"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
อุดมการณ์ชาตินิยมเป็นปรากฎการณ์ทางสังคมที่ซับซ้อน มีความคลุมเครือและขัดแย้งทั้งในแง่ของชุดค่านิยมและเป้าหมาย เป็นทั้งอุดมการณ์มีเป้าหมายเพื่อปลดปล่อยให้เป็นอิสรภาพ และปกครองตนเอง ขณะเดียวกันก็มีเป้าหมายแห่งการปราบปราม ครอบครอง และกดขี่อยู่ด้วย
ชาตินิยมมีทั้งลักษณะที่ก้าวหน้าและล้าหลังในตัวของมันเอง ด้านที่ก้าวหน้าคือการมองอนาคตของแห่งความเป็นอิสระของชาติหรือความยิ่งใหญ่ของชาติ ส่วนด้านที่ล้าหลังคือการเชิดชูอดีตแห่งความรุ่งเรืองของชาติและยึดมั่นกับอัตลักษณ์เดิม
ชาตินิยมยังมีทั้งมิติของความเป็นเหตุผลและความไร้เหตุผลผสมผสานกันอีกด้วย เป็นการผสมระหว่างความเชื่อเกี่ยวกับหลักการกำหนดทิศทางด้วยตนเองอย่างเป็นอิสระของชาติ กับแรงขับเคลื่อนทางอารมณ์ความรู้สึกโดยเฉพาะความกลัวและความเกลียดชัง
การที่อุดมการณ์ชาตินิยมไม่มีรูปลักษณ์ชัดเจนเป็นผลมาจากอุดมการณ์นี้เกิดขึ้นในบริบททางประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย ซึ่งถูกปรับเปลี่ยนโดยมรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกันของแต่ละประเทศ รวมทั้งได้รับการนำไปใช้ทางการเมืองด้วยเหตุผลและความปรารถนาที่แตกต่างกันอีกด้วย
อย่างไรก็ตามการมีรูปลักษณ์หลากหลายสะท้อนถึงสมรรถภาพของชาตินิยมในการซึมซับและหลอมรวมความคิดทางการเมืองอื่น ๆ เข้ามาผสมจนเป็นเนื้อเดียวกัน ด้วยเหตุนี้อุดมการณ์ชาตินิยมจึงมีรูปแบบผสมที่สำคัญขึ้นมาอย่างน้อยสี่ประเภท คือ ชาตินิยมเสรี ชาตินิยมอนุรักษ์ ชาตินิยมขยายอำนาจ และ การต่อต้านอาณานิคมและชาตินิยมหลังอาณานิคม
อุดมการณ์ชาตินิยมเสรีเป็นรูปแบบดั้งเดิมของชาตินิยม ซึ่งกำเนิดในยุคปฏิวัติฝรั่งเศส ต่อมาขยายไปทั่วยุโรปและอเมริกา และในเอเชียช่วงต้นและกลางศตวรรษที่ยี่สิบดังการใช้อุดมการณ์ชาตินิยมเป็นแกนหลักขับเคลื่อนต่อสู้เพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยมของ ดร. ซุนยัดเซน ในประเทศจีน และชวาหะร์ลาล เนห์รู ในประเทศอินเดีย
ความคิดชาตินิยมเสรีมีรากฐานจาก ปรัชญาการเมืองของรุสโซ เกี่ยวกับแนวคิดเจตจำนงทั่วไปของประชาชน และอธิปไตยเป็นของประชาชน หรือชาติคือประชาชน ซึ่งกระตุ้นและสร้างแรงดลใจให้เกิดการเรียกร้องรัฐบาลที่ปกครองตนเองโดยประชาชนขึ้นมา การปฏิวัติของประเทศยุโรปหลายแห่งช่วงกลางศตวรรษที่สิบเก้าได้รับอิทธิพลจากความคิดนี้ และเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงการผนึกรวมของแนวคิดชาตินิยมและเสรีนิยมอย่างชัดเจน
ชาตินิยมเสรีมีจุดยืนต่อต้านการครอบงำและการกดขี่ของต่างชาติทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นจักวรรดินิยมหรืออำนาจเจ้าอาณานิคม และสนับสนุนความคิดการปกครองตนเองและระบบการปกครองแบบการเลือกตัวแทน ชาตินิยมเสรียังเชื่อว่า ชาติก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับปัจเจกบุคคลคือมีความเท่าเทียมกัน อย่างน้อยเท่าเทียมกันในสิทธิแห่งการกำหนดชะตากรรมด้วยตนเอง เป้าหมายสูงสุดของชาตินิยมเสรีคือ การสร้างโลกที่ประกอบด้วยรัฐชาติทั้งมวลที่เป็นอิสระและมีเอกภาพภายในชาติ การมีระเบียบโลกที่เสถียรภาพ มีภราดรภาพระหว่างชาติ และสันติภาพ
