ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การจากไปของ “มาเรียม” พะยูนน้อยวัย 9 เดือน ขวัญใจของคนไทย สะท้อนให้เห็น “วิกฤตสิ่งแวดล้อมไทย” ได้อย่างชัดเจน โดยสาเหตุการเสียชีวิตมาจาก “ขยะพลาสติก” ผลผ่าชันสูตรพบเศษพลาสติกเล็กๆ หลายชิ้นขวางลำไส้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการจากไปของพะยูน้อยเป็นผลกระทำจากการกระทำอันไร้ความรับผิดชอบของมนุษย์
นอกจากสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในเมืองไทย อีกประเด็นที่น่าจับตาคู่กันคือ “วิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมโลก” โดยเฉพาะสถานการณ์ “ภาวะโลกร้อน (Climate Change)” ที่ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวนในหลายพื้นที่ของโลก และปรากฏความรุนแรงชัดขึ้นเรื่อยๆ
ล่าสุดกรณี “ธารน้ำแข็งอกโยคูลล์” ธารน้ำแข็งแห่งแรกของประเทศไอซ์แลนด์ที่มีอายุกว่า 700 ปี ละลายจนหมดสิ้น เนื่องจากสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้ง ธารน้ำแข็งจำนวนกว่า 400 แห่งในไอซ์แลนด์ที่กำลังจะละลาย ซึ่งภาวะโลกร้อนอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นยังส่งผลกระทบกับสัตว์ประจำถิ่นอย่าง “เพนกวิน” และ “หมีขาว” ที่มีอยู่จำนวนน้อยและอาจสูญพันธุ์ได้ในอนาคตอีกด้วย
นี่ไม่นับรวมกรณีไฟป่าครั้งรุนแรงในประวัติศาสตร์ที่เกิดกับ “ป่าอะเมซอน” ซึ่งกำลังสร้างความปริวิตกไปทั้งโลกจนหลายคนใช้คำว่า “มันคือโศกนาฏกรรม” ด้วยเหตุที่ป่าผืนนี้ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ราว 2.4 พันล้านตันต่อปี เป็นแหล่งผลิตออกซิเจนและหมุนเวียนของวัฏจักรน้ำโลก โดยนับตั้งแต่ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงสิงหาคมปีนี้ เกิดไฟป่าในแถบป่าอะเมซอนแล้วกว่า 72,843 ครั้ง เพิ่มขึ้น 83% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และการหายไปของป่าอะเมซอนจะส่งผลต่อระบบการทำงานของสภาพภูมิอากาศทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม การจากไปของพะยูนน้อยมาเรียมสอนให้สังคมไทยเรียนรู้บทเรียนสำคัญในเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก เป็นรากฐานสู่ “แผนพะยูนแห่งชาติ” ภายใต้การผลักดันของคณะทำงานด้านการจัดการสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ ที่มีโต้โผใหญ่อย่าง ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานคณะทำงานฯ เตรียมผลักดันแผนพะยูนแห่งชาติขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะลงทะเล ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้สัตว์ทะเลหายากตาย
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นมีกลไกเป็นที่เรียบร้อยและเตรียมผ่านขั้นตอนการพิจารณาในระดับต่อไป โดยสามารถสรุปสาระสำคัญ 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย
ประเด็นแรก “ช่วยพะยูนให้ได้” เป้าหมายคือต้องมีพะยูนเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 10 ปี ปัจจุบันมี 250 ตัว เป้าหมายคือต้องมีเพิ่มเป็น 375 ตัว ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนทั้งเรื่องการวิจัยพะยูน การยกระดับการดูแลรักษา เครื่องมือ อุปกรณ์ สัตวแพทย์ สถานที่ เครือข่าย ฯลฯ
