xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พรานล่า “นกชนหิน” ปักหมุดประเทศไทย ตัด “งาสีเลือด” ส่งขาย “จีน-สิงคโปร์”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เครือข่ายนักอนุรักษ์ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกระดับการคุ้มครองนกชนหิน ขึ้นบัญชีเป็นสัตว์สงวนชนิดใหม่ ลำดับที่ 20 ภาพจาก เฟซบุ๊ก Watcharabul Leesuwan
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงยิ่ง เมื่อขบวนการลักลอบล่า “นกชนหิน” นกเงือกสายพันธุ์โบราณหายาก ถึงในเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เพื่อนำ “โหนก” ที่เรียกขานกันว่า “งาสีเลือด”ไปขายให้กลุ่มนักสะสมเครื่องประดับจากชิ้นส่วนสัตว์ป่า จนสุ่มเสี่ยงที่จะสูญพันธ์

ทั้งนี้ นกชนหิน (Helmeted hornbill) เป็นนกขนาดใหญ่ในวงศ์นกเงือก มีถิ่นอาศัยกระจายในพื้นที่ป่าดิบชื้นทางตอนใต้ของคาบสมุทรมาเลย์ ไปจนถึงเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว โดยมีเขตกระจายพันธุ์เหนือสุดบริเวณภาคใต้ตอนล่างของไทย อยู่ในบัญชี 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ หรือ ไซเตส (CITES) ตั้งแต่ปี 2518 ห้ามค้าชิ้นส่วนของนกชนหินมีความตามผิดกฎหมายทั้งไทยและทั่วโลก รวมทั้ง มีสถานะการคุ้มครองเป็นสัตว์คุ้มครองในประเทศไทย

เป็น 1 ใน 13 ชนิดของกลุ่มนกเงือกในไทย อยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง คาดการณ์ว่าในเมืองไทยมีประชากรประมาณ 100 ตัว โดยพบการกระจายพันธุ์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา จ.นราธิวาส, อุทยานแห่งชาติบางลาง จ.ยะลา อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี และอุทยานแห่งชาติเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี

นกชนหิน มีลักษณะโดดเด่นต่างกับนกเงือกชนิดอื่นๆ ด้วยอวัยวะส่วน “โหนกบริเวณหัวกะโหลก” ที่มีสีเหลืองแดงจะตันแข็งเหมือนงาช้าง จนได้รับการขนานนามว่า “งาสีเลือด” ทำให้ถูกนำไปใช้ในการทำตราประทับ เครื่องตกแต่ง กำไล สร้อย ทดแทนงาช้าง อีกทั้งมีความเชื่อว่าเป็นสิ่งมงคล ทำให้โหนกของนกชนหินมีมูลค่ามาก เป็นที่ต้องการในตลาดซื้อขายชิ้นส่วนสัตว์ป่า จนเกิดการลักลอบล่านกชนหินอย่างบ้าคลั่ง โดยเฉพาะในประเทศจีนและสิงคโปร์

ข้อมูลในตลาดมืดระบุว่า เฉพาะหัวนกชนหินนั้นหากส่งไปถึงมือผู้ซื้อได้จะมีราคาสูงถึงหัวละ 30,000 บาทเลยทีเดียว

ไม่นานมานี้ ทางการอินโดนีเซียตรวจยึดหัวนกชนหินที่ถูกล่าล็อตใหญ่ มากกว่า 70 หัว ก่อนนำส่งออกปลายทางประเทศจีน โดยนักวิจัยนกเงือกชาวอินโดนีเซีย เปิดเผยรายงานว่าในอินโดนีเซีย รัฐกาลิมันตันบนเกาะบอร์เนียว มีการล่านกชนหินมากถึง 6,000 หัว ใน 1 ปี ซึ่งแนวโน้มการลักลอบล่าตัดหัวนกชนหินรุนแรงขึ้น หลังจาก ไซเตส ห้ามนำเข้างาช้างแอฟริกาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ การล่าเพื่อเอาโหนกอย่างต่อเนื่อง ทำให้สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) จัดให้ “นกชนหิน” อยู่ในสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered)

