xs
xsm
sm
md
lg

ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก ครูสถิติศาสตร์รุ่นบุกเบิกของประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต Business Analytics and Data Science
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


คุณพ่อ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก คือ ครูสถิติศาสตร์ รุ่นบุกเบิกของประเทศไทยหลายคนอาจจะไม่เคยทราบเรื่องนี้

ผมมาทำงานที่นิด้าเจอรูปเก่ามากก่อนการตั้งนิด้าเสียอีก มีการเปิดอบรมสถิติมีคุณพ่อ ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก เป็นผู้สอนด้วย เป็นการอบรมวิชาสถิติศาสตร์ ที่จัดที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพราะขาดแคลนบุคลากรมาก คนสอนคือ อาจารย์ระพี สาคริก ศาสตราจารย์บัณฑิต กันตะบุตร (ผู้ก่อตั้งภาควิชาสถิติ ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬา เป็นคนนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกมาใช้ในประเทศไทยด้วย) อาจารย์เดโช สวนานนท์ (สมัยนั้นสอนจิตวิทยาและสถิติ ก่อนผันไปเป็นอธิบดีกรมศิลปากร และนักการเมือง) อาจารย์หม่อมเจ้า บุญโศลกเกษม เกษมศรี (อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งได้ยินอาจารย์ผู้ใหญ่เล่าว่าทรงติดดินและสมถะมากที่สุด) โดยมีนายกรัฐมนตรี จอมพลถนอม กิตติขจรมาเป็นประธานแจกประกาศนียบัตรเสียด้วย

การฝึกอบรมนักสถิติศาสตร์เหล่านี้ต่อมาได้ถูกโอนมาเป็นการเรียนการสอนวิชาสถิติปฏิบัติ ในสังกัดสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ และต่อมาโดยพระราชดำริและการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีการก่อตั้งคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ในกาลต่อมา

ผมขอเรียก ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ว่าคุณพ่อดังที่ผมได้เคยเรียกมาโดยตลอด เช่นเดียวกันกับที่ลูกศิษย์ทุก ๆ คน เรียก และผมก็ได้รับความเมตตาและการอบรมสั่งสอนนอกห้องเรียนจากคุณพ่อมาหลายต่อหลายครั้ง ทำให้ทราบว่าคุณพ่อไม่เคยไปเรียนต่างประเทศและศึกษาสถิติศาสตร์ด้วยตนเองจนกระทั่งสามารถสอนสถิติศาสตร์ได้

เมื่อจบจากเกษตรศาสตร์ในสาขาปฐพีวิทยา คุณพ่อเลือกไปทำงานเป็นลูกจ้างที่สถานีวิจัยที่แม่โจ้ และคุณพ่อได้ใช้ความรู้ทางสถิติศาสตร์ในการออกแบบการทดลองเพื่อการพัฒนาพันธุ์ข้าวไทย และการพัฒนาพันธุ์กล้วยไม้ ในช่วง พ.ศ.2490-2492 หลายคนก็อาจจะไม่เคยทราบเรื่องนี้เช่นกัน

ผมเคยเขียนถึงคุณพ่อด้วยความชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง เพราะคุณพ่อเรียนปฐพีวิทยา สอนการวางแผนวิจัยและสถิติวิเคราะห์ทางชีววิทยาให้กับนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน มายาวนาน วิจัยเรื่องข้าวและกล้วยไม้ เรียนอย่างหนึ่งแต่มีความรู้แตกฉานไปอีกด้านหนึ่งเป็นเอตทัคคะจากการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองอย่างมีอิทธิบาท 4 มาวันนี้เป็นวันที่ต้องกราบลาคุณพ่อ คุณพ่อได้จากโลกนี้ไปเสียแล้ว

