ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ตอกย้ำกันมาจน “ปากเปียกปากแฉะ” แล้ว สำหรับท่าทีของ “เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับจุดยืนในการแบนใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตรคือ “พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส” ที่ออกอาการ “แทงกั๊ก” มาอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญคือ ดำเนินไปในทิศทาง “ตรงกันข้าม” กับท่าทีของรัฐมนตรีร่วมกระทรวงคือ “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” ตลอดรวมถึง “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แห่งพรรคภูมิใจไทย และ “บิ๊กซัน-สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แห่งพรรคพลังประชารัฐ อย่างเห็นได้ชัด
แม้กระทั่ง “ลูกท๊อป-วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่กำกับดูแล “กรมควบคุมมลพิษ” ซึ่งเป็น 1 เสียงในคณะกรรมการวัตถุอันตรายก็ประกาศหนุนแบนสารดังกล่าวเช่นกัน
เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไม นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี นายวัชระ เพชรทอง และนายสามารถ มะลูลีม อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ จึงเดินทางไปร่วมรับฟังปัญหาและให้กำลังใจ น.ส.มนัญญา ในการเดินหน้าแบน 3 สารเคมีการเกษตรร่วมกับเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร แทนที่จะเรียกร้องเอากับรัฐมนตรีจากพรรคของตนเอง
กระทั่งในที่สุดเมื่อมีการตรวจสอบให้ลึกลงไป ก็สามารถ “จับโป๊ะ” ได้ว่า อะไรคือ “ต้นสายปลายเหตุ” ที่ทำให้ “เสี่ยต่อ” ออกอาการ “แทงกั๊ก”
ขณะที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับอาการ “แทงกั๊ก” ก็เริ่มขยายวงไปสู่ “พรรคประชาธิปัตย์” หนักข้อขึ้นทุกที และมีแนวโน้มว่าอาจส่งผลต่อ “คะแนนเสียง” หนักกว่าเมื่อครั้งเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา
ครั้งนั้นแทบจะ “สูญพันธุ์” ในเขตกทม. แต่ครั้งนี้ อาจถึงขึ้น “ตายยกรัง” กันเลยทีเดียว
จับโป๊ะ “เสี่ยต่อ “เฉลิมชัย”
โป๊ะแรกของ “เสี่ยต่อ” ที่เห็นกันชัดๆ ปรากฏในหนังสือราชการที่ลงนามโดย “น.ส.ดุจเดือน ศศะนาวิน” รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการผลิต เกี่ยวกับการยกเลิกสารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส
เอกสารดังกล่าวมีเนื้อหาสำคัญ 2 ประการคือ
1 . ยกร่างหนังสือเรียนปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อขอให้พิจารณาจัดวัตถุอันตราย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 คือ ห้ามผลิต นําเข้า ส่งออก และจําหน่าย เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2560
2. ได้นําหนังสือ (ข้อ 1) เรียนหารือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 ถึงแนวทางในการดําเนินการ และได้รับข้อเสนอแนะว่า ควรจะดําเนินการตามมติ คณะกรรมการวัตถุอันตรายในการให้จํากัดการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส และได้มอบหมายให้ กรมวิชาการเกษตรจัดทํา และดําเนินการมาตรการจํากัดการใช้ ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ได้จัดทํา และอยู่ระหว่างดําเนินการตามมาตรการจํากัดการใช้วัตถุอันตรายดังกล่าว