ชาตินิยมเสรีเสนอแนวทางหลักสองประการเพื่อป้องกันการรุกรานระหว่างชาติ ประการแรกคือ การพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างชาติต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนความเข้าใจร่วมกันและการร่วมมือซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้ชาวชาตินิยมเสรีจึงสนับสนุนนโยบายการค้าเสรี(free trade) อย่างแข็งขัน ฬนฐานะที่กลไกสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือระหว่างชาติต่าง ๆ ในโลก ประการที่สอง สนับสนุนการมีองค์การระหว่างประเทศเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลความทะเยอทะยานของแต่ละประเทศ การจัดการความขัดแย้งระหว่างประเทศ และรักษาระเบียบโลกมิให้มีสภาพเป็นอนาธิปไตย
อย่างไรก็ตามชาตินิยมเสรีถูกวิจารณ์ว่าเป็นความคิดที่ไร้เดียงสาแบบโลกสวย เพราะว่าในความเป็นจริงชาตินิยมมีด้านมืดดำรงอยู่อันได้แก่ ลัทธิชนเผ่านิยม(tribalism) ซึ่งเป็นด้านที่มีอารมณ์ความรู้สึกเป็นรากฐาน ชมชอบแยกตัวโดดเดี่ยว นิยมการแบ่งแยกกลุ่มระหว่าง “พวกเรา” ออกจาก “พวกเขา” อย่างชัดเจน มีความรู้สึกที่เป็นปรปักษ์กับกลุ่มที่ไม่ใช่ “พวกเรา” และอาจพัฒนาไปสู่การกระทำที่รุนแรงต่อกลุ่มที่ถูกมองว่าไม่ใช่พวกเดียวกันได้โดยง่าย
อุดมการณ์ชาตินิยมแบบที่สองคือ ชาตินิยมอนุรักษ์ เป็นสิ่งที่ย้อนแย้งทางประวัติศาสตร์พอสมควร เริ่มแรกเดิมทีในต้นศตวรรษที่สิบเก้า ชาวอนุรักษ์นิยมมองอุดมการณ์ชาตินิยมว่าเป็นความคิดที่รุนแรงและเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพทางการเมือง อย่างไรก็ตามในศตวรรษต่อมา ชาวอนุรักษ์นิยมกลับชื่นชมและสนับสนุนอุดมการณ์ชาตินิยมอย่างออกหน้าออกตา โดยมองเป็นอุดมการณ์ที่รักษาระเบียบสังคมและปกป้องสถาบันดั้งเดิมอย่างมีประสิทธิผล และในยุคสมัยใหม่ ชาตินิยมกลายเป็นคัมภีร์แห่งความศรัทธาของชาวอนุรักษ์นิยมในเกือบทุกส่วนของโลก
ชาวอนุรักษ์นิยมให้ความสำคัญน้อยกับหลักการการกำหนดชะตากรรมตนเองอันเป็นแก่นอย่างหนึ่งชาตินิยมดั้งเดิม ทว่าเน้นอย่างมากต่อหลักการความสมานฉันท์และความเป็นระเบียบของสังคมที่ผนึกอยู่ในรูปของความรักชาติ ดังนั้นการผสานระหว่างอนุรักษ์นิยมกับชาตินิยมจึงสร้างรูปลักษณ์ทางความคิดและความเชื่อแบบโหยหาอดีตอันแสนรุ่งโรจน์ขึ้นมา ชาวชาตินิยมอนุรักษ์จึงมุ่งเน้นการรื้อฟื้นจารีตประเพณีดั้งเดิมอันสูงส่งของชาติ และการเฉลิมฉลองเหตุการณ์ที่ประเทศตนเองประสบชัยชนะเหนือประเทศคู่ขัดแย้งในประวัติศาสตร์ รวมทั้งการใช้สถาบันเชิงประเพณีเป็นสัญลักษณ์ของอัตลักษณ์ของชาติ
กระแสชาตินิยมอนุรักษ์พุ่งสูงขึ้น หากประชาชนในประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดความรู้สึกว่าอัตลักษณ์แห่งชาติถูกคุกคามหรือเสี่ยงต่อการสูญสลาย การอพยพและความเชื่อแบบ “ชาตินิยมเข้มข้น” จึงกลายเป็นเชื้อเพลิงหล่อเลี้ยงชาตินิยมแบบนี้ให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยตรรกะที่ว่า การอพยพทำให้สังคมมีความหลากหลายวัฒนธรรมและความเชื่อ ซึ่งนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพและความขัดแย้งในที่สุด ส่วนสังคมที่ประสบความสำเร็จและมีเสถียรภาพนั้นต้องตั้งอยู่บนรากฐานที่มีค่านิยมร่วมกันและมีวัฒนธรรมเดียวกัน ดังนั้นชาวชาตินิยมอนุรักษ์จึงเสนอให้รัฐมีนโยบายจำกัดผู้อพยพอย่างเข้มงวด และใช้นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมอย่างเข้มข้นกับชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามา เพื่อให้กลุ่มเหล่านั้นซึมซับ รับ และยึดถือวัฒนธรรมของประเทศที่เข้าไปพึ่งพิงอาศัยเป็นวิถีชีวิตของตนเอง ในแง่นี้ชาตินิยมอนุรักษ์จึงมีมุมมองที่ตรงข้ามกับอุดมการณ์พหุวัฒนธรรมนิยม
