ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สังคมไทยเป็นสังคมที่นิยมกระดาษโดยการเอากระดาษหลาย ๆ ใบไปแลกกระดาษ 1 ใบ ประเทศเราน่าจะเป็นประเทศที่มีประชากรได้รับการศึกษาสูงมากแต่คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีการศึกษา ไม่มีความรู้จริง
อัตราการว่างงานของประเทศไทยเรานั้นต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในโลกเพราะว่าเศรษฐกิจของเรานั้นเติบโตในขณะที่เราเกิดภาวะประชากรถดถอย (Demographic recession) มีผู้สูงอายุมากมายแต่มีคนในวัยทำงานและมีเด็กเกิดน้อยมาก
สิ่งที่น่าห่วงยิ่งกว่าคือการจ้างงานที่ต่ำกว่าความเป็นจริงซึ่งศัพท์ทางวิชาการเรียกว่า Under employment เช่นจบปริญญาโทแต่ไปทำงานได้วุฒิระดับ มัธยมศึกษาปีที่ 3 และคนจบปริญญาเอกกลับยากจนจนกระทั่งต้องไปขอบัตรสวัสดิการแห่งรัฐลงทะเบียนคนจนซึ่งดูแล้วน่าสงสารหรือหน้าฉุกคิดว่าคุณภาพการศึกษาไทยต่ำเตี้ยเรี่ยดินขนาดไหนจนกระทั่งคนจบปริญญาเอกก็ยังไม่มีรายได้หางานทำไม่ได้เลยตกงานเป็นภาวะที่น่าอนาถใจเป็นอย่างยิ่ง
สมัยนี้เกิดค่านิยมล่าปริญญาทำให้เกิดอะไรแปลก ๆ ในวงการศึกษาไทย (และในต่างประเทศมากมาย) ยกตัวอย่างเช่น
ประการแรก นักการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นแก่กันไปเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกด้านรัฐประศาสนศาสตร์และบริหารรัฐกิจ (Public administration) มาประดับบารมี ทำให้เกิด ดร. กันเกลื่อนเมือง แต่ความรู้ทางวิชาการอ่อนด้อยมาก ไม่ได้ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินของประเทศมีอะไรดีขึ้นเลย ที่เป็นข่าวและเป็นรัฐมนตรีแล้วทำให้ประชาชนกังขาในเรื่องคุณวุฒิปริญญาว่าจริงแท้หรือไม่ กรณีที่เกิดขึ้นนี้ก็เป็นปริญญาเอกด้านบริหารรัฐกิจ ซึ่งประชาชนก็มีสิทธิ์สงสัย อันที่จริงแล้วนักการเมืองก็ไม่เห็นจะต้องมีวุฒิปริญญาเอกไปเพื่ออะไร กฎหมายก็ไม่ได้บังคับเลย หากไม่เป็นของเก๊ก็นับว่าดีเป็นเครดิตของเจ้าตัวนักการเมืองเอง แต่ถ้าไม่ใช่ก็เข้าข่ายหลอกลวงประชาชนและอาจจะทำให้เสียความนิยมได้เช่นกัน เกิดกระแสตีกลับได้ง่าย ๆ
ประการสอง ครูบาอาจารย์ในโรงเรียนประถมศึกษา-มัธยมศึกษา แห่กันไปเรียนปริญญาโท-เอก ด้านการบริหารการศึกษา (Education administration) เพราะเกิดมีกฎบ้า ๆ ว่าจะขึ้นเป็นผู้บริหารการศึกษาได้ ต้องจบอย่างน้อยปริญญาโททางการบริหารการศึกษาเท่านั้น ผู้บริหารการศึกษาสมัยก่อนที่ได้รับการยอมรับนับถือว่ามีฝีมือและคุณูปการต่อการศึกษาไทยอย่างหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ก็ไม่เคยเรียนบริหารการศึกษา แต่เรียนบูรพาคดีศึกษา ก็ยังมีผลงานการบริหารการศึกษาให้ประเทศไทยได้ดีงาม สมัยนี้หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลก็ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นแม้แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนประชาบาล
ประการสาม เกิดการรับจ้างทำงานวิจัย ทำวิทยานิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์กันเกลื่อนกลาด ทั้งในมหาวิทยาลัยและในโลกออนไลน์ หาเงินกันจ้าละหวั่น คนเรียนปริญญาโทปริญญาเอกไม่ทำวิทยานิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์กันเอง ทั้ง ๆ ที่การศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาควรต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่ และต้องมีการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานในวารสารทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับ หลายครั้งกลายเป็นว่าอาจารย์ที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์หรือวิทยานิพนธ์รับจ้างทำดุษฎีนิพนธ์หรือวิทยานิพนธ์ให้นักศึกษาเองเสียด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น มีกรณีหนึ่ง นักศึกษาอ่านภาษาฝรั่งเศสไม่ออกเลย แต่อ้างอิงเอกสารชั้นต้นทางกฎหมายเป็นภาษาฝรั่งเศสเสียมากมาย โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาจบปริญญาเอกทางกฎหมายจากฝรั่งเศส ก็ต้องไปลองคิดเอาเองว่าใครทำวิทยานิพนธ์ส่งใคร
ประการสี่ การซื้อปริญญาตรี โท เอก จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทยและในต่างประเทศ มีปัญหากระทั่งมีการโกงวุฒิมัธยมปลายที่ไม่ได้จบมาเพื่อไปเรียนต่อปริญญาตรี/ปริญญาโท ที่น่ามหัศจรรย์คือเราเห่อคำว่าดอกเตอร์กันมากเหลือเกิน นักการเมืองและผู้บริหารมหาวิทยาลัยเอกชนจำนวนมากแห่ไปซื้อปริญญาจากมหาวิทยาลัยห้องแถวในต่างประเทศ บางประเทศมีมหาวิทยาลัยห้องแถวไร้คุณภาพและไม่ได้รับการยอมรับแต่อย่างใดเป็นจำนวนมากมหาศาล และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ก็ไม่ได้รับรองวุฒิจากมหาวิทยาลัยเหล่านั้น นอกจากนี้ยังเกิดมหาวิทยาลัยหลอกลวงออนไลน์ มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก ที่หลอกคนดัง ๆ เข้าไปเรียนมากมายแล้วหลอกลวงขายใบปริญญาบัตรปลอม ที่ไปสมัครเรียนมหาวิทยาลัยปลอมหรือด้อยคุณภาพสุด ๆ เหล่านี้จนจบมาก็มีมาก มีตัวแทนมาขายปริญญาเอกกันเกลื่อนประเทศไทยเลยก็มี
มหาวิทยาลัยเก๊ปริญญาเอกเก๊เหล่านี้มีข้อสังเกตได้ง่ายมาก
หนึ่ง มหาวิทยาลัยเก๊มักจะรับนักศึกษาปริญญาเอกจำนวนมากเหลือเกิน รับเป็นหลายร้อยคน ทั้ง ๆ ที่โดยปกติการรับนักศึกษาปริญญาเอกมักจะรับไม่มากนักเพราะจะเป็นภาระอันหนักอึ้งในการควบคุมดูแลและให้คำปรึกษาดุษฎีนิพนธ์
สอง มหาวิทยาลัยเก๊ มักจะเกิด inbreeding สูง เช่น อาจารย์มักจะจบจากมหาวิทยาลัยโนเนมเหล่านี้ วนกันไปมา ให้ปริญญาเอกกันเองไปมา แล้วก็ได้ตำแหน่งทางวิชาการสูง ๆ เป็นรองศาสตราจารย์หรือศาสตราจารย์โดยปราศจากผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ในวงวิชาการเดียวกัน ให้กันเอง อวยยศกันเองเว่อร์วังเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือกลับยิ่งดูกำมะลอ
