xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

NEXT STATION ผู้ว่าฯ กทม. “บิ๊กเนม” ชักแถวขึ้นสังเวียนชนช้าง “มาดามแป้ง” ยังนิ่ง “ชัชชาติ” ชิงลงอิสระ “ค่ายส้ม” ลับลวงพรางส่ง “ธนาธร”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปี่กลอง “เลือกตั้งท้องถิ่น” เริ่มประโคมให้เตรียมความพร้อม ความน่าสนใจมีไม่แพ้การเลือกตั้งระดับชาติ เพราะถือเป็น “ฐานราก” สำคัญที่ใกล้ชิดพี่น้องประชาชน คู่ขนานไปกับจังหวะขับเคลื่อนการเมืองในสภาฯ

หลายพื้นที่ขยับ เริ่มวางตัวผู้สมัครชิงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ “นายก อบจ.” กันบ้างแล้ว ทันทีที่กรรมการเคาะระฆังให้สัญญาณ ก็พร้อมขึ้นเวทีกันเลย

แต่ไฮไลท์สำคัญน่าจะเป็นพื้นที่พิเศษอย่าง “กรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร” ที่หลายพรรคการเมืองหมายปอง อยากจะได้เก้าอี้ “พ่อเมือง” คุม “อาณาจักรเสาชิงช้า” มาอยู่ในอาณัติ

ด้วยรู้กันดีว่า กทม.เป็น “จุดยุทธศาสตร์” ที่สามารถชี้เป็นชี้ตายในทางการเมืองได้เลย เพราะบริหารจัดการเมืองหลวง ที่มีประชากรอยู่หนาแน่นมากที่สุดในประเทศ ที่สำคัญยังเป็นแหล่งกำเนิดของ “กระแส” อีกด้วย

เรียกว่า ใครบริหารเก่ง ถูกใจประชาชน มีผลต่อการเลือกตั้ง ส.ส. ในฐานะที่เป็นพื้นที่มี ส.ส.มากที่สุดในประเทศ ใครยึดกรุงเทพฯ ได้ โอกาสจะมี ส.ส.ในสภาเป็นกอบเป็นกำมีสูง

กี่ปี กี่ครั้ง สนามเมืองหลวงฟัดกันฝุ่นตลบอบอวล แม้ไม่ใช่คนเมืองกรุง แต่ประชาชนทั่วประเทศให้ความสำคัญ เปรียบดังเป็นตำแหน่งพิเศษ

เก้าอี้นี้ไม่เล็ก ดีกรีไม่แพ้รัฐมนตรีกันทีเดียวเชียวล่ะ ถึงฤดูกาลเข้าคูหาเลือก “ผู้ว่าฯกทม.” เมื่อไหร่ ทุกพรรคทุ่มทุกสรรพกำลังกันเต็มที่ ไม่มีผ่อน

ช่วงหลายปีหลัง ศึกชิงตำแหน่ง “ผู้ว่าฯ เสาชิงช้า” ถูกสองพรรคการเมืองใหญ่ผูกขาดระหว่าง “ประชาธิปัตย์” กับ “เพื่อไทย” ส่วนใหญ่จะเป็นรายแรกที่ประสบความสำเร็จ

แข่งกันทุกครั้ง เข้มข้นปรอทแตกตลอด เสมือนท้าชิงเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” กันอย่างไรอย่างนั้น ถึงขนาดใช้แคมเปญระดับชาติมาเบิ้ลบลัฟใส่กัน ระดมทุกสรรพกำลังมาชนกัน ในสนามเมืองกรุง

ตามสถิติเฮดทูเฮดแล้ว เป็น “ประชาธิปัตย์” ในฐานะที่เคยมีอดีต ส.ส.มากสุดในเมืองกรุง อาศัยกระแสความเป็น “พรรคคนเมือง” ดูดคะแนนประชาชนจนเข้าวินมาหลายสมัย ไม่ว่าจะเป็น “เสี่ยต้อม” อภิรักษ์ โกษะโยธิน” และ “ชายหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

