xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ว่าด้วยงบประมาณกทม. สู้ภัยฝุ่น PM2.5 รอบใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ข่าว กรุงเทพมหานคร เตรียมทุ่มงบกว่า 120 ล้านบาท ทำ "หอฟอกอากาศ 24 หอ" ในพื้นที่จราจรหนาแน่น หรือมีประชาชนจำนวนมาก หวังบรรเทาสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 รอบใหม่ที่จะมาในช่วงฤดูหนาวต.ค.-ม.ค.นี้

ข่าวบอกว่า นายชาตรี วัฒนเขจร ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เตรียมจัดซื้อรถพ่นละอองน้ำ จำนวน 6 คัน กระจายตามกลุ่มเขตละ 1 คัน ราคาคันละ 9 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ "เตรียมขัดซื้อจัดจ้าง" โดยจะใช้งบประมาณกทม.ในปี 2563

"เมื่อได้งบประมาณแล้ว จะกำหนดสเปก แต่เบื้องต้นจะยังจัดซื้อไม่ทันสิ้นปีนี้ (2562) เบื้องต้น "รถพ่นละอองน้ำ" ที่จะซื้อมาใช้ ยังไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย แต่ประสิทธิภาพสูง จับฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ทุกชนิด พ่นน้ำได้มากกว่า 10 เมตร และในต่างประเทศอย่างจีน, อินเดีย และยุโรป หลายประเทศใช้กันอยู่ เชื่อว่าหากนำมาใช้จะช่วยแก้ปัญหาได้มาก เพราะปัจจุบันที่ใช้อยู่คือการนำเอารถดับเพลิงมาพ่นละอองน้ำ ทำให้แก้ปัญหาไม่ได้มาก"

ที่ฮืฮฮาหน่อย ! เป็นระบบใหม่ที่ กรุงเทพมหานครจะนำมาติดตั้งในพื้นที่เศรษฐกิจ

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร เขียนในเฟซบุ๊ก "ผู้ว่าอัศวิน" ว่า "ซึ่งเร็วๆนี้ กทม.จะทดลองติดตั้งหอฟอกอากาศจำนวน 1 เครื่อง บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้า BTSสยาม เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมลพิษและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เพื่อทดสอบประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของอุปกรณ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นและมลพิษในกรุงเทพฯ"

" !! ย้ำนะครับว่า ยังไม่มีการจัดซื้อใดๆ เพียงแต่ใครเสนออะไรมา ผมก็เปิดกว้างที่จะทดลองครับ ถ้าเป็นเป็นผลดีต่อประชาชน"ตอนท้ายในเฟซบุ๊ก ระบุ

คราวนี้มาดูเทคโนโลยีดังกล่าว ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม แจ้งว่า มีบริษัทเอกชน คือ"บริษัท มาสเตอร์คูล อินเตอร์เนชั่นแนล" ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสนอการติดตั้งหอฟอกอากาศ ซึ่งเป็นนวัตกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เบื้องต้นจะติดตั้ง 1 เครื่องเร็ว ๆ นี้บริเวณใต้สถานี BTS สยาม "ทางเข้าศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน" โดยจะตรวจวัดปริมาณความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 ทั้งก่อนและหลังการติดตั้ง หากได้ผลดีจะขอความร่วมมือภาคเอกชนโดยเฉพาะอาคารสูง, ห้างสรรพสินค้า และสถานที่จัดงานขนาดใหญ่ติดตั้งต่อไป

"สำหรับหอฟอกอากาศ มีขนาดสูงประมาณ 4 เมตร กว้าง 1.5 เมตร ตัวเครื่องทําจากสเตนเลส หนักประมาณ 200 กก. ระบบการทำงานจะใช้หลักการดึงอากาศจากรอบตัวเครื่อง เพื่อกรองฝุ่น 2 ขั้นตอน และปล่อยอากาศบริสุทธิ์ทางด้านบน ซึ่งมีอัตราการสร้างอากาศบริสุทธิ์ไม่น้อยกว่า 17,000 ลบ.ม./ชม. ครอบคลุมพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1,000 ตร.ม. โดยใช้แผ่นกรองชนิด HEPA Filter และกำลังไฟฟ้า 3.5 kW"

ราคาประมาณ 5.3 ล้านบาทต่อเครื่อง!!!

