xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คลี่ทุกปม “สนธิ” พ้นโทษ ไม่มีใบสั่ง - ไม่เกี่ยวการเมือง ทุกอย่างเป็นไปตาม “กฎหมาย”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุด “สนธิ ลิ้มทองกุล” อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ต้องโทษในคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 โดยได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี หลังการปล่อยตัวได้มีความพยายามที่จะ “บิดเบือน” และ “สร้างกระแส” ให้เกิดความเข้าใจผิดว่า “เป็นการปล่อยผู้ต้องขังนอกฤดูกาล” หรือเป็นการปล่อยตัวที่มี “ใบสั่ง” หรือมีความเกี่ยวข้องกับ “การเมือง” ทั้งๆ ทุกอย่างดำเนินการ “ตามกฎหมายทุกประการ”

“กรมราชทัณฑ์ขอเรียนว่าการปล่อยตัวในครั้งนี้เป็นเรื่องของความคลาดเคลื่อนในการตีความทางกฎหมายโดยแท้ ได้มีการหารือกับผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดรอบคอบ มิได้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือมีใบสั่งจากผู้ใด รวมทั้งไม่ได้เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองแต่อย่างใดทั้งสิ้น”

นั่นคือคำยืนยันจาก พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้

ขณะที่เมื่อตรวจสอบกับแหล่งข่าวในกระทรวงยุติธรรมก็ได้รับคำยืนยันไปในทิศทางเดียวกัน ที่สำคัญคือ นายสนธิเองก็ไม่ใช่ผู้ที่ยื่นคำร้องต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา แต่เมื่อมีการตีความว่าคดีของบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ใช่สถาบันการเงิน ทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำได้รับการพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว และส่งผลให้นายสนธิได้รับอานิสงส์ปล่อยตัวไปด้วย

ทั้งนี้ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ระบุว่า ตามข้อเท็จจริงแล้ว นายสนธิน่าจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 เนื่องจากเป็นผู้ที่มีอายุเกิน 70 ปีบริบูรณ์ ซึ่งเข้าข่ายจะต้องได้รับการปล่อยตัวไปตามมาตรา 6 (2)(จ) แต่มีการตีความทางกฎหมายว่านายสนธิกระทําความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ตามบัญชีแนบท้าย จึงเข้าข้อยกเว้นไม่ปล่อยตัว เพียงแค่ลดโทษลงแทน

ต่อมาได้มีนักโทษชายรายหนึ่งซึ่งก็คือ ยื่นอุทธรณ์คําสั่งของคณะกรรมการอภัยโทษ โดยโต้แย้งว่าตนเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมิใช่สถาบันการเงิน ดังนั้นจึงไม่เข้าองค์ประกอบตามที่ระบุไว้ในบัญชีแนบท้าย ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้ยื่นเรื่องขอหารือการตีความข้อกฎหมายดังกล่าวต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และในวันที่ 3 กันยายน 2562 เวลา 13.30 น.ได้มีการประชุมสามฝ่ายประกอบด้วยรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาทั้งสามท่าน หัวหน้าผู้พิพากษาแผนกคดีค้ามนุษย์ หัวหน้าผู้พิพากษาแผนกคดียาเสพติด ผู้แทนอัยการสูงสุด และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผลปรากฏว่ายืนยันการตีความทางกฎหมายเป็นคุณแก่ผู้ร้อง คําร้องของผู้ร้องฟังขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับกรณีของนายสนธิแล้วเป็นข้อเท็จจริงในลักษณะเดียวกัน

เมื่อไม่ติดบัญชีแนบท้าย รวมทั้งมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษคือมีอายุเกิน 70 ปี นายสนธิจึงได้รับการปล่อยตัวตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวข้างต้น

กล่าวสำหรับ “นักโทษชาย” ที่อุทธรณ์คำสั่งคณะกรรมการอภัยโทษที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวถึงจนส่งผลให้นายสนธิได้รับพระราชทานอภัยโทษก็คือ นายกิตติพัฒน์ เยาวพฤกษ์ อดีตผู้บริหารบริษัท รอยเนต จำกัด (มหาชน) ที่ต้องโทษในคดีตกแต่งบัญชีเพื่อลวงบุคคลอื่น ปกปิดรายงานการซื้อขายหลักทรัพย์ และใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2554 ให้จำคุก 8 ปี 18 เดือน และปรับ 1,880,000 บาท

ทั้งนี้ นายกิตติพัฒน์ ได้อุทธรณ์คำสั่งคณะกรรมการอภัยโทษโดยระบุว่า เขาเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจการสื่อสาร ซึ่งมิใช่สถาบันการเงิน ดังนั้นจึงไม่เข้าองค์ประกอบตามที่ระบุไว้ในบัญชีแนบท้ายของพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วก็เป็นไปตามคำอุทธรณ์และนายกิตติพัฒน์ก็ได้รับการลดโทษเพิ่ม

