xs
xsm
sm
md
lg

อุดมการณ์การเมือง (๙) : พหุวัฒนธรรมนิยม อัตลักษณ์และความหลากหลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

พหุวัฒนธรรมนิยมปรากฏขึ้นในอาณาบริเวณทางการเมืองครั้งแรกในประเทศแคนาดาเมื่อปี 1965 ต่อมาแพร่ออกไปสู่ประเทศออสเตรเลีย และตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 พหุวัฒนธรรมนิยมได้กลายเป็นประเด็นเด่นในแวดวงการวิวาทะทางการเมืองระดับโลก อันที่จริงพหุวัฒนธรรมนิยมเป็นพื้นที่ของการถกเถียงทางอุดมการณ์มากกว่าเป็นอุดมการณ์ด้วยตัวของมันเอง ขอบเขตของการถกเถียงเป็นทัศนะเกี่ยวกับการเติบโตและการดำรงอยู่ร่วมกันของความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคม

แก่นของหลักคิดพหุวัฒนธรรมนิยมประกอบด้วย การเมืองของการยอมรับซึ่งกันและกัน วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ สิทธิของชนกลุ่มน้อย และความหลากหลาย และเมื่อหลักคิดพหุวัฒนธรรมนิยมเข้าสู่สนามการเมืองก็เกิดการผสมกับอุดมการณ์การเมืองเดิม และเกิดเป็นสามตัวแบบขึ้นมาคือ พหุวัฒนธรรมเสรีนิยม พหุวัฒนธรรมพหุลักษณ์นิยม และพหุวัฒนธรรมสากลนิยม

การเมืองของการยอมรับซึ่งกันและกัน (politics of recognition) มีหลักคิดว่า เงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคขัดขวางความเท่าเทียมในสังคม มิใช่มีเพียงเรื่องความไม่เป็นธรรมของกฎหมาย การกีดกันทางการเมือง และความด้อยโอกาสทางสังคมเท่านั้น หากแต่ยังมีเงื่อนที่ลึกยิ่งกว่า นั่นคือกระบวนการทำให้เป็นชายขอบที่มีรากฐานจากวัฒนธรรม (cultural-based marginalization) ซึ่งปฏิบัติการผ่านความคิดแบบ “ตรึงภาพลักษณ์” (stereotype) และค่านิยมซึ่งสร้างวิธีคิดแก่ผู้คนเกี่ยวกับการรับรู้ตนเองและผู้อื่น ดังนั้นการสร้างความเท่าเทียมในสังคมจึงต้องสร้างการเมืองแห่งการยอมรับขึ้นมา สนับสนุนความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเปิดพื้นที่ทางสังคมแก่ชนกลุ่มน้อยให้สามารถยืนยันความเป็นตัวตนและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเองได้

วัฒนธรรมและอัตลักษณ์จึงเป็นแก่นหลักอีกอย่างหนึ่งของพหุวัฒนธรรมนิยม เมื่อกลุ่มชนใดมีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรม และสาธารณะยอมรับอัตลักษณ์วัฒนธรรมของพวกเขา ก็ทำให้พวกเขาเกิดสำนึกถึงรากหง้าทางสังคมและประวัติศาสตร์ขึ้นมา แต่ใครก็ตาม หากไร้ซึ่งสำนึกแห่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ความรู้สึกโดดเดี่ยวและสับสนก็จะครอบงำจิตใจ และสำหรับการเมืองเชิงวัฒนธรรมในยุคสมัยใหม่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดที่สำคัญสองประการคือ แนวคิดชุมชนนิยม (communitarianism) และการเมืองของอัตลักษณ์ (identity politics)