โดยเฉพาะรายหลังขนาดคนกรุงร้องยี้ แต่ทันทีที่ “ประชาธิปัตย์” งัดมุกเผาบ้านเผาเมือง ที่องคาพยพเพื่อไทยเคยทำไว้ ผนวกกับวลี “ไม่เลือกเราเขามาแน่” ยังผงาดนั่งสมัยที่ 2 ได้แบบหักปากกาเซียน

เพียงแต่ว่า หนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป “ผีทักษิณ” ไม่น่าจะใช้มาหลอกใครด่าอีก ตามคิวล่าสุดที่สนามเลือกตั้ง ส.ส.กทม. “พรรคสีฟ้า” อยู่ในจุดวิกฤติ “สูญพันธุ์” ในเมืองกรุง ตกต่ำสุดในประวัติศาสตร์พรรคเก่าแก่

ขณะที่ “ค่ายสีแดง” พรรคเพื่อไทย ก็ใช่ว่าจะดี สังเวียน ส.ส.กทม.ที่ผ่านมา ก็ทำได้แค่ “คาบเส้น” แบบหืดจับเสียด้วย

งวดนี้ 2 พรรคใหญ่ที่เคยผูกขาดสัมปทานเบอร์ 1 และ 2 ถูกลดเครดิตลงไปโข โดยมี “ผู้เล่นหน้าใหม่” อย่าง “พลังประชารัฐ” เจ้าของตำแหน่งแชมป์ ส.ส.กทม.มากที่สุด และ “อนาคตใหม่” ที่นั่งแท่นปอปปูลาร์โหวตในพื้นที่ กทม.โดดเด่นขึ้นมาจนบดบังรัศมี ปล่อย “ส.ส.หน้าใหม่” เข้าไปค่อนจังหวัด สะท้อนอารมณ์คนเมืองหลวงได้เหมือนกันว่า เบื่ออะไรเดิมๆ และอยากจะลองของใหม่ดู

ประเภท “สงครามสี” ยึดพรรคเป็นหลักมากกว่าตัวบุคคลน่าจะเป็น “แป้ก” ในศึกแย่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ เมืองหลวง ขืนใครยังหลงวัฒนธรรมเดิมๆ อาจร้องไห้น้ำตาตก

นั่นถือเป็น “โจทย์ใหญ่” ที่ทุกพรรคนำมาเป็นหลักการในการคัดเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หนนี้

ตามคิวที่แต่ละพรรค เริ่มปล่อยชื่อแคนดิเดตกันออกมาชิมลาง วัดกระแส เริ่มตั้งแต่ “พลังประชารัฐ” ที่กวาด ส.ส.มาเป็นอันดับหนึ่งใน กทม. คนแรกที่โผล่มา คือ “ผู้ว่าฯหมูป่า” ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ที่คนในประเทศยกให้เป็นฮีโร่ ตอน 13 เยาวชนหมู่ป่าอะคาเดมี่ติดถ้ำหลวง

แต่ดูแล้วน่าจะเป็นการ “หยั่งกระแส” เพราะคุณสมบัติของ “ณรงค์ศักดิ์” ไม่สามารถลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ได้ อีกทั้งยังเป็นพวก “ไม้บรรทัด” ไม่แคร์ผู้มีอำนาจ น่าจะคุมยากหากให้มาเป็น

มองดูในพรรคพลังประชารัฐตอนนี้ ต้องบอกว่า พวกมีคุณสมบัติมีหลายคน แต่ประเภทลงแล้ว “ชนะใส” มีให้เลือกไม่ค่อยเยอะ