ประเด็นที่สอง “พะยูนโมเดล” ภายใต้สโลแกน “พะยูนอยู่ได้ ชาวบ้านอยู่ดี ทะเลมีความสุข” มีเป้าหมายชัดเจน ว่าจะลดอัตราตายของพะยูนที่เกิดจากเครื่องมือประมง ซึ่งตอนนี้คือ 90 เปอร์เซ็นต์ จะให้ลดลงมาครึ่งหนึ่งเหลือ 45 เปอร์เซ็นต์ทั้งประเทศไทย ทั้งนี้ ทางกรมอุทยานฯ ได้ตั้งเป้าหมายให้ลดลงเหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ ขับเคลื่อนพะยูนโมเดล โดยใช้แผน “1+11” นั่นคือหนึ่งคือพื้นที่นำร่อง “เกาะลิบง จ.ตรัง” ขยายผลจาก 1 ไปสู่ 11 พื้นที่ รวมกันเป็น 12 แห่ง ได้แก่ เกาะพระทอง จ.พังงา อ่าวพังงา เกาะศรีบอยา จ.กระบี่ เกาะลิบง เกาะมุกต์ จ.ตรัง เกาะลิดี เกาะสาหร่าย จ.สตูล เกาะกูด เกาะหมาก เกาะกระดาน จ.ตราด อ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี ปากน้ำประแส จ.ระยอง อ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี อ่าวสัตหีบ จ.ระยอง อ่าวปัตตานี จ.ปัตตานี เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ และยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านชาวประมงในพื้นที่ จะไม่ใช้เพียงวิธีการออกกฎระเบียบมากำกับดูแล จะพึ่งพาชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์
ประเด็นสุดท้าย “มาเรียมโปรเจ็กต์” สืบเนื่องจากพะยูนน้อยมาเรียมเป็นที่รักของทุกคน คณะทำงานฯ จะต่อยกระดับสู่ระดับและนานาชาติ โดยเน้นหนักที่การต่อต้านขยะทะเล โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้ เสนอให้ วันที่ 17 ส.ค. ของทุกปีเป็น “วันพะยูนแห่งชาติ” เพื่อระลึกถึงมาเรียมและรณรงค์เรื่องขยะทะเลและสัตว์หายาก จัดตั้ง “กองทุนมาเรียม” เพื่อขอความร่วมมือจากภาคเอกชนและทุกคน ในการเข้ามาร่วมปกป้องพะยูนและสัตว์หายาก ต่อต้านขยะทะเลร่วมกัน ผลักดันให้เกิดการประชุมพะยูนโลก ความร่วมมือกับนานาชาติ ทั้งในเรื่องสัตว์หายากและขยะทะเล ฯลฯ
นอกจากนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมพิจารณาให้ขยับโรดแมปจัดการขยะพลาสติกให้เร็วขึ้น เดิมกำหนดให้ลดการใช้เป็นศูนย์ในปี 2565 อาจต้องทำให้เร็วขึ้นภายในปี 2563 - 2564
“ขณะนี้กำลังร่วมมือกับหลายหน่วยงาน และภาคเอกชน หามาตราการแก้ปัญหาขยะทะเล ด้วยการติดตาข่ายดักขยะบริเวณปากแม่น้ำ ก่อนลงสู่ทะเล แม้จะเป็นปลายเหตุ แต่ก็เป็นวิธีเฉพาะหน้าที่จะเร่งดำเนินการลดความเสี่ยงขยะทะเล จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาวัสดุทดแทนที่มีคุณภาพและราคาถูก ไม่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันและรายได้ของประชาชน การเสนอเพิ่มโทษผู้ทิ้งขยะอาจไม่ใช่การแก้ปัญหา จึงเห็นว่าควรพิจารณาให้รางวัล หรือสิ่งตอบแทนแก่ผู้เก็บขยะ จะช่วยให้เกิดการตื่นตัวในสังคมมากกว่า”
ข้อมูลสถานการณ์ขยะพลาสติก จากรายงานการทิ้งขยะพลาสติกลงในทะเลขององค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล (Ocean Conservancy) ปี 2558 พบว่า ชาติสมาชิกอาเซียน 3 ชาติ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย และจีน ทิ้งขยะลงท้องทะเลมากที่สุด และตามรายงานการอนุรักษ์มหาสมุทร ประจำปี 2560 พบว่า ประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และจีน ทิ้งขยะพลาสติกมากกว่าครึ่งหนึ่งของขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงมหาสมุทรในทุกๆ ปี
