xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“พี่ใหญ่ป้อม” (ต้อง) ออกโรง จัดระเบียบ “สารพัดก๊ก” พปชร. จับตาบทบาท “2 ฮ.” เสี่ยเฮ้ง-เสี่ยแฮงค์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ช่วงหลังเลือกตั้ง “พลังประชารัฐ” ที่เคลมแชมป์ป๊อปปูลาร์โหวต และงัดอภินิหารจนตั้งรัฐบาลได้ แต่ในพรรคแทบดูจะไม่เป็นพรรค

มีปรากฎการณ์ ฟัดกันแย่งชามข้าวอุตลุด ด้วย “ส่วนผสม” ของนักการเมือง-นักเลือกตั้ง ที่เป็น “ปลาคนละน้ำ” ไม่ได้เกิดจากอุดมการณ์อันหนึ่งอันเดียว แต่เหมือนถูกต้อนให้เข้ามาอยู่คอกเดียวกัน ด้วย “ปัจจัย” ที่ต่างกันไป

อีกทั้งยังมีความขลุกขลักในการบริหารจัดการภายใน ที่ “แกนนำพรรค” เป็นแค่ “มวยแทน” ถูกส่งมาประจำการเป็น “หนังหน้าไฟ”

ทำให้แรงกระเพื่อมในพรรคพลังประชารัฐ ตลอดจนในพรรคร่วมรัฐบาลมีออกมาไม่หยุดหย่อน

เปิดเหตุ“พี่ใหญ่ป้อม”ต้องออกโรง
ทั้ง อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค หรือ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ที่แม้จะเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ใน “รัฐบาลประยุทธ์ เฟส 1” แต่ในทางการเมือง พวก “นักเลือกตั้งอาชีพ” ถือว่า พรรษาอ่อนกว่า ความเคารพยำเกรงในตัว “อุตตม - สนธิรัตน์” จึงค่อนข้างน้อย หนำซ้ำยังถูกตั้งแง่ว่า เป็นแค่เด็กในคาถา “เฮียกวง” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อีกก๊กในพรรคเท่านั้น

จนทั้งคู่กลายเป็น “เป้านิ่ง” ให้ทั้งลูกพรรค หรือพรรคร่วมรัฐบาลแซะไม่เลิก ยามไม่ได้ดั่งใจ ด้วยหมายกระทบชิ่งไปถึง “ผู้มีอำนาจตัวจริง”

เพราะเหนือสิ่งอื่นใดพวกนักการเมืองหิวโหยเพียงใด แต่ครั้นจะไปเปิดหน้าชนกับ “ระดับบิ๊ก” เลยก็เหมือนคิดสั้น ด้วยระดับ “บิ๊ก” ไม่เพียงแต่เป็นคนตัดสินใจเท่านั้น ยังควบตำแหน่ง “หัวจ่ายหลัก” อีกด้วย

ทำให้ช่วงที่ผ่านมาพรรคพลังประชารัฐ ใกล้เคียงกับคำว่า “เละตุ้มเป๊ะ” ชิงดีชิงเด่นจนพรรคแทบพัง โดยเฉพาะพวกที่มีสายป่านยาว และเข้าบ้าน “นาย” ได้ ก็เข้ากันเอง ไม่ค่อยไว้หน้าหัวหน้าและเลขาธิการพรรค

แต่ละก๊ก แต่ละกลุ่มในพรรค ไม่มีใครกลัวใคร ต่างฝ่ายต่างตั้งกองกำลัง เอามาต่อรองผลประโยชน์ ไม่ได้มีใครยึดถือผลประโยชน์ของพรรคจริงๆ มันเลยไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากทำพิธีเชิญ “ผู้มีอำนาจตัวจริง” ลงมาสังคายนากันใหม่

แรกเริ่มเดิมที เคยชงหวานเจี๊ยบให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ลงจาก “หอคอยงาช้าง” มาเป็นหัวหน้าพรรค เพื่อกระชับอำนาจกันใหม่เพื่อให้เข้ารูปเข้ารอยด้วยตัวเอง

แต่ “ทีม เสธ.” ประเมินแล้วว่า ได้ไม่คุ้มเสีย เมื่อดีดลูกคิดแล้ว ถ้า “ลุงตู่” มาเอง จะแก้ปัญหาเรื่องเอกภาพภายในพรรคได้ก็จริง แม้ไม่ถนัดการเมือง แต่ “บารมี” ล้นเหลือ ทว่าหากลงจากหอคอยงาช้างมา ก็จะกลายสภาพเป็น “นักการเมืองอาชีพ” เต็มตัวไปกันใหญ่ “ฝ่ายแค้น-ฝ่ายค้าน” คงไล่ขย้ำไม่เลิกเป็นแน่

