ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ความมุ่งหวังจะปลุกปั้น “สตาร์ทอัพ” ให้กลายเป็นธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีหัวเรือใหญ่อย่าง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นคีย์สำคัญ ยังไม่ถึงฝั่งฝัน ตามที่ “รองฯ สมคิด” ยอมรับว่ายังมีอุปสรรคและขาดการเติมเต็ม Life cycle ในการสร้างและพัฒนา Startup ของไทย
กระทั่งล่าสุด มีการผนึกพลังและลงขันร่วมกันของ 30 องค์กรแนวร่วม ทั้งรัฐ-เอกชน-สถาบันการศึกษา จัดตั้ง บริษัท InnoSpace (Thailand) หวังทะลุทะลวงทุกข้อจำกัดโดยฝันไกลไปถึงการนำพาสตาร์ทอัพก้าวกระโดดสู่ธุรกิจระดับ Unicorn (ยูนิคอร์น) ที่มีมูลค่ามากกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯขึ้นไป
เป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายองค์กรแนวร่วมซึ่งอยู่ระดับแถวหน้าของประเทศว่าจะร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ได้สำเร็จหรือไม่
จังหวะก้าวคราวนี้ที่น่าจับตาก็คือ ไม่เพียงแต่เป็นการจับมือลงขันกันขององค์กรพันธมิตรภายในประเทศเท่านั้น ยังมีระดับบิ๊กเนมจากต่างชาติ เช่น หัวเหว่ย ซึ่งตอบรับร่วมเป็นพันธมิตรแล้ว และยังกำลังจะตามมาอีกก็คือ ไมโครซอฟท์ ซัมซุง กูเกิล ตามที่นายสมคิด บอกกล่าวในวันที่ไปเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือเครือข่ายภาครัฐที่ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันการเงิน กับภาคเอกชน 13 หน่วยงาน เพื่อการระดมทุนเพื่อขับเคลื่อนบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ InnoSpace (Thailand) เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา
ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ บทบาทของ บริษัท อินโนสเปซ จะเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนในรูปแบบเอกชนที่สามารถเชื่อมโยงและบูรณาการทุกภาคส่วน โดยเป็นกลไกในการส่งเสริมและสร้าง Startup ที่มุ่งเน้นทั้งในภาคการผลิต เช่น การเชื่อมโยงภาคการเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม ด้านการบิน ด้านโทรคมนาคมและภาคบริการ ให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ทั้งนี้ การดำเนินงานของอินโนสเปซ จะมีเสาหลักที่แข็งแกร่งทั้งสถาบันการศึกษา จะเป็นแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญและผลงานวิจัย สถาบันการเงิน เชื่อมโยงแหล่งเงินทุนและการเร่งเข้าสู่ธุรกิจ มีภาคเอกชนให้การสนับสนุนทั้งด้านการเงิน ความเชี่ยวชาญและการลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายและมาตรการสนับสนุนต่างๆ
“เอกชนเขาปรับตัวไปมากแล้ว แต่เรามีเป้าหมายที่จะไปเชื่อมโยงและเร่งให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่จะสร้างธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เชื่อว่าอนาคตจะได้มากขึ้นเพราะคนไทยมีความสามารถเยอะแต่ขาดโอกาส ซึ่งประเทศอื่นเขาสำเร็จกันเยอะ เช่น อิสราเอล เขามีสตาร์ทอัพมาก จีนก็เช่นกัน ซึ่งธุรกิจเล็กๆ เหล่านี้ก็จะกลายเป็นยูนิคอร์น เราเองก็วางเป้าที่จะไปถึงเช่นนั้น.... ” นายสมคิด วาดฝันในวันเปิดอินโนสเปซฯ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งร่วมงานวันเปิดตัวบริษัท อินโนสเปซฯ ด้วยนั้น ระบุว่า อินโนสเปซ จะเป็นกลไกเพื่อสร้างสตาร์ทอัพให้มีความเข้มแข็ง โดยมีเป้าหมายสร้างสตาร์ทอัพ 1 ปีแรกนับจากวันนี้ให้ได้ 300 ราย
สำหรับที่ตั้งของบริษัทอินโนสเปซเบื้องต้นจะอยู่ที่บริเวณที่ตั้งโรงงานยาสูบเดิม (คลองเตย) ขณะที่สถาบันวิทยาศิริเมธี (วังจันทร์วัลเล่ย์) อ.วังจันทร์ จ.ระยอง จะเป็นอีกสาขาหนึ่งในการเป็นศูนย์บ่มเพาะ
เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) https://www.eeco.or.th รายงานความคืบหน้าล่าสุด ในการลงขันตั้ง บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) ว่า มีภาคีเครือข่ายภาครัฐ-เอกชน สถาบันการเงิน และสถาบันการศึกษา 30 องค์กร เข้าร่วมลงขันโดยมีเม็ดเงินตุนไว้ 640 ล้านบาท สำหรับสนับสนุนการดำเนินงาน