ชุมชนนิยมเป็นปรัชญาสำคัญในการวิพากษ์หลักคิดสากลนิยมแบบเสรีนิยม ซึ่งมองว่า ในฐานะปัจเจกบุคคล ประชาชนในสังคมทั้งมวลมีอัตลักษณ์วัฒนธรรมร่วมกัน แต่ชุมชนนิยมสนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงการคิดแบบสากลนิยม (universalism) ไปสู่หลักคิดแบบเฉพาะส่วนนิยม (particularism) ซึ่งให้ความสำคัญต่อความแตกต่างมากกว่าความเหมือนกันของกลุ่มคนในสังคม อัตลักษณ์ในแง่นี้จึงเชื่อมโยงบุคคลกับสังคมเข้าด้วยกัน และมองปัจเจกบุคคลในฐานะเป็นส่วนที่ผนึกเข้ากับบริบทวัฒนธรรม สังคม สถาบัน หรืออุดมการณ์ที่เฉพาะเจาะจง ดังนั้น นักพหุวัฒนธรรมนิยมจึงยอมรับความคิดชุมชนนิยมในการมองมนุษย์ ซึ่งอธิบายว่า เราสามารถเข้าใจผู้คนได้โดยเชื่อมโยงกับชุมชนหรือสังคมที่พวกเขาสังกัดเท่านั้น และมีเพียงกลุ่มและชุมชนเท่านั้นที่มอบสำนึกของอัตลักษณ์และเป้าประสงค์ทางคุณธรรมแก่ผู้คน

สำหรับการเมืองเชิงอัตลักษณ์วิพากษ์หลักคิดสากลนิยมว่าเป็นแหล่งของการกดขี่ ซึ่งมาในรูปของจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม ด้วยเหตุที่ว่า หลักคิดสากลนิยมมีแนวโน้มบั่นทอน ทำลายและทำให้วัฒนธรรมย่อยของกลุ่มต่างๆ กลายเป็นวัฒนธรรมชายขอบ ภายใต้หน้ากากของสากลนิยมมีเบื้องหลังที่ชวนอัปลักษณ์ นั่นคือเป็นวัฒนธรรมของสังคมเสรีที่ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้เส้นทางของค่านิยมและผลประโยชน์ของกลุ่มที่ครอบงำสังคมนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การเมืองเชิงอัตลักษณ์ มิได้มองวัฒนธรรมเป็นแหล่งของการกดขี่แต่อย่างเดียว หากแต่มองในฐานะเป็นแหล่งของการสร้างอิสรภาพและพลังอำนาจอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อมันบ่มเพาะสำนึกที่แท้จริงของอัตลักษณ์ขึ้นมา การบ่มเพาะอัตลักษณ์เป็นกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง และเป็นรูปแบบของการต่อต้านการครอบงำ จึงมีลักษณะแห่งการต่อสู้ช่วงชิงและดูดซับพลังอารมณ์เชิงจิตวิทยา และรูปแบบทั้งมวลของการเมืองเชิงอัตลักษณ์จึงเป็นการพยามยามหลอมรวมบุคคลและการเมืองเข้าด้วยกัน

นักพหุวัฒนธรรมนิยมยังให้คุณค่าแก่สิทธิของชนกลุ่มน้อย (minority rights) โดยเฉพาะสิทธิทางพหุวัฒนธรรม (multicultural rights) เรื่องนี้คิมลิคกา (1995) นักวิชาการชาวแคนาดาเสนอสิทธิสามประการด้วยกันคือ สิทธิในการปกครองตนเอง สิทธิสรรพชาติพันธุ์ (polyethnic rights) และสิทธิแห่งการมีตัวแทน

ในเรื่องสิทธิการปกครองตนเอง คิมลิคกาอธิบายว่า ชนกลุ่มน้อยแห่งชาติ หรือชนพื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอาณาบริเวณชัดเจน มีภาษาร่วมกัน และมีวิถีชีวิตที่ครอบคลุมกิจกรรมทั้งมวลของมนุษย์ ควรมีสิทธิในการปกครองตนเอง เช่น ชาวอินเดียนแดง ชาวเมารี เป็นต้น ในกรณีเหล่านี้ สิทธิการปกครองตนเองเกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจทางการเมือง โดยให้สมาชิกของชาติพันธุ์นั้นปกครองและใช้กฎหมายของตนเอง

ประการที่สองเรื่อง สิทธิสรรพชาติพันธุ์ เป็นสิทธิที่ช่วยกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มชนส่วนน้อยทางศาสนาในการแสดงออกและดำรงรักษาลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของตนเอง โดยการส่งเสริมให้มีการออกกฎหมายในเชิงการยกเว้นแก่กลุ่มเหล่านั้นไม่ต้องกระทำกิจกรรมบางอย่างตามกฎหมายของสังคม ซึ่งขัดขวางมิให้กลุ่มเหล่านั้นกระทำตามวิถีวัฒนธรรมของตนเอง เช่น การยกเว้นให้นักเรียนหญิงมุสลิม ไม่ต้องแต่งตัวชุดนักเรียน เป็นต้น