เลยพักไอเดีย “ลุงตู่” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐไว้ก่อน

อย่างไรก็ดี ในพรรคตลอดจนในพรรคร่วมรัฐบาล ก็มีปัญหา “เสถียรภาพ” ที่ต้องแก้กันเป็นรายวัน จำเป็นต้องมี “ผู้มากบารมี” คอยคุมเชิงไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อม จนเสียการใหญ่

จึงต้องเปลี่ยนแผนกันใหม่ และต้องเหนื่อย “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” อย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่รู้กันในทีว่าคือ “เจ้าของพรรค-ผู้จัดการรัฐบาล” ตัวจริงเสียงจริง ปรับสเตตัส “ผู้มีบารมีนอกพรรค” มาเป็น “ผู้มีบารมีในพรรค” อย่างเป็นทางการในตำแหน่งสุดฮิต-ไฮพาวเวอร์ของการเมืองยุคนี้อย่าง ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ

โดยมีทีมงานในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ อาทิ “เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท และประธานยุทธศาสตร์ภาคกลาง ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ที่น่าจะได้รับตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เช่นเดียวกับ “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นประธาน ส.ส.ของพรรคหมาดๆ และมี “เสี่ยโอ๋” ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์

แล้วยังมี “เฮียยักษ์” วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) รัฐบาล “เจ๊เอ๋” ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี ที่รับผิดชอบด้านการชี้แจงตอบโต้ประเด็นที่พรรคถูกโจมตี และ “มาดามเดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ รับผิดชอบด้านประชาสัมพันธ์ ร่วมเป็นกรรมการด้วย

ที่น่าสนใจคงเป็นรายของ “2 ฮ.” คือ “เสี่ยแฮงค์ - เสี่ยเฮ้ง” ที่มาจากคนละก๊วน แต่ทั้งคู่ค่อนข้างมีบทบาทสูงในพรรค ตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง จนมาถึงช่วงหลังเลือกตั้ง ที่มีการวัดพลังกลุ่มก๊วนในพรรค เพื่อช่วงชิงเก้าอี้รัฐมนตรีกันอย่างดุเดือด โดย “เสี่ยแฮงค์” เคยมีชื่อคั่ว รมช.คลัง แต่โดยเบียดตกขอบไปเสียก่อน นั้นพะยี่ห้อ “สามมิตร” มีลูกพี่คือ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ - สมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ดูแล ส.ส.ครอบคลุมทั้งภาคเหนือ-อีสาน-กลาง และภาคใต้บางส่วน อย่างไรก็ดี “อนุชา” ยังได้รางวัลปลอบใจโดยส่ง “น้องชาย” ไปเป็นเลขานุการ รมว.พลังงาน

ขณะที่ “เสี่ยเฮ้ง” ที่เคยมีชื่อเป็น รมว.แรงงาน แต่พลาดไปในโค้งสุดท้าย เดิมอยู่ในก๊วนเมืองชลฯของ “ตระกูลคุณปลื้ม” แต่ในช่วงหาเสียงจนมาถึงหลังเลือกตั้งอาศัยความเป็น “สายตรงป่ารอยต่อฯ” ก็ฉีกตัวออกมาแท็คทีมกับ “วิรัช” ที่ดูแลภาคอีสานใต้ ขณะที่ “เสี่ยเฮ้ง” ดูแลภาคกลาง มีการร่วมกลุ่มก้อนในสังกัดถึงกว่า 30 ชีวิต แม้ “สุชาติ” ยังพลาดตำแหน่ง ก็ได้ตำแหน่งประธาน ส.ส.เพื่อเสริมบารมีปลอบใจ

มองได้ว่าการมีชื่อ “เสี่ยแฮงค์ - เสี่ยเฮ้ง” รวมไปถึง “เฮียยักษ์” ที่อาจจะได้เป็น ส.ส.อีกไม่นานด้วยคดีค้างเก่า อยู่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค หรือ “ทีมงานลุงป้อม” นั้น ถือเป็นการดึง “คีย์แมน” ของกลุ่มก๊วนการเมืองในพรรคมาอยู่ข้างตัว เพื่อสยบแรงกระเพื่อม ตลอดจนประสานรอยร้าวระหว่างกลุ่ม “สามมิตร” กับกลุ่มของ “สุชาติ-วิรัช” ไปในตัวด้วย