เดิมทีก่อนเลือกตั้ง ส.ส. ชื่อ “บิ๊กวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ที่ได้อานิสงส์ “มาตรา 44” เป็นตัวเต็งที่จะลงสมัครซ้ำ แต่พอเห็นผลการเลือกตั้ง ส.ส.เมืองกรุง คนรุ่นใหม่มาแรง ชื่อนี้เลยหลุดออกจากวงจร เพราะผลงานตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่หวือหวา และโดนด่าออกบ่อยครั้ง เสี่ยงส่งไปอาจแพ้หลุดลุ่ย

ขณะที่น้องเล็ก “แก๊งลูกกรอก” อย่าง “เสี่ยจั้ม” สกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ ที่มาจาก ม.44 ที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอนนั้นได้แรงยุจาก “เสี่ยตั้น” ณัฐฏพล ทีปสุวรรณ และ “เสี่ยบี” พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส่งไปนั่ง แม้อายุอานามยังน้อย แต่ไม่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักเท่าที่ควร

ขนาดลงเลือกตั้ง ส.ส.หลักสี่ เขตเดียว ยังแพ้มาหลายสมัย โอกาสเข้าป้ายเป็นแคนดิเดตของพรรคพลังประชารัฐริบหรี่

คนที่อยู่ในกระแส อย่าง “มาดามเดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่รูปลักษณ์ ฐานะ และการศึกษาเข้าเกณฑ์ จัดเป็นพวก “ดาวฤกษ์” แต่ไม่น่า “เปลืองตัว” จะลงมาเสี่ยง สู้เก็บเลเวลในฐานะ ส.ส.สมัยแรก เล่นการเมืองระดับชาติต่อไปก่อน

ที่น่าถอดรหัส คงเป็นคำใบ้จากปาก “เสี่ยบี-พุทธิพงษ์” ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ กทม.ของพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งที่ผ่านมา จนได้บำเหน็จขึ้นชั้น รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในตอนนี้ เคยหล่นวาจาพูดทีเล่นทีจริงว่า “อาจจะมีรัฐมนตรีลาออกไปสมัครก็ได้”

ส่องก๊วน กทม.ในพรรคพลังประชารัฐ และได้เก้าอี้เสนาบดี ก็มีแค่ “เดอะบี” และ “เสี่ยตั้น-ณัฏฐพล” ที่เป็น รมว.ศึกษาธิการ วัดกันในแง่เป็นที่รู้จักของสังคมพอขายได้ แต่ในเชิงการเมืองก็ไม่ต่างกับ “น้องจั้ม” ที่ลง ส.ส.เขตเดียวก็ผูกปีเป็น “ส.ต.สอบตก” กันมาแล้วทั้งนั้น

อีกทั้งเอาเข้าจริง ผลงานเอกอุของ “แก๊งลูกกรอก” ที่ฟาดเก้าอี้ ส.ส.กทม.มาได้ถึง 12 ที่นั่งนั้น ก็ไม่ได้มีใครให้ราคาเท่าไร เพราะมีปัจจัยหนุนส่งมาจากกระแสที่ต้องการความชัดเจน ในการเลือก “นายกฯ ลุงตู่” เพื่อกดไม่ให้ “ขั้วทักษิณ” พลิกเกมเข้าสู่อำนาจได้เท่านั้น

หาใช้ฝีไม้ลายมือของ “แก๊งลูกกรอก” อดีตหางแถว “ค่ายสีฟ้า” อย่างที่เอามาคุยเขื่องกันอยู่แต่อย่างใด

ถึงขนาดมีเสียงท้าทายจากระดับแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ว่าถ้าแน่จริง และมั่นใจว่าจะชนะศึกเมืองหลวงจริง “เสี่ยบี”ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ กทม. ก็เหมาะสมที่จะสละเก้าอี้รัฐมนตรี มาลงสมัครซักตั้ง

เพราะหาก “เสี่ยบี” กล้าเสี่ยง ก็มีตัวช่วยชั้นดี อย่างศรีภรรยา นุสบา ปุณณกันต์ อดีตนางเอกชื่อดัง ที่พร้อมออกมาช่วยเรียกแต้มด้วย ที่ผ่านมาเวลาออกงาน ก็ประมาณมี “พุทธิพงษ์” ที่ไหน มี “นุสบา” ภรรยาสุดสวยที่นั่นแทบจะทุกงาน

ถ้าจับคู่กันลงพื้นที่หาเสียงใน กทม. ต้องบอกว่า ได้ลุ้น!!

