xs
xsm
sm
md
lg

อุดมการณ์การเมือง (๑๒-๑) : ชาตินิยม นัยแห่งความเป็นชาติและการกำหนดชะตากรรมของพลเมือง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ความคิด “ชาตินิยม” กำเนิดขึ้นมาในช่วง การปฏิวัติฝรั่งเศส ใช้เพื่อต่อต้านการปกครองของ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ในปี ๑๗๘๙ ซึ่งความคิดชาตินิยมผลิตขึ้นในนามของประชาชนบนพื้นฐานที่ว่าประชาชนคือชาติ และต้องการให้ประชาชนปกครองตนเอง ความคิดชาตินิยมในระยะเริ่มต้นจึงมีลักษณะของการปฏิวัติและเชื่อในประชาธิปไตย แต่ต่อมาแนวคิดชาตินิยมได้ถูกผลิตความหมายใหม่อย่างหลากหลาย และได้รับการนำไปใช้ในหลากมิติและหลายเป้าประสงค์ทางการเมือง

แก่นความคิดของชาตินิยมประกอบด้วย ความคิดเรื่องชาติ (the nation) ความคิดเกี่ยวกับชุมชนอินทรียภาพ (organic community) ความคิดเรื่องการกำหนดชะตากรรมด้วยตนเอง (self-determination) และความคิดเรื่องวัฒนธรรมนิยม (culturalism)

พื้นฐานความคิดของชาตินิยมคือ “ชาติ” ซึ่งหมายความว่า ชาติ เป็นหลักการแกนกลางขององค์การทางการเมือง อย่างไรก็ตามมีความสับสนว่าอะไรคือความหมายของชาติ และจะนิยามชาติอย่างไร ในภาษาสามัญประจำวัน มีคำหลายคำที่สร้างความสับสนให้แก่ผู้คน เช่น ชาติ รัฐ ประเทศ และ เชื้อชาติ คำเหล่านี้มักถูกใช้แทนกันอยู่เสมอ ยิ่งกว่านั้นความขัดแย้งทางการเมือง มักเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ว่า กลุ่มประชาชนกลุ่มใดที่ควรได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นชาติ และควรได้รับสิทธิและสถานภาพที่สัมพันธ์กับความเป็นชาติ เช่น ชาวธิเบต ชาวเคิร์ด ชาวไทยใหญ่ ชาวทมิฬ ชาวมอญ เป็นต้น

ในระดับพื้นฐานที่สุด ชาติหมายถึง หน่วยทางวัฒนธรรม ที่หลอมรวมประชาชนเข้าด้วยกันโดยมีค่านิยมร่วมและประเพณีเป็นสิ่งเชื่อมโยง มีภาษา ศาสนาและประวัติศาสตร์ร่วมกัน และมักอยู่รวมกันอย่างหนานแน่นในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เดียวกัน ในแง่มุมนี้ ดูเหมือนชาติสามารถนิยามได้โดยใช้ปัจจัยทางภววิสัย นั่นคือ ประชาชนที่มีวัฒนธรรมเดียวกันเป็นคนชาติเดียวกัน ทว่า ปัญหาคือไม่มีกรอบตัวแปรสำเร็จรูปหรือเกณฑ์ที่เป็นวัตถุวิสัยใดที่สามารถบอกได้ว่าเมื่อไรและที่ไหนชาติดำรงอยู่

การใช้วัฒนธรรมเป็นสิ่งนิยามความเป็นชาติดูมีปัญหาไม่น้อย เพราะว่าตัววัฒนธรรมนั้นมาจากการสร้างที่ผสมผสานของตัวแปรหลายตัวทั้ง ภาษา ศาสนา และเชื้อชาติ ดังนั้นจึงไม่อาจกำหนดเกณฑ์ที่ใช้วัฒนธรรมเป็นตัววัดเชิงภววิสัยได้อย่างแท้จริง การนิยามชาติจึงมีมิติของความเป็น “อัตวิสัย” ที่เกิดจากการนิยามของสมาชิกในชาตินั้นเองด้วย ในแง่นี้ชาติ จึงเป็น “หน่วยการเมืองเชิงจิตวิทยา” ที่ประชาชนมองตนเองในฐานะ “ชุมชนทางการเมืองที่เป็นธรรมชาติ” โดยมีความจงรักภักดีหรือความรักร่วมกันของมวลสมาชิกในรูปแบบของ “ผู้รักชาติ”

