xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดับฝันสิงห์อมควันยุค 5 G “บุหรี่ไฟฟ้า” ไร้ที่ยืนในสังคมไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ข้อถกเถียงและคำถามต่างๆ ที่มีต่อ “บุหรี่ไฟฟ้า” ดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ "หมอหนู - นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศชัดว่า “บุหรี่ไฟฟ้ามีพิษภัย ห้ามนำเข้าเมืองไทย” ภายหลังการประชุมกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ครั้งที่ 7/2562 ว่าด้วยโครงการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ เมื่อกลางเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา

“ประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าที่มีความพยายามที่จะนำเข้าและสื่อสารว่าช่วยลดเลิกบุหรี่ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กรมควบคุมโรค ยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีพิษภัย และห้ามนำเข้า 100 เปอร์เซ็นต์ หากจะนำเข้าต้องมีการแก้กฎหมาย ซึ่งในยุคนี้คงไม่มีใครทำเรื่องแบบนั้น เพราะจะเป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน แม้จะมีนิโคตินในปริมาณน้อยกว่า แต่หากสูบผลลัพธ์ก็คือการเสพติดอยู่ดี ดังนั้น ฝากให้กรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อสารสร้างความเข้าใจถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า” นายอนุทิน ดับฝันสิงห์อมควันไทยในยุค 5 G ไปเป็นที่เรียบร้อย

ในแง่หนึ่งประกาศดังกล่าวนำมาซึ่งความชื่นมื่นในแวดวงสาธารณสุข ด้วยความหวังว่ามาตรการปิดตายบุหรี่ไฟฟ้าในเมืองไทย จะควบคุมจำกัดปริมาณนักสูบหน้าใหม่ รวมไปถึงลดปัญหาด้านสุขภาพที่มีต้นเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ซึ่งองค์การอนามัยโลกเผยว่าในปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละ 4 ล้านคน ทั่วโลก หรือวันละ 11,000 คน คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3 เท่า อีกทั้งบุหรี่เป็นสาเหตุของโรคร้ายต่างๆ อีกมากมาย

แต่ข้อเท็จจริงอีกด้าน เกิดการเรียกร้องให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เกิดเสียงวิพากษ์การตัดสินใจของ หมอหนู - อนุทิน เป็นการปิดกั้นนวัตกรรมใหม่ อย่าง “บุหรี่ไฟฟ้า” ซึ่งวางจำหน่ายอย่างถูกต้องตามกฎหมายในกว่า 48 ประเทศทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี แคนาดา เยอรมนี สหรัฐฯ อิตาลี ฯลฯ ขณะที่ เมืองไทยเป็น 1 ใน 30 ประเทศที่ “แบนบุหรี่ไฟฟ้า”

ถามว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” คืออะไร มีความแตกต่างจากบุหรี่มวนควันคลุ้งทั่วไปอย่างไร เหตุใดจึงมีการรวมตัวเรียกร้องจาก “เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า” ให้ทางการไทยปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้า

ยกตัวอย่าง เทคโนโลยีบุหรี่ไฟฟ้า “IQOS (ไอคอส)” ที่มีการพูดถึงกันอย่างมากของ “บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์” หรือ “พีเอ็มไอ” (Philip Morris International Inc : PMI) เจ้าของแบรนด์บุหรี่ชื่อดังอย่าง Marlboro L&M และ Parliament ซึ่งคิดค้นและผลิตบุหรี่ไฟฟ้าโดยหลักการการทำงานมาจากเทคโนโลยีที่เรียกว่า “Tobacco Heating System” หรือ “Heat Not Burn” ให้ความร้อนกับตัวบุหรี่ด้วยแท่งความร้อน แทนการเผาไหม้แบบบุหรี่ทั่วๆ ไป ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากบุหรี่แบบมวน โดย IQOS จะใช้อุณหภูมิสูงสุด 350 องศาเซลเซียส แตกต่างจากบุหรี่ทั่วไปที่อุณหภูมิขณะเผาไหม้สูงสุดถึง 900 องศาเซลเซียส ซึ่งจะให้ความร้อนกับใบยาสูบแต่จะไม่เผาไหม้ จึงก่อให้เกิดสารประกอบที่เป็นพิษน้อยกว่าควันจากบุหรี่แบบเผาไหม้ โดยแนวทางการลดอันตรายจากยาสูบ (Tobacco Harm Reduction) จะปล่อย ละออง (Aerosol) ออกมา หากเทียบกับควันบุหรี่เป็นพิษน้อยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ทำให้คนรอบข้างลดความเสี่ยงจากควันมือสอง

