xs
xsm
sm
md
lg

ขอให้อเมริกา มาปลดปล่อยฮ่องกง

เผยแพร่:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร

กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง
เป็นภาพสะเทือนใจในการชุมนุมประท้วงที่รุนแรงในอาทิตย์ที่ 14 (3 เดือนครึ่ง) ที่ฮ่องกง ผู้ชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาวฮ่องกงอายุ 20 ต้นๆ รวมทั้งเด็กๆ นักเรียนมายืนร้องเพลงชาติอเมริกา พร้อมชูป้ายขอให้สหรัฐฯ มาช่วยปลดแอกดินแดนฮ่องกงจากแผ่นดินแม่ของตนคือ จีนแผ่นดินใหญ่

และก่อนหน้านั้น 2-3 วัน นายโจชัว หว่อง (หนึ่งในผู้นำที่เกิดเมื่อปีส่งมอบฮ่องกงคืนกลับสู่แผ่นดินแม่พอดี) ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ เยอรมนี นางอังเกลา แมร์เคิล เพื่อขอให้ช่วยกดดันผู้นำจีน ขณะที่เธอกำลังจะเดินทางไปปักกิ่ง (เดินทางเกือบทุกปีไปปักกิ่ง เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งระหว่างเยอรมนีและจีน)

นายหว่องยกเหตุผลมาเกลี้ยกล่อมนายกฯ เยอรมนีว่า เธอเกิดและเติบโตในเยอรมันตะวันออก ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ จึงได้ลิ้มรสชาติการกดขี่ลิดรอนเสรีภาพของเผด็จการ และเธอคงเข้าใจผู้ชุมนุมที่ฮ่องกงว่า กำลังต่อสู้เพื่อให้ได้เสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ดังเช่นที่นางแมร์เคิลได้มีส่วนสำคัญที่นำพาเยอรมันตะวันออก (หลังกำแพงเบอร์ลิน-ถูกทำลาย) ให้เติบโตเป็นเนื้อเดียวกันกับเยอรมันตะวันตกในด้านสิทธิเสรีภาพ โดยนายหว่องได้หวังให้นายกฯ แมร์เคิล พูดกดดันผู้นำจีนเพื่อให้จีนยอมให้ฮ่องกงมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานบริหาร (CEO) โดยตรง

ปรากฏว่า นายหว่องและหนุ่มสาวผู้ชุมนุมประท้วงคงต้องผิดหวัง เพราะนายกฯ แมร์เคิลไม่ได้กดดันผู้นำจีนเลยแม้สักน้อยนิด เพียงมีประโยคเด็ดอย่างที่ทั้งโลกได้ยินจากปากผู้นำประเทศใหญ่ๆ รวมทั้งเลขาธิการยูเอ็น ที่ส่งสัญญาณขอร้อง (ให้ทั้งสองฝ่ายใช้ความอดกลั้นอย่างที่สุด!!) ...ไม่ใช้ความรุนแรง

ขณะนี้ นายหว่องกำลังจะเดินทางไปพบกับนางแมร์เคิล ที่เยอรมนีด้วยตัวเอง เพื่ออธิบายให้เข้าใจลึกซึ้งเรื่องการประท้วงที่ฮ่องกง ก่อนจะเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อพูดจากับเหล่า ส.ส., ส.ว.อเมริกันให้ช่วยผลักดันด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของชาวฮ่องกง เหมือนดังที่สหรัฐฯ เคยต่อสู้กับอังกฤษเพื่อเอกราชเมื่อ 241 ปีที่แล้ว!

เมื่อเริ่มการประท้วงช่วงปลายมิถุนายน ที่ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจีนได้บุกเข้าไปทำลายข้าวของในสภา LegCo (Legislative Council-สภานิติบัญญัติ) โดยเฉพาะตราแผ่นดินจีนซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องเคารพ แล้วเอาธงอังกฤษไปคลุมที่แป้นไมโครโฟน รวมทั้งกางธงชาติอังกฤษ เพื่อทวงถามสัญญาที่ผู้นำเติ้ง ได้ทำไว้ตั้งแต่ก่อนส่งคืนเกาะฮ่องกงว่า จีนจะเคารพให้ฮ่องกงเป็นเขตปกครองพิเศษไปอีก 50 ปี โดยให้ฮ่องกงเป็นประชาธิปไตยซึ่งต่างกับจีนที่เป็นสังคมนิยม

ปรากฏเสียงสนับสนุนผู้ประท้วงที่ฮ่องกง ที่ออกมาจากปากของเหล่าผู้นำอังกฤษ มีเสียง เ-บ-า มาก มีแค่ความคิดเห็นของอดีตผู้ว่าฯ คริส แพทเทน ที่ออกมาทวงสัญญา 1 ประเทศ 2 ระบบ พอเป็นพิธี แต่ผู้นำอื่นๆ ของรัฐบาลดูเงียบกริบ โดยเฉพาะจากผู้นำฝ่ายค้าน นายเจเรมี คอร์บิน นั้นแทบไม่มีเสียงอะไรออกมาเลย เพราะเขาก็ถูกมองว่าเป็นซ้าย Marxist อยู่แล้ว จึงอาจเห็นตรงข้ามกับผู้ชุมนุมที่ฮ่องกงด้วยซ้ำ

