"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
อุดมการณ์สังคมนิยมมีชะตากรรมไม่แตกต่างจากอุดมการณ์อื่น ๆ ที่กล่าวมาก่อนหน้านี้มากนัก นั่นคือมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงตามพัฒนาของสังคม หลักคิดสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์แบบสุดขั้วได้ล้มตายหายไปจนเกือบสูญสลายจากสนามการเมือง ทว่า หลักคิดสำคัญหลายประการของสังคมนิยมยังคงได้รับการนำไปใช้ภายใต้การปรับชื่อใหม่เป็น “ประชาธิปไตยสังคม” หรือ “สังคมนิยมประชาธิปไตย” และต่อมาก็มีการปรับอีกครั้งกลายเป็นอุดมการณ์ที่เรียกว่า “วิถีที่สาม” ซึ่งมีบทบาทในเวทีการเมืองและการพัฒนาระดับโลกอยู่ไม่น้อยในปัจจุบัน
แก่นความคิดดั้งเดิมของสังคมนิยมคือ การยึดถือความเป็นชุมชน การร่วมมือ ความเท่าเทียม การเมืองของชนชั้น และกรรมสิทธิ์ร่วม สังคมนิยมมองว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมสำเร็จได้ด้วยชุมชน มิใช่ปัจเจกบุคคล การกระทำร่วมกันของมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายของสังคม ดังนั้นชาวสังคมนิยมจึงเห็นว่า มนุษย์ทุกคนเป็นสหายและพี่น้องกัน และเชื่อมโยงด้วยพันธะแห่งความเป็นมนุษยชาติ ซึ่งคือหลักการของภราดรภาพ (fraternity) นั่นเอง
ชาวสังคมนิยมมองว่า มนุษย์ควรร่วมมือกันมากกว่าแข่งขัน เพราะการแข่งขันทำให้เกิดความรู้สึกเอาชนะ ผลักไสคนห่างจากกัน ส่งเสริมความเห็นแก่ตัว การแย่งชิง และความก้าวร้าว ขณะที่การร่วมมือจะสร้างความเป็นมิตร สร้างความใกล้ชิดระหว่างผองมนุษย์ เกิดสำนึกแห่งการเกื้อกูลแบ่งปัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และสภาพของสังคมแห่งความร่วมมือเป็นสังคมที่พึงปรารถนามากกว่าสังคมแห่งการแข่งขัน
ในเรื่องความเท่าเทียม ชาวสังคมนิยมเน้นความเท่าเทียมของผลลัพธ์ โดยสนับสนุนความยุติธรรมในฐานะความเที่ยงธรรม ซึ่งมิใช่ความคิดไร้เดียงสาแบบที่ว่าทุกคนเกิดมาเท่ากันหรือครอบครองความสามารถและทักษะเท่ากัน ส่วนความไม่เท่าเทียมเป็นผลมาจากการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมของสังคม มากกว่าเกิดมาจากธรรมชาติ ความยุติธรรมที่เที่ยงธรรมคือ การที่ทุกคนในสังคมได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันจากสังคม ทั้งในแง่ระบบการให้รางวัลของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง กฎหมาย วัฒนธรรม และการบริการอื่นใดของรัฐก็ตาม และการจัดสร้างสภาพแวดล้อมกายภาพเพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้ที่มีความจำเป็นและขาดแคลน
ในเรื่องความเท่าเทียมนี้ ชาวสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์เชื่อในเรื่อง “ความเท่าเทียมทางสังคมสัมบูรณ์” ที่เกิดจากการยกเลิกระบบกรรมสิทธิส่วนบุคคล และใช้การผลิตรวมหมู่แทน ขณะที่ชาวสังคมนิยมประชาธิปไตยเชื่อความเท่าเทียมทางสังคมแบบสัมพัทธ์ โดยการจัดสรรความมั่งคั่งผ่านรัฐสวัสดิการและระบบภาษีอัตราก้าวหน้า การขจัดความยากจน และยอมรับบทบาทของแรงจูงใจทางวัตถุในระบบเศรษฐกิจ