ได้รับการรองรับจาก องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration : FDA) ยืนยันว่า IQOS เป็นยาสูบไร้ควันผลิตภัณฑ์ทางเลือก สามารถลดสารเคมีที่ได้รับจากการสูบบุหรี่ อย่างเช่นคาร์บอนมอนอกไซด์ได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ที่ผู้สูบยังคงได้รับรสชาติและความรู้สึกเดิมจากนิโคตินไม่แตกต่าง รวมทั้งได้รับพิจารณาขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ (Pre-market Tobacco Product Application: PMTA) เป็นยาสูบไร้ควันตัวแรกที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายในสหรัฐฯ ตามกฎหมายที่ออกในปี 2552 รวมทั้งขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาสูบลดความเสี่ยง (Modified Risk Tobacco Product : MRTP)

ด้วยเหตุนี้ในหลายประเทศจึงอนุญาตให้มีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าหรือผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควันดังกล่าว โดยกำหนดให้ดำเนินการควบคู่ไปกับการกำหนดมาตรฐานเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน และปกป้องเยาวชนไม่ให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบ เช่น ญี่ปุ่นอนุญาตให้จำหน่ายมาตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งอัตราการสูบบุหรี่ในเด็กและเยาวชนต่ำกว่า 0.1 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้ายาสูบไร้ควัน มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 2.1 เปอร์เซ็นต์ โดยพบว่ามีนักสูบ 70 เปอร์เซ็นต์ เปลี่ยนจากบุหรี่มวนมาใช้ยาสูบไฟฟ้า ให้มีจำนวนผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควันแบบไม่เผาไหม้ของฟิลลิป มอร์ริส ราว 8 ล้านคน หลังจากได้รับการอนุญาตให้จำหน่ายใน ขณะที่ยอดขายบุหรี่แบบดั้งเดิมลดลง โดย Marlboro ลดลง 1.2 เปอร์เซ็นต์ , Bond Street ลดลง 7.7 เปอร์เซ็นต์ และ Parliament ลดลง 10.4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ไส้บุหรี่ไร้ควันหรือบุหรี่ไฟฟ้านั้นมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 37 เปอร์เซ็นต์ สัดส่วนของบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด

สำหรับความเคลื่อนไหวของเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเมืองไทย นำโดย นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้รวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนให้มีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมายกว่า 40,000 รายชื่อ พร้อมผลการวิจัยและแนวทางที่ต่างประเทศควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า หวังให้ภาครัฐรับฟังเสียงประชาชนและดำเนินการปรับแก้ต่อไป

นายอาสา ให้เหตุผลสนับสนุนว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนช่วยแก้ปัญหาอันตรายต่อสุขภาพจากการสูบบุหรี่แบบเดิมๆ ตามที่มีงานวิจัยจากต่างประเทศระบุไว้ บุหรี่ไฟฟ้ามีความปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน เนื่องจากละอองไอจากบุหรี่ไฟฟ้า มีปริมาณสารพิษน้อยกว่าควันจากบุหรี่ เพราะไม่มีการเผาไหม้ รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขหลายๆ ประเทศ เช่น อังกฤษ สหภาพยุโรป นิวซีแลนด์ จึงสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่มีทางเลือกในการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ หรือเพื่อช่วยในการเลิกบุหรี่ พร้อมกำหนดมาตรการป้องกันเยาวชนและผู้ไม่สูบบุหรี่ ไม่ให้เกิดการเริ่มใช้บุหรี่หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับยาสูบทุกประเภท

แต่ประเทศไทย บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าผิดกฎหมายที่ห้ามนำเข้าและจำหน่าย แต่มีผู้ใช้ที่ต้องลักลอบซื้อขายอย่างผิดกฎหมายเกือบ 4 แสนคน คิดเป็นมูลค่าใต้ดินกว่า 6,000 ล้านบาท อีกทั้ง สร้างปัญหาให้นักท่องเที่ยวโดนจับปรับ และการแบนบุหรี่ไฟฟ้าไม่สามารถป้องกันเด็กเยาวชนแต่อย่างไร เพราะสามารถซื้อขายใต้ดินโดยปราศจากการตรวจสอบและควบคุม

แม้งานวิจัยจากอุตสาหกรรมยาสูบรายใหญ่อ้างอิงว่าบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลกระทบสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่มวนทั่วไป แต่ ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า บุหรี่ไฟฟ้าจะผลิตละอองที่มีนิโคตินและสารเคมีต่างๆ เพื่อใช้สูบเข้าทางปากเลียนแบบการสูบบุหรี่ปกติ โดยจะใช้ความร้อนจากอุปกรณ์มากกว่า 300 องศาเซลเซียส แต่ไม่เกิน 600 องศาเซลเซียส เหมือนการเผาไหม้บุหรี่ทั่วไป ตัวผลิตภัณฑ์ต้องมีการชาร์จแบตเตอรี่เพื่อใช้ในการทำความร้อน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ไฟฟ้า หรือ IQOS ล้วนมีอันตรายต่อสุขภาพทั้งสิ้น เนื่องจากมีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับการสูบ

