xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เอามั้ย....“ซาฟารี ห้วยขาแข้ง”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ขณะเดินทางไปร่วมงานรำลึก 29 ปี สืบ นาคะเสถียร เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาในทันที เมื่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช คลี่แนวคิดที่จะขับเคลื่อน “โครงการซาฟารีห้วยขาแข้ง” ในเวทีจัดงานรำลึก 29 ปี สืบ นาคะเสถียร เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา กระทั่งนักการเมืองซึ่งรู้จักหยั่งกระแสอ่านทิศทางลมเป็นอย่าง “ลูกท็อป” นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งเป็นประธานเปิดงานรำลึกฯ และรับฟังสรุปโครงการดังกล่าวในวันนั้น ออกตัวไว้ก่อนว่าจะทำได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ จะหารือกันก่อนเปิดรับฟังความเห็นรอบด้านแล้วค่อยพิจารณากันอีกที

ในวันดังกล่าว นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานฯ เล่าที่มาที่ไปของ “โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก และการตรวจพื้นที่ในภาพรวมตามแผนงานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสัตว์ป่า” ว่า จะเป็นการดำเนินการจัดการท่องเที่ยวในรูปแบบซาฟารี คล้ายในทวีปแอฟริกา ใช้พื้นที่ป่าสงวนฯ บริเวณรอยต่อเขตรักษาพันธุ์ฯ ห้วยขาแข้งกับอ่างเก็บน้ำทับเสลาทั้งบนบกและผืนน้ำ เนื้อที่กว่า 3 หมื่นไร่ โดยอาจใช้ทั้งรถและเรือในการท่องเที่ยวชมสัตว์ป่า โดยโครงการนี้ได้รับงบสนับสนุนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นดีพี) และมอบให้คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการศึกษาวิจัย และเสนอโมเดลมาแล้ว 4-5 รูปแบบ หากสามารถดำเนินการได้คาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท และจะเป็นรูปแบบรัฐร่วมมือกับชุมชนในการบริหารจัดการ เพื่อดึงชุมชนมาร่วมอนุรักษ์และดูแลสัตว์ป่า หากได้ข้อสรุปโครงการจะนำไปสอบถามความเห็นชอบชุมชนรอบพื้นที่ต่อไป

ในวันนั้น นายนันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์ อาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้นำเสนอโครงการให้คณะของนายวราวุธ รับฟัง ที่ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทับเสลา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ว่า แนวคิดของโครงการดังกล่าว จะดำเนินการในพื้นที่ป่ากันชนกว่า 1.5 หมื่นไร่ เพื่อลดความขัดแย้งและให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลป่า โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนแรก จะทำแนวรั้วกั้นสัตว์ป่า เพื่อปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติแบบค่อยเป็นค่อยไป มีการสร้างเส้นทางลอยฟ้าศึกษาธรรมชาติเหนือเรือนยอดไม้ หรือ คาโนปีวอร์คเวย์ ระยะทางประมาณ 2-3 กม. ให้นักท่องเที่ยวเดินเที่ยวชมธรรมชาติโดยไม่รบกวนสัตว์ป่า

ส่วนที่ 2 เป็นเส้นทางขับรถ เที่ยวชมสัตว์ป่าที่เป็นมาตรฐาน รูปแบบเหมือนแอฟริกา หรืออินเดีย

และส่วนที่ 3 เรียกว่าเป็นพื้นที่ “ระบำรักษ์ป่า” บริเวณหมู่บ้านระบำ ซึ่งเป็นพื้นที่ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เหมาะสมที่จะจัดให้เป็นแหล่งสร้างรายได้ของชุมชนในการจำหน่ายสินค้าหรือพืชผลการเกษตรต่างๆ รวมทั้งสัมปทานที่พักในแบบไฮเอนด์ ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ฟังจบ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พี่ชาย น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่ไปร่วมงานดังกล่าวเช่นกัน ก็เชียร์เต็มที่ “ผมฝันอยากให้มีโครงการลักษณะนี้มากว่า 20 ปี ขอให้ รมว.ทรัพยากรฯ มอบหมายให้กรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ พิจารณาดำเนินการ เรื่องนี้จะเป็นการต่อยอดให้เกิดประโยชน์จากการเป็นพื้นที่มรดกโลก ใช้เพียงชื่อห้วยขาแข้งโดยไม่ได้เข้าไปทำในเขตฯ ห้วยขาแข้ง ซึ่งพื้นที่ตามที่เสนอโครงการมีชาวบ้านนำวัวมาเลี้ยงอยู่แล้ว 3,000-4,000 ตัว ผมพร้อมช่วยทำความเข้าใจกับชาวบ้านในเรื่องนี้”

