หลังการเสียชีวิตของประชาชนราว 250 กว่าคน และบาดเจ็บจำนวนหลายพันคนในช่วง 6 เดือน ประเทศซูดานกำลังเริ่มต้นชีวิตใหม่แห่งการหันหน้ามาพยายามปรองดอง และเดินหน้าสร้างชาติกันใหม่
มันเป็น 30 ปีแห่งจอมเผด็จการ โอมาร์ อัล-บาเชียร์ (Omar al-Bashir) ที่ได้ทำรัฐประหารเมื่อ 30 ปีที่แล้ว (ปี 1989) ปีเดียวกับที่รัฐบาลจีนปราบปรามประชาชนเรือนแสนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน) และต่อมายังร่างรัฐธรรมนูญก็ได้จัดการเลือกตั้ง ซึ่งนายบาเชียร์ก็สามารถชนะตลอดมาทุกสมัยด้วยความไม่โปร่งใสในการจัดเลือกตั้งด้วยอำนาจในการดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการทหารหลังปฏิวัติ และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่เขาและพวกพ้องผู้นำทหารได้อำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมสัมปทานทั้งบ่อน้ำมัน และเหมืองทองคำ จนสามารถปกครองอย่างเผด็จการมาเป็นเวลายาวนาน
แม้บาเชียร์จะมีหมายจับจาก ICC (ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ-International Criminal Court) ด้วยข้อหาอาชญากรรม และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กรณีสั่งฆ่าฝ่ายกบฏที่เมือง Darfur (ดาร์ฟูร์) ทางฝั่งตะวันตกของซูดานในช่วงทศวรรษปี 2000 แต่บาเชียร์ก็ยังสามารถครองอำนาจเบ็ดเสร็จผ่านการจัดฉากการเลือกตั้งจอมปลอมที่เขาได้รับชัยชนะตลอดกาล พรั่งพร้อมด้วยการแบ่งสรรทรัพย์สมบัติของชาติในหมู่เพื่อนพ้องน้องพี่เหล่าทหารระดับสูงที่เขาคุมอำนาจมาตลอด 30 ปี
จนมาถึงปีที่แล้ว ซึ่งยังเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกได้ตกลงมาตลอด (ราคาน้ำมันดิบได้ตกลงมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว) กระทบต่อรายรับจากการขายน้ำมันที่นำมาใช้เป็นงบประมาณ แม้ว่าประเทศซูดานจะได้เสียพรมแดนตอนใต้ให้เป็นประเทศซูดานใต้ และซูดานใต้มีน้ำมันถึง 2/3 ของน้ำมันดิบทั้งหมด (ก่อนเกิดประเทศซูดานใต้) และเหลือแหล่งน้ำมันให้แก่ซูดาน (เหนือ) แค่ 1/3 ของแหล่งน้ำมันทั้งหมด แต่ซูดาน (เหนือ) เป็นเจ้าของท่อส่งน้ำมันจากซูดานใต้ไปส่งออกที่ท่าเรือของซูดานเหนือที่ทะเลแดง คือ ซูดานใต้ไม่มีทางออกทะเลเลย จึงต้องพึ่งจมูกของซูดานเหนือเพื่อหายใจนั่นเอง และซูดานเหนือก็คิดสัดส่วนการใช้ท่อน้ำมันและท่าเรือของตนเองเป็นค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อคุ้มค่ากับการให้เอกราชแก่ประเทศซูดานใต้ (เมื่อปี 2011)
ด้วยอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จถึง 30 ปี โดยช่วงแรกอยู่ใต้รัฐประหาร แต่ต่อมาก็เป็นประธานาธิบดีที่ชนะการเลือกตั้ง จึงมีการบริหารที่เต็มไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง, เล่นพวกพ้อง และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง เช่น ไม่มีเสรีภาพในการตรวจสอบ และเปิดโปงการฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นต้น
ปลายปีที่แล้ว (2018) ท่ามกลางปัญหาขาดดุลงบประมาณมหาศาล เพราะรายได้จากการขายน้ำมันไม่พอกับรายจ่ายงบประมาณ รวมทั้งนโยบายประชานิยมเพื่อปิดปากประชาชนในการเรียกร้องต่างๆ และนโยบายประชานิยมก็เปิดทางให้มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงเพื่อโกงงบประมาณมาใส่บัญชีส่วนตัวได้ง่ายมาก อย่างที่บ้านเราเรียกว่า มีเงินทอนก้อนโตนั่นเอง