การก่อตัวของความเป็นชาติทั้งจากปัจจัยภววิสัยและอัตวิสัยส่งผลให้เกิดความคิดที่แข่งขันกันสองประการคือ แนวคิดบรรพชนนิยม (primordialism) กับ แนวคิดชาตินิยมพลเมือง (civic nationalism) แนวคิดแบบบรรพชนนิยมเน้นความสำคัญต่อเอกภาพของชาติพันธุ์และประวัติศาสตร์ โดยมองว่า อัตลักษณ์ชาติในฐานะสิ่งที่ได้รับการกำหนดอย่างตายตัวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ความคิดนี้มีนัยว่า ชาติถูกกำหนดลักษณะจากการสืบทอดร่วมกันต่อๆกันมาจากชาติพันธุ์เดียวกัน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดความคลุมเครือและยากที่จะแยกความแตกต่างระหว่าง “ชาติ” กับ “เชื้อชาติ” ได้ ชาติจึงเป็นสิ่งที่ผู้คนมีพันธะผูกพันโดยการมีบรรพชนร่วมกัน เชื่อมโยงกันด้วยภาษา ศาสนา ประเพณี วิถีชีวิต และมาตุภูมิ ซึ่งทัศนะแบบนี้เป็นความเชื่อพื้นฐานของอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมและฟาสซิสต์ และแนวคิดนี้มีแนวโน้มกีดกันคนเชื้อชาติอื่น แม้ว่ากลุ่มคนนั้นอยู่ในประเทศเดียวกันก็ตาม

สำหรับแนวคิดชาตินิยมพลเมือง ให้ความสำคัญกับจิตสำนึกพลเมืองและความจงรักภักดีต่อชาติ ในมุมมองของชาตินิยมพลมือง ชาติอาจประกอบด้วยพหุเชื้อชาติ หลากชาติพันธุ์ หลายศาสนาและวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ก็สร้างความคลุมเครือระหว่าง “ชาติ” กับ “รัฐ” และระหว่าง “สัญชาติ” กับ “ความเป็นพลเมือง” อุดมการณ์เสรีนิยมและสังคมนิยมมีความคิดเรื่องชาติในลักษณะนี้ และมีแนวโน้มผนึกรวมประชาชนทุกกลุ่มในสังคมเข้าสู่ความเป็นชาติ

แก่นความคิดประการที่สองของชาตินิยมคือ ความคิดเรื่องชุมชนอินทรียภาพ แม้ว่านักชาตินิยมอาจมีความคิดแตกต่างกันเรื่องการนิยามความหมายของชาติ แต่พวกเขามีความเชื่อเหมือนกันว่า ชาติเป็นชุมชนอินทรียภาพ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มนุษยชาติได้รับการแบ่งอย่างเป็นธรรมชาติอันนำไปสู่ความเป็นชาติ ซึ่งมีพื้นฐานจากลุ่มชนแต่ละกลุ่มในโลกมีลักษณะและอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ “ชาติ” จึงเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความรู้สึกจงรักภักดีอย่างสูงและมีนัยสำคัญทางการเมืองอย่างลึกซึ้งยิ่งกว่าแนวคิดเรื่องหน่วยทางสังคมแบบอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพศ ชนชั้น ภาษาหรือศาสนาก็ตาม กล่าวได้ว่า เราสามารถพบเห็นพันธะผูกพันและความภักดีต่อชาติในทุกสังคม อย่างไรก็ตามการอธิบายเรื่องนี้มีสามมุมมองที่แตกต่างกัน

มุมมองแรกคือ แนวทางบรรพชนนิยม ซึ่งอธิบาย อัตลักษณ์ของชาติในฐานะสิ่งผนึกอยู่ในประวัติศาสตร์ ชาติคือรากเหง้าในมรดกทางวัฒนธรรมและภาษา ซึ่งดำรงอยู่อย่างยาวนานก่อนการมีรัฐหรือก่อนการเรียกร้องเอกราชเสียอีก ชาติยังได้รับหลอมสร้างโดยการเชื่อมโยงทางอารมณ์อย่างลึกซึ้งเหมือนกับการผูกพันในเครือญาติ ภายใต้มุมมองนี้นักชาตินิยมทั้งมวลจึงเป็นนักบรรพชนนิยม