สาม มหาวิทยาลัยเก๊ เหล่านี้เมื่อสืบค้นในฐานข้อมูลหรือในโลกออนไลน์มักจะมีตัวตนปรากฏไม่มากนัก ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการอ้างอิง หรือแม้กระทั่งค้นหาในวิกิพีเดียหรือสารานุกรมออนไลน์ก็ยังไม่เจอ ไม่ต้องไปพูดถึงว่าจะสามารถหาได้ในแหล่งอ้างอิงมาตรฐานเช่น Times Higher Education หรือ US news ซึ่งแทบไม่เจอเลย
สี่ มหาวิทยาลัยเก๊พวกนี้ มักจะนำชื่อศิษย์เก่าที่เป็นคนมีชื่อเสียงกลวง ๆ มาอ้างอิงหรือโฆษณา แต่พอลองนำชื่อที่ถูกนำมาโฆษณาเหล่านั้นไปค้นหาผลงานใน Dissertation Abstract Online หรือ DAO ซึ่งเป็นฐานข้อมูลรวมบทคัดย่อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของทั่วโลกมักจะหาไม่เจอ (อ้าวแล้วจะจบปริญญาเอกมาได้อย่างไร)
ห้า มหาวิทยาลัยห้องแถวหรือมหาวิทยาลัยเก๊เหล่านี้ เปิดในสหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์ค่อนข้างเยอะ ในขณะที่บางประเทศเช่น ญี่ปุ่นหรือเยอรมนีจะมีโอกาสที่จะพบมหาวิทยาลัยเก๊น้อยมาก แม้กระทั่งจีนก็จะมีโอกาสมีมหาวิทยาลัยเก๊น้อยมาก เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนควบคุมกำกับดูแลมหาวิทยาลัยอย่างใกล้ชิดและมีเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐเท่านั้น
ประการที่ห้า นักการเมืองหรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยหรือคนที่อยากได้ปริญญาเอก ไม่สนใจคุณภาพหรือชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยมากนัก มีนักการเมืองท้องถิ่นแห่ไปเรียนปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยที่เปิดใหม่และเป็นที่กังขาในด้านคุณภาพก็มีมาก ไม่ได้สนใจกันว่าจบมาจากมหาวิทยาลัยไหน แค่ขอให้ได้ใช้คำว่าดอกเตอร์นำหน้า มหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่งถึงกับเปิดหลักสูตรปริญญาเอกเพื่อรับนักการเมืองเข้าไปเรียนเป็นโหล ๆ ทั้ง ๆ ที่เป็นมหาวิทยาลัยดัง พูดง่าย ๆ ในอีกมุมหนึ่งมหาวิทยาลัยไม่เก๊ก็เห็นแก่เงิน เห็นแก่รายได้ เห็นแก่ผลประโยชน์ เข้าไปเสนอตัวรับใช้การเมืองอย่างไร้ศักดิ์ศรีทางวิชาการเช่นกัน
จริงอยู่ที่ในโลกวิชาการหรือไปงาน Conference ต่าง ๆ ในวงการเดียวกัน เมื่อแนะนำให้รู้จักกันแล้ว professor ที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการเดียวกันมักจะถามด้วยคำถามว่า Who is your mentor? ใครเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของคุณ มากกว่าจะถามเสียด้วยซ้ำว่าเรียนจบมาจากมหาวิทยาลัยไหน การมี mentor ที่มีชื่อเสียงว่ามีมาตรฐานสูง มีผลงานคุณภาพดีเป็นเครื่องรับรองคุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกค่อนข้างชัดเจนมากกว่าด้วยซ้ำ แต่ mentor ที่เด่น ดี ดังแทบทั้งหมดก็ทำงานในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงโด่งดัง หาได้สอนให้มหาวิทยาลัยเก๊ไม่ การพิถีพิถันในการเลือกมหาวิทยาลัยหรือ Advisor หรือ Mentor จึงยังเป็นเรื่องสำคัญ การจบจากมหาวิทยาลัยเก๊ ๆ ที่เราไม่รู้จักเลยหรือค้นหาในโลกออนไลน์แล้วมีแต่ข้อมูลที่มหาวิทยาลัยนั้น ๆ นำเสนอตนเองย่อมเป็นสัญญาณของการเป็นมหาวิทยาลัยเก๊แต่คนทั่วไปมักจะไม่สนใจ เลยมีดอกเตอร์กำมะลอเกลื่อนเมืองไทย