หากจะสรุปเบื้องต้นจากการให้ข้อมูลโครงการฯของกรมอุทยานฯ และคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็คือ 1) จะเป็นการจัดการท่องเที่ยวในรูปแบบซาฟารี คล้ายในทวีปแอฟริกาหรืออินเดีย 2)ใช้พื้นที่ป่าสงวนฯ บริเวณรอยต่อเขตรักษาพันธุ์ฯ ห้วยขาแข้งกับอ่างเก็บน้ำทับเสลาทั้งบนบกและผืนน้ำ เนื้อที่ประมาณ 15,000 - 30,000 ไร่ 3) สร้างเส้นทางลอยฟ้าและเส้นทางขับรถเที่ยวชมสัตว์ป่า 4) รัฐและชุมชนร่วมกันดำเนินการและบริหารจัดการ

เมื่อกลายเป็นเรื่องร้อนแรงขึ้นตามลำดับ ทำให้ นายธานี วงศ์นาค หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง รีบออกมาอธิบายความเพิ่มเติมในประเด็นพื้นที่โครงการฯ ว่า หลังมีการเผยแพร่ข่าวกันหลายแง่มุมอาจเข้าใจกันว่า มีการจัดทำซาฟารีในพื้นที่ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จึงขอเรียนว่าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่าตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จึงมีเพียงการศึกษาธรรมชาติ ที่ประชาชนทั่วไปเข้ามาศึกษาธรรมชาติได้ตามความเหมาะสมเท่านั้น

ส่วนโครงการการจัดการท่องเที่ยวในรูปแบบของซาฟารีห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้ประสานกับนักวิจัยคณะวนศาสตร์ พบว่า ทำการวิจัยพื้นที่นอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานฯ โดยพื้นที่สำรวจโครงการฯ อยู่เขตรอยต่อของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งนักวิจัยคณะวนศาสตร์ ได้วิจัยในรูปแบบการท่องเที่ยวสัตว์ป่าเชิงอนุรักษ์ เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาและจัดการพื้นที่เชิงอนุรักษ์ที่อยู่นอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ประกอบด้วย พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบางส่วน และบริเวณพื้นที่ริมเขื่อนทับเสลา และไม่ได้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยหรือเป็นแหล่งทำกินของชาวบ้าน เมื่อศึกษาแล้วเสร็จก็จะนำเสนอเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งชุมชนในพื้นที่เพื่อแสดงความคิดเห็นกันต่อไป

“.... แม้จะอยู่นอกพื้นที่ ก็ต้องใช้ข้อมูลเชิงวิชาการในการพัฒนาและจัดการพื้นที่ที่เหมาะสม ต้องไม่มีผลกระทบถึงพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กรมอุทยานฯ โดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จะดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติ การเป็นมรดกโลก และประชาชน อย่างระมัดระวัง” หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แสดงถึงข้อห่วงกังวล

ถามว่า หากไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานฯ ห้วยขาแข้ง แต่เป็นป่ารอยต่อ เป็นพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ แล้วกรมป่าไม้ว่าอย่างไร

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ บอกผ่านสื่อในวันแรกๆ ที่เรื่องนี้เป็นประเด็นร้อนขึ้นมาว่า ไม่ทราบว่าจะมีการทำซาฟารีห้วยขาแข้ง และจะมาใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่กรมป่าไม้ดูแล ถ้าทำจริงต้องมาถามตน แต่ไม่มีใครมาคุยโครงการนี้เป็นเรื่องของคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ที่รับงบจากยูเอ็นดีพี ให้มาศึกษาวิจัยในพื้นที่ ไม่เกี่ยวกับกรมป่าไม้ หากทำจริงต้องมีการลงทุน แล้วใครจะลงทุนและใครจะทำ เพราะประชาชนไม่เห็นด้วยเพราะเป็นโครงการที่คิดกันเอง

