xs
xsm
sm
md
lg

ปรองดอง สไตล์ซูดาน (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร

พล.ท.อับดุล ฟัตตาห์ อัล-บุรฮาน ประธานสภาทหารเปลี่ยนผ่าน
เป็นการต่อสู้ของมวลมหาประชาชนซูดานที่ยืดเยื้อ และต้องเสียชีวิตผู้คนที่ยืนหยัด (เพื่อโค่นล้มเผด็จการบาเชียร์ที่ครองอำนาจ 30 ปี) แต่แล้วก็มาถูกปล้นชัยชนะจากการทำรัฐประหาร ซึ่งฝ่ายทหารได้ถูกแทรกแซงโดยผู้ปกครองเผด็จการของรัฐอาหรับ และมหาอำนาจตะวันตก

คณะนายทหารที่ทำการยึดอำนาจโดยอาศัยการชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธของประชาชนที่ปักหลักประท้วงยาวนานถึง 5 เดือน ได้ประกาศยึดการปกครองจากปธน.บาเชียร์เมื่อ 11 เมษายนปีนี้ พร้อมแต่งตั้งสภาทหารเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Transitional Military Council) โดยมีรองประธานาธิบดี (ของนายบาเชียร์) และผบ.ทหารบก พล.อ.อูฟ (Auf) เป็นผู้นำสูงสุด และประกาศเคอร์ฟิวห้ามผู้คนใดๆ ออกนอกบ้านช่วง 4 ทุ่มถึงตี 4 โดยให้ประชาชนที่ประท้วงอย่างสงบที่หน้ากองบัญชาการทหารที่เมืองคาร์ทูมให้สลายการชุมนุมทันที

ฝ่ายนำการชุมนุม คือ สมาคมวิชาชีพซูดาน (Sudanese Professionals Association-ตัวย่อคือ SPA) เรียกร้องให้เหล่ามหาประชาชนยังยืนหยัดชุมนุมต่อไป โดยบอกว่า ประชาชนกำลังหนีเสือปะจระเข้ และกำลังถูกปราบชัยชนะที่สามารถโค่นเผด็จการบาเชียร์

น่าจะมีการต่อรองกันในหมู่นายทหารที่ยึดอำนาจ เพราะภายใน 24 ชม.พล.อ.อูฟ ก็ถูกกดดันให้ลาออก และผู้นำสภาทหารเพื่อการเปลี่ยนผ่านก็ได้ประธานคนใหม่ชื่อ พล.ท.อับดุล ฟัตตาห์ อัล-บุรฮาน (Abdel Fattah al-Burhan) และตามมาด้วยการกดดันให้หัวหน้าฝ่ายข่าวกรอง และความมั่นคง (NISS ย่อมาจาก National Intelligence and Security Service) ซึ่งเป็นคนของพล.อ.อูฟ และอดีตประธานาธิบดีบาเชียร์ต้องลาออก

ฝ่ายแนวร่วมกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงอย่างสงบ ได้พยายามขอเจรจากับฝ่ายรัฐประหารเพื่อขอให้ตั้งสภาเพื่อการเปลี่ยนผ่านประกอบด้วยพลเรือนเป็นส่วนใหญ่

การเจรจาเกิดขึ้นท่ามกลางการประวิงเวลาของฝ่ายรัฐประหาร ซึ่งได้ประกาศจะดำเนินคดีกับอดีตเผด็จการบาเชียร์ ในข้อหาโกงกินบ้านเมือง และใช้อำนาจปราบปรามประชาชนจนต้องเสียชีวิตในขณะชุมนุมอย่างสงบ

การเสนอชื่อของฝ่ายผู้ชุมนุม เพื่อให้มีพลเรือนเป็นตัวแทนของสมาคมวิชาชีพที่นำการชุมนุมได้เข้าร่วมในคณะบริหารสูงสุด กลับถูกถ่วงเวลาครั้งแล้วครั้งเล่า จนฝ่ายประชาชนเลิกเจรจา แต่หันมาหาวิธีการใหม่ คือ อารยะขัดขืน

ช่วงการเจรจาก็มีตัวแทนของประเทศเพื่อนบ้านคือ ชุดพิเศษของผู้นำประเทศเอธิโอเปีย ได้เสนอฝ่ายทหารให้โครงสร้างคณะบริหารประเทศสูงสุดประกอบด้วยฝ่ายราชการ 8 คน และฝ่ายพลเรือน 7 คนเป็น 15 คน แต่ก็ไม่สามารถลงตัวได้