นายชาตรี ยังคาดการณ์ว่า "ในอนาคตจะติดตั้งหอฟอกอากาศในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น หรือพื้นที่ที่มีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก

"จำนวน 24 หอ ซึ่งจะใช้งบประมาณราว 127 ล้านบาท"

เช่นในพื้นที่ สถานีรถไฟฟ้าซอยอารีย์ แยกราชประสงค์ฝั่งพระพรหม แยกอโศก สถานีรถไฟฟ้าจตุจักร ช่องนนทรี เซ็นทรัลลาดพร้าว พร้อมพงษ์ เพลินจิต ศาลาแดง และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นต้น

ยกข้อเขียนในเฟซบุ๊กของ ผู้ว่าฯกทม. มาย้ำอีกที่ "ย้ำนะครับว่ายังไม่มีการจัดซื้อใดๆ"

ค้นดูชื่อ "บริษัท มาสเตอร์คูล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)" หรือ KOOLลักษณะธุรกิจ เป็นการดำเนินธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่าย "ผลิตภัณฑ์พัดลมไอเย็น พัดลมไอน้ำ และพัดลมอุตสาหกรรม" ภายใต้ตราสินค้า "MASTERKOOL"และ "Cooltop"

นอกจากนี้ บริษัทยังให้บริการเช่าใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว รวมถึงออกแบบและติดตั้งระบบระบายความร้อน และระบบโอโซน ซึ่งบริษัทแห่งนี้ให้ทุนคณะวิศวกรรม ม.เกษตรศาสตร์ ทดลองผลิตเครื่องฟอกอาอากาศดังกล่าวขึ้นมา

ทีนี้มาดูว่า ในเมืองใหญ่ๆ มี "หอฟอกอากาศ" ที่ไหนบ้าง ?

จากการสืบค้น เช่นที่ "นครซีอาน สาธารณรัฐประชาชนจีน" ในพื้นที่ เขตฉางอัน ใกล้เมืองมหาวิทยาลัย(Universities Mega City)

มีขนาดความสูง 328 ฟุต (ราว 98.4 เมตร) (สูงกว่าที่กทม.จะนำมาทดลองใช้หลายเท่าตัว) บนพื้นที่ขนาด 2,580 ตารางเมตร เขาคาดการณ์จะสามารถฟอกอากาศได้มากถึง 353 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ในรัศมีครอบคลุม 10 ตารางกิโลเมตร (ราว 3.86 ไมล์)

หอดังกล่าว มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เมตร ทำจากกระจกและเหล็กชนิดเบา ติดตั้งกังหันดูดอากาศจำนวน 4 เครื่อง ทำการก่อสร้างและควบคุมระบบโดย กองสิ่งแวดล้อมโลก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (Earth Environment, Chinese Academy of Science) โดยจะใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เป็นหลัก เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้พลังงานเผาไหม้จากถ่านหิน

การทำงานของเครื่องฟอกอากาศดังกล่าว จะใช้ระบบ HSALSCS (การใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานหลักในการขับเคลื่อนและนำแสงอาทิตย์มาใช้ในการกรองฝุ่น PM 2.5 และสารตั้งต้นประเภทไนโตรเจนออกไซด์ (NO2) และสารอินทรีย์ (VOCs) ที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ)

เครื่องดังกล่าว สามารถดูดอากาศภายนอกได้ทั้ง 4 ทิศทาง โดยอากาศเสียจะถูกกรองด้วยแผ่นกรองอนุภาคขนาดใหญ่ และแผ่นกรองอนุภาคขนาดเล็ก ต่อมาจะถูกส่งผ่านไปยังแผงกรองที่เคลือบฟิล์มชนิดพิเศษ เพื่อย่อยสลายก๊าซหรือมลพิษ หลังจากนั้นอากาศที่ผ่านการฟอกแล้วจะถูกส่งไปเก็บรวมกันเพื่อส่งออกไปภายนอก ไม่มีการระบุว่า หอฟอกอากาศดังกล่าว มีมูลค่าเท่าใด ?