ก่อนจะปรับท่าทีให้สัมภาษณ์สื่อในวันต่อมาว่า คณะวนศาสตร์และนักวิจัยมานำเสนอแนวคิดของโครงการให้กรมป่าไม้ได้รับทราบแล้วเมื่อต้นปี 2562 พบว่าพื้นที่ดำเนินโครงการอยู่ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านบึงเจริญ เนื้อที่ 4,700 ไร่ พื้นที่เตรียมจัดตั้งป่าชุมชนบ้านห้วยเปล้า 2,812 ไร่ พื้นที่แหล่งน้ำที่เป็นเขื่อนทับเสลา 6,406 ไร่ อยู่ระหว่างกรมชลประทาน ขอต่ออายุการใช้ประโยชน์ที่ดินกับกรมป่าไม้ รวมทั้งมีประชาชนอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่โครงการบางส่วน ทราบว่ามีประชาชนบางกลุ่มยังไม่เห็นด้วย จึงยังมิได้ตัดสินใจสำหรับการดำเนินโครงการนี้
วัวแดงที่ห้วยขาแข้ง
แผนผังแสดงรูปแบบการดำเนินโครงการซาฟารีห้วยขาแข้ง
นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
นายนิคม แหลมสัก คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ขณะชี้แจงรายละเอียด
นอกจากนี้ ได้ให้คณะนักวิจัยไปจัดทำขอบเขตพื้นที่ให้ชัดเจน พร้อมทั้งศึกษารายละเอียดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่และสร้างการรับรู้ความเข้าใจร่วมกันของทุกหน่วยงานถึงผลประโยชน์ที่พี่น้องประชาชนจะได้รับและการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกกิจกรรม ควรมีแผนงานที่ชัดเจนครบวงจร ระบุหน่วยงานรับผิดชอบ แหล่งที่มาของงบประมาณ การ บริหารจัดการ การดำเนินงานโครงการ กรมป่าไม้เห็นควรให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ พิจารณาโครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

ไม่แต่เพียงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่ต้องออกมาตอบคำถามต่อสังคม มูลนิธิสืบนาคะเสถียร คืออีกหนึ่งองค์กรสำคัญที่สังคมอยากรู้ถึงจุดยืน เพราะห้วยขาแข้งและป่ารอยต่อเป็นผืนป่าเดียวกันกันที่ สืบ นาคะเสถียร เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อรักษาป่า ซึ่งท่าทีของ นายภานุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นั้น หลักใหญ่คือ เห็นด้วยกับโครงการนี้แต่มีข้อน่าห่วงกังวลที่จะต้องไม่ให้กระทบกับสัตว์ป่า

เหตุผลที่นายภานุเดช เห็นด้วยกับแนวความคิดดังกล่าว เขาอธิบายว่า เนื่องจากพื้นที่มีสัตว์ป่ามากขึ้น เช่น วัวแดงที่มีมากกว่า 80 ตัว ช้างป่า หมูป่า เก้ง กวาง นกยูง ยังมีละองละมั่ง ที่นำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ การที่สัตว์ป่ามากขึ้นทำให้การกระจายถิ่นที่อยู่อาศัยล้นมายังขอบป่าควรมีการจัดการ ซึ่งพื้นที่ที่ทำจะเป็นซาฟารี เป็นป่าเต็งรังที่อุดมสมบูรณ์ โดยทำเป็นโซนการเรียนรู้ชีวิตสัตว์ป่าให้ชุมชนในพื้นที่มาเป็นเจ้าภาพในการพาไปดูสัตว์ป่า แต่ต้องไม่กระทบกับชุมชน และไม่กระทบโซนสัตว์ป่า และโซนไข่แดงของห้วยขาแข้ง ทั้งนี้ ป่าห้วยขาแข้งมี 3 โซน คือ 1.โซนไข่แดงหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 2.ป่าสงวนแห่งชาติ หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อน.8 รอบป่าห้วย ขาแข้ง และ 3.พื้นที่ที่ชุมชนอาศัยทำกิน โดยบริเวณที่จะมีแนวคิดทำซาฟารีจะอยู่โซนที่ 2 และ 3