กลับมาที่ “ลุงป้อม” กับการเข้าสู่โหมดการเมืองเต็มตัว แม้จะไม่ใช่นายกรัฐมนตรี แต่รับรู้กันดีว่า นี่คือ “นาย” ตัวจริงอีกคน ที่ทำทุกอย่างตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ มีอำนาจตัดสินใจได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะเมื่อครั้งจัดสรรโควตารัฐมนตรีให้กับบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล ที่ว่ากันว่า “ลุงป้อม” เคาะโต๊ะเองกับมือ

ตั้งแต่ทำคลอดพรรคขึ้นมา เมื่อมีปัญหาแก้ไม่ตก คำตอบสุดท้ายก็อยู่ที่ “มูลนิธิป่ารอยต่อฯ” อยู่แล้ว และไหนๆก็ไหนๆ เป้าใหญ่อย่าง “บิ๊กบราเทอร์สแห่งบูรพาพยัคฆ์” ก็ถูกโจมตีอยู่แล้ว มาหรือไม่มา ก็โดนด่าตลอด

เมื่อ “น้องตู่” ยังต้องอยู่ในที่ปลอดภัย “พี่ป้อม” ก็จำต้องเสียสละตัดสินใจลงมาบังคับบัญชา ส.ส.เอง คอยเชื่อมระหว่างรัฐบาลกับ ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลด้วย

การเป็นสมาชิกพรรค พ่วงด้วย “ประธานยุทธศาสตร์พรรค” ก็ทำให้ “ลุงป้อม” ไม่ต้องเหนียมอาย เดินเข้าห้องประชุมพรรค หรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับพรรค โดยไม่ต้องกลัวฝ่ายค้านไปร้องแรกแหกกระเชอให้ยุบพรรค ข้อหาคนนอกครอบงำ ให้เสียอารมณ์

เมื่อ “ลุงป้อม” ลงมาเองแล้ว ก็เป็นการส่งสัญญาณว่า ต่อแต่นี้ไปในพรรคพลังประชารัฐ จะไม่มีก๊กไหนใหญ่อีกแล้ว เพราะผู้มีอำนาจสูงสุดคือ “บิ๊กป้อม” ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรค ทุกเรื่องสามารถพูดได้-ฟ้องได้

ประเภท “อ้างนาย” ก็คงเดินไม่ค่อยสะดวก เพราะตัวจริงมาพูดเอง-ฟังเองในห้องประชุม

ขณะเดียวกันในแง่ขวัญกำลังใจ และเชื่อมต่อกับรัฐบาลน่าจะหมดปัญหา ขณะที่เรื่องก๊กยังคงมีอยู่ แต่น่าจะเบาบาง เพราะมานั่งประกบ กระชับอำนาจเอง ที่ผ่านมาก็เข้าหา “บิ๊กป้อม” กันหมดทุกกลุ่มอยู่แล้ว

ห่วงอยู่อย่าง “บิ๊กป้อม” จะทันบทสอพลอของบรรดา “นักเลือกตั้งอาชีพ” หรือพวกที่แอ็กท่าเป็น “กุนซือใหญ่” หรือไม่เพราะที่ผ่านมาที่ว่าแน่ๆ ก็เสียเหลี่ยมพลาดท่าเสียคนกันมาเยอะแล้ว

จำใจ “เทกระโถน” สยบ “พรรคเล็ก” พยศ
เฮกันกระหึ่มพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล

เมื่อมีคำวินิจฉัยฟันธงว่า พวกเข้าวินเป็น ส.ส. ผู้แทนราษฎรไปแล้ว ไม่อาจรับตำแหน่งข้าราชการการเมือง ทั้งเลขานุการ ที่ปรึกษา หรือกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ได้ เพราะเข้าข่าย “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ทำเอาก๊วน “ส.ต.- สอบตก” หรือพวกที่อกหักจากเก้าอี้เสนาบดียิ้มกริ่ม ได้มีลุ้นเก้าอี้รองก้น
“เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น
”เสี่ยแฮง” อนุชา นาคาศัย
แม้จะเป็นตำแหน่งที่โดนค่อนขอดว่า “เก้าอี้เทกระโถน” ไม่ว่าเลขานุการรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี หรือผู้ช่วยรัฐมนตรี ที่คนมีเพาเวอร์หมางเมิน แต่คนขาลอยกลับพิศวาส

ช่วงต้นของรัฐบาล ก็เป็นฤดูกาลแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ทยอยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งออกมาเป็นระยะ

ส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล “พรรคหลักๆ” ได้โควตากันเต็มเม็ดเต็มหน่วย โปรยปรายกันถ้วนหน้า แม้แต่อดีตรัฐมนตรีที่ปกติจะไม่ลดตัวมารับตำแหน่งที่ต่ำกว่าเดิมยังคว้าเอาไว้ก่อน เพราะหลายคน “อดอยากปากแห้ง” กันมานาน ต้องลด “ทิฐิ” แล้วกระชุ่นตัวเองว่าอยู่ตรงไหนก็ได้ แค่ทำงานเพื่อชาติ