หรือหอฟอกอากาศ ของ "เกาะฮ่องกง" ที่สุดท้าย ข่าวระบุว่าเป็นเพียงโมเดล ซึ่งคาดการณ์ว่า จะนำไปติดตั้งบนถนนบายพาส เซ็นทรัลหว่านไจ๋ ในฮ่องกง ที่ชาวฮ่องกง รอคอยมานานนับสิบปี ใช้งบประมาณสร้าง 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง มาพร้อมกับหอคอยฟอกอากาศ บำบัดอากาศพิษที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยงบประมาณค่าใช้จ่าย 250 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง

กลับมาที่ กรุงเทพมหานคร ล่าสุดนอกจากตามข้างต้นที่ได้อนุมัติงบประมาณปี 2563 แล้วกว่า 50 ล้านบาท เป็นวงเงิน เพื่อจัดซื้อ "รถพ่นละอองน้ำ 6 คัน" ตกคันละ 8.3 ล้านบาทเศษ ที่จะนำมาใช้ในภารกิจบรรเทาปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างกำหนดสเปก ก่อนจะประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง และหากจัดซื้อมาแล้วจะนำไปประจำตามกลุ่ม 6 เขต ของกรุงเทพมหานครในอนาคต

จากการตรวจสอบเว็บไซต์ การจัดซื้อจัดจ้างของสำนักสิ่งแวดล้อม ในแบบอิเลกทรอนิกส์ พบว่า ขณะนี้มีการเตรียมจ้างเหมาตรวจวัดและซ่อมบำรุงสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ กทม. ราคากลาง 4,773,500 บาท และเตรียมจ้างเหมาเดินระบบรถตรวจวัดคุณภาพอากาศและเสียง ราคากลาง 1,200,000 บาท โดยทั้ง 2 โครงการ คาดว่าจะจัดซื้อ เดือนธ.ค.62

ส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว เช่น จ้างเหมาเชื่อมโยงระบบการตรวจวัดคุณภาพอากาศเผยแพร่จอแสดงผล ราคากลาง 2,949,570 บาท รวมถึงโครงการที่ได้ผู้ชนะจัดซื้อจัดจ้างแล้ว ตลอดปีงบฯ 2562 เช่น จ้างพัฒนาระบบข้อมูลการจัดการคุณภาพอากาศ วงเงิน 8,155,000 บาท จ้างเหมาเดินระบบพร้อมบำรุงรักษาสถานีตรวจวัดคุณภาพาอากาศติดตั้งบนเสาเหล็กและแบบเคลื่อนที่ วงเงิน 24,500,000 บาท

จัดซื้อเครื่องตรวจฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) แบบอัตโนมัติ 2 ราย การ วงเงิน 40,188,000 บาท โดย กทม.กำหนดราคากลาง เครื่องตรวจนี้วงเงิน 42,569,361.50 บาท ประกอบด้วย เครื่องตรวจวัดฝุ่นนอกอาคาร 27 เครื่อง และ เครื่องตรวจวัดฝุ่นในสถานีแบบตู้คอนเทนเนอร์ 3 เครื่อง

โดยพบว่า มีส่วนใหญ่ผู้ชนะการประกวดราคา คือบริษัท สิทธิพรแอสโซซิเอส จำกัด ซึ่งพบว่า ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายและบริการเครื่องมือวิทยาศาสตร์ นำเข้าสินค้าคุณภาพสูงจากหลายประเทศ

กทม.ยังจัดจ้าง "ทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์การบำรุงรักษาเครื่องยนต์เพื่อลดมลพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็ก" วงเงิน 99,242.50 บาท ด้วย

อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมท่านหนึ่ง ยกตัวอย่าง "หอฟอกอากาศ ที่ใช้ในประเทศอินเดีย" เพราะปัญหาฝุ่น PM 2.5 มีต้นเหตุที่คล้ายกัน และมีต้นทุนอยู่เพียง 3 หมื่นกว่าบาทเท่านั้น

หรือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกมาบอกว่า แม้จะมีข้อมูลทางวิชาการรองรับว่าช่วยลดปริมาณฝุ่นได้ แต่ในทางปฏิบัติจริง ด้วยขนาดของตัวเครื่องที่มีความ สูง 4 เมตร กว้าง 1.5 เมตร

"เหมาะสำหรับการใช้งานในพื้นที่ปิดมากกว่านำมาติดตั้งกลางแจ้ง หากนำเครื่องดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับหอฟอกอากาศที่ประเทศจีน มีขนาดต่างกันหลายสิบเท่า โดยหอฟอกอากาศที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน ตั้งอยู่ในมณฑลส่านซี มีความสูง ถึง 100 เมตร หรือเทียบเท่าตึก 20-30 ชั้น"

เช่นเดียวกับหลายสถาบันที่ผ่านมา ก็มีการคิดค้น DIY เครื่องฟอกอากาศขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ทดลองใช้ไปแล้ว ตั้งแต่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 รอบปีที่ผ่านมา.




กำลังโหลดความคิดเห็น