นี่คือข้อความที่ผมได้เอ่ยถึงคุณพ่อไว้เมื่อสี่ปีก่อน อยากให้ทุกคนได้อ่านครับ

เปิดใจให้กว้าง เพื่อสร้างสิ่งใหม่และการเปลี่ยนแปลง

Thomas Kuhn จบปริญญาเอกทางฟิสิกส์ทฤษฎี แต่ว่าภาควิชาปรัชญาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จ้างเขาให้ทำวิจัยสองสามปี เพื่อศึกษา philosophy of sciences โดยที่เขาไม่เคยเรียนปรัชญามาก่อนเลย ความใจกว้างของ Harvard ทำให้ Kuhn กลายเป็นนักปรัชญาวิทยาศาสตร์ชื่อดังของโลกจากแนวคิดเรื่อง Paradigm Shift ในหนังสือ The structure of scientific revolution

John Tukey เป็นเด็กที่ home schooling แม่เป็นคนสอนหนังสือให้จนสอบเข้ามหาวิทยาลัย จบปริญญาตรีทางเคมีและเรียนปริญญาเอกทางคณิตศาสตร์ ความสนใจของเขาคือเรขาคณิตทาง Topology และประกาศ Tukey Topology Theorem ไว้ ต่อมาผันตัวมาทำงานเป็น intelligence ให้กับกองทัพสหรัฐอเมริกา และสนใจเรื่องข้อมูลและสถิติ หลังจากนั้น Tukey ก็ผันตัวเองมาเป็นนักสถิติ และพัฒนาองค์ความรู้ทางสถิติด้วยการศึกษาด้วยตนเอง ใช้ความสามารถทางเรขาคณิตจนกระทั่งพัฒนา Statistical graphic ไว้มากมาย กราฟทางสถิติมากกว่าครึ่งที่เราใช้กันในปัจจุบันเป็นผลงานของ Tukey จากหนังสือ Exploratory Data Analysis

Anne Anastasi เป็นเด็ก home schooling เช่นกัน จบปริญญาตรีและเอกทางจิตวิทยาการทดลองจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และมาสอนที่ Fordham University ที่ผมไปเรียนปริญญาเอกมา Anne Anastasi เป็นคนที่ทำให้เกิดสาขา Psychometrics เป็นคนแรกของโลก ตำรา Psychological testing ของ Anne ได้รับการยอมรับทั่วโลกว่าเป็น classic ที่นักเรียนปริญญาเอกทั่วโลกต้องเรียน

Herbert A Simon จบปริญญาตรีทางคณิตศาสตร์ ปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์ แต่กลายมาเป็น professor of psychology, computer sciences and economics ที่ Carnegie Mellon University ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์จากผลงานทาง administrative behavior และ decision making และเป็น father of artificial intelligence จากการคิดค้นวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ เรียกว่า protocol analysis ให้ผู้เชี่ยวชาญในการแก้ปัญหา รายงานวิธีคิดออกมาเป็นขั้นตอน เป็น chunk เล็ก ๆ พร้อม input process output ของแต่ละ chunk หลังจากนั้นนำมาเขียน flowchart และนำมาเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สร้างปัญญาประดิษฐ์ให้คิดเองได้เหมือนมนุษย์

William G Cochran จบแค่ปริญญาตรีทางคณิตศาสตร์ และเลือกที่จะไม่เรียนต่อปริญญาเอก แต่ค้นคว้าด้วยตนเองทางสถิติศาสตร์ จนเป็นเอตทัคคะทางด้านการสุ่มตัวอย่าง ตำรา Sampling design ของ Cochran เป็นตำราอมตะที่ทั่วโลกใช้กัน

Philip Kotler จบปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ ทำ Post doctorate ทางพฤติกรรมศาสตร์ แต่มาเป็นศาสตราจารย์ชื่อดังก้องโลกทางการตลาดที่ Kellogg, Northwestern University ใครที่เรียน MBA มาก็ต้องผ่านการอ่านตำรา Marketing management ของ Kotler มาทั้งนั้น เคยเรียนการตลาดมาสักตัวก็หาไม่