ดร.ธรณ์ กล่าวว่า การจัดการปัญหาขยะทะเล เป็นอีกส่วนสำคัญ ซึ่งขยะทะเลร้อยละ 80 มาจากบกลงสู่แม่น้ำลำคลองออกสู่ทะเล ทุกคนจึงมีส่วนในการผลิตขยะทะเลทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องโทษนักท่องเที่ยว โดยตัวเลขปี 2561 มีขยะในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล 82 ตัน ส่วนปี 2562 มีขยะเพิ่มในช่วงระยะเวลาเดียวกัน 95 ตัน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวน้อยลงกว่าเดิม ชัดเจนว่าแหล่งขยะจำนวนมากมาจากบก จำเป็นต้องร่วมกันทุกฝ่ายทุกคนในการลดการเพิ่มจำนวนขยะ
ทั้งนี้ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ไทยได้เลิกใช้พลาสติกแล้ว 3 ชนิด และในปี 2565 จะเลิกหรือลดปริมาณการใช้พลาสติกอีก 4 ชนิด คือ ถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง หลอดพลาสติก ถ้วยแก้วน้ำพลาสติก และบรรจุภัณฑ์โฟม ตั้งเป้าจะแบนการใช้ทั้งหมดให้ได้ก่อนปี 2565 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประชาชน กระแสสังคมหากมีความพร้อม อยากจะร่วมมือในการลดขยะ ลดสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างอันตรายต่อสัตว์ทะเล ก็สามารถทำได้ทันทีได้ก่อนแผนที่วางไว้
ดร.ธรณ์ ในฐานนะประธานคณะทำงานฯ กล่าวถึงสถานการณ์พะยูนไทยปัจจุบันสำรวจพบที่จังหวัดตรังมากที่สุดประมาณ 200 ตัว และหากรวมพื้นที่อื่นทั่วประเทศ ไทยมีประชากรพะยูนประมาณ 250 ตัว ซึ่งจากข้อมูลในปี 2562 ยังพบอีกว่ามีพะยูนเกยตื้น 16 ตัว ตายไปแล้วรวมมาเรียม ทั้งหมด 15 ตัว ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของทุกปีที่จะมีพะยูนตายปีละ 10 - 12 ตัว ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติมาก โดยสาเหตุสำคัญมาจากเครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อพะยูนเป็นสาเหตุสูงที่สุดร้อยละ 90 จากจำนวนที่ตายทั้งหมด รองลงมาเป็นผลจากขยะพลาสติก
พร้อมทั้งโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat ถึงการจากไปของพะยูน้อยมาเรียมที่ฝากข้อคิดไว้อย่างงดงาม ตัดทอนบางตอนความว่า
“#เจ็ดข้อที่มาเรียมฝากไว้
หนึ่ง - นับจากต้นปี มาเรียมเป็นสัตว์สงวนรายที่สองที่ตายและพบพลาสติกในท้อง หลังจากเมื่อเดือนก่อน พบเต่ามะเฟืองตายที่ระยอง โดยมีถุงใบใหญ่อยู่ในท้องเช่นกัน
สอง - นับจากต้นปี มีสัตว์หายากที่ตาย/บาดเจ็บโดยมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับขยะทะเล ทั้งภายนอกและภายใน จำนวนนับร้อยตัว (มีรายงานเต่าทะเลติดขยะ/กินขยะแทบทุกวัน)
สาม - เมื่อพลาสติกเข้าไปในตัวสัตว์ทะเล โอกาสที่จะช่วยเป็นไปได้ยากยิ่ง แม้มาเรียมจะอยู่ภายใต้การดูแลอย่างดี แต่สุดท้ายก็จากไป
การหวังให้สัตว์ที่กินขยะทะเลเข้าไปแล้วเราช่วยเหลือได้ เป็นเรื่องดังฝัน สิ่งสำคัญกว่านั้นคือทำอย่างไรให้ไม่มีขยะทะเล เพื่อสัตว์ทะเลจะได้ไม่กิน/ติด
สี่ - มาเรียมทำให้เกิดแผนพะยูนแห่งชาติ จะเข้าคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก ภายใต้คณะกรรมการทะเลแห่งชาติ
ห้า - ข้อมูลการเก็บขยะทะเลอย่างต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลา 2 ปีของอุทยานอ่าวพังงา ต้นทางของขยะทะเลในกระบี่และตรัง ที่อาศัยของน้องมาเรียมและฝูงพะยูน แสดงให้เห็นว่า ขยะทะเลไม่ได้ลดลงเลย อันที่จริง เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ
หก - การจากไปของน้องมาเรียม คงช่วยกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงปัญหาขยะทะเล/ขยะพลาสติกได้อีกครั้ง แต่เท่านั้นจะพอหรือ ? ... แค่ตระหนักยังไม่พอ