อย่างไรก็ตาม มูลนิธิฯ มีความเป็นห่วงถ้าจะทำเป็นซาฟารีห้วยขาแข้งหน่วยงานไหนจะเป็นเจ้าภาพ เพราะต้องใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท หากทำแล้วจะเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่ หากเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน มูลนิธิฯก็ไม่ยอม เพราะสิ่งที่เราอยากได้คือ การดูแลป่าและสัตว์ป่า หากจะทำซาฟารีห้วยขาแข้งก็จะเหมือนห้องรับแขกให้ประชาชนได้เข้ามาชมสัตว์ป่า ซึ่งต้องดำเนินการภายใต้การ บริหารจัดการที่มีศักยภาพ ทำให้เหมาะสมไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า

นั่นเป็นเสียงจากฝ่ายที่สนับสนุนให้เกิดโครงการ สำหรับสายคัดค้าน หมายเลขหนึ่งต้องโฟกัสไปที่ นายดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย และอดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ ที่ประกาศชัดถ้อยชัดคำว่า ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งซาฟารีห้วยขาแข้ง แม้จะทำบริเวณรอบนอกห้วยขาแข้ง แต่ไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะไม่กระทบกับผืนป่าตะวันตกที่เป็นมรดกโลก ที่สำคัญมูลนิธิสืบฯที่ไปทำงานในป่าห้วยขาแข้งควรจะออกนอกพื้นที่ห้วยขาแข้งได้แล้ว ไม่ใช่ไปตั้งที่ทำการในห้วยขาแข้ง และอ้างตนเองเป็นเจ้าของพื้นที่ป่า

เช่นเดียวกันกับนายไพรัตน์ ชาญชัย นายกสมาคมอุทยานแห่งชาติ ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดซาฟารีห้วยขาแข้ง เพราะจะกระทบกับสัตว์ป่าและพื้นที่มรดกโลก การท่องเที่ยวของไทยกับต่างประเทศไม่เหมือนกัน จะเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ แต่ถ้ากรมอุทยานฯจะทำก็ต้องศึกษาให้ดีเพราะเป็นเรื่องใหญ่

เมื่อกลายเป็นเรื่องร้อนและดูท่าจะบานปลายออกไป นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชฯ และอดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ต้องออกมาชี้แจงแถลงไขเรื่องนี้ให้ชัดเจนอีกครั้ง หลังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์และข้อกังวลว่าหากมีการดำเนินการจริงอาจส่งผลกระทบกับสัตว์ป่าและสถานภาพการเป็นพื้นที่มรดกโลกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งหรือไม่

นายสมโภชน์ ระบุว่า โครงการที่กำลังได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่ขณะนี้ คือ “โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก (Strengthening Capacity and Incentives for Wildlife Conservation in the Western Forest Complex)” ซึ่งมีการดำเนินการพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวสัตว์ป่า เพื่อการอนุรักษ์บริเวณเขตกันชน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งรวมอยู่ด้วย

โครงการนี้ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้ร่วมมือกับกรมอุทยานฯ จัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติทุนสนับสนุน เป็นจำนวน 7.33 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อดำเนินการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการจัดการปกป้องพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวร และกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก มีมติอนุมัติงบประมาณสนับสนุนโครงการดังกล่าวในปี 2558

และเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในขณะนั้นได้เห็นชอบในโครงการดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการสำหรับแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และกระตุ้นให้ชุมชนท้องถิ่นช่วยกันดูแลรักษาโดยมีระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2558 - 2563 และมีพื้นที่โครงการอยู่ในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

ในด้านการพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวสัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์บริเวณเขตกันชน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ภายใต้โครงการฯ ซึ่งหลายฝ่ายกำลังวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่นั้น นายสมโภชน์ ระบุว่า จะใช้พื้นที่ป่าชุมชนบ้านบึงเจริญ ป่าชุมชนบ้านห้วยเปล้า พื้นที่ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ชุมชนบ้านห้วยเปล้า สันเขื่อนทับเสลา มีหน่วยงานสำรวจและดำเนินงานด้านวิชาการ คือ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยศึกษาการจัดการถิ่นที่อยู่อาศัย การออกแบบและพัฒนาพื้นที่ การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว การพัฒนาและเตรียมความพร้อมด้านชุมชน