ขณะที่มุมมองที่สองอันได้แก่ แนวทางการศึกษาที่เน้นความทันสมัยนิยม (modernism) ซึ่งเห็นว่า อัตลักษณ์ของชาติถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม และการท้าทายประวัติศาสตร์ กล่าวคือ ในอดีตสังคมเกษตรถูกสร้างขึ้นโดยเครือข่ายของพันธะเชิงศักดินาและความจงรักภักดีต่อขุนนาง ต่อมาเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสถานภาพ มีการต่อสู้และการแข่งขันอย่างกว้างขวางของประชาชนในสังคม เมื่อสถานการณ์ทางสังคมเป็นเช่นนี้จึงทำให้เกิดการแสวงหาแหล่งความคิดและความเชื่อใหม่ที่สามารถสร้างความสมานฉันท์ทางวัฒนธรรมขึ้นมา และแนวคิดชาตินิยมจึงเป็นทางเลือกที่ถูกสร้างและนำมาใช้เพื่อการนี้ นักวิชาการบางคนมองว่า ชาติ เป็น “ชุมชนจินตนาการ” เพราะว่า ปัจเจกบุคคลพบบุคคลที่มีอัตลักษณ์ร่วมกับตนเองในสัดส่วนเพียงน้อยนิดเท่านั้นเองแม้จะอยู่ในชาติเดียวกัน (Anderson 1983)

ความคิดที่ว่าชาติคือชุมชนจินตนาการ ได้รับการขยายต่อโดยแนวทางการศึกษาแบบ “การสรรค์สร้างนิยม” (constructivist) ซึ่งมองว่า อัตลักษณ์ของชาติเป็นการสร้างทางอุดมการณ์ เพื่อรับใช้กลุ่มที่มีอำนาจในสังคม และชี้ว่าความเชื่อเกี่ยวกับการต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์และความบริสุทธิ์ทางวัฒนธรรมเป็นมายาคติ ที่สร้างขึ้นมาโดยลัทธิชาตินิยมเอง

แก่นความคิดที่สามของชาตินิยมคือ การกำหนดชะตากรรมด้วยตนเอง (self-determination) กล่าวได้ว่า ชาตินิยมในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองอุบัติขึ้นเมื่อความคิดของชุมชนชาติประสบพบกับหลักคิดอำนาจอธิปไตย (sovereignty) สิ่งนี้เกิดในยุคการปฏิวัติฝรั่งเศสซึ่งได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของรุสโซ นักปรัชญาการเมือง รุสโซเน้นเรื่องอำนาจอธิปไตยของปวงชน ซึ่งแสดงออกในรูปของ “เจตนารมณ์ทั่วไป” ในการกำหนดชะตากรรมของตนเองโดยการปกครองตนเอง ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส ความเชื่อนี้สะท้อนโดยการยืนยันว่าประชาชนฝรั่งเศสเป็น “พลเมือง” ที่ครอบครองและเป็นเจ้าของสิทธิและหน้าที่ในตัวเอง มิได้เป็นเพียงไพร่ใต้บัลลังก์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ อีกต่อไป ดังนั้น รูปแบบของชาตินิยมที่อุบัติขึ้นจากการปฏิวัติฝรั่งเศสจึงอยู่บนฐานวิสัยทัศน์ของประชาชนและการปกครองชาติด้วยตัวประชาชนเอง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ชาติ จึงมิใช่เป็นเพียงชุมชนตามธรรมชาติ หากแต่เป็น “ชุมชนทางการเมือง” ด้วย

และแก่นความคิดสุดท้ายของชาตินิยมคือความคิดเรื่อง “วัฒนธรรมนิยม” แม้ว่าอุดมการณ์ชาตินิยมดั้งเดิมมีความสัมพันธ์กับเป้าประสงค์ทางการเมืองในเรื่องของการเป็นอิสระของรัฐ แต่รูปแบบของชาตินิยมก็ยังมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับความต้องการและความคาดหวังของวัฒนธรรมชาติพันธุ์เสียยิ่งกว่า ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ ชาตินิยมวัฒนธรรม กับ ชาตินิยมชาติพันธุ์