เป็นเอกสารที่ “เสี่ยต่อ” จำเป็นต้องอธิบายขยายความให้ประชาชนคนไทยได้รับทราบเพราะมีความชัดเจนว่า “เสี่ยต่อ” มิได้ต้องการยกเลิกหรือแบนสารเคมีทั้ง 3 ตัว และมีเป้าหมายอยู่เพียงแค่ “จำกัดการใช้” เท่านั้น
“เสี่ยต่อ” อาจจะอ้างว่า เป็นเอกสาร “เก่า” เพราะหลังจากนั้น ท่าทีของตัวเองได้ “เปลี่ยนไป” แต่ถ้าอ่านรายละเอียดความเห็นทีละบรรทัดก็จะพบ “ความไม่ชัดเจน” อยู่ในที เนื่องจากมิได้ตรงไปตรงมาเหมือนกับ “เสี่ยหนู มนัญญา วราวุธหรือสุริยะ”
ก่อนหน้านี้ หากยังจำกันได้หลังถูกกดดันอย่างหนัก “เสี่ยต่อ” ได้แสดงท่าที “ครั้งแรก”หลังเล่นบท “เตมีย์ใบ้” ผ่านเฟซบุ๊กของตัวเองเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562 ว่า “การพิจารณายกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิดได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพลิฟอส และไกลโฟเซตนั้นเป็นอำนาจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย หากมีมติให้ยกเลิกใช้ ผมพร้อมลงนามให้ยกเลิกใช้ทั่วประเทศอย่างแน่นอนเนื่องจากเป็นนโยบายหลักในการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัยทั้งต่อเกษตรกรและประชาชนผู้บริโภค”
พร้อมติดแฮชแท็กเท่ๆ เอาไว้ว่า #รัฐมนตรีลูกเกษตรกรใช้ใจเเก้ปัญหา #พาราควอต
นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน “เสี่ยต่อ” ยังได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้เช่นกันว่า “โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องมีสารทดแทนซึ่งสารทดแทนนั้นต้องไม่กระทบต่อเกษตรกรทั้งด้านต้นทุนการผลิต คุณภาพผลผลิต รวมถึงความเป็นพิษ รวมถึงการหาสารหรือวิธีการกำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืชทดแทน โดยให้เวลาดำเนินการอีก 60 วัน”
และย้ำอีกครั้งหลังเสียงก่นด่าลามไปถึง “พรรคประชาธิปัตย์” ว่า “ผมยืนยันไม่ได้สนับสนุนให้ใช้สาร 3ตัวนี้ เพียงแต่กระบวนการยกเลิก มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายและคณะกรรมการวัตถุอันตรายกำกับดูแลเรื่องนี้อยู่ได้มอบหมายงานให้ รมช.เกษตรฯ รับผิดชอบเรื่องนี้ ได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนไม่เห็นด้วย ถือเป็นนโยบายของกระทรวงเกษตร หากคณะกรรมการฯมีมติให้ยกเลิกใช้ก็พร้อมดำเนินการทันที”
ฟังเสียงของ“เสี่ยต่อ” ล่าสุดแล้วต้องบอกว่า ไม่ได้ต่างจากที่ให้ความเห็นในครั้งแรกๆ เพราะยังวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมคือ บอกว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจการตัดสินใจของ “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” หากมีมติให้ยกเลิกใช้ “ผมพร้อมลงนาม”
ตรงนี้ ประชาชนสามารถตีความได้เช่นกันว่า ถ้าคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแค่ “จำกัดการใช้” หรือ “ยังไม่แบน” เสี่ยต่อก็พร้อมจะทำตามนั้นใช่หรือไม่
ถ้าจะให้ดี “เสี่ยต่อ” จะต้องประกาศนโยบายอย่างเป็นทางการต่อหน้าผู้บริหารของกระทรวงเกษตรฯ 5 คนที่เป็นกรรมการในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้แก่ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร อธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมปศุสัตว์ และเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) เพื่อให้ลงมติให้แบนสารทั้ง 3 ชนิด