เดือนธันวาคมปีที่แล้ว รัฐบาลของนายบาเชียร์ได้ลดระดับการอุดหนุนราคาน้ำมันจนทำให้ราคาน้ำมันพุ่งพรวด รัฐบาลให้เหตุผลว่า ไม่สามารถอุ้มช่วยประชาชนอีกต่อไป ประชาชนก็ต้องกล้ำกลืนกับรัฐบาลเผด็จการ (ผ่านรัฐสภา)
ยิ่งกว่านั้นคือ การเลิกอุดหนุนราคาขนมปังที่เป็นอาหารหลักของชาวซูดาน (ในยุคล่าอาณานิคมของเจ้าอาณานิคมตะวันตก ประเทศเมืองขึ้นในแอฟริกาจะถูกปล้นทรัพย์สินของชาติผ่านการขุดเอาแร่ธาตุ เพชร พลอย ทองคำออกมาขายนำเงินกลับประเทศเจ้าอาณานิคม-นอกเหนือจากการบังคับชายฉกรรจ์อย่างโหดเหี้ยมเพื่อนำมาเป็นทาส ทั้งในยุโรป, อเมริกาเหนือ, อเมริกาใต้ และยังไม่สนับสนุนให้ชนพื้นเมืองทำการเพาะปลูกข้าวปลาอาหาร แต่ให้ซื้อแป้งและสินค้าจากประเทศเมืองแม่อาณานิคม อย่างมากก็ให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น กาแฟ, โกโก้, ฝ้าย ซึ่งไม่ใช่ข้าวปลาอาหาร และเปลี่ยนวิถีการกินอยู่ให้รู้จักแต่การรับประทานขนมปังเท่านั้น ที่เป็นวิถีชีวิตแบบของตะวันตก)
ชาวซูดานตกตะลึงกับราคาขนมปังที่พุ่งสูงมาก และโครงสร้างระบบอาหารหลักแบบแอฟริกาดั้งเดิมก็ถูกทำลายไปหมดแล้ว
ชาวซูดานจึงอดทนไม่ไหวต่อระบบที่กำลังพังทลาย ได้ก่อการประท้วงยืดเยื้อกดดันให้มีการแก้ไข แต่รัฐบาลก็ใช้การปราบปรามประชาชนผู้ประท้วงอย่างหนักโดยกองกำลังที่เคยฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวดาร์ฟูร์เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ตอนนี้แปลงสภาพมาเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (RSF-หรือ Rapid Support Forces) ที่มีคำขวัญสมัยปราบกบฏที่ดาร์ฟูร์ว่า “เผา, ข่มขืน, ฆ่า” และเป็นหน่วยพิเศษของกองทัพบก ซึ่งผบ.หน่วยนี้คือ พล.อ.โมฮาเหม็ด ฮัมดัน แดกาโล (Mohamed Hamdan Dagalo) ซึ่งก็โดนออกหมายจับจาก ICC กรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ดาร์ฟูร์เช่นกัน
การชุมนุมประท้วงของประชาชนเกิดขึ้นทั่วประเทศ แต่มารวมศูนย์ที่เมืองหลวงคือ เมืองคาร์ทูม
ท่ามกลางความร้อนระอุเกือบ 50 องศา (ต้นเมษายนปีนี้) ที่ฝ่ายผู้ชุมนุมนำโดยกลุ่มพันธมิตรทางวิชาชีพ (Sudanese Association of Professionals) ซึ่งมาจากหลากหลายอาชีพ เช่น หมอ, วิศวกร, นักบัญชี, ครูอาจารย์, อาชีพอิสระต่างๆ รวมทั้งนักศึกษาได้เรียกร้องให้กองทัพหันมาอยู่กับประชาชนเพื่อโค่นบาเชียร์
ในตอนกลางเมษายน กองทัพได้กดดันให้บาเชียร์ลาออก แต่กองทัพก็ประกาศรัฐประหารปกครองประเทศทันทีในตอนกลางเมษายน
บางส่วนในกองทัพภายใต้ RSF ได้ออกมาปราบประชาชนด้วยการกราดยิงด้วยอาวุธสงคราม เพื่อให้ประชาชนสลายการชุมนุม เพราะประชาชนต้องการรัฐบาลช่วงเปลี่ยนถ่ายก่อนการเลือกตั้งต้องมีสัดส่วนของฝ่ายพลเรือนอยู่ด้วย และประชาชนปักหลักไม่ยอมสลายตัว ขัดขืนคำสั่งคณะรัฐประหารที่ประกาศห้ามออกนอกบ้านหลังอาทิตย์ตกดิน
ต่อมาอีก 4 เดือนเต็มที่ประชาชนปักหลักสู้ ถึงกับปฏิบัติการอารยะขัดขืนหยุดการทำงานทุกกิจการทั่วประเทศ เพื่อต่อกรกับฝ่ายรัฐประหาร
จนวันที่ 19 สิงหาคมนี้ หลังการเจรจายืดเยื้อได้มีการลงนามตั้งสภาสูงสุด ที่มีทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนอย่างละครึ่ง ที่จะเข้ามาดูแลครม.ที่จะเป็นพลเรือนส่วนใหญ่
รายละเอียดการแบ่งปันอำนาจในการบริหาร-รวมทั้งการปฏิรูปต่างๆ ก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า จะนำเสนอในคราวหน้า