ชาวสังคมนิยมดั้งเดิมมองการเมืองว่าเป็นการเมืองของชนชั้น พวกเขาจำแนกชนชั้นหลักในสังคมทุนนิยมเป็นสองชนชั้นคือชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งเป็นคู่ปรปักษ์ที่ไม่อาจประนีประนอมหรืออยู่ร่วมกันได้ การสร้างสังคมที่ดีนั้นชนชั้นกรรมาชีพต้องโค่นล้มชนชั้นนายทุน และสถาปนารัฐสังคมนิยมขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ในประเทศตะวันตกการเชื่อมโยงการเมืองของชนชั้นแบบสังคมนิยมดั้งเดิมค่อย ๆสลายลงไปในกลางศตวรรษที่ยี่สิบ อันเป็นผลมาจากการคลายความเหนียวแน่นภายในชนชั้นกรรมาชีพ และจากการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้มีการขยายตัวของผู้ใช้แรงงานแบบพนักงานบริษัท หรือชนชั้นกลางที่ทำงานในองค์การสมัยใหม่มากขึ้นนั่นเอง
เกี่ยวกับระบบกรรมสิทธิ์นั้น ชาวสังคมนิยมดั้งเดิมยึดถือระบบกรรมสิทธิ์ร่วมของสังคม โดยเฉพาะที่ดิน ที่อยู่อาศัย และผลผลิตทางเศรษฐกิจ และวิพากษ์ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลอย่างรุนแรงในประเด็นความไม่เป็นธรรม การกดขี่ขูดรีด และก่อให้เกิดการแบ่งแยกและสร้างความขัดแย้งทางสังคม อย่างไรก็ตามชาวประชาธิปไตยสังคม และกลุ่มวิถีที่สามนั้นยอมรับในเรื่องกรรมสิทธิส่วนบุคคล และมักหลีกเลี่ยงการพูดเกี่ยวกับระบบกรรมสิทธิ์ร่วมแบบดั้งเดิม ซึ่งก็คือการละทิ้งแนวคิดระบบกรรมสิทธิ์ร่วมแบบดั้งเดิมนั่นเอง
ประชาธิปไตยสังคมและวิถีที่สาม
ประมาณกลางศตวรรษที่ยี่สิบ ในฐานะอุดมการณ์ “ประชาธิปไตยสังคม” รุ่งเรืองมาก เป็นผลมาจากแนวโน้มของพรรคสังคมนิยมในตะวันตกใช้ยุทธศาสตร์การต่อสู้ในรัฐสภา มากกว่าการปฏิวัติทางชนชั้น และมีการทบทวนเป้าหมายของสังคมนิยม โดยเปลี่ยนจากการล้มล้างระบบทุนนิยมเป็นการปฏิรูประบบทุนนิยมให้มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น และมีจุดยืนในการสร้างดุลยภาพระหว่างระบบเศรษฐกิจการตลาดกับระบบการแทรกแซงตลาดของรัฐขึ้นมา
ประชาธิปไตยสังคมยึดถือหลักการสังคมนิยมเชิงคุณธรรม โดยมองว่ามนุษย์ถูกสร้างให้มีคุณธรรมเป็นพื้นฐาน มนุษย์เชื่อมโยงกันด้วยสายใยแห่งความรัก ความเห็นอกเห็นใจ และความเมตตากรุณา ทัศนะทางคุณธรรมที่เป็นฐานของสังคมนิยมคุณธรรมมีรากฐานมาจากหลักการแห่งความเป็นมนุษย์และศาสนา และหลักอีกอย่างหนึ่งคือ ความยุติธรรมทางสังคม อันได้แก่การกระจายความมั่งคั่งของสังคมอย่างเป็นธรรม มีศีลธรรม และมีนัยเชื่อมโยงกับความเท่าเทียมทางสังคม
เป้าประสงค์ของประชาธิปไตยสังคมมี ๓ ประการ ๑) การสร้างระบบเศรษฐกิจแบบผสม ระหว่างกรรมสิทธิส่วนบุคคลและรัฐ เป็นจุดยืนกึ่งกลางระหว่างระบบทุนนิยมตลาดเสรีและระบบเศรษฐกิจที่จัดการโดยรัฐ ๒) การสนับสนุนการจัดการทางเศรษฐกิจ (economic management)ของรัฐ โดยมองว่าสังคมจำเป็นต้องจัดระเบียบระบบทุนนิยม เพื่อสร้างการเติบโตที่ยืนยาว ๓) การใช้ระบบรัฐสวัสดิการ ในฐานะเป็นหลักการสำคัญของการปฏิรูปทุนนิยมให้มีความเป็นมนุษย์ยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคมและขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไป ในแง่นี้จึงไม่จำเป็นต้องล้มล้างระบบทุนนิยม เพียงแต่ปรับเปลี่ยนระบบทุนนิยม ผ่านการปฏิรูปให้เป็นทุนนิยมสวัสดิการ (welfare capitalism) นั่นเอง