เจ็ด - หากอยากให้การจากไปของมาเรียมไม่สูญเปล่า เราต้องไปให้ไกลกว่าคำว่าตระหนัก เราต้องไปให้ถึงมาตรการลดพลาสติกจากต้นทาง ตามโรดแมปแบนพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ที่กำหนดไว้ในปี 65 (ถุงก๊อบแก็บ หลอด แก้วใช้แล้วทิ้ง ฯลฯ)
...สุดท้าย หากมาเรียมพูดได้ เธอคงอยากบอกคนไทยว่า เธอไม่โกรธคนไทยหรอก เพราะคนที่ใช้ถุงใบนั้น คงไม่รู้หรอกว่า นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เธอป่วย แต่เธอไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก กับเพื่อนๆ ของเธอ พะยูน เต่า โลมา วาฬ ฯลฯ
ในช่วงชีวิตของมาเรียม เธอคงฝันถึงทะเลที่สวยสะอาด ทะเลที่เธอสามารถโลดแล่นไปได้ตามใจปรารถนา สามารถกินหญ้าทะเลได้อย่างไร้กังวล ทะเลที่ปราศจากขยะแปลกปลอมของมนุษย์ วันนี้ เธอคงอยู่ในทะเลแห่งนั้นแล้ว...”
สำหรับสถานการณ์ขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ต่างๆ ทั้งสัตว์ทะเลและสัตว์ป่า ดังที่ปรากฏเป็นข่าวบ่อยครั้งสัตว์กินขยะที่เป็นพลาสติกเข้าไปเป็นสาเหตุการเสียชีวิต ที่น่าเศร้าใจหลังจากกรณีพะยูนน้อย เกิดกรณีกวางในพื้นที่เขาใหญ่ กินขยะพลาสติกจนเสียชีวิตในเวลาไล่เลี่ยกัน มีสัตว์จำนวนมากต้องมาจบชีวิตเพราะขยะพลาสติก
นอกจากมาเรียม ยังมีพะยูนน้อยอีกหนึ่งตัว คือ ยามีล ที่อยู่ในความดูแลของทีมสัตว์แพทย์ ซึ่ง “บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับการดูแลอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก ตลอดจนการจัดการภัยคุกคามจากสถานการณ์ขยะพลาสติก ซึ่งตอนนี้ยังมีลูกพะยูนอีกอีกตัวที่ต้องดูแล คือ ยามีล ซึ่งถึงกับออกปากว่า “ห้ามตาย ตายไม่ได้”
อย่างไรก็ตาม ทีมอาสาสมัครเก็บหญ้าทะเลเพื่อเป็นอาหารให้กับ ยามีล ลูกพะยูนกำพร้าอีกหนึ่งตัวอยู่ในการอนุบาลของทีมสัตว์แพทย์ พบว่าแหล่งหญ้าทะเลปะปนไปด้วยขยะพลาสติก
“ทีมอาสาสมัครไปเก็บหญ้าทะเลให้ยามีลหลังจากมาเรียมไม่อยู่ และสังเกตว่าแหล่งหญ้าทะเลที่เกาะลิบง มีพลาสติกปะปนอยู่ ซึ่งก่อนหน้าไม่ได้สังเกตมาก่อน บ่งชี้ว่ามีขยะพัดไปถึงจุดหากินของพะยูน จากนี้จะต้องลงไปเก็บออกจากแปลงหญ้าทะเลไม่ให้เป็นอันตรายกับพะยูนตัวอื่น” นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผย
ขณะที่ จตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยถึงแผนการอนุรักษ์พะยูน และการบริหารจัดการขยะทะเลว่า มุ่งเน้นให้ประชาชนทุกภาคส่วน ช่วยกันลดปริมาณการใช้พลาสติก เช่น หลอด ถุงพลาสติก อันเป็นสาเหตุหลักทำให้มาเรียมตาย จากกรณีที่ได้พบเจอถุงพลาสติกในท้องของมาเรียม ดังนั้น ทช. จึงได้จัดทำ “มาเรียม โมเดล” ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจแก่ทุกคน พร้อมทั้งขอให้ทุกภาคส่วนและคนทั่วโลกตระหนักถึงการทิ้งขยะลงสู่ทะเล อีกทั้ง อธิบดี ทช. ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “รักมาเรียม ลด เลิก ใช้พลาสติก” เพื่อให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันกับพะยูน และสัตว์ทะเลอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืนสืบไป
สุดท้ายนี้ “พะยูนน้อยมาเรียม” ทำให้สังคมไทยตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน หวังเพียงว่าจะไม่เป็นกระแสชั่วคราว แต่การจากไปของมาเรียมจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีแก่ท้องทะเลไทย
นับเป็นบทเรียนสำคัญที่ที่พะยูนน้อยมาเรียมฝากเอาไว้...