ประการที่หก การบ้าใช้คำนำหน้าว่า ดร. ทั้งที่เป็นดร. เก๊ และพยายามแสดงตัวว่าเป็น ดร. กันมากเหลือเกิน และมีความเข้าใจที่สับสนมากกับคำว่าดอกเตอร์ในสังคมไทย
โดยปกติในวงวิชาการจะไม่นิยมใช้คำว่า ดร. นำหน้าปริญญาเอกแบบกิตติมศักดิ์ ซึ่งปริญญาเอกแบบ กิตติมศักดิ์คือไม่ต้องเรียน แต่ได้มาหากถูกวิธีคือการที่มหาวิทยาลัยดังยกย่องในผลงานและคุณูปการทางวิชาการ แต่ในอีกด้านก็คือซื้อปริญญาเอกกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเก๊และโนเนม
คนที่พยายามใช้ ดร. นำหน้าแบบผิด ๆ ยังมีอีกมาก ยกตัวอย่างเช่น ปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา เป็น Second degree คือต้องเรียนปริญญาตรีจบมาก่อนจึงจะมาเรียนวิชากฎหมายได้เหมือนนิติศาสตร์ภาคบัณฑิตในประเทศไทย แต่ปริญญาที่ได้คือ Doctor of Jurisprudence หรือ JD ซึ่งนับเป็นปริญญาทางวิชาชีพกฎหมายในอเมริกาแล้วต้องไปสอบ Bar หรือเนติบัณฑิตอีกรอบ (หากต้องการ) ก่อนประกอบอาชีพ บางประเทศเทียบ JD เท่ากับนิติศาสตร์บัณฑิตหรือปริญญาตรีด้วยซ้ำ ปริญญาเอกทางวิชาการหรือวิจัยในสหรัฐอเมริกาจะเป็น JSD หรือ SJD ย่อมาจาก Doctor of Juridical Science ซึ่งต้องทำดุษฎีนิพนธ์เป็นงานวิจัยทางกฎหมายถึงจะจบมาได้ คนจบ JSD หรือ SJD จึงใช้คำว่าดอกเตอร์นำหน้าชื่อกัน แต่ JD ต้องไม่ใช้ดอกเตอร์นำหน้าชื่อ
สำหรับอาชีพแพทย์ ปริญญาตรีแพทยศาสตร์บัณฑิตของต่างประเทศก็กลับเป็น MD ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้จบปริญญาเอกแต่อย่างใด ในไทยนั้นเป็น พบ. แต่ในต่างประเทศการเรียนแพทย์เป็น second degree แบบวิชากฎหมายจึงได้รับปริญญา MD และก็เรียกว่าดอกเตอร์เช่นกัน แต่หมายถึงเป็น medical doctor หรือเป็นแพทย์ ถ้าหากเป็นแพทย์และได้รับปริญญาเอก Doctor of Philosophy ด้วย เช่น MD, Ph.D. ในเยอรมันจะเรียกกันว่า Doctor, Doctor ซ้อนกันเพราะเป็นดอกเตอร์ทางการแพทย์และทางวิชาการด้วย ในไทยก็คงจะเป็น นายแพทย์ ดอกเตอร์ เช่น นายแพทย์ ดร.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร เป็นต้น และอาจจะนำหน้าด้วยตำแหน่งทางวิชาการอีก เช่น ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร. อภิวัฒน์ มุทิรางกูร เป็นต้น
อนุมัติบัตรและวุฒิบัตร หรือแม้แต่ American Board สำหรับการเรียนแพทย์เฉพาะทางซึ่งทาง กพ. รับรองวุฒิให้เท่ากับปริญญาเอก แต่ก็ไม่ใช้นำหน้าว่านายแพทย์/แพทย์หญิง ดร. เพราะไม่ได้จบ MD., Ph.D. แต่อย่างใด