อยู่แค่ว่า “เดอะบี” กล้าเสี่ยงหรือไม่ เพราะเพิ่งจะได้เป็นรัฐมนตรีสมัยแรก แล้วหากจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.จริง ยังต้องสละเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่นั่งคร่อมอยู่อีกด้วย

อีกชื่อที่ “แก๊งลูกกรอก” เคยโยนหินถามทางออกมา ก็เป็น “มาดามอีฟ” ทยา ทีปสุวรรณ ศรีภรรยาขาลุยของ “เสี่ยตั้น” ที่ดีกรีไม่ธรรมดา เคยเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.สมัย “ชายหมู” มาก่อนด้วย แต่พอโยนชื่อออกมากลับไร้สัญญาณตอบรับจากปลายทาง

หันมาดูที่ “อนาคตใหม่” ขวัญใจวัยรุ่น เป็นอีกพรรคที่น่าจะทุ่มสุดตัวในสนามเมืองหลวง เพราะหากชิงเก้าอี้นี้ได้ จะมีของเล่นทางการเมืองเพิ่ม อย่างน้อยถ่วงดุลอำนาจในเมืองกรุงได้อย่างมีน้ำหนัก จะเป็นอุปสรรคชิ้นโตสำหรับการทำงานของรัฐบาล

คนรุ่นใหม่ในพรรค ที่หน้าตาดี การศึกษาสูง พูดจามีหลักการเพียบ ประเภทเปิดชื่อแล้วตูมตามแบบ “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่โดนดองเป็น ส.ส.ไม่ได้เขาสภาฯ อยู่ในตอนนี้ก็มีไม่น้อย แต่ส่วนใหญ่ก็เข้าวินเป็น ส.ส.ไปหมดแล้ว
เดิมเคยวาง “เสี่ยทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เอาไว้ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ แต่พอ “เสี่ยทิม” โชว์ฟอร์มหรูในสภา จากการอภิปรายหลายวาระที่ชวนให้ “ติ่งส้มหวาน” เคลิบเคลิ้ม โดยเฉพาะปัญหาเกษตรกร ตอนแถลงนโยบายของรัฐบาลแห่แชร์แห่อวยกันว่อนโซเชียลมีเดีย ก็เลยพับแผนเก็บไว้เป็น “อาวุธหนัก” ในการเมืองกระดานใหญ่ดีกว่า

หลังสำรวจตรวจสอบแล้ว กลายเป็นว่า “ค่ายสีส้ม” มีกระแส แต่ไม่มี “ผู้เล่น” เหมาะๆ จนมีข่าวเนืองๆว่า หากคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ กรณี "ธนาธร" ถือหุ้นสื่อ ทำให้ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง ส.ส. อาจมีชื่อ “เสี่ยเอก” เจ้าของพรรคอนาคตใหม่ ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ด้วยตัวเอง

ซึ่งเกจิหลายสำนักต่างฟันธงแล้วว่า “เสี่ยเอก” น่าจะรอดยาก แต่ต้องดูในรายละเอียดว่า จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปด้วยหรือไม่ และตัดสิทธิยาวแค่ไหน เพราะถ้าแค่อดนั่ง ส.ส.เที่ยวนี้ แต่ไม่ได้โดนแบน “พ่อของฟ้า” น่าจะกระโดดลงชิงเก้าอี้ “เสาชิงช้า 1” เป็นแน่ เพื่อให้ตัวเองมีพื้นที่และอำนาจทางการเมือง