มิใช่โยนการตัดสินใจในการแบนว่าเป็นบทบาทของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือคณะกรรมการวัตถุอันตราย ทั้งๆ ที่กระทรวงเกษตรฯเป็นผู้กำกับดูแลการใช้สารพิษทั้ง 3 ชนิดโดยตรง
นี่คือปัญหาใหญ่ของเรื่องทั้งหลายทั้งปวง เพราะตราบใดที่ “เสี่ยต่อ” ในฐานะเบอร์ 1 ของกระทรวงเกษตรฯ ยังไม่มีท่าทีชัดเจน เรื่องก็จะ “ถูกยื้อ” ต่อไปและไม่จบลงง่ายๆ อย่างแน่นอน
ที่สำคัญคือ “ข้ออ้าง” ที่ “เสี่ยต่อ” หยิบยกมาอธิบายคือประเด็นของ “ฝ่ายสนับสนุนสารพิษ” นำมาใช้ในการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง
สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร สมาคมอารักขาพืช และสมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ซึ่งเป็น 3 สมาคมที่ยืนอยู่ข้าง “ฝ่ายสนับสนุนให้ใช้”ได้ร่อนเอกสารข่าวเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันในภาคการผลิตขนาดใหญ่ การจัดการศัตรูพืชโดยการใช้สารยังคงจำเป็นสำหรับเกษตรกร การยับยั้งการใช้สารจะส่งผลต่อภาคการผลิตและส่งออกพืชเศรษฐกิจที่ทีความจำเป็นต้องใช้สารดังกล่าว ซึ่งอาจสร้างความเสียหายโดยไม่จำเป็น เนื่องจากการใช้สารแต่ละประเภทอยู่ภายใต้การกำหนดค่า
มาตรฐานจากองค์กรสากล ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจทำให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่งขันรายอื่น ๆ ที่สามารถพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันในด้านการผลิต และการตลาด
ทั้งนี้ ถ้าพิจารณาจากคำกล่าวอ้างของ 3 สมาคมว่าพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวิธีการกำจัดศัตรูพืชที่มีต้นทุนต่ำกว่าการใช้เครื่องมือกล เครื่องจักรกลการเกษตร วิธีชีวภาพ การปลูกพืชคลุมดิน และการจัดการระบบการปลูกพืช เป็นต้น ก็คงจะเป็นความจริงเพียงแค่กระพี้เท่านั้น เนื่องด้วยไม่ได้คิดต้นทุนผลกระทบต่อชีวิตของเกษตรกร ผู้บริโภค และทารกในครรภ์มารดา ที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษร้ายแรงเหล่านั้น
งานศึกษาของ รศ.สุวรรณา ประณีตวตกุล ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง “ต้นทุนผลกระทบภายนอกทางเศรษฐศาสตร์ ของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย” ประมาณการผลกระทบภายนอกของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยวิธี PEA (Pesticide Environmental Accounting) จากข้อมูลปริมาณการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาในประเทศไทย นำมาพิจารณาหาต้นทุน พบว่าต้นทุนผลกระทบภายนอก โดยจำแนกตามผู้ปฏิบัติงานในฟาร์ม (ผู้ฉีดพ่นและผู้เก็บเกี่ยวผลผลิต) ผู้บริโภค และระบบนิเวศในฟาร์มพบว่าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.76 เท่าของมูลค่าการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และแนวโน้มดังกล่าวสูงขึ้นทุกปี
ขณะที่ “ไบโอไทย” คำนวณผลกระทบจากมูลค่าการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชล่าสุดในปี 2561 พบว่าต้นทุนผลกระทบภายนอกที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนั้นมีมูลค่าสูงถึง 27,440 ล้านบาทโดยประมาณ ขณะที่บริษัทผู้ขายสารเคมีเหล่านั้นมียอดขาย 60,000-90,000 ล้านบาท/ปี โดยไม่ได้แสดงความรับผิดชอบใดๆ ต่อชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภค
นี่เป็นเรื่องที่กระทรวงเกษตรฯ ภายใต้การนำของ “เสี่ยต่อ” จำต้องตระหนักให้มาก เพราะเป็นเรื่องดีมิใช่หรือที่ประเทศไทยจะลดการใช้สารเคมีในการทำการเกษตรเนื่องเพราะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ส่งผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมและประชาชนคนไทยอย่างไรบ้าง
ลอกคราบกระทรวงเกษตรฯ
อย่างไรก็ดี เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปก็พบว่า น่าจะมี “ความไม่ชอบมาพากล” เกี่ยวกับเรื่องนี้พอสมควร โดยเฉพาะ “บุคคล” และ “หน่วยงาน” ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งเมื่อไล่เรียงก็จะเห็น “ร่องรอยบางประการ”
ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา หลายฝ่ายมองว่าสาเหตุที่ไม่สามารถยกเลิกสารพิษที่ใช้ในการเกษตรทั้ง 3 ชนิดได้ เป็นเพราะ “ทัศนคติ” และ “ผลประโยชน์” ที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน
แน่นอน ผู้ต้องสงสัยรายแรกเห็นที่จะหนีไม่พ้น “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ซึ่งไม่ว่า “ใคร” จะเข้ามามีอำนาจก็ไม่อาจโยกคลอนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่เช่นนั้นคงจะเห็นทิศทางและนโยบายที่มุ่งหน้าไปสู่ “การเกษตรที่ปลอดภัย” หรือ “เกษตรอินทรีย์” โดยลดการใช้ “สารเคมี” ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
มีข่าวแพร่สะพัดไปทั่วกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า มี “ผู้บริหาร” ของบริษัทสารเคมียักษ์ใหญ่ระดับโลก เข้าพบ “ผู้บริหารกระทรวง 2 คน” เพื่อเสนอ “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” แลกกับการยุติการดำเนินการเพื่อยกเลิกนำเข้าและจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตร
หากยังจำกันได้ เมื่อครั้งที่ “รัฐมนตรีมนัญญา” ร่วมประชุมกับเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562 เธอได้เปิดเผยข้อมูลอันน่าตื่นตระหนกว่า “เมื่อประกาศแบน 3 สารตอนมารับตำแหน่งใหม่ๆ มีผู้ใหญ่โทร.มาเตือนว่าอย่าไปยุ่ง เพราะมีอิทธิพลมาก จะหลุดจากเก้าอี้”
ข้อมูลจากปากรัฐมนตรีมนัญญาครั้งแรกช็อกสังคมพอสมควร เพราะแสดงให้เห็นว่า บริษัทขายสารเคมีทางการเกษตรมีอิทธิพลต่อ “เก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร” ชนิดที่ชี้นิ้วสั่งการได้
คงไม่ต้องไปควานหาคำตอบว่า จริงหรือไม่จริง เพราะเป็นที่รับรู้กันมาเนิ่นนานแล้วว่า เก้าอี้ตัวสำคัญๆ ในกระทรวงนี้ ไม่ได้จะมานั่งกันง่ายๆ
จากนั้นรัฐมนตรีมนัญญาก็ให้สัมภาษณ์อีกครั้งกับสื่อใน “เครือผู้จัดการ” ว่า “ครั้งแรกที่พูดเรื่องนี้ออกไปก็มีคนโทร.มาบอกว่า..รัฐมนตรีโดนปลดแน่ เราก็บอกว่าไม่เป็นไร ปลดก็ไม่เป็นไร เวลาไปไหนก็จะมีคนเตือน ลูกๆก็ ไม่ยอมปล่อยให้แม่ไปไหนคนเดียว ไปด้วยตลอดเวลา นอกจากนั้นก็มีบริษัทสารเคมีทำหนังสือมา บอกว่าเดี๋ยวจะฟ้องรัฐมนตรี ขอให้ศาลปกครองคุ้มครองว่าเอาคำสั่งอะไรไปสั่งเขาไม่ให้นำเข้า เราก็เข้าใจนะว่าผลประโยชน์หลายหมื่นล้าน แต่ท่านกำลังเอายาพิษมาอาบประเทศไทย เป็นฆาตกรที่ฆ่าคนอย่างถูกกฎหมาย ”
ขณะที่ “เสี่ยต่อ” กล่าวปฏิเสธถึงข่าวที่ระบุว่า เมื่อสองวันที่ผ่านมา มีผู้บริหารของบริษัทผู้ผลิตสารเคมีทางการเกษตรรายใหญ่เข้าพบที่พรรคประชาธิปัตย์เพื่อขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ช่วยชะลอเรื่องการยกเลิกออกไปเพราะบริษัทจะได้รับผลกระทบนั้นไม่เป็นความจริงและเป็นการกล่าวหาเพื่อทำลายกันทางการเมือง
