชาผู้นำของนาซีได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดอภิมนุษย์ของนิทเช่ โดยนิทเช่อธิบายว่า อภิมนุษย์คือบุคคลที่เกิดขึ้นมาและมีชีวิตตามเจตนารมณ์และความปรารถนาของตนเอง มิได้ถูกพันธนาการจากศีลธรรมดั้งเดิมของสังคม ฟาสซิสต์ได้ปรับแนวคิดอภิมนุษย์ไปสู่ลัทธิบูชาผู้นำและการเชื่อฟังผู้นำโดยไม่มีข้อแม้ ความคิดและเจตนารมณ์ของผู้นำคือ วิสัยทัศน์และทิศทางของการพัฒนาประเทศ และด้วยผู้นำเป็นผู้ที่ทรงภูมิปัญญา ประชาชนจึงต้องปฏิบัติสิ่งที่ผู้นำบอกเสมอ คำขวัญประเภท “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” จะถูกตอกย้ำเข้าไปในจิตใจของประชาชนซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า

แนวคิดสังคมนิยม เริ่มแรก มุสโสลินี ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดสังคมนิยม ส่วนนาซีใช้แนวคิดบางอย่างของสังคมนิยมเพื่อดึงการสนับสนุนจากชนชั้นกลางระดับล่างที่ได้รับผลกระทบจากนายทุนใหญ่ อย่างไรก็ตามจุดร่วมที่สำคัญของฟาสซิสต์กับสังคมนิยมคือ “ส่วนตนขึ้นต่อส่วนรวม” ให้ความสำคัญต่อชุมชนเหนือปัจเจกบุคคล นอกจากนั้นรัฐบาลฟาสซิสต์ยังมีแนวนโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม นั่นคือการใช้อำนาจรัฐควบคุมทุนนิยม ดังนั้น ทุนนิยมจึงต้องตกอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของอุดมการณ์รัฐฟาสซิสต์ นั่นคือ รัฐจะใช้ทุนนิยมเพื่อรับใช้เป้าประสงค์ของรัฐนั่นเอง การใช้แนวนโยบายสังคมนิยมของฟาสซิสต์จึงเป็นไปอย่างจำกัดและมีทิศทางเพื่อชนชั้นนำทางอำนาจ มากกว่าประชาชนทั้งปวงของสังคม

แนวคิดชาตินิยมสุดขั้ว ฟาสซิสต์เชื่อว่าชาติบางชาติมีความพิเศษเหนือกว่าชาติอื่นทั้งมวล โดยเฉพาะเชื้อชาติอารยันของชาวนาซี เป็นเชื้อชาติที่เป็นนายเหนือเชื้อชาติทั้งปวงในโลก ดังนั้น นาซีจึงไม่เพียงสนับสนุนชาตินิยมธรรมดา แต่ส่งเสริมชาตินิยมแบบเข้มข้นโดยผนึกสำนึกแห่งการสู้รบเพื่อชาติลงไปในอัตลักษณ์ของชาติ แก่นความเชื่อเชิงมายาคติของฟาสซิสต์คือ ความเชื่อการกำเนิดใหม่ และความเชื่อชาตินิยมแบบประชานิยม ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฟาสซิสต์จึงออกมาในทำนองที่ให้เห็นถึง การล้มละลายทางศีลธรรมและการเสื่อมทรามทางวัฒนธรรมของสังคมสมัยใหม่ รวมทั้งการเสนอว่า ยังมีหนทางกำเนิดใหม่ของชาติ ดุจดังนกฟีนิกซ์ที่ฟื้นคืนชีพจากเถ้าถ่านนั่นเอง ฟาสซิสต์จึงผสมตำนานเกี่ยวกับความรุ่งเรืองในอดีตของชาติกับภาพลักษณ์ของอนาคต โดยการฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ดังอิตาลีพยายามรื้อฟื้นความรุ่งโรจน์ของจักรวรรดิโรมัน และเยอรมนีก็ได้อธิบายตนเองว่า เป็นอาณาจักรไรน์ที่สาม เป็นต้น

ความเชื่อและแนวทางปฏิบัติของฟาสซิสต์ให้ความสำคัญกับรัฐ และเชื้อชาติเป็นอย่างมาก โดยมองว่ารัฐเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาและสร้างหลักประกันของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับเชื้อชาติ และการนำไปสู่การสร้างลัทธิเหยียดเชื้อชาติ (racialism) ซึ่งนำไปสู่ความรุนแรงและการทำลายชีวิตของผู้คนจำนวนมหาศาล (อ่านต่อสัปดาห์หน้า)


กำลังโหลดความคิดเห็น