อย่างไรก็ดี หมุดหมายทางการเมืองของ “เสี่ยเอก” วางกันไว้ที่กระดานใหญ่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพกว้างตามที่คุยโวไว้ ซึ่งน่าจะเหมาะกับตำแหน่ง “ผู้แทนราษฎร” เพื่อขับเคลื่อนงานผ่านสภาฯมากกว่า ทำให้พอ “จับทาง” ได้ว่า ข่าวหลุดที่ว่ากันว่า “ธนาธร” สนใจลงผู้ว่าฯกทม. เป็นเพียง “เสียงขู่” จากพรรคอนาคตใหม่ ว่าหากสถานะ ส.ส.ของ “เสี่ยเอก” มีอันเป็นไปเมื่อใด ก็พร้อมเบนเข็มลงมาเล่นสนามเล็ก

เพราะต้องยอมรับว่า หาก “เสี่ยเอก” ลงสมัครจริง โอกาสเข้าป้าย “เสาชิงช้า” ก็มีสูง ด้วยกระแสความนิยมในกลุ่มเยาวชน “เฟิร์สโหวตเตอร์” ที่หลงเสน่ห์ “พ่อของฟ้า” เข้าอย่างจัง

ฝ่ายกุมอำนาจ ก็ต้องคิดตรึกตรองให้หนัก เพราะเคยมีกรณีศึกษามานักต่อนัก กรณีที่ผู้ว่าฯ กทม.ไม่ยอมลงให้รัฐบาล จนเกิดปัญหาในการบริหารประเทศในภาพรวม

โดดมาที่บ้านใกล้เรือนเคียงฟากฝั่ง “เพื่อไทย” ที่พยายามจะคว้าเก้าอี้ตัวนี้มาตลอด ขยันทำพื้นที่มานาน เพื่อหวังจะโค่น “ประชาธิปัตย์” ให้ได้ ก็ตั้งเป้าหมายเอาไว้สูง โดยเฉพาะแคนดิเดตหนนี้ ที่ค่อนข้างป็อปปูลาร์กว่าทุกครั้ง รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี “เสี่ยทริป” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.คมนาคม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็น 1 ในขวัญใจวัยรุ่น และถูกจริตคนกรุง

นาทีนี้ “ชัชชาติ” ไม่น่าจะมีคู่แข่งภายในพรรค วัดกันปอนด์ต่อปอนด์ยังไม่มีใครที่มีโอกาสจะชนะเท่ากับอดีตรัฐมนตรีที่มีภาพเป็นแคนติดดินคนนี้ และก็ชัดเจนแล้วว่าทางต้นสังกัด โดยเฉพาะ “นายใหญ่” ที่ว่ากันว่าเปิดไฟเขียวให้ “เสี่ยทริป” ลงสมัครในนามอิสระเป็นที่เรียบร้อย

นัยว่าตีอ่อยทาง “อนาคตใหม่” ให้หลบไม่ต้องส่งผู้สมัคร แล้วหันมาสนับสนุน “ชัชชาติ” ได้อย่างสะดวกใจ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะ “เสียงแตก” ด้วยฐานเสียงอยู่ในระนาบใกล้เคียงกัน แต่ก็เห็นว่าทางพรรคเพื่อไทยก็ยังต้องลุ้นหนัก ด้วย “พรรคน้องใหม่” ค่อนข้างทระนงในฐานเสียงของตัวเอง หากมีตัวดีๆ ก็พร้อมที่ส่งวัดกัน แตกเป็นแตก หักเป็นหักเหมือนกัน

ทางด้านแชมป์เก่าอย่าง “ประชาธิปัตย์” ก็ทุ่มหมดหน้าตักกับสนามผู้ว่าฯ กทม. หวังกู้ศักดิ์ศรีพรรคของคน กทม.กลับมา หลังเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา หมดท่า สูญพันธุ์ ไม่ได้ซักเก้าอี้ในสภาฯ “ค่ยสีฟ้า” น่าจะรู้ซึ้งดีแล้วว่า นาทีนี้จะส่งตาสีตาสา เด็กเส้นที่ไม่ถูกใจคนกรุงมาลงแข่งคงไม่ได้