“ไม่มีแน่นอน ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งรมว. เกษตรฯ ไม่เคยรู้จักตัวแทนบริษัทสารเคมีใดๆ และไม่ให้ใครมาเข้าพบเพื่อหารือเรื่องนี้ ขอย้ำว่า เมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ยกเลิกใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะลงนามยกเลิกใช้ในพื้นที่เกษตรทั้ง 149 ล้านไร่ทั่วประเทศทันที”เสี่ยต่อระบุ
ถ้า “เสี่ยต่อ” ปฏิเสธแบบนี้ก็คงพอรับฟังได้ว่าไม่ได้พบกัน ส่วนจะพบ “ทีมงานของเสี่ยต่อ” หรือไม่ ไม่ทราบได้
ข้อมูลลึกๆ จากพรายกระซิบเล่าว่า ระหว่างที่เรื่องนี้กำลังกลายเป็นจุดสนใจของคนทั่วประเทศ รวมถึงมีการพิจารณาในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ช่วงบ่ายของวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมาได้มีตัวแทนของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตร ดอดเข้าไปพบกับตัวแทนพรรคใหญ่พรรคหนึ่ง ที่เป็นพรรคเก่าแก่
ตัวแทนกลุ่มดังกล่าว นำโดยอดีตข้าราชการสังกัดกรมวิชาการเกษตรรายหนึ่ง ที่ต่อมาผันตัวมาเป็นล็อบบี้ยิสต์ให้กับบริษัทขายสารเคมีการเกษตรจากตะวันตก ได้ยินว่าการพูดคุยเป็นไปอย่างออกรสออกชาติ จนในที่สุดนำมาสู่การประกาศจุดยืนแบบไม่ฟังเสียงประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI ซึ่งเป็นแกนนำหลักขององค์กรภาคประชาสังคม ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแบนสารเคมี 3 ชนิดดังกล่าว และปัจจุบันก็เข้าไปเป็น กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ขยายความถึงสาเหตุที่การแบนสารเคมีพิษดังกล่าวยืดเยื้อมาร่วม 2 ปีกว่าเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ปัญหาใหญ่อยู่ที่ระบบราชการและนักการเมือง เพราะต้องยอมรับว่านักการเมืองจำนวนมากเข้ามาสู่อำนาจได้โดยการสนับสนุนของบริษัทยักษ์ใหญ่และบริษัทที่ค้าขายสารเคมี
ขณะที่โครงสร้างของระบบราชการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร และกรรมการวัตถุอันตราย ล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบริษัทค้าสารเคมีมาโดยตลอด ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
“...อย่างผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืชของกรมวิชาการเกษตร คนหนึ่งตอนนี้เป็นนายกสมาคมแห่งหนึ่งด้านวัชพืช มีที่ตั้งอยู่ในกรมวิชาการเกษตร ดำเนินงานกิจกรรมของตัวเองโดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกลุ่มบริษัทพวกนี้ และยังมีนักวิชาการในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ที่ออกมาบอกว่าสารไม่ตกค้าง เมื่อลงไปในดินจะเสื่อมฤทธิ์ทันที จะเป็นไปได้อย่างไร จุลินทรีย์ 80-90 เปอร์เซ็นต์ถูกทำลาย หลังฉีดพ่นไป 1 เดือนแล้วตกค้าง ยังไปเจอในปลา ในนา และถึงกับเจอในทารก เข้ามาสู่ทารกได้อย่างไร ขนาดแม่ของทารกเขาไม่เคยเข้ามาอยู่ในพื้นที่เกษตร แล้วคุณพูดไปแบบนั้นได้อย่างไร ต่อมาก็พบว่านักวิชาการคนนี้อยู่ในคณะของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ค้าพาราควอต แล้วเดินทางไปมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อไปกดดันต่างๆ”วิฑูรย์ให้ข้อมูล
แน่นอน อิทธิพลของบริษัทเคมีการเกษตรย่อมไม่ธรรมดาดังที่วิฑูรย์หยิบยกมาให้เห็นภาพ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ กรณี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่มีการปล่อยข่าวออกมาว่าจะมีการตั้งกรรมการสอบด้วยเหตุออกมาเคลื่อนไหวให้แบน 3 สารเคมีเหล่านี้ รวมถึงถูกขู่ฆ่าอีกต่างหาก