ประการที่สาม สิทธิการมีตัวแทน กล่าวได้ว่าในแทบทุกสังคมชนกลุ่มน้อยแทบไม่มีตัวแทนหรือมีตัวแทนในสัดส่วนน้อยมากในระบบการเมือง และมีโอกาสน้อยที่จะเข้าถึงการศึกษาระดับสูงอีกด้วย คิมลิคกาได้เสนอแนวคิด การปฏิบัติที่แตกต่างเชิงบวก (positive discrimination) ขึ้นมา บนพื้นฐานที่ว่าวิธีการแบบนี้เป็นวิธีการเดียวที่เป็นหลักประกันของการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมให้แก่ทุกกลุ่มในสังคม และเป็นการกำหนดให้นโยบายสาธารณะสะท้อนผลประโยชน์ของกลุ่มและบุคคลที่หลากหลายอย่างทั่วถึง มิใช่ตอบสนองแต่เพียงกลุ่มชนส่วนใหญ่ในสังคมเท่านั้น

พหุวัฒนธรรมนิยมยังส่งเสริมความหลากหลาย (diversity) โดยมองว่าความหลากหลายเป็นสิ่งที่สร้างความสมานฉันท์ มากกว่าทำให้เกิดความขัดแย้งหรือความไร้เสถียรภาพในสังคม พหุวัฒนธรรมนิยมทุกรูปแบบมีฐานคติว่าความหลากหลายและความเป็นเอกภาพมีความโน้มเอียงหลอมรวมกัน มิใช่เป็นคู่ตรงข้ามกัน ในแง่มุมนี้ นักพหุวัฒนธรรมนิยมยอมรับว่า ประชาชนมีพหุอัตลักษณ์และพหุภักดี เช่น ภักดีทั้งต่อประเทศมาตุภูมิและประเทศที่ตั้งถิ่นฐาน การยอมรับวัฒนธรรมซึ่งกันและกันของกลุ่มชนที่แตกต่างกันเป็นฐานที่มั่นคงของการมีเสถียรภาพทางการเมือง และการที่ประชาชนมีเจตนารมณ์และสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคมก็เพราะว่าพวกเขามีอัตลักษณ์ที่หนักแน่นและมั่นคงนั่นเอง สำหรับค่านิยมสำคัญที่เป็นรากฐานของการยอมรับความหลากหลายคือ ความเข้าใจและการมีขันติธรรม (toleration) ต่อความแตกต่างนั่นเอง

เมื่อสู่สนามการเมือง พหุวัฒนธรรมนิยมมิใช่มีเพียงรูปแบบเดียว หากแต่มีสามตัวแบบ ซึ่งมีรายละเอียดในบางมิติแตกต่างกัน ตัวแบบแรกคือ พหุวัฒนธรรมเสรีนิยม (liberal multiculturalism) อันเป็นการผสมระหว่างอุดมการณ์เสรีนิยมกับพหุวัฒนธรรมนิยม ในช่วงแรกชาวเสรีนิยมมองว่าพหุวัฒนธรรมนิยมเป็นคู่แข่งทางอุดมการณ์ ทว่าในทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา นักคิดเสรีนิยมได้นำประเด็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมเข้ามาผสมผสานและพัฒนาขึ้นมาเป็นพหุวัฒนธรรมเสรีนิยม ซึ่งมีแก่นความคิดหลักคือ การส่งเสริมขันติธรรมและสนับสนุนเสรีภาพในการเลือกต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและวัฒนธรรม โดยไม่สนับสนุนความเชื่อหรือค่านิยมใดค่านิยมหนึ่งเป็นการเฉพาะ