ที่ผ่านมา อินโนสเปซ (ประเทศไทย) วางแนวทางสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพไทยให้ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ จึงยึดโยงการทำงานเข้ากับยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ของจีน โดยลงนามบันทึกความเข้าใจกับพันธมิตรต่างประเทศจากฮ่องกง 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย HKTDC, HPA และ HK Cybersport เพื่อช่วยบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เสริมความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการ อันจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมและสตาร์ทอัพของอาเซียน
อินโนสเปซฯ วางเป้าสำหรับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) เพื่อสร้างและพัฒนาสตาร์ทอัพตลอดวงจรชีวิต ตั้งแต่ระดับ Pre-Seed ไปจนถึงขั้นยูนิคอร์นในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงสามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่เรียกว่า Deep Technology และผลักดันให้ อินโนสเปซ (ประเทศไทย) เป็น National Startup Platform ที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนากลุ่มสตาร์ทอัพไทยอย่างครบวงจร
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานที่ปรึกษา บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การลงนาม MOU กับพันธมิตรทั้ง 30 องค์กร จะทำให้สตาร์ทอัพไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยมุ่งบ่มเพาะสตาร์ทอัพในกลุ่ม Deep Tech ได้แก่ Medical/Health Technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีด้านสุขภาพ สาธารณสุข อุปกรณ์ทางการแพทย์ และกลุ่ม Food Technology / Bio Technology ที่เป็นเทคโนโลยีด้านอาหารและอาหารแปรรูป ซึ่งเป็นการต่อยอดจากฐานการผลิตที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง
นายเทวินทร์ ซึ่งกำลังถูกตามจีบให้เข้ามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อินโนสเปซฯ ยังบอกว่า จะมีการคัดเลือกสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพเข้าร่วมนำเสนอไอเดียธุรกิจในเวทีสตาร์ทอัพที่ฮ่องกงในเดือนพฤศจิกายนนี้ และการจับคู่ธุรกิจระหว่างกันเพื่อขยายการลงทุนทั้งในไทยและฮ่องกง ส่วนความร่วมมือกับอิสราเอลและเกาหลีใต้ คาดว่าจะมีการลงนามเอ็มโอยูกันกับบริษัทอินโนสเปซ ภายในเดือนกันยายนนี้
สำหรับความร่วมมือกับเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่าง KOTRA หน่วยงานดูแลการค้าต่างประเทศ และ KTS หน่วยงานสร้างสตาร์ทอัพของเกาหลีใต้นั้น นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) คาดว่าจะเชื่อมโยงสตาร์ทอัพเกาหลีใต้ที่ทำธุรกิจในประเทศไทย 15 ราย กับสตาร์ทอัพไทยเพื่อเปิดตลาดการลงทุนระหว่างกัน
ขณะที่ความร่วมมือกับอิสราเอลนั้นจะเป็นรูปแบบเดียวกับทางฮ่องกงและเกาหลีใต้ แต่อิสราเอลซึ่งมีจุดเด่นเรื่อง Deep Tech จึงตั้งเป้าให้เกิดความร่วมมือสร้างสตาร์ทอัพกลุ่มดังกล่าวกับผู้ประกอบการไทยใน 5 สาขา ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ, การเกษตร, อาหาร, การแพทย์ และ Internet of Thing (IoT) เพื่อช่วยยกระดับเทคโนโลยีการผลิตของกลุ่ม SMEs ไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0
อธิบดี กสอ. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้หน่วยงานพันธมิตรทั้ง 30 องค์กร ได้แสดงเจตจำนงให้การสนับสนุนเงินทุนรวมแล้วกว่า 640 ล้านบาท เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สนับสนุนรายละ 100 ล้านบาท