คุณพ่อ ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก ที่กำลังป่วยอยู่ จบแค่ปริญญาตรีทางปฐพีวิทยา และเลือกที่จะไม่เรียนต่อระดับปริญญาโทหรือเอกเช่นกัน ทั้ง ๆ ที่มีโอกาส ท่านสนใจเรื่องกล้วยไม้ และศึกษาค้นคว้าวิจัยด้วยตนเองจนเป็นเอตทัคคะระดับโลก ที่ทุกคนในวงการกล้วยไม้โลกต่างยอมรับนับถือ

ความคิดนอกกรอบ ไม่ยอมจำนน และความพยายาม ตลอดจนการบูรณาการข้ามศาสตร์ ทำให้เกิดความรู้ใหม่ และทำให้โลกก้าวไปข้างหน้า

ผมแค่อยากจะบอกว่าขอให้เราทุกคนพยายาม และใจกว้างพอ โลกนี้จะเกิดอะไรใหม่ๆ ได้ ด้วยใจและด้วยสมองและสองมือของเราทุกคน Business Analytics และ Data Sciences ก็เช่นกัน

ผมนึกถึง professor ดัง ๆ ระบบโลกที่ข้ามกรอบความคิด คิดนอกกรอบ และทำงานวิจัยสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ข้ามพรมแดนแห่งความรู้ เปิดพรมแดนแห่งความรู้ใหม่ ผมนึกถึงคุณพ่ออยู่ในระดับเดียวกันกับ professor ชื่อดังทางวิชาการระดับโลกในระนาบเดียวกันเช่นนี้ครับ

ผมได้เจอคุณพ่อหลายครั้ง พอบอกว่าอยู่คณะสถิติประยุกต์ที่นิด้า สอนสถิติ คุณพ่อดีใจมาก และได้สอนว่าสอนสถิติศาสตร์ต้องสอนให้นักเรียนเข้าใจธรรมะคือธรรมชาติ แล้วสถิติศาสตร์จะกลายเป็นวิชาที่ง่าย สถิติศาสตร์ไม่ใช่คณิตศาสตร์ ข้อความที่คุณพ่อพูดนี้ทำให้ผมตกใจมาก เพราะ mentor ของผมเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของ John Tukey นักสถิติศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงก้องโลกก็พูดพร่ำสอนผมอยู่เสมอว่า สถิติศาสตร์ไม่ใช่คณิตศาสตร์ แต่คณิตศาสตร์เป็นแค่เครื่องมือของสถิติศาสตร์ ต้องสอนให้คิดแบบสถิติ (Statistical Thinking) ให้เป็นก่อน แล้วคณิตศาสตร์จึงตามมาทีหลัง คำพูดของคุณพ่อระพี สาคริก แทบจะเป็นคำพูดเดียวกันกับ John Tukey ทั้งๆ ที่คุณพ่อระพีไม่ได้เคยไปเรียนเมืองนอกเมืองนา และจบแค่ปริญญาตรี ไม่ได้มีวุฒิปริญญาเอกโก้หรูแต่อย่างใด แต่มีความเข้าใจและความคิดวิเคราะห์ที่ลึกซึ้งมาก

สิ่งที่คุณพ่อพูดสอนผมแทบจะไม่แตกต่างจากบทความของคุณพ่อบน Facebook ข้างล่างนี้

ปรัชญาของวิชาสถิติ

เมื่อกล่าวถึงวิชาสถิติ หลายคนมักบ่นว่ายาก บางคนก็พูดว่าไม่รู้เรื่อง ฉันรับฟังแล้วรู้สึกแปลกใจ เพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ แต่เหตุไฉนจึงเกิดเรื่องแบบนี้

ฉันมาค้นพบว่าครู อาจารย์ที่สอนวิชานี้หลายคนต่างก็มองว่าวิชาสถิติคือคณิตศาสตร์ น้อยคนนักที่จะมองเห็นว่าวิชาสถิตินั้นคือหลักธรรมะทั้งหมด