ที่ผู้นำรัฐบาลอังกฤษเงียบกริบ ก็เพราะปัญหาหนักอึ้งเรื่องเบร็กซิตนั้นเอาการอยู่ ยังไม่รู้จะเป็นลูกผีลูกคน จึงไม่อาจหาญนำปัญหาของอดีตอาณานิคมมาเพิ่มให้ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่

ประกอบกับท่าทีอังกฤษต่อจีนนั้น ดูห่างไกลจากท่าทีสหรัฐฯ กับจีน ที่เห็นได้ชัดคือ กรณีระบบ 5G ของหัวเว่ย ที่รัฐบาลของนางเมย์ ดูจะไม่ปฏิเสธที่จะจัดซื้อระบบนี้สำหรับโครงการไอทีของอังกฤษ ทั้งๆ ที่นายทรัมป์ทั้งขู่ ทั้งกดดันให้อังกฤษเมินซื้อระบบ 5G มาติดตั้ง และอังกฤษก็อยู่ใน Five Eyes Network (ระบบแลกเปลี่ยนข่าวกรองอย่างลึกซึ้งในหมู่ 5 ประเทศที่ทูตอังกฤษคือ สหรัฐฯ, อังกฤษ, แคนาดา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์-เป็นประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษทั้งนั้น)

โดยสหรัฐฯ ขู่ว่า ถ้าอังกฤษไปใช้ระบบ 5G จะทำให้ระบบข่าวกรองของ 5 ประเทศถูกจารกรรมโดย 5G ของหัวเว่ย

ที่สำคัญคือ โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ one belt and Road Initiative นั้น ปลายทางในยุโรปมาขมวดอยู่ที่อังกฤษ ซึ่งอังกฤษชอบใจมากตั้งแต่สมัยของนายกฯ คาเมรอน แล้ว เพราะอังกฤษต้องการให้จีนใช้อังกฤษเป็นไม้กระดกสำคัญ (Spring Board) สำหรับการลงทุนของจีนในยุโรป (ทั้งหมด) และแอฟริกา

สำหรับสหรัฐฯ นั้น ปธน.ทรัมป์ได้ออกมาทวีตชัดเจนว่า เรื่องการชุมนุมที่ฮ่องกง “เป็นเรื่องภายในของจีน” เพราะเขาไม่อยากให้เรื่องฮ่องกงมาเพิ่มบรรยากาศการเจรจาสงครามการค้าที่ก็ยุ่งยาก และยืดเยื้อ ซึ่งทรัมป์ต้องการให้จบเร็วๆ ก่อนปีหน้า จะได้เป็นผลงานชิ้นโบแดงของเขาไว้เรียกคะแนนจากเหล่าชาวผิวขาว ที่เคยเลือกเขาเข้าทำเนียบขาวครั้งที่แล้ว และคราวนี้จะชื่นชมที่เขาสามารถจัดการกับจีนที่เขาเคยกล่าวหาว่า เป็นผู้มาปล้นงานไปจากสหรัฐฯ ซึ่งการเจรจาสงครามการค้าครั้งนี้ ทรัมป์หมายมั่นปั้นมือว่า จะทำให้จีนต้องยอมลดการได้เปรียบดุลการค้ามหาศาลจากสหรัฐฯ และมาตรการอีกหลายอย่างที่ทรัมป์ไปหาเสียงว่า อดีตผู้นำคนก่อนๆ ของสหรัฐฯ ไม่สามารถกดดันจีนได้สำเร็จ เช่น จีนเรียกร้องให้บริษัทอเมริกันที่ร่วมลงทุนในจีนต้องถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น

แต่ทรัมป์ให้คิวรองปธน.ไมค์ เพนซ์ ที่จะออกมากดดันจีนแทนตัวเขา เช่น ปรามไม่ให้จีนใช้ความรุนแรงหรือให้รมต.ต่างประเทศออกมาให้ท้ายผู้ชุมนุมที่ฮ่องกงว่า สิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งสำคัญที่จีนจะต้องไม่ละเมิด เป็นต้น