ชาวชาตินิยมอนุรักษ์ถูกวิจารณ์ว่า เป็นรูปแบบของการครอบงำของกลุ่มชนชั้นนำในสังคม ชาติเป็นสิ่งประดิษฐ์และนิยามโดยชนชั้นนำทางการเมือง เพื่อรับใช้ผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชนทั้งมวล หลักฐานเชิงประจักษ์ในเรื่องนี้คือ ช่วงเวลาที่มีสงครามหรือวิกฤติระหว่างประเทศ ชาติและความรักชาติเป็นสิ่งที่ถูกใช้เพื่อปลุกระดมประชาชนให้ต่อสู้เพื่อ “ปิตุภูมิ” อันเป็นปิตุภูมิที่ครอบงำด้วยอำนาจของชนชั้นนำในสังคมนั่นเอง ยิ่งกว่านั้นชาตินิยมอนุรักษ์ยังสร้างความอ่อนไหวทางอารมณ์และความเชื่อที่ปราศจากเหตุผล ซึ่งทำให้ผู้คนมีความอดกลั้นต่อความแตกต่างลดลง และมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มที่ถูกมองว่าไม่ใช่พวกเดียวกับตนเองด้วย อันเป็นลักษณะของลัทธิเหยียดเชื้อชาติ และเป็นโรคหวาดกลัวคนต่างชาติ
อุดมการณ์ชาตินิยมแบบที่สาม ซึ่งเรียกว่าชาตินิยมขยายอำนาจ เป็นชาตินิยมแบบก้าวร้าว มีลักษณะแบบลัทธิทหารนิยม ชอบรุกรานขยายอำนาจเพื่อครอบครองบงการชาติอื่น เป็นแนวคิดที่ตรงข้ามแบบการกำหนดชะตากรรมด้วยตนเองของแต่ละชาติ ลัทธิชาตินิยมก้าวร้าวปรากฏชัดในปลายศตวรรษที่สิบเก้า โดยการยาตราของชาติในทวีปยุโรปเข้าไปรุกรานแอฟริกา ในนามของความรุ่งเรืองแก่ชาติของตนเอง ในประเทศอังกฤษมีการประดิษฐ์คำ “jingoism” หรือ “ลัทธิบูชาชาติ” ขึ้นมา ลัทธินี้เชื่อว่าชาติตนเองสูงส่งเหนือกว่าชาติอื่นใดทั้งปวง พวกบูชาชาติจะเฉลิมฉลองอย่างยินดีและภาคภูมิใจอย่างเหลือล้น หากกองกำลังทหารของชาติตนเองเข้าไปยึดครองชาติอื่น ๆ ได้สำเร็จ
ชาตินิยมขยายอำนาจมีลักษณะแตกต่างจากชาตินิยมเสรีอีกประการคือ ขณะที่ชาตินิยมเสรีเชื่อว่าแต่ละชาติเท่าเทียมกัน แต่ชาตินิยมขยายอำนาจกลับเชื่อว่า แต่ละชาติมีความไม่เท่าเทียมกัน บางชาติสูงส่ง บางชาติต่ำต้อย ซึ่งถูกกำหนดโดยเชื้อชาติและวัฒนธรรม หลักคิดแบบนี้เป็นรากฐานของลัทธิจักรวรรดินิยมของประเทศยุโรปในศตวรรษที่สิบเก้าและยี่สิบ พวกเขามีความเชื่อว่าคน “ผิวขาว” ในยุโรป มีความฉลาดและมีคุณธรรมสูงกว่าคนผิวดำ ผิวน้ำตาล และผิวเหลือง ในแอฟริกาและเอเชีย ผู้ที่มีความเชื่อแบบนี้ตกอยู่ในความเชื่อที่เรียกว่า “chauvinism” หรือ “ลัทธิหลงใหลชาติ”
พวกหลงใหลชาติในปัจจุบันมักแสดงอารมณ์ความรักชาติอย่างก้าวร้าว มุ่งเน้นการขยายอำนาจและครอบครอง รวมทั้งการก่อสงคราม พวกเขาเรียกร้องให้ผู้คนจงรักภักดีต่อชาติอย่างปราศจากเงื่อนไข อุทิศและทุ่มเทเสียสละตนเองเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ และประณามผู้ไม่เห็นด้วยว่าเป็นผู้ทรยศต่อชาติ รวมทั้งสนับสนุนนโยบายการผลิตอาวุธ การขยายกองกำลังทหาร และยึดครองประเทศอื่น