ก็เลยมีการสะกิด “เฮียมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรค ที่ขณะนี้ “เตะฝุ่น” หลังลาออกจาก ส.ส.มา ลองพินิจลงกู้ศรัทธาคนกรุง แต่ก็ดูเหมือนเจ้าตัวไม่ค่อยสนใจ ด้วยสนาม กทม.เล็กเกินไป และส่วนตัวก็มีเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น

ขณะที่แคนดิเดตของค่ายนี้ ยังมี “เสี่ยต้อม - อภิรักษ์” อดีตเจ้าของตำแหน่ง 2 สมัย รวมไปถึง “ดร.ซุป” ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการองค์การการค้าโลก (WTO) ที่ซุ่มแต่งเนื้อแต่งตัวมานาน ไม่ได้ลงสนามจริงซักที ทั้ง 2 ชื่อก็น่าสนใจ แต่ดูเหมือนว่าต่างคนก็ตั้งเป้าหมายที่ใหญ่กว่านี้ คล้ายกับกรณีของ “อภิสิทธิ์” เช่นกัน

โอกาสจึงหล่นมาที่ชื่อ “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้บริหารบริษัทประกันยักษ์ใหญ่ และเจ้าของสโมสรฟุตบอลชื่อดัง “การท่าเรือ เอฟซี” ที่ถูก “ค่ายสีฟ้า” ทาบทามไว้ตั้งแต่สมัย “หม่อมหมู” ยังอยู่ในตำแหน่ง วางตัวไว้เป็นทายาทคนต่อไป แต่เกิดรัฐประหารเสียก่อน

ยี่ห้อ “มาดามแป้ง” ภาพลักษณ์ การศึกษา ฐานะ เพียบพร้อม แนวคิดดูทันสมัย เหมาะกับยุคสมัยปัจจุบัน เป็นประเภททุ่มเท ทุ่มทั้งตัว เรียกว่า ไม่มีข้อกังขา โปรไฟล์ขาวสะอาด กว้างขวางทุกวงการ ไม่นิยมเล่นการเมืองแบบสาดโคลนไปมา

ชื่อนี้ “น่ากลัว” และ “มีลุ้น” เพราะเป็นของใหม่ในทางการเมือง มีภาพ “หญิงเก่ง” ที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ และยังเป็นคนที่ “เข้าถึง” ได้ หากลงสมัครจริงด้วยแคมเปญส่วนตัว “เชื่อแป้ง” แล้วมีคะแนนพรรคใหญ่อย่างประชาธิปัตย์หนุน โอกาส “ค่ายสีฟ้า” ได้กู้หน้าก็มีสูง ยิ่งเพิ่มความดรามา ขอคะแนนสงสารให้ได้กลับมาทำงานรับใช้คนเมืองหลวงพ่วงเข้าไปในแคมเปญ บอกได้เลยว่า คู่แข่งหนักใจ

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า “มาดามแป้ง” ยังคง “นิ่ง” ไม่ตอบรับเสียงเชื้อชวนที่มาจากประชาธิปัตย์เท่าใดนัก รวมทั้ง “นิ่ง” กับการลงสมัคร “อิสระ” ที่ “กองเชียร์” ชูรักแร้หนุน ซึ่งอาจจะมีภาษีดีกว่าลงในนามค่ายสีฟ้าเสียด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ดี ในส่วนของ “ผู้สมัครอิสระ” ก็อย่าหยันเป็น “ม้านอกสายตา” ไม่ได้ หนนี้คนกรุงไม่ได้ยึดติดยี่ห้อพรรคการเมือง แต่ให้น้ำหนักที่ตัว “บุคคล” มากที่สุด ขนาด “ชัชชาติ” ยังมีข่าวจะขอลงสมัครนอกมุ้งเพื่อไทย หวังหลบกระแสแบ่งข้าง เอาคะแนนจากทุกสีเสื้อ