ฉันนึกถึงเรื่อง “การที่ฉันต้องหันมาจับงานกล้วยไม้ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ไม่ได้เรียนกล้วยไม้มาจากไหน คนส่วนใหญ่มักมองเห็นว่าฉันทำงานกล้วยไม้มาตลอดชีวิต” “นี่แหละที่ทำให้ฉันต้องหันมาทำงานเกี่ยวกับการศึกษาทางเลือก”

ปรัชญาสถิติซึ่งใช้ “ประชากร” เป็นพื้นฐานหลัก ได้กล่าวไว้ว่า “ประชากรไม่มีตัวตนให้ต้องยึดติด อันหมายถึงความว่างเปล่า” นอกจากนั้นยังได้กล่าวไว้ว่า “ประชากร = Universe = 0” ข้อความประโยคนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงอะไร ถ้าเธอทุกคนมีความรู้สึกนึกคิดที่หวนกลับมาวิเคราะห์เจาะลึกถึงความจริงซึ่งอยู่ในใจตนเอง เรื่องนี้ตรงกับปรัชญาของการจัดการศึกษาทางเลือก

ทั้งนี้เพราะเหตุว่า “มหาวิทยาลัยนั้นหมายถึง การใช้ใจตนเองเป็นเป้าหมายของความสำเร็จ”

ถ้าทุกคนสังเกตจากบทความที่ฉันเขียน ฉันไม่เคยเขียนเลยว่าตนเรียนสำเร็จแล้ว แต่เขียนไว้ว่า “ฉันสำเร็จตามหลักสูตร”

Degree of freedom ซึ่งเท่ากับ n-1 ถ้าฉันจะถามว่าหมายถึงอะไรคำตอบจากหลายคนก็ย่อมหลากหลายเป็นธรรมดา

แต่แท้จริงแล้วถ้าจะตอบว่า Degree of freedom หมายถึงวิถีการเปลี่ยนแปลงที่หมุนวนเป็นวัฏจักร เพราะเหตุว่าภายในกระบวนการเปลี่ยนแปลงของมวลมนุษยชาตินั้น ในที่สุดอย่างมากก็เหลือหนึ่งเดียว ถ้าไม่เหลือหนึ่งเดียวจะมีบทบาทกันหมดให้หวนกลับมาสู่อีกวงหนึ่งได้อย่างไร แม้แต่คนกลุ่มหนึ่งซึ่งกำลังฆ่ากันตาย คนสุดท้ายย่อมเหลืออยู่อย่างแน่นอน เพราะไม่มีใครจะมาฆ่าเขาอีกแล้ว ซึ่งหมายถึง พุทธธรรม หรือหมายถึงความจริงภายในวิถีการเปลี่ยนแปลงที่ช่วยให้มนุษยชาติเรียรู้ได้ด้วยตนเอง หาใช่พุทธศาสนาไม่

ทั้งนี้เพราะพุทธศาสนาหมายถึงความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่งบนพื้นผิวโลกใบนี้

แต่พุทธธรรม หมายถึง ความจริงที่อยู่ในรากฐานจิตใจมนุษยชาติทุกศาสนาและทุกรูปลักษณะ

Degree of freedom อาจหมายความถึง “ความมีสติสัมปชัญญะ” ก็ได้เช่นกัน เพราะชีวิตเราแต่ละคนเมื่อได้รับผลกระทบจากสิ่งใดก็ตามที่ที่มีเหตุมาจากภายนอกความมั่นคงภายในจิตใจย่อมหมายถึงความมีสติ หรืออีกในหนึ่งหลังจากพบกับความหลากหลายแล้ว ควรหวนกลับมาสู่ใจตนเองเพื่อการเรียนรู้ อันหมายถึง อันหมายถึงจิตใจของแต่ละคน = 1 เช่นนี้ก็ได้