ที่สำคัญคือ การแบ่งบทกันเล่นระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐฯ คือการเคลื่อนไหวคึกคักร่วมมือทั้งสองพรรค (Bipartisan) ในวุฒิสภา นำโดย ส.ว.หนุ่มรัฐฟลอริดา มาโก้ รูบิโอ้ ที่ต่อต้านระบบสังคมนิยมของคาสโตร ที่คิวบาอย่างหัวชนฝา ได้ข้ามฟากมาจับมือกับวุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตหลายคน Ben Cardin และผู้นำเสียงข้างน้อยของวุฒิสภาคือ นายชัค ชูเมอร์ (ส.ว.อาวุโสของนิวยอร์ก) ร่วมกับผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาคือ ส.ว.อาวุโส Mitch McConnell พรรครีพับลิกันจากรัฐแคนตั๊กกี...(นายแมคคอนเนลล์มีภรรยาเป็นจีนไต้หวันอพยพมาตั้งรกรากที่สหรัฐฯ เมื่อเธออายุได้ 7 ขวบ และครอบครัวหนีมาจากจีนแผ่นดินใหญ่สมัยเหมาเพิ่งได้อำนาจปกครองจีนเบ็ดเสร็จ และขณะนี้เธอเป็นรมต.กระทรวงคมนาคมของทรัมป์ด้วย)

พวกเขาในวุฒิสภาจะนำเสนอกฎหมายชื่อ Hong Kong Human Rights and Democracy Act (กฎหมายสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยที่ฮ่องกง) เข้าสภาในอาทิตย์นี้ เป็นกฎหมายที่ต่อยอดจากกฎหมายเดิมคือ US-Hong Kong Policy Act เมื่อปี 1992 (นโยบายสหรัฐฯ ต่อฮ่องกง) ซึ่งออกมาเมื่อ 5 ปีก่อนการส่งมอบ

เนื้อหาของกฎหมายฉบับใหม่นี้จะมีการประเมินสภาวะสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยในฮ่องกงเป็นรายปี เพื่อดำรงสถานะพิเศษที่อเมริกามอบให้แก่ฮ่องกงมาตั้งแต่ 1992

นี่แหละเหตุผลที่นายโจชัว หว่อง จะเดินทางไปล็อบบี้ที่สภาอเมริกัน

ตำรวจโลกอย่างสหรัฐฯ คงต้องแสดงท่าทีผู้ปกป้องประชาธิปไตยของโลกเช่นกรณีฮ่องกง เพียงแต่ฝ่ายบริหารก็ให้สภาเล่นบททางกฎหมาย ซึ่งเป็นการเล่นบท “ผู้ใหญ่ของโลก” เท่านั้น

มีข้อคิดเห็นจากเหล่าบรรดาอดีตนักศึกษา และคนหนุ่มสาววัยรุ่น (เมื่อ 30 ปีที่แล้ว) ที่เคยร่วมต่อต้านรัฐบาลจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน วันนี้อายุ 50 ขึ้นไปแล้ว-จำนวนน่าจะเป็นหมื่นที่อพยพไปอยู่ต่างประเทศในสหรัฐฯ, แคนาดา, อังกฤษ, ออสเตรเลีย เป็นต้น พวกเขาสะท้อนว่า ขณะที่การชุมนุมขนาดใหญ่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และฝ่ายรัฐบาลจีนก็ขู่ว่าจะปราบปรามสลายการชุมนุม (อย่างรุนแรง)...พวกเขาได้เรียกร้องให้ต่างประเทศช่วยกดดันจีน (ขนาดมีรูปปั้นด้วย paper mache เป็นรูปเทพีเสรีภาพของสหรัฐฯ ยืนสง่าอยู่ท่ามกลางการชุมนุม)…พวกเขาต่างผิดหวังว่า-ไม่มีประเทศใดสามารถกดดันไม่ให้ทางการจีนเข้าสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง

มีก็แค่การ “ประณาม” การปราบปรามพอเป็นพิธีเท่านั้น

ตรงข้าม-30 ปีที่ผ่านมา มีแต่เงินจำนวนมหาศาลจากนักธุรกิจจากประเทศตะวันตก ทั้งสหรัฐฯ, อังกฤษ, ยุโรป, ออสเตรเลีย ไปลงทุนในจีน โดยไม่นำพาต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีนแต่อย่างใด

รวมทั้งการผงาดขึ้นมาของจีน ยังทำให้เด็กวัยรุ่นหนุ่มสาว (วันนั้นที่เทียนอันเหมิน) ที่หนีจากจีนไปศึกษา และทำงานในตะวันตกกลับหวนกลับมาหางานทำรายได้งดงามจากประเทศจีนด้วยซ้ำ

ผลประโยชน์ของนักธุรกิจและรัฐบาลประเทศตะวันตก ดูจะสำคัญกว่า Agenda ของเหล่าผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ (อย่างเช่นที่จีนและฮ่องกง)

รวมถึงสิทธิเสรีภาพของชาวซาอุฯ และอีกหลายประเทศที่มีทรัพยากรอันอุดม แต่ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพจากเผด็จการที่ครองเมือง แต่ผู้นำประเทศตะวันตกกลับมองข้ามการละเมิดสิทธิเสรีภาพเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง
กำลังโหลดความคิดเห็น