“นับตั้งแต่ปี 2531 ทุกๆ องค์กรแกนนำด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ใหญ่, สถาบันชาติเรื่องการเสพติดของสหรัฐ, องค์การอนามัยโลก, มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และอีกหลายองค์กรของโลก ล้วนประกาศไปในทำนองเดียวกันว่า “นิโคติน” ก่อให้เกิดการเสพติด ซึ่งพิษของนิโคตินอาจส่งผลแบบเฉียบพลันต่อร่างกายทำให้ คลื่นไส้อาเจียน ชัก และนำอาจนำไปสู่ภาวะการหายใจล้มเหลว รวมทั้ง ระบบประสาทส่วนกลางด้วย ยิ่งในปัจจุบันสภาวะอากาศในเมืองไทยที่ร้อนเยี่ยงนี้ ยิ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต ซึ่งในทางจิตเวชเรียกว่า Tobacco use disorder” ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการ ศจย. กล่าว

อ้างอิงงานวิจัยจาก วารสาร ERJ Open Research พบว่า “ควันของการสูบ IQOS เป็นพิษต่อเซลล์ปอดไม่ต่างกับการสูบบุหรี่แบบดั้งเดิม” รายงานระบุว่าควันของIQOS ทำให้เกิดการอักเสบเกิดจากภาวะความไม่สมดุลของการเกิดอนุมูลอิสระ และผลกระทบอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อปอดและทางเดินหายใจ ในระยะยาวอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงที่มักพบในผู้สูบบุหรี่รวมถึงโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) และมะเร็งปอด

ศ.ดร.สแตนตัน แกลนซ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและศึกษาด้านการควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจในเวทีเสวนา E-Cigarette : Back to the Future ในการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 เมื่อช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ความว่าอุตสาหกรรมยาสูบอยู่เบื้องหลังและสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า โดยพยายามล็อบบี้ให้เกิดการขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้ามีหลายรูปแบบเพื่อเชิญชวนให้อยากสูบ แต่หลักการทำงานจะคล้ายกัน คือ ส่วนประกอบของบุหรี่ไฟฟ้า จะมีแบตเตอรี่ แทงค์บรรจุนิโคตินและน้ำยา และฮีทคอยล์ในการสร้างความร้อนจนเกิดไอระเหย ซึ่งต่างจากบุหรี่ธรรมดาที่ใช้ไฟจุดและความร้อนทำให้เกิดควัน

ในสหรัฐฯ อุตสาหกรรมยาสูบกำลังพยายามโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้าอย่างหนัก อาทิ โฆษณาบุหรี่ไฟฟ้าแบบไร้ควัน ออกแคมเปญต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์และโซเชียลฯ ให้คนเข้าถึงและตลาดเติบโตขึ้น นอกจากนี้ ยังปรับปรุงผลิตภัณฑ์เป็นแบบซอฟต์นิโคติน ทำให้เกิดการติดนิโคตินได้ง่ายขึ้น โดยมีการอวดอ้างผลวิจัยว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ธรรมดาได้และปลอดภัยกว่าถึง 95% ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง เพราะไม่ได้มีหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจน อีกทั้งเป็นการดำเนินการวิจัยโดยมีบริษัทบุหรี่อยู่เบื้องหลัง

"บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดหัวใจได้เช่นกัน เพราะทำให้การขยายตัวของหลอดเลือดลดลง จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหัวใจขึ้นได้ ซึ่งอัตราการเกิดโรคหัวใจจากบุหรี่ไฟฟ้าถือว่าเพิ่มขึ้นมาก ยิ่งสูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา ความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจก็จะยิ่งมากขึ้น ส่วนอันตรายต่อปอดเกิดขึ้นทั้งจากน้ำยา นิโคติน สารให้กลิ่นรสต่างๆ รวมถึงโลหะหนักที่เกิดจากความร้อน จึงยิ่งอันตรายกว่าบุหรี่ธรรมดา โดยพบว่า บุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและหลอดลมอักเสบสูงกว่าบุหรี่ธรรมดา 1.8 เท่า ขณะที่การสูบทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้าพบว่า ก่อให้เกิดโรคมะเร็งช่องปากได้" ศ.ดร.สแตนตัน กล่าว

ประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าในเมืองไทยอาจเป็นเรื่องที่ยังคงถกเถียงกันต่อไป เพราะในสังคมประชาธิปไตยการเรียกร้องของเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิทธิอันชอบธรรม แต่ต้องไม่ลืมว่าเรามีหน่วยงานต่างๆ ขับเคลื่อนในการรณรงค์ลด-เลิกบุหรี่ ซึ่งเป็นต้นต่อของปัญหาสุขภาพ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่บุหรี่ไฟฟ้าจะได้รับการยอมรับในเมืองไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น