ส่วน ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ รายละ 50 ล้านบาท, เครือสหพัฒน์, บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บางกอกแอร์เวย์), บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), เอสเอ็มอีแบงก์ รายละ 30 ล้านบาท, โรงพยาบาลกรุงเทพ 20 ล้านบาท ส่วนพันธมิตรรายอื่นๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริษัทเพื่อขออนุมัติวงเงิน
สำหรับองค์กรที่ร่วมลงนามใน MOU ขับเคลื่อนการดำเนินงาน อินโนสเปซ (ประเทศไทย) 30 หน่วยงานนั้น นอกจากหน่วยงานรัฐและหน่วยงานในกำกับของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน สถาบันการเงินแล้ว ในส่วนของสถาบันการศึกษา ประกอบด้วย สถาบันวิทยสิริเมธี, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความสำคัญกับสตาร์ทอัพในฐานะนักรบทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคงภายในปี 2580 ตามวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น การวางรากฐานด้านการศึกษาเพื่อรองรับเป้าหมายดังกล่าวจึงมีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ภาพว่า ช่วง 3 ปีของการสร้างนักเศรษฐกิจใหม่ ก่อให้เกิดกระแสตื่นตัวและเกิดภาพความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคสังคม ภาคประชาชน ที่ขยายสู่วงกว้างและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงฯ ได้พัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพ ตั้งแต่ระดับสถาบันการศึกษาทั้งในมหาวิทยาลัยและอาชีวะ โดยมีมหาวิทยาลัย 35 แห่ง และอาชีวะ 1,000 แห่งทั่วประเทศไทย ร่วมผลักดันการพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ ทำให้เกิดการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นเป็นจำนวนกว่า 1,700 ราย ใน 9 รายสาขาอุตสาหกรรม
ขณะเดียวกัน บริษัทขนาดใหญ่ได้เปิดกว้างและร่วมลงทุนกับวิสาหกิจเริ่มต้น โดยมีการจัดตั้งกองทุนร่วมเสี่ยงมูลค่ากว่า 35,000 ล้านบาท มีแหล่งบ่มเพาะและเร่งสร้างเกิดขึ้นทั้งจากภาครัฐและเอกชน มีการสร้างเครือข่ายพันธมิตรระดับนานาชาติกว่า 25 ประเทศ กระตุ้นความสนใจและดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ เพิ่มเม็ดเงินลงทุนภายในประเทศ
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Techsauce Startup Report 2561 ระบุถึงสถิติการลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ตั้งแต่ปี 2558 มีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 36.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1,146 ล้านบาท ก้าวกระโดดมาถึง 106.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3,349 ล้านบาท ในปี 2560 จนถึงปี 2561 ที่ผ่านมา การลงทุนลดลงเหลือเพียง 61.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1,933 ล้านบาท
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเงินทุนจากนักลงทุนและกลุ่มทุนร่วมลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมกว่า 44,000 ล้านบาท ถือว่าเติบโต 5-6 เท่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และเชื่อว่าปีนี้จะเห็นดีลขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะจาก Corporate Venture Capital หรือบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้าซื้อกิจการ โดยหวังจะเห็นยูนิคอร์นสตาร์ทอัพสัญชาติไทยอย่างน้อย 1-2 ราย ภายใน 5 ปี และ NIA ยังตั้งเป้าว่า ภายใน 10 ปี จะต้องมีธุรกิจด้านนวัตกรรม 3,000 ราย โดย NIA จะเน้นการเป็น “ผู้เชื่อมโยง” มากกว่าการเป็น “หน่วยงานให้ทุน” ซึ่งจะทำให้การสนับสนุนบริษัทด้านนวัตกรรมเป็นไปอย่างครบวงจรมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผอ. NIA ได้ชำแหละปัญหาหลักของสตาร์ทอัพไทยที่ไม่เติบโตระดับยูนิคอร์น ส่วนหนึ่งคือการขาดแนวคิดที่จะขยายธุรกิจระดับภูมิภาค หรือระดับโลก การเข้าถึงตลาดและนักลงทุน
เป็นโจทย์ใหญ่และเป็นฝันไกลที่ทุกฝ่ายกำลังช่วยกันขับเคลื่อน และฝากความหวังส่วนหนึ่งไว้ที่ อินโนสเปซ ประเทศไทย