สำหรับอุดมการณ์ชาตินิยมประเภทสุดท้ายคือ การต่อต้านอาณานิคมและชาตินิยมหลังอาณานิคม เป็นอุดมการณ์ที่ผู้คนในทวีปเอเชียและแอฟริกาใช้ต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคมของประเทศยุโรปและอเมริกาเหนือ การต่อต้านอาณานิคมเป็นการแสดงออกถึงความปรารถนาเพื่อปลดปล่อยประเทศให้เป็นอิสระจากการยึดครองของประเทศเจ้าอาณานิคมทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ
รูปแบบของชาตินิยมต่อต้านอาณานิคมมีความหลากหลาย เช่น มหาตมะคานธี ใช้แนวคิดชาตินิยมอินเดียร่วมกับแนวคิดเชิงจริยธรรมตามหลักอหิงสา ที่มีรากเหง้าจากวัฒนธรรมฮินดู ขณะที่บางประเทศอย่างเช่น จีนและเวียดนาม ใช้อุดมการณ์สังคมนิยมผสมกับชาตินิยมเพื่อต่อสู้กับประเทศจักรวรรดินิยม แม้ว่าอุดมการณ์สังคมนิยมมีแก่นแห่งความเป็นสากลนิยมก็ตาม แต่ที่มีการใช้สังคมนิยมผสมกับชาตินิยมเป็นเพราะว่า บางส่วนของสังคมนิยมเน้นค่านิยมแห่งความเป็นชุมชนและความร่วมมือสามัคคีของผู้ที่อยู่ในชนชั้นเดียวกัน อีกทั้งสังคมนิยมยังมอบกรอบความคิดสำหรับการวิเคราะห์สังคมอย่างเป็นระบบ ทำให้เห็นถึงสาเหตุและรากเหง้าของความไม่เท่าเทียมและการกดขี่ ซึ่งสะท้อนภาพการกระทำของบรรดาชาติจักรวรรดินิยมอันเป็นตัวแทนของชนชั้นนายทุนที่เข้ามารุกราน ครอบครอง และกดขี่ประเทศจีนและเวียตนามในช่วงเวลานั้นอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตามช่วงหลังอาณานิคม รูปแบบชาตินิยมมีความแตกต่างออกไป การที่อำนาจของอุดมการณ์สังคมนิยมเริ่มเสื่อมถอยตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 การสร้างชาติในยุคหลังจากนั้นมีทิศทางในการปฏิเสธความคิดและวัฒนธรรมตะวันตก มากกว่าการนำความคิดตะวันตกไม่ว่าความคิดใดมาประยุกต์ใช้อย่างชัดเจน ด้วยความคิดที่ว่า ประเทศตะวันตกเป็นแหล่งของการกดขี่และขูดรีดประเทศที่กำลังพัฒนา อุดมการณ์ชาตินิยมหลังอาณานิคมในประเทศที่กำลังพัฒนาจึงมีแนวโน้มต่อต้านความคิดและวัฒนธรรมตะวันตกในทุกรูปแบบทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม การต่อต้านมีความเข้มข้นสูงในประเทศที่มีการผสมของอุดมการณ์ชาตินิยมกับอุดมการณ์ศาสนานิยมเข้าด้วยกัน เช่น ประเทศในตะวันออกกลางบางประเทศ
โลกในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด อุดมการณ์ชาตินิยมอนุรักษ์ฟื้นตัวและแพร่กระจายมากขึ้นในประเทศยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา อันเนื่องจากความหวาดกลัวต่อผู้อพยพจากประเทศตะวันออกกลางและอเมริกากลาง เช่นเดียวกันกับอุดมการณ์ชาตินิยมขยายอำนาจของสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มขยายตัวทั้งในรูปแบบของการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจและกำลังทหาร ขณะเดียวกันอุดมการณ์ชาตินิยมหลังอาณานิคมที่ผสมผสานระหว่างศาสนานิยม ปรัชญาดั้งเดิมของชาติ และชาตินิยมเข้าด้วยกัน ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ฮินดู และปรัชญาขงจื๊อ
ด้วยเหตุที่อุดมการณ์ชาตินิยมมีความยืดหยุ่นสามารถผสมผสานความคิดและความเชื่อของอุดมการณ์อื่นเข้ามาผนึกเป็นส่วนหนึ่งของตนเองได้อย่างหลากหลาย มีค่านิยมและเป้าหมายหลายชุดที่แตกต่างกัน จึงทำให้อุดมการณ์ชาตินิยมมีรูปลักษณ์ที่ขัดแย้งในตนเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้