ย้อนไทม์ไลน์ชีวิตมาเรียม
“มาเรียม” ลูกพะยูนกำพร้า เพศเมีย พลัดหลงกับแม่มานอนเกยตื้นบริเวณอ่าวทึง ม.4 ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2562 จากนั้นเจ้าหน้าที่ย้าย มาเรียม ไปยังแหลมจูโหย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์พะยูน โดยมีเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครคอยดูแลใกล้ชิด เนื่องจากลูกพะยูนไม่มีประสบการณ์การใช้ชีวิต ท่ามกลางการเฝ้าติดตามและเอาใจช่วยของคนไทย
ต่อมา 10 ส.ค. 2562 นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเกาะลิ เปิดเผยว่า หลังจากมาเรียมได้ออกไปท่องทะเลกว้าง เจอพะยูนโตเต็มวัยไล่คุกคาม ทำให้หนีเตลิดกลับมาในอ่าว ส่งผลให้เธอมีภาวะเครียดจัด ทำให้ไม่ค่อยกินนม แต่กินสารอาหารวิตามินและน้ำหญ้าปั่นแทน อาการอ่อนเพลีย ไม่ค่อยว่ายน้ำ อัตราการเต้นของหัวใจช้า กระทั่ง เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น และสัตวแพทย์ต้องฉีดยากระตุ้นหัวใจ เฝ้าระวังอาการตลอด 24 ชั่วโมง
เข้าสู่วันที่ 11 ส.ค. 2562 มาเรียม มีอาการซึมและอ่อนเพลียมากขึ้น ทีมสัตวแพทย์วินิฉัยมีการติดเชื้อในกระแสเลือดและปอดอักเสบ ทีมสัตวแพทย์ดูแลเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
กระทั่ง 17 ส.ค. 2562 เวลา 00.09 น. พะยูนน้อยมาเรียม วัย 9 เดือน ได้จากไปอย่างสงบ
สำหรับสาเหตุการเสียชีวิตพบสาเหตุเนื่องมาจากมีเศษพลาสติกเล็กๆ หลายชิ้นขวางลำไส้ จนมีอาการอุดตันบางส่วน และอักเสบ จนทำให้มีแก๊สสะสมเต็มทางเดินอาหาร มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนอง ซึ่งในช่วงแรกของการรักษาสามารถลดการติดเชื้อในระบบหายใจลงได้บางส่วน แต่ในทางเดินอาหารที่มีขยะพลาสติกไม่สามารถรักษาได้ จึงลุกลามจนช็อกเสียชีวิตในที่สุด นอกจากนี้ พบร่องรอยโรคอีกส่วนหนึ่งที่พบคือ มีรอยช้ำเลือดในกล้ามเนื้อ และผนังช่องท้องด้านใน ซึ่งอาจเกิดจากการกระแทกกับของแข็ง เช่น หิน ขณะที่เกยที่ตื้น
โดยวาระสุดท้ายได้นำ มาเรียม ไปสตัฟฟ์เพื่อจัดแสดงที่สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อเปิดให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้ ใช้เป็นแนวทางในการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากอย่างยั่งยืน