ประการที่เจ็ด การบังคับเข้มงวดของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา โดยกำหนดมาตรฐานบัณฑิตศึกษาไว้เข้มงวดมาก เช่น หากจะสอนปริญญาโท/เอกต้องมีวุฒิอย่างน้อยระดับปริญญาเอกหรือตำแหน่งทางวิชาการระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ และหากจะควบคุมวิทยานิพนธ์ปริญญาโท/การค้นคว้าอิสระ วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกก็ต้องสำเร็จการศึกษาอย่างน้อยปริญญาเอกหรือมีตำแหน่งทางวิชาการระดับรองศาสตราจารย์ขึ้นไป การกำหนดกฎเกณฑ์ตายตัวเข้มงวดเช่นนี้น่าเสียดาย ทำให้พลาดโอกาสที่จะได้เอตทัคคะในแต่ละด้านมาสอนหรือมาควบคุมวิทยานิพนธ์
ผมเคยอ่านวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกสาขาวิชาภาษาไทยที่กรรมการเป็นเอตทัคคะที่สุดด้านวรรณกรรมกลอนสวด กรรมการสอบวิทยานิพนธ์นั้นจบประถมศึกษาปีที่สี่ แต่บวชเรียนสอบได้เปรียญธรรมเก้าประโยค และทำงานในกรมศิลปากรจนเชี่ยวชาญด้านนี้ที่สุดจนคนยอมรับกันไปทั่วทั้งวงการ หรือแม้กระทั่งครูของผมท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมไทย โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมไทยอีสานมากที่สุดในประเทศไทยคนหนึ่งจนได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ ก็จบแค่ปริญญาตรี แต่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้มากที่สุด ถ้าเกณฑ์มาตรฐานบัณฑิตศึกษาของ สกอ. ก็จะสอนปริญญาโท/เอกหรือคุมวิทยานิพนธ์ไม่ได้เลยอย่างน่าเสียดายที่สุด เสียดายความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญ
คนไม่จบ ดอกเตอร์ ก็เก่งทางวิชาการได้ ผมทราบว่า Professor William G. Cochran นักสถิตินามอุโฆษของโลกก็คุมวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกทางสถิติมามากมาย ก็จบแค่ปริญญาตรีทางคณิตศาสตร์ ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก ปรมาจารย์ด้านกล้วยไม้ไทยก็จบแค่ปริญญาตรีเช่นกัน สองท่านนี้เลือกที่จะไม่เรียนต่อปริญญาโทและเอกด้วยซ้ำแต่ผลิตผลงานวิชาการระดับโลก โปรดอ่านได้จาก ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก ครูสถิติศาสตร์รุ่นบุกเบิกของประเทศไทยใน https://mgronline.com/daily/detail/9610000016560
ผมมีความเห็นว่าสังคมไทยควรเลิกเห่อ ดร. กันเสียที ให้เราดูกันที่ความรู้ความสามารถให้มากกว่านี้ มากกว่าไปสนใจคำว่า ดร. นำหน้าซึ่งอาจจะเป็นของเก๊ก็เป็นได้
ที่น่าสนใจจะถามต่อคือการเอาปริญญาเอกเสกด้วยเงินหรือดอกเตอร์เก๊ ๆ มาแขวนนำหน้าชื่อเป็นการหลอกลวงประชาชนนั้นถือว่าผิดศีลและขาดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหรือไม่ สมมุติว่านักการเมืองมีจริยธรรมแห่งนักการเมือง การที่นักการเมืองหลอกประชาชนว่าจบปริญญาเอกเก๊ ๆ มา ถือว่าผิดจริยธรรมหรือไม่ และควรจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่น่าคิดและสังคมควรจะถาม