รอบนี้ประเมินแล้วน่าจะมี “ผู้สมัครอิสระ" ที่ต้องการจะพรีเซนต์ตัวเองมากกว่าพึ่งพาบารมีพรรค เพราะเห็นรสนิยมคนกรุงในช่วงเลือกตั้ง ส.ส.แล้วว่า ถ้าของดี ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งต้นสังกัด ลุยเองได้

ที่เริ่มมีข่าวออกมาแล้วอย่างรายของ “เจ๊รส” รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. ที่ลงไปทำงานภาคประชาชน และต่อสู้เรื่องพลังงานให้คนไทยได้ใช้น้ำมันถูกๆ ไม่โดนกดขี่ ระยะหลังไปคลุกกับการผลักดันกัญชารักษาโรค ไม่ยึดโยงพรรคการเมือง อาจจะขอกลับมาใช้รับประชาชนในนาม “ผู้สมัครอิสระ” ได้เหมือนกัน

อย่าลืมว่าเมื่อปี 2551 “เจ๊รส” ลงสมัคร ส.ว.เลือกตั้ง ใน กทม. ได้แต้มมาเป็นที่หนึ่งของประเทศ ฟาดไปถึง 7.43 แสนคะแนน ทิ้งห่างที่ 2 ขาดลอย ถือเป็นแคนดิเดตที่วางตาไม่ได้เหมือนกัน

กระนั้นก็ตาม หนนี้ทุกคนมีโอกาส โดยเฉพาะปัจจัยสำคัญคือ การ “ทับเส้น” ในพรรคร่วม ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน “เพื่อไทย-อนาคตใหม่” ที่แพ็กกันแน่นในสภาแบบหลวมๆ มาสนามนี้เจอปัญหาใหญ่ ไม่มีใครหลบใคร เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการยึดเมืองหลวง เอามาคานอำนาจฝ่ายบริหารระดับประเทศ

ตัวเด็ดมีทั้งสองพรรค งานนี้ถ้าต้องชนกัน มีหวัง “ตัดคะแนน” กันเอง พรรคเพื่อไทยก็ไม่ยอม เพราะลงสนาม ทำพื้นที่นี้มาก่อน แถมตอนเลือกตั้ง ส.ส.กทม. หากไม่ถูกพิษยุบพรรคไทยรักษาชาติ อนาคตใหม่อาจไม่ได้ ส.ส.มากเท่านี้ อาจมีรายการทวงบุญคุณ

อนาคตใหม่ก็มั่นใจตัวเองมากกว่า สด ใหม่ ขายได้ ดังนั้น อาจต้องถกกันหลายรอบ!

ขณะที่ “พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์” ดูแล้ว อาจจะพอคุยกันได้ หากผู้สมัครเป็นคนที่เห็น “ตรงกัน” อย่างพรรคแรกแม้จะอยากกอดเก้าอี้ตัวนี้ไว้ แต่ถ้าคนที่ค่ายสีฟ้าเคาะมาพอยอมได้ ก็น่าจะหลบ

ยกเว้น “ประชาธิปัตย์” เลือกของเก่า ไม่มีลุ้น “พลังประชารัฐ” น่าจะเลือกตัวผู้สมัครลงแข่งเอง ตัดเป็นตัดคะแนน ซึ่งเช็กทิศทางลม สองพรรคอะลุ้มอล่วยกว่า “เพื่อไทย-อนาคตใหม่” ในสนามนี้

เพราะถือว่า เสียให้ “ประชาธิปัตย์” ก็ยังดีกว่าเสียให้ “เพื่อไทย - อนาคตใหม่”.


กำลังโหลดความคิดเห็น