“ผมได้ทำหนังสือถึงนายบุญชู ทัศนประพันธ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ยืนยันว่าเป็นเช่นนี้หรือไม่ เพื่อให้กรมราชทัณฑ์ดำเนินการให้ถูกต้อง จึงได้ประชุมร่วมกับรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา หัวหน้าผู้พิพากษาแผนกคดีค้ามนุษย์ หัวหน้าผู้พิพากษาแผนกคดียาเสพติด และกรรมการตามมาตรา 18 ที่จะเสนอรายชื่อผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งมีผู้แทนอัยการสูงสุดรวมอยู่ด้วย ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ว่าตีความตามที่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์ดังกล่าว จึงได้อานิสงส์มาถึงนายสนธิ จึงต้องปล่อยตัว เป็นปัญหาการตีความทางกฎหมายคลาดเคลื่อน”

“เราดำเนินการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย จริงๆ เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการใช้ดุลพินิจเหมือนกับการพักโทษปกติ และการพักโทษพิเศษด้วยซ้ำไป เป็นเรื่องของการตีความทางกฎหมายคลาดเคลื่อนโดยแท้ ถ้าเป็นลักษณะการพักโทษ หรือการพักโทษพิเศษ ป่วยจริง รับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 ก็จะต้องมีแพทย์รับรอง ยังมีเรื่องของการใช้ดุลพินิจในข้อเท็จจริงว่าสุขภาพร่างกายเป็นอย่างไร แต่ในกรณีนี้เป็นการตีความตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายพระราชทานอภัยโทษระบุชัดเจนว่า ถ้าอายุเกิน 70 ปี และไม่ได้ติดข้อหาประเภทบัญชีแนบท้าย ที่เป็นคดีเน้นหนัก คดีนโยบาย ให้ปล่อยตัวไปเลย นายสนธิอายุเกิน 70 ปี กฎหมายพระราชทานอภัยโทษไม่ได้บอกว่าต้องรับโทษมาแล้วไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง กึ่งหนึ่ง และไม่ได้ล็อกไว้ว่าจะต้องเหลือโทษไม่เกินกี่ปี ในกรณีนี้แสดงว่าคณะกรรมการร่างฯ ที่นำเสนอขึ้นไปเห็นว่าคนอายุเกิน 70 ปี ทำคดีที่ไม่ได้ทำความเสียหายต่อสังคมมาก และไม่ใช่คดีนโยบาย ให้ปล่อยตัวตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอภัยโทษฉบับปี 2562” พ.ต.อ.ณรัชต์อธิบายรายละเอียด

เช่นเดียวกับ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่ยืนยันเช่นกันว่า เรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจพิเศษของรัฐมนตรีหรือกระทรวง แต่กรณีของนายสนธิ เข้าหลักเกณฑ์ตามกระบวนการกฎหมายอยู่แล้ว

ขณะที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงเรื่องดังกล่าวว่า “บางคนไม่เข้าใจว่า แกต้องโทษคุก 20 ปี ติดมาแค่ 3 ปี แล้วทำไมออกมาได้? ก็อย่างที่ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ท่านบอกไว้ตรงเผง เพราะระดับท่านไม่มีพลาด ต้องส่งให้ศาลท่านเป็นผู้วินิจฉัยอนุมัติปล่อยตัว ขอเล่าให้ฟังตามภาษาอดีตคนคุกอย่างชูวิทย์ว่า เมื่อนักโทษเด็ดขาด มีอายุเกินกว่า 70 ปี มีคุณสมบัติครบตามพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ พ.ศ. 2562 ก็ได้รับการปล่อยตัว แต่พี่สนธิแกดันถูกตีความว่ามีคดีติดบัญชีแนบท้าย จึงไม่ได้รับการปล่อยตัวในตอนนั้น ต่อมามีนักโทษในคดีลักษณะเดียวกันไปร้องอุทธรณ์ กรมราชทัณฑ์จึงส่งไปให้ศาลตีความ ท้ายสุดศาลตีความเป็นคุณ ได้รับการปล่อยตัว จึงทำให้พี่สนธิได้รับผลพลอยได้ไปด้วย”

นั่นคือข้อเท็จจริงที่ทำให้ สนธิ ลิ้มทองกุล ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานอภัยโทษ และเป็นที่จับตามองว่า หลังพ้นโทษแล้ว ชีวิตของเขาจะเดินไปในเส้นทางสายใด.


กำลังโหลดความคิดเห็น