ผู้นำประเทศอาหรับ 3 แห่งได้ให้การสนับสนุนฝ่ายทหารเพื่อพยายามชะลอการเปลี่ยนผ่านประเทศซูดานไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง-ให้เกิดขึ้นช้าที่สุด-หรือให้คงดำรงโครงสร้างของทหารไว้ให้นานที่สุด
นายพลอับดุล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี ประธานาธิบดีอียิปต์
ประธานาธิบดีอียิปต์-นายพลอับดุล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี (SISI) ที่ได้ทำรัฐประหารเลือดโค่นประธานาธิบดีมอร์ซี (ที่มาจากการเลือกตั้งหลังเหตุการณ์ Arab Spring ในอียิปต์) ที่อยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีได้แค่ 1 ปีเท่านั้น-นายพลซีซี ได้เชิญนายพลบุรฮานของซูดานไปเยือนไคโร พร้อมให้เงินสนับสนุนแก่กองทัพซูดาน
มกุฎราชกุมารโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน แห่งซาอุฯ
ขณะที่มกุฎราชกุมาร MbS แห่งซาอุฯ และพระราชาธิบดีแห่ง UAE ต่างให้การสนับสนุนฝ่ายรัฐประหารของซูดาน แม้ในที่สาธารณะจะพูดเสียงเดียวกันว่า ขอให้ซูดานเปลี่ยนผ่านจากสงบไปสู่ประชาธิปไตย

ทั้งนี้ เพราะกองทัพอาหรับที่จัดตั้งโดย MbS ได้ส่งเงินมาสนับสนุนฝ่ายทหารของซูดาน เพื่อแลกกับกองทัพซูดาน-ยอมส่งทหารซูดานเข้าไปสู้รบกับฝ่ายกบฏที่เยเมน (ซึ่งกบฏได้ยึดทั้งนครหลวงและเมืองท่าเอเดนไปแล้ว)

ทั้ง 3 ประเทศไม่ต้องการเห็นต้นไม้ประชาธิปไตยที่ซูดานได้เติบโตขึ้น เพราะเกรงจะแผ่กิ่งก้านทำให้เกิดคลื่นแห่งประชาธิปไตยในประเทศทั้ง 3 ตามมา

ฝ่ายประชาชนซูดานยังปักหลักชุมนุมที่หน้ากองบัญชาการทหาร และถูกปราบปรามอย่างโหดโดยถูกกราดยิงเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน โดยกองกำลังเคลื่อนที่เร็ว (Rapid Support Forces) ที่นำโดยพล.อ.Dagalo ซึ่งเป็นรองประธานของฝ่ายรัฐประหาร

มีแรงกดดันจาก African Union ที่ประกาศพักสมาชิกภาพของซูดานหลังการกราดยิงประชาชน และฝ่ายตะวันตกทั้งเยอรมนี, อังกฤษ, สหรัฐฯ และยูเอ็นต่างกดดันให้ฝ่ายรัฐประหารทำการเปิดเจรจากับฝ่ายผู้ชุมนุม จนนำมาสู่การยอมของฝ่ายทหาร ที่จะให้มีพลเรือนมีส่วนร่วมในสภาคณะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย คือ ฝ่ายทหารและพลเรือนฝ่ายละ 5 คน และคนที่ 11 จะมาจากความเห็นร่วมของทั้งสองฝ่าย และจะมีรัฐบาลที่นำโดยพลเรือน ได้แก่ นักเศรษฐศาสตร์ของซูดานที่เคยทำงานอยู่ธนาคารโลก และรับตำแหน่งของยูเอ็นในธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกา

ในคณะรัฐบาลจะมีพลเรือนมากกว่าทหาร และจะมีผู้หญิงเป็นรมต.หลายคนด้วย เพราะตลอดการชุมนุมยาวนาน 9 เดือนนี้ ผู้หญิงซูดานเป็นแกนนำคนสำคัญๆ จากทั้งฝ่ายอาชีพต่างๆ ทั้งหมอ, ครู, สถาปนิก ฯลฯ

2 กระทรวงที่จะเป็นทหาร คือ กระทรวงกลาโหม และมหาดไทย

จะมีการดำเนินคดีกับเหล่าทหารที่มีส่วนกราดยิงผู้ชุมนุม ตลอดจนการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน ทั้งในช่วงของปธน.บาเชียร์ และในช่วงรัฐประหารหลังบาเชียร์

สำหรับอดีตปธน.บาเชียร์ จะไม่ส่งตัวให้ ICC ที่เป็นศาลพิจารณาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่จะขึ้นศาลที่ซูดานแทน

ฝ่ายทหารได้ยอมตามข้อเรียกร้องของฝ่ายผู้ชุมนุม ที่จะใช้เวลาปฏิรูปหน่วยงานและโครงสร้างต่างๆ ภายใน 3 ปีก่อนจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างโปร่งใส โดยก่อนหน้านั้น ฝ่ายทหารต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว คือ ช่วงเปลี่ยนผ่านแค่ 9 เดือนเท่านั้น

คงต้องติดตามว่า ต้นไม้ประชาธิปไตยที่เพิ่งเป็นหน่ออ่อนๆ ที่ซูดาน จะเติบโตได้ขนาดไหน ท่ามกลางประชาชนที่เข้มแข็งและยืนหยัดต่อสู้จนเสียชีวิตไปเป็นจำนวนหลายร้อยคน

เป็น Arab Spring ครั้งที่ 2 ที่อาจประสบผลสำเร็จดีกว่าครั้งที่ 1 ที่อียิปต์เมื่อ 8 ปีที่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น