เมื่อมีความประสงค์ที่จะศึกษาวิชาสถิติแต่ละคนควรฝึกจิตใจให้มีสมาธิทั้งนี้ก็เพื่อจะหยั่งรู้ความจริงจากใจตนเองได้ว่า ภายในจิตใต้สำนึกของแต่ละคนนั้น ควรเตรียมใจเอาไว้ใช้เป็นพื้นฐานจินตนาการ ดังเช่นการค้นหาความจริงจากความแตกต่างระหว่างความสูงของนักเรียนในโรงเรียนรุ่งอรุณ แท้จริงแล้วนักเรียนรุ่งอรุณแต่ละคนก็มีความสูงแตกต่างกัน แม้แต่การวัดความสูงนักเรียนคนเดียวกันเราก็อาจนำผลมาสรุปให้ข้อมูลจำนวนเดียวกัน ยังสงสัยว่าอาจกระทำได้ยาก ทั้งนี้เพราะเครื่องมือในการวัดก็มีความละเอียดอ่อนถ้าคนวัดขาดความปราณีตก็ยิ่งทำให้เกิดความสับสนจนกระทั่งเชื่อถือได้ยาก

เมื่อวิธีการเก็บข้อมูลทำให้เชื่อถือได้ยากแล้ว การเขียนรายงานก็ดีการเขียนข้อเสนอเพื่อทำวิจัยก็ดี เราจะหาอะไรเป็นที่แน่นอนก็คงยากอีกเช่นกัน

ดังนั้นโปรดสังเกตดูว่าทุกขั้นตอนในวิชาสถิติจะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับความคลาดเคลื่อน (error) อยู่ทุกแง่ทุกมุมจนกระทั่งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความคลาดเคลื่อนซึ่งเป็นผลจากตัวนักวิจัยเองร่วมอยู่ด้วย

สรุปแล้วคนทำงานวิจัยทุกคน ก่อนที่จะเริ่มต้นงานวิจัยควรหวนกลับมาวิจัยตัวเองให้เห็นได้ถึงความจริงและยอมรับให้ได้เสียก่อน

สรุปแล้ววิชาสถิติก็คือ วิชาที่ว่าด้วยสัจธรรมของชีวิตทุกรูปลักษณะอันควรถือว่าตรงกันกับพุทธธรรมตามหลักพุทธศาสนา

ดังนั้นครูผู้สอนควรมีรากฐานจิตใจที่อิสระถึงระดับหนึ่งจึงจะสามารถสอนชนรุ่นหลังให้เข้าใจได้ง่าย

การที่มีผู้ร้องว่า “เข้าใจแล้ว!” นั่นแหละคือคนที่ไม่เข้าใจจริง เพราะถ้าเข้าใจจริงแล้วควรถือขันติธรรมเป็นที่ตั้ง แต่คนที่ร้องว่า เข้าใจแล้วนั้น เพราะไม่เข้าใจถึงสะท้อนกลับออกมาด้วยคำพูดอะไรก็ตามย่อมถือว่าหาใช่ความเข้าใจจริงไม่

ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวไว้ว่าน่าจะมีสองด้านนั้น แต่คนที่ยึดติดอยู่กับอัตตาถึงระดับหนึ่ง ย่อมเหลืออยู่เพียงด้านเดียว

2 พฤษภาคม 2556
ระพี สาคริก
บ้านระพี สาคริก พหลโยธิน 41 จตุจักร กรุงเทพ 10900


ในสายตาของผมคุณพ่อระพี สาคริก อาจจะไม่ได้เป็นนักสถิติศาสตร์ที่เก่งกาจที่สุด และผมก็เชื่อว่าคุณพ่อไม่ได้ต้องการจะเป็นเช่นนั้น แต่คุณพ่อน่าจะเป็นครูสถิติศาสตร์ผู้มีพรหมวิหาร 4 สูงสุดท่านหนึ่งเท่าที่ผมได้เคยพบมาในชีวิตนี้ กราบลาคุณพ่อ ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก ครูสถิติศาสตร์รุ่นบุกเบิกของประเทศไทยด้วยความรักเคารพและอาลัยยิ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น