ในประเทศตะวันตก พรรคการเมืองแนวประชาธิปไตยสังคมรุ่งเรืองระหว่างทศวรรษ ๑๙๔๐ ถึง ๑๙๗๐ ทว่าในช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐ และ ๑๙๘๐ ประชาธิปไตยสังคมต้องต่อสู้อย่างหนักหน่วงในสนามการเลือกตั้ง อันเกิดจากสองปัจจัยหลักคือ การปรับตัวของอุดมการณ์คู่แข่งอย่างเสรีนิยม ซึ่งเปลี่ยนเป็น “เสรีนิยมใหม่” (neoliberalism) และการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ในช่วงปลายศตวรรษที่ยี่สิบจึงเกิดปรากฎการณ์การปรับตัวของพรรคแนวประชาธิปไตยสังคมอย่างขนานใหญ่ทั่วโลก และมีการนำเสนอแนวคิดที่เรียกว่า “แนวทางที่สาม” (the third way) ขึ้นมา
แนวทางที่สามมีหลักคิดสำคัญ ๕ ประการ ๑) ความเชื่อที่ว่า อุดมการณ์สังคมแบบดั้งเดิมที่เน้นการแทรกแซงของรัฐจากเบื้องบนได้สิ้นสุดลงแล้ว และเชื่อว่าสังคมทุนนิยมได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ สังคมสารสนเทศ (information society) หรือ สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ (knowledge economy) แล้ว
๒) ความเชื่อที่ว่า การพัฒนาสังคมควรเน้นเรื่องชุมชนและความรับผิดชอบทางจริยธรรม ความเชื่อเรื่องชุมชนเป็นความคิดดั้งเดิมของสังคมนิยม ที่เน้นเรื่องภราดรภาพ ความเป็นพี่น้องผองเพื่อน และการร่วมมือกันของมนุษย์ ขณะเดียวกันก็ยอมรับทฤษฎีทางเศรษฐกิจหลายอย่างของพวกเสรีนิยมใหม่ แต่ก็ยังปฏิเสธพื้นฐานปรัชญาและนัยทางสังคมและศีลธรรมของเสรีนิยมใหม่ แนวคิดเรื่องนี้ของ “วิถีที่สาม” เรียกโดยรวมว่า เสรีนิยมแบบชุมชนนิยม (communitarian liberalism) ซึ่งเป็นการผสมผสานหลักคิดของเสรีนิยมใหม่กับหลักคิดแบบชุมชนนิยมเข้าด้วยกัน และแก่นของความคิดนี้คือ สิทธิและความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นเนื้อเดียว ซึ่งไม่สามารถตัดหรือแยกออกจากกันได้
๓) ความคิดที่ว่าสังคมมีแนวโน้มสมานฉันท์มากกว่าขัดแย้ง ซึ่งตรงข้ามกับแนวคิดสังคมนิยมแบบดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง ความศรัทธาต่อการปรองดองและสมานฉันท์ของสังคม เป็นการปฏิเสธแนวทางศีลธรรมและอุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยมที่มีลักษณะเป็นความคิดแบบทวิลักษณ์ภายใต้การใช้คำว่า “หรือ” กล่าวคือ แนวทางของอนุรักษ์นิยมผลิตวาทกรรมที่เชื่อมแนวคิดสำคัญด้วยคำว่า “หรือ” เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ การกระจายรายได้ ให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่หลักคิดของแนวทางที่สามผลิตวาทกรรมโดยใช้คำว่า “และ” แทน เช่น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และ การกระจายรายได้ สามารถเกิดขึ้นควบคู่กันได้