ความคิดนี้จึงมีนัยเหมือนกับว่าชาวเสรีนิยมมีความเป็นกลางทางวัฒนธรรม ทว่าอันที่จริงแล้วชาวเสรีนิยมส่งเสริมความหลากหลายภายในกรอบคิดของขันติธรรมและความเป็นอิสระของปัจเจกบุคคลเป็นหลัก ขณะที่ไม่เห็นด้วยกับการที่กลุ่มวัฒนธรรมใดบังคับให้บุคคลในกลุ่มนั้นต้องปฏิบัติตามวิถีของกลุ่ม หากบุคคลนั้นไม่ประสงค์ที่จะปฏิบัติตาม

ตัวแบบที่สองคือ พหุวัฒนธรรมแบบพหุลักษณ์นิยม (pluralist multiculturalism) ซึ่งมอบรากฐานที่หนักแน่นแก่การเมืองของความแตกต่างมากกว่าอุดมการณ์เสรีนิยม ตัวแบบนี้มองว่าผู้คนมีความแตกต่างกันในเรื่องเกี่ยวกับเป้าหมายชีวิต จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะกล่าวว่า ระบบศีลธรรมของกลุ่มใดเหนือกว่ากลุ่มอื่น ดังนั้นค่านิยมของตะวันตกเกี่ยวกับเสรีภาพหรือประชาธิปไตยมิได้เหนือกว่าหรือดีกว่าค่านิยมอื่น ๆของประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตกแต่อย่างใด วัฒนธรรมตะวันตกเป็นเสมือนเพียง “เกาะหนึ่งในมหาสมุทรแห่งวัฒนธรรม” เท่านั้น มิได้ดีหรือวิเศษกว่าว่าวัฒนธรรมอื่นแม้แต่น้อย

ตัวแบบที่สาม พหุวัฒนธรรมแบบสากลนิยม (cosmopolitan multiculturalism) ให้ความสำคัญกับการปฏิสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนระหว่างวัฒนธรรม โดยมองว่าแต่ละวัฒนธรรมสามารถเรียนรู้จากวัฒนธรรมอื่น เพื่อนำไปพัฒนาตนเองได้ เช่น การเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมอาหาร หรือ การเล่นโยคะ เป็นต้น วัฒนธรรมมีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมและความต้องการของบุคคล ไม่ใช่เรื่องตายตัวหรือผนึกแน่นในประวัติศาสตร์ และสังคมพหุวัฒนธรรมเปรียบเสมือน “เบ้าหลอม” ของความคิด ค่านิยม ประเพณีที่แตกต่างกัน มากกว่าเป็นการเอาวัฒนธรรมของกลุ่มศาสนาและชาติพันธุ์ต่าง ๆมาประดับเรียงกันแบบ “กระเบื้องหลากสีเชิงวัฒนธรรม”

แนวคิดพหุวัฒนธรรมนิยมในสังคมไทยเริ่มปรากฏเป็นรูปธรรมมากขึ้นในการนำไปใช้เชิงนโยบายสำหรับแก้ปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการใช้การปฏิบัติที่แตกต่างเชิงบวกต่อชนส่วนน้อยทางศาสนาและชาติพันธุ์ ปัจจุบันกระแสความคิดและการส่งเสริมความหลากหลาย การยอมรับ และการสนับสนุนค่านิยมขันติธรรมต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมก็ได้ขยายตัวมากขึ้นตามลำดับ

นอกจากมีนโยบายพหุวัฒนธรรมนิยมในบางประเด็นแล้ว เมื่อไม่นานมานี้ก็ยังมีปรากฏการณ์ของการแต่งตัวตามอัตลักษณ์วัฒนธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนของพรรคอนาคตใหม่ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นอีกด้วย การกระทำของ ส.ส.เหล่านั้นสะท้อนให้เห็นว่า อุดมการณ์พหุวัฒนธรรมนิยมได้ขยาย เข้าไปในพื้นที่และสถาบันที่เป็นทางการสูงได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

คาดว่าอุดมการณ์พหุวัฒนธรรมนิยมมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นในอนาคต ทั้งในรูปแบบของการปกครองตนเอง การขยายสิทธิ การปฏิบัติที่แตกต่างเชิงบวก และการเพิ่มจำนวนตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนาในองค์การและสถาบันของรัฐให้ครอบคลุมและมีสัดส่วนที่เหมาะสมยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น