ส่วนการดำเนินการโครงการดังกล่าว จะมีคณะกรรมการบริหารโครงการ ซึ่งมีอธิบดีกรมอุทยานฯ เป็นประธาน มีการประชุมศึกษาความก้าวหน้าตามวาระอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง การรายงานความก้าวหน้าต่อยูเอ็นดีพี การจัดทำรายงานประจำปี ส่งกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก

โฆษกกรมอุทยานฯ ยืนยันว่าไม่ได้สนับสนุนให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะสัตว์ป่า และได้ดำเนินการอย่างมีแบบแผนตามหลักวิชาการโดยคำนึงถึงความเป็นมรดกโลกในพื้นที่ด้วย และยังอยู่ในขั้นศึกษาด้านต่างๆ อีกทั้งพร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งที่สนับสนุนและคัดค้าน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวยังมีอีกหลายขั้นตอน

ขณะเดียวกัน นายนิคม แหลมสัก คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) นัดแถลงให้ข้อมูลโครงการฯ อย่างเป็นทางการในวันที่ 5 กันยายน 2562 โดยทาง มก. ได้ศึกษาเรื่องนี้มากว่า 1 ปี โดยทำงานร่วมกับยูเอ็นดีพี ส่วนพื้นที่ดำเนินแผนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์สัตว์ป่าในรูปแบบซาฟารีอยู่นอกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ทางกลุ่มผู้วิจัยได้ศึกษาทางเลือกในการดำเนินการไว้ 3-4 แนวทาง อยากให้ฟังรายละเอียดก่อน ไม่อยากให้นำเรื่องดังกล่าวมาตีเป็นประเด็นทางการเมืองทำให้ประเทศเสียโอกาสทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มต้น ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว และชาวบ้านที่เดิมมีอาชีพเป็นพรานป่าก็จะได้เปลี่ยนอาชีพมาทำงานในเชิงการท่องเที่ยวเชิงสัตว์ป่าอย่างยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งการท่องเที่ยวลักษณะนี้หลายประเทศทำแล้วประสบความสำเร็จ

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะเดินหน้าไปต่อได้หรือไม่ คงยังไม่มีคำตอบในเร็ววันนี้ พิจารณาจากท่าทีของนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ในตอนหลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ที่ให้สัมภาษณ์ว่า “ส่วนตัวยังตอบไม่ได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่ ต้องฟังจากทุกฝ่ายก่อนว่าทำออกมาแล้วดีหรือไม่ดีอย่างไร ซึ่งยืนยันว่าอะไรก็ตาม หากทำออกมาแล้วไม่เป็นผลดีกับธรรมชาติ ไม่เป็นผลดีกับอุทยานฯเราจะไม่ทำ ส่วนใครอยากจะศึกษาอะไรก็ตามสบายเลย”

“... ถ้าเรื่องใดทุกฝ่ายยินยอมพร้อมใจนำมาพิจารณาผลดีผลเสีย ต้องมาชั่งน้ำหนักก่อนดำเนินการ และหากกลุ่มองค์กรใดต้องการจะผลักดันโครงการขอให้ศึกษารายละเอียดและส่งผลมาที่กระทรวงเพื่อพิจารณา”

เช่นเดียวกันกับความคืบหน้าการทำกระเช้าขึ้นภูกระดึงที่มีการโยนหินถามทางมาในเวลาไล่เลี่ยกันกับซาฟารีห้วยขาแข้ง ที่นายวราวุธ กล่าวว่า ต้องฟังความเห็นรอบด้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางจังหวัดจะต้องไปดำเนินการก่อนเสนอมาที่กระทรวงฯ ซึ่งมีแนวโน้มทั้งเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ในการที่จะสร้างกระเช้า แต่ต้องรอทางจังหวัดส่งเรื่องมาก่อน

เอาเป็นว่า ลดความร้อนแรงลง ศึกษาโครงการกันไป ไว้รอฟังกระแสสังคมอีกหลายยก ก่อนจะตกลงว่าจะเดินหน้าต่อได้หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น