“เรื่องที่ผมถูกขู่ฆ่าเป็นเรื่องจริง โดยขณะนั้นผมเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีในเฟซบุ๊ก แต่ปรากฏว่ามีผู้แสดงความคิดเห็นว่า “หมออัปรีย์ ไม่รู้หรือว่าไม่มีเงาหัวแล้ว” รวมทั้งยังขอให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของตน ไต่สวนและตรวจสอบว่าข้อมูลที่เผยแพร่มีผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์จริงหรือไม่ โดยทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการ แต่สำหรับทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์รับทราบว่าเราทำอะไรอยู่ จึงทำให้เรื่องเสร็จสิ้นภายในวันเดียว นอกจากนี้ มีการโทรศัพท์มาที่ห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ พูดด้วยน้ำเสียงค่อนข้างก้าวร้าวถามหาตัวเอง แต่เจ้าหน้าที่ประเมินว่าดูท่าจะไม่ดีจึงขอให้ปลายสายฝากข้อความไว้แทน ซึ่งเขาก็กล่าวด้วยถ้อยคำที่ไม่ดี”ศ.นพ.ธีระวัฒน์ให้ข้อมูลยืนยัน
หรือ รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นักวิชาการที่เปิดเผยผลวิจัยเรื่องการตกค้างของสารเคมี ก็มีบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติไปเอานักวิชาการที่เป็นผู้แทนของเขา เอาองค์กรเกษตรกรที่เขาจัดตั้งขึ้น บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยแล้วมีการประกาศว่ามหาวิทยาลัยจะต้องนำนักวิชาการคนนี้ออกไปจากสถาบันพร้อมทั้งมีความพยายามหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ได้รับทุนในการวิจัย
นอกจากนี้ ในขณะกำลังจะขึ้นเครื่องบินมาประชุมที่กรุงเทพฯ อาจารย์พวงรัฐได้ถูกติดตามและถามว่า “จะพูดอะไรอีกหรือ จะพูดเรื่องสารเคมีเหล่านี้ไม่ดีอย่างไรอีกหรือ” ทำให้ต้องเปลี่ยนเที่ยวบินหลายครั้งกว่าจะได้ประชุม นอกจากนี้ กลุ่มคนที่สนับสนุนยังบุกเข้าไปที่มหาวิทยาลัยนเรศวร บีบบังคับให้ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยไล่อาจารย์พวงรัตน์ออก
หรือ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่วิจัยเรื่องสารตกค้างในทารก ก็ปรากฏว่ามีหนังสือจากบริษัทยักษ์ใหญ่ไปยังผู้บริหาร ขอให้ตอบว่าตรวจอย่างไรถึงได้ผลออกมาแบบนี้
ตีแผ่พิษร้าย ฉิบหาย ตายเห็นๆ
กล่าวสำหรับ พาราควอต (Paraquat) หรือยาฆ่าหญ้ามีอันตรายต่อสุขภาพ เพียงสัมผัสโดนผิวหนังก็อาจเป็นแผลพุพอง หรือเผลอโดนตา ทำให้ตาบวม แดง อักเสบ ประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลง สูดดมเข้าไปก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการท้องเสีย ถ่ายมีเลือดปน มีฤทธิ์ทำลายสมอง เพิ่มโอกาสเสี่ยงโรคพาร์กินสัน ส่งผลต่อเด็กและหญิงตั้งครรภ์ และเสียชีวิตทันทีหากร่างกายได้รับเพียง 1-2 ช้อนชา โดยฤทธิ์ของยาทำลายจุลินทรีย์ในดิน ส่งผลกระทบต่อปลาและสัตว์น้ำ
สำหรับในประเทศไทยนั้น พาราควอตเป็นที่รู้จักในชื่อการค้าว่า “กรัมม็อกโซน” (Grammoxone) และถือเป็นยาฆ่าวัชพืช (ยาฆ่าหญ้า) ที่เกษตรกรไทยนิยมใช้มากที่สุดในพืชไร่ ทั้งไร่อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา
จากการศึกษาของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบการตกค้างของพาราควอตในซีรั่มทารกแรกเกิดและมารดา และหากมีประวัติการขุดดินในพื้นที่เกษตร ยิ่งมีความเสี่ยงในการตรวจพบพาราควอต คิดเป็น 6 เท่าของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีการขุดดิน
ขณะที่ ไกลโฟเซต (Glyphosate) คนทั่วไปรู้จักในชื่อทางการค้าว่า “ราวด์อัพ”เป็นสารควบคุมวัชพืช มีความเสี่ยงก่อมะเร็ง เข้าไปทำลายโรงงานพลังงานในเซลล์ต่างๆ ก่อตัวเกิดโรคมะเร็งน้ำเหลือง โรคไต โดยศาลแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เคยตัดสินให้บริษัทจ่ายค่าเสียหายแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เกิดจากการฉีดพ่น
ในประเทศไทยพบไกลโฟเซตปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร พบการตกค้างของไกลโฟเซตในน้ำดื่มบรรจุขวดที่ผลิตในจังหวัดน่านเฉลี่ย 10.1 ไมโครกรัมต่อลิตร และพบในน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค 11.26 ไมโครกรัมต่อลิตร โดยมีระดับการตกค้างในหลายตัวอย่างที่เกินค่ามาตรฐานของบางประเทศ การตกค้างของไกลโฟเซตในสิ่งแวดล้อมและในร่างกายของแม่และทารกเป็นสิ่งที่น่ากังวล เนื่องจากมีงานวิจัยชี้ว่าการตกค้างแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อได้
ส่วน คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) เป็นสารกำจัดแมลง ที่เป็นพิษต่อระบบประสาท และเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมและลำไส้ โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาด้านจิตใจของเด็กเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
งานวิจัยตรวจสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา รายงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล และข้อมูลการตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผัก-ผลไม้ ของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกัน โดยพบว่าคลอร์ไพริฟอสเป็นสารเคมีที่ตกค้างมากที่สุดในกลุ่มสารกำจัดแมลง
นอกจากนี้ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า ในช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณ 2562 คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 - 17 ก.ค. 2562 มีรายงานผู้ป่วยเข้ารับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ จากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จำนวน 3,067 ราย เสียชีวิต 407 ราย เบิกจ่ายค่ารักษากว่า 14.64 ล้านบาท โดยแยกผู้ป่วยตามประเภทของสารเคมี ดังนี้ 1.ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต จำนวน 705 ราย เสียชีวิต 58 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 4.27 ล้านบาท 2.ยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าเชื้อรา จำนวน 1,337 ราย เสียชีวิต 336 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 6.79 ล้านบาท และ 3.สารเคมีทางการเกษตรประเภทอื่นๆ จำนวน 1,025 ราย เสียชีวิต 13 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 3.57 ล้านบาท โดยเขตเชียงใหม่มีผู้ป่วยเข้ารับบริการมากที่สุด จำนวน 506 ราย รองลงมา เขตราชบุรี จำนวน 390 ราย เขตนครสวรรค์ จำนวน 340 ราย และนครราชสีมา จำนวน 338 ราย