ชาตินิยมวัฒนธรรมเน้นเรื่องความเข้มแข็งของอัตลักษณ์วัฒนธรรมมากกว่าความต้องการทางการการเมือง หลักการพื้นฐานคือ การฟื้นฟูชาติในฐานะอารยธรรมที่พิเศษ และมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับความเชื่อเชิงนิยายปรัมปรา บนพื้นฐานของความเชื่อที่เจือปนด้วยอารมณ์เชิงจินตนาการต่อชาติที่มีประวัติศาสตร์พิเศษแตกต่างจากชาติอื่นๆ กล่าวได้ว่าความคิดชาตินิยมวัฒนธรรมเป็นความคิดแบบจากฐานรากของสังคม ที่ได้รับการสร้างขึ้นมาจากประเพณี จารีต พิธีกรรม และตำนานพื้นบ้าน และเป็นวิถีที่ประชาชนใช้ในการรื้อฟื้นและสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมาโดยเชื่อมโยงกับตำนานในอดีต

นักชาตินิยมวัฒนธรรมเชื่อว่า แต่ละชาติมีจิตวิญญาณแห่งความเป็นชาติ ซึ่งแสดงออกในรูปของเพลง นิทานปรัมปรา ตำนาน และสิ่งเหล่านี้เป็นแหล่งของการสร้างสรรค์ ดังนั้น บทบาทของชาตินิยมคือการพัฒนาการตระหนักรู้และความชื่นชมต่อประเพณีและประวัติศาสตร์เป็นหลัก สำหรับตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้คือ การสร้างชาตินิยมวัฒนธรรมในประเทศเยอรมนีช่วงศตวรรษที่ ๑๙ หรือ การรื้อฟื้นชาตินิยมวัฒนธรรมแบบอารธรรมฮินดูของประเทศอินเดียในศตวรรษที่ยี่สิบ หรือ การรื้อฟื้นวัฒนธรรมจีนโบราณที่มีรากฐานจากลัทธิขงจื่อขึ้นมาอีกครั้งของประเทศจีนในต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด

สำหรับชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์ มีความแตกต่างจากชาตินิยมเชิงวัฒนธรรมในบางแง่มุม กล่าวคือชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์ใช้แหล่งอ้างอิงพื้นฐานจากประชากรกลุ่มพิเศษบางกลุ่มในสังคม โดยสมาชิกของกลุ่มชาติพันธุ์มักได้รับการมองว่าสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน ซึ่งหมายความว่า ชาติพันธุ์เป็นภาคขยายของกลุ่มเครือญาติ ซึ่งมีสายเลือดเดียวกันนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์จึงมีแนวโน้มกีดกันบุคคลที่ไม่ใช่ชาติพันธุ์เดียวกับตนเอง และมีความเป็นไปได้สูงที่พัฒนาไปสู่ “ลัทธิเหยียดเชื้อชาติ” (racialism) ซึ่งดูถูก รังเกียจ และขจัดเชื้อชาติที่แตกต่างจากกลุ่มตนเองออกจากสังคม ดังที่เคยเกิดขึ้นยุคนาซีเรืองอำนาจในประเทศเยอรมันช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

หลักคิดทั้งสี่ประการอันได้แก่ ชาติ ชุมชนอินทรียภาพ การกำหนดชะตากรรมด้วยตนเอง และวัฒนธรรมนิยมก่อตัวเป็นอุดมการณ์ชาตินิยม และแสดงบทบาทสำคัญทางการเมืองตั้งแต่ศตวรรษที่ยี่สิบเป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่สนามการเมืองมีความหลากหลายทางอุดมการณ์ เมื่ออุดมการณ์ชาตินิยมเข้ามาสู่สนามการแข่งขันทางอุดมการณ์ก็เกิดการผสมผสานกับอุดมการณ์การเมืองอื่น ๆ และก่อรูปเป็นลูกผสมทางอุดมการณ์ขึ้นมาอย่างน้อยสี่ประเภทคือ ชาตินิยมแบบเสรีนิยม (liberal nationalism) ชาตินิยมแบบอนุรักษ์นิยม (conservative nationalism) ชาตินิยมแบบขยายอำนาจ (expansionist nationalism) และ การต่อต้านอาณานิคมและชาตินิยมหลังอาณานิคม (anti-colonial and postcolonial nationalism) (อ่านต่อสัปดาห์หน้าครับ)


กำลังโหลดความคิดเห็น