๔) การผลิตแนวคิด “การผนึกรวมทางสังคม” (social inclusion) ขึ้นมาแทน แนวคิดความเท่าเทียมแบบเดิมของสังคมนิยม แนวคิดนี้มองว่า สวัสดิการสังคมควรมุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มที่ถูกกีดกันทางสังคม และ ควรช่วยประชาชนให้ช่วยเหลือตนเอง นโยบายสวัสดิการจึงควรมีแนวทางขยายโอกาสเพื่อเข้าถึงการทำงาน และการเข้าถึงทรัพยากรอื่น ๆของรัฐและสังคม เช่น แหล่งเงินทุน การศึกษา และการรักษาพยาบาล เป็นต้น
๕) บทบาทที่เหมาะสมของรัฐ ซึ่งเน้นให้ป็นรัฐที่สามารถแข่งขันได้ โดยรัฐต้องเน้นการพัฒนาเรื่อง การลงทุนทางสังคม ซี่งหมายถึงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจ การเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านทักษะและความรู้แก่กำลังแรงงาน เน้นการลงทุนด้านการศึกษา แทนที่จะเป็นด้านทหารและความมั่นคง ในแง่นี้รัฐบาลจะมีบทบาทเป็น “ผู้กระทำทางวัฒนธรรม” ซึ่งมีเป้าประสงค์ในการปรับเปลี่ยนความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และค่านิยมของประชาชน มากกว่าเพียงนำนโยบายเศรษฐกิจและสังคมไปปฏิบัติเท่านั้น
กล่าวได้ว่าในยุคต้นศตวรรษที่ ๒๑ อุดมการณ์สังคมนิยมและคอมมิวนิสต์แบบดั้งเดิมสลายหายไปเกือบหมดสิ้นในเวทีการเมืองโลก การเมืองไทยก็มีทิศทางไม่ได้ต่างกันมากนัก อุดมการณ์สังคมนิยมมีบทบาทในรัฐสภาไทยอยู่บ้างช่วงต้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระหว่างปี ๒๔๗๕ ถึง ๒๔๙๐ จากนั้นก็มีบทบาทอีกครั้งช่วงสั้น ๆ ระหว่าง ปี ๒๕๑๗ ถึง ๒๕๑๙ และค่อย ๆหายไปจากระบบรัฐสภาในที่สุด ขณะที่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ที่เน้นการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยใช้การปฏิวัตินั้น มีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญประมาณสามทศวรรษตั้งแต่ ๒๕๐๐ ถึง ๒๕๓๐ แต่เป็นบทบาทนอกระบบรัฐสภา และบทบาททางการเมืองได้ค่อยสลายไปหลัง พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นต้นมา
สำหรับอุดมการณ์ประชาธิปไตยสังคมปรากฎและมีบทบาทมากขึ้นในสังคมไทยหลัง พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นต้นมา กลุ่มที่เคลื่อนไหวยึดโยงกับอุดมการณ์นี้ส่วนใหญ่เป็นองค์กรภาคประชาสังคม ความสำเร็จในการขับเคลื่อนอุดมการณ์นี้สู่เวทีทางการเมืองที่เป็นทางการสะท้อนให้เห็นในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ แต่สำหรับในรัฐสภาช่วงสองทศวรรษที่ผ่าน ยังไม่มีพรรคการเมืองใดในรัฐสภาที่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นพรรคที่ใช้อุดมการณ์นี้ขับเคลื่อนทางการเมือง ทว่าในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ พรรคการเมืองที่มีร่องรอยของการยึดถือและใช้อุดมการณ์นี้ได้ปรากฎตัวขึ้นในรัฐสภาแล้ว พรรคที่ดูเหมือนเข้าข่ายมากที่สุดเห็นจะได้แก่ พรรคอนาคตใหม่ ทว่า อุดมการณ์ของพรรคนี้มิได้เป็นประชาธิปไตยสังคมอย่างเดียวหากแต่มีส่วนผสมของเสรีนิยมสมัยใหม่ และอุดมการณ์อื่น ๆ อีกหลายประการ