ขณะที่ในประเทศไทย ในช่วงเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา มีข่าวพรานป่าอุกอาจล่าหัวนกชนหินในผืนป่าเมืองไทย บริเวณเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาส
บริเวณส่วนหัวหรือโหนกของนกชนหิน ภาพจากสำรวจโลก
โหนกนกชนหินถูกนำไปทำตราประทับ เครื่องตกแต่ง กำไล สร้อย ซื้อขายกันมูลค่าสูง ภาพจากองค์กรติดตามการค้าสัตว์ป่า (TRAFFIC)
ชาวบ้านในเครือข่ายโครงการคุ้มครองนกเงือก (ส่วนภาคใต้) บอกเล่าโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับนกชนหินว่า พบเจอนายพรานซุ่มยิงนกชนหิน 4 ตัว ถูกนายพรานล่าเอาชีวิตเพื่อแลกกับเงินค่าหัว หัวละ 10,000 บาท ครั้นชาวบ้านเข้าไปเตือนบอกกล่าวดีๆ กลับโดนกลุ่มนายพรานชักปืนข่มขู่

ปรีดา เทียนส่งรัศมี หัวหน้าโครงการคุ้มครองนกเงือก (ส่วนภาคใต้) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยข้อมูลจากการสำรวจของโครงการคุ้มครองนกเงือกฯ ในพื้นที่นั้น มีนกเงือก อยู่ในความดูแลราว 200 โพรงรัง และ นกชนหินประมาณ 20 โพรงรัง ซึ่งตลอดทั้งปีนี้นกชนหินเพิ่งเข้ามาเพียง 1 โพรงรังเท่านั้น

“ชาวบ้านที่ทำงานกับโครงการของเราเขาบอกว่า โพรงรังเบอร์ 10 ที่เป็นนกชนหินนั้น ตัวผู้ไม่เข้ารังมาสักพักแล้ว คาดว่าพ่อนกน่าจะโดนยิงไปแล้ว เพราะนกชนหินทั้ง 4 ตัวที่ชาวบ้านเจอในมือพรานก็น่าจะมาจากที่บูโดนี่แหละ” ปรีดา เทียนส่งรัศมี หัวหน้าโครงการคุ้มครองนกเงือกฯ กล่าว

ทั้งนี้ ธรรมชาติของ นกชนหิน ตัวผู้จะบินไปหาอาหารให้ตัวเมียที่เลี้ยงลูกในโพรงสูงของต้นไม้ขนาดใหญ่ และจะทำหน้าที่หาอาหารเป็นเวลา 6 เดือน หากพ่อถูกฆ่าตายหมายความว่าแม่และลูกจะตายด้วย

มีการตั้งข้อสังเกตว่าพรานกลุ่มนี้น่าจะเป็นอดีตทหารพรานเก่า เพราะความเจนจัดในพื้นที่อย่างดี สังเกตได้จากการพกปืนผ่านเข้า-ออกพื้นที่ได้อย่างสะดวก ทั้งๆ ที่พื้นที่บริเวณนี้เต็มไปด้วยด่านของเจ้าหน้าที่

อย่างไรก็ตาม การลักลอบล่าหัวนกชนหินอย่างอุจอาจในในเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาส นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แสดงความกังวลว่าในประเทศไทยเหลือนกชนหินดำรงเผ่าพันธุ์อยู่เพียงประปรายในป่าดิบภาคใต้ ที่ผ่านมาใบออร์เดอร์ยังมาไม่ถึงเมืองไทยเพราะการล่าที่ อินโดนีเซีย ทำได้ง่ายกว่า แต่ปัจจุบันนกชนหินแทบจะหมดไปจากบอร์เนียว และพื้นที่อื่นๆ ที่เคยพบชุกชุม ความต้องการทางตลาดจึงพุ่งเป้ามาที่พื้นที่ภาคใต้ของไทย