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลผู้ป่วยในระบบบัตรทองแต่ละปีย้อนหลังจะเห็นได้ว่า มีประชาชนจำนวนมากที่เข้ารับการรักษาจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยปี 2559 มีผู้ป่วยจำนวน 4,876 ราย เสียชีวิต 606 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 22.19 ล้านบาท ปี 2560 มีผู้ป่วย 4,916 ราย เสียชีวิต 579 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 21.85 ล้านบาท และในปี 2561 มีผู้ป่วย 4,736 ราย เสียชีวิต 601 ราย เบิกจ่ายค่ารักษา 21.78 ล้านบาท หากรวมจำนวนผู้เสียชีวิตจากการรับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในช่วง 4 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2562 มีจำนวนถึง 2,193 ราย รวมงบประมาณค่ารักษาพยาบาลกว่า 20 ล้านบาทต่อปี ไม่รวมผู้ป่วยในสิทธิรักษาพยาบาลอื่นๆ สะท้อนให้เห็นผลกระทบของการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชที่เกิดขึ้น โดยถือเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์
แน่นอน คำถามที่คนไทยทุกคนจะต้องตอบก็คือ เราจะปล่อยให้ประเทศไทยดำเนินไปอย่างนี้หรือ เพราะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า สารเคมีทั้ง 3 ชนิดอันตรายจริง และหลายประเทศก็ได้สั่งห้ามใช้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
และความจริงอันน่าตื่นตระหนกก็คือ แม้ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ อ้างว่ามีการจำกัดการใช้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลข “สต็อกสารเคมี” เหล่านี้ยังมีปริมาณที่อักโข เช่น บริษัทที่นำเข้า “พาราควอต” รายใหญ่รายหนึ่ง ในปี 2561 นำเข้าพาราควอต 5.8 แสนกิโลกรัม ส่วนปี 2562 ไม่มีตัวเลขแจ้งการนำเข้าแต่อย่างใด ทว่า เมื่อขอตรวจดูสต๊อกสินค้า พบว่ามีสารพาราควอตอยู่ 300,000 กิโลกรัม โดยผู้จัดการอ้างว่าเป็นการซื้อมาจากบริษัทอื่น ส่วนปี 2562 ได้มีการนำเข้าไกลโฟเซต 500,000 กิโลกรัม ปัจจุบันเหลืออยู่ในสต๊อก 2.7 แสน กิโลกรัม
นั่นแสดงให้เห็นว่า บริษัทมีความมั่นใจว่าจะไม่มีการแบนในระยะเวลาอันใกล้ใช่หรือไม่ ไม่เช่นนั้นทำไมถึงสต๊อกเอาไว้มากมายเช่นนี้
ถ้ายุ่งยากและมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เยี่ยงนี้ ประชาชนคนไทยควรผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวโดยเรียกร้องให้ “ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปลด “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ให้พ้นเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมโละ “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” ที่มี “อภิจิณ โชติกเสถียร” รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน จะง่ายกว่าหรือไม่
และถ้าจะให้ดีก็สมควรที่จะต้อง “ปฏิรูปกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ครั้งใหญ่ โดยกำหนดให้เป็น “วาระแห่งชาติ” เพราะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า อะไรเป็นอะไร
ส่วน “พรรคประชาธิปัตย์” ที่เสียรังวัดในเรื่องนี้อย่างรุนแรง บอกได้คำเดียวว่า พ่ายแพ้ในทางการเมืองหมดรูป และมีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะกระทบต่อ “คะแนนนิยม” และ “ฐานเสียง” อย่างมาก
บทเรียนจากการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ ได้แสดงให้เห็นมาแล้วหากยัง “แทงกั๊ก” ตามวิถีถนัดของตนเอง ฟันธงเลยว่า เที่ยวหน้า “พลพรรคแมลงสาบ” มีสิทธิ “ตายยกรัง” กันเลยทีเดียว