“ขณะนี้เริ่มมีการขบวนการล่านกชนหินอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโดสุไหงปาดี จ.นราธิวาส แต่ด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่เพียงน้อยนิด จึงอาจไม่สามารถป้องปรามภัยคุกคามนี้ได้”

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เครือข่ายนักอนุรักษ์ เรียกร้องให้ภาครัฐ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “ยกระดับการคุ้มครองนกชนหิน” ให้ “ขึ้นบัญชีเป็นสัตว์สงวนชนิดใหม่ ลำดับที่ 20” รวมถึงเร่งระดมกำลังและทรัพยากรในการเข้าปรามปรามขบวนการล่าค้านกชนหินอย่างเด็ดขาดครบวงจร ทั้งในพื้นที่ตลอดจนเครือข่ายออนไลน์ใต้ดิน มิเช่นนั้น อีกไม่นานเราสูญเสียเผ่าพันธุ์นกชนหิน อันเป็นนกเงือกสายพันธุ์โบราณหายาก

รวมทั้ง เกิดแคมเปญ “ขอให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนอันดับที่ 20 ของไทย” ผ่านเว็บไซต์ www.change.org ซึ่งที่ผู้ร่วมลงชื่อเป็นจำนวนมาก

สำหรับ สถานการณ์การลักลอบซื้อขายชิ้นส่วนและเครื่องประดับจากโหนกนกชนหินในโลกออนไลน์ในเมืองไทย ข้อมูลจากองค์กรติดตามการค้าสัตว์ป่า (TRAFFIC) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า ระยะเวลาเดือน 6 เดือน ระหว่างเดือนตุลาคม 2561 - เมษายน 2562 ยังคงดำเนินไปอย่างคึกคักไม่เกรงกลัวกฎหมาย

พบโพสต์ซื้อขายสินค้าจากนกเงือกถึงอย่างน้อย 236 โพสต์ เสนอขายชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากนกเงือกมากกว่า 546 ชิ้น โดย 173 โพสต์ (73 เปอร์เซ็นต์) ของการซื้อขายสินค้าจากนกเงือกนั้น เป็นสินค้าจาก “โหนกนกชนหิน” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยมและความต้องการในตลาดที่สูงมาก

เมธินีย์ ภัสสราอุดมศักด์ นักวิจัยจากองค์กร TRAFFIC เปิดเผยว่ารายงานการศึกษาดังกล่าวไม่สามารถระบุที่มาของโหนกนกชนหินที่นำมาขายในตลาดออนไลน์ไทย แต่จากข้อมูลวิชาการหลายๆ แหล่งระบุตรงกันว่า โหนกนกส่วนมากจะถูกล่าเอาโหนกมาจากป่าในมาเลเซียและอินโดนีเซีย เพื่อส่งต่อนำไปขายในตลาดนักสะสมชิ้นส่วนสัตว์ป่าในจีน ไทย และลาว สนนราคาของเครื่องประดับจากโหนกนกชนหินจะมีมูลค่าสูงถึง 20,000 - 30,000 บาท

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า “นกชนหิน” กำลังตกอยู่สภาวะใกล้สูญพันธุ์เต็มที ยิ่งการประกาศซื้อขายเครื่องประดับนกชนหินรวมทั้งลูกนกในโลกออนไลน์อย่างโจ่งแจ้ง ตอกย้ำถึง “วิกฤตการณ์นกชนหิน” ได้เป็นอย่างดี หากภาครัฐไม่เร่งดำเนินการออกมาตรการใดๆ เพื่อปกป้องคุ้มครองนกชนหินในผืนป่าแดนใต้ อีกไม่นานนกสายพันธุ์โบราณชนิดนี้คงหายไปตลอดกาล


กำลังโหลดความคิดเห็น