แต่ในทางการเมืองก็รู้กันว่า ความต้องการมีตำแหน่งแห่งที่ของแต่ละคน ก็มองไกลไปถึงการเลือกตั้งรอบหน้า อย่างน้อยก็ใช้ตำแหน่งที่มีสร้างผลงาน-สร้างชื่อ หรือดีไม่ดีอาจมี “น้ำมันเครื่อง” ติดมือไว้สู้ศึกด้วย

โดยเฉพาะ “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ ที่ “อดีตเสนาบดี” แขวนอีโก้ไว้ที่บ้าน รับตำแหน่งปลอบใจกันพรึบ

ไม่ว่าจะเป็น ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ที่ยอมถอยมาเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ไชยยศ จิรเมธากร อดีต รมช.ศึกษาธิการ ที่มานั่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง แม้แต่พวกฝีปากกล้าอย่าง นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต รมว.วัฒนธรรม ที่ร่นมาเป็นแค่ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

แม้แต่ “เดอะจ้อน” อลงกรณ์ พลบุตร อดีต รมช.พาณิชย์ และอดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ยังเหลือแค่ ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์

ขณะที่คนอื่นๆ อาจจะไม่มีดีกรีรัฐมนตรี แต่ก็เป็นบรรดาบิ๊กเนมทางการเมืองกันทั้งนั้น อาทิ สากล ม่วงศิริ อดีตผู้แทนฯ กทม.หลายสมัย เป็นกรรมการผู้ช่วย รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ “เจ๊มอลลี่” มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข เป็นที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ สรรเสริญ สมะลาภา เป็นผู้ช่วย รมว.พาณิชย์ ธนา ชีรวินิจ เป็นเลขานุการ รมว.เกษตรและสหกรณ์ อภิชาติ สุภาแพ่ง เป็นที่ปรึกษา รมช.คมนาคม เจือ ราชสีห์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ รมว.คมนาคม เป็นผู้ช่วยเลขานุการ รมว.คมนาคม

พรรคพลังประชารัฐเองก็มีที่ “ลดเกรด” คือ “พี่กอบ” กอบศักดิ์ ภูตระกูล จาก อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี วันนี้เหลือแค่รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นทีมงาน “อาจารย์กวง” ก็เอา

พอๆ กับพรรคภูมิใจไทย ที่ สุชาติ โชคชัยวัฒนากร ซึ่งในอดีตเคยเป็น รมช.คมนาคม แต่ปัจจุบันแค่ “ผู้ช่วย รมว.คมนาคม” ที่ถือว่าดีถมไปแล้ว

เอาเป็นว่า การเมืองและยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว กำขี้ดีกว่ากำตด มัวอีโก้ก็อดรับประทาน

ต้องบอกว่า นักการเมือง และอดีตผู้สมัคร ส.ส.สอบตก ขนทีมกันเข้ามาอย่างกับรัฐสภาแห่งที่ 2 ขณะที่ “นายทหาร” ผู้รับสัมปทานตำแหน่งเหล่านี้ในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1 แทบไม่มีชื่อติดโผสักคน ยกเว้นทีมงานของ “นายกฯตู่” กับ “รองฯป้อม” รวมไปถึง “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่มีความจำเป็นต้องใช้นายทหาร-นายตำรวจ มาอยู่ข้างกายบางส่วน เพราะรู้สไตล์และไว้ใจกันมากกว่า

การไม่ยึดโควตาตำแหน่งการเมือง และแจกจ่ายให้ “คนมีสี” เพียงอย่างเดียวเหมือนช่วง 5 ปีก่อนหน้าในยุค คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ส่ง “คนของตัวเอง” ไปสังเกตการณ์ตามกระทรวงต่างๆ ถือว่า “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” เองก็พยายามปรับตัวเข้ากับยุคนักการเมือง และให้เกียรติผู้ที่ทำงานร่วมกัน ให้อภิสิทธิ์และโควตาแต่ละพรรคการเมืองเป็นคนเลือกเอง ซึ่งเป็นธรรมเนียมของนักเลือกตั้งอาชีพ

ไม่ได้ถอยธรรมดา เพราะขนาดบรรดา “พรรคจิ๋ว” ที่มี ส.ส.กันแค่พรรคละ 1 เสียง ที่ได้คะแนนเขย่งมาแบบอัศจรรย์ใจ แบบที่ได้เป็น ส.ส.เข้ามาโหวตนายกฯ รับ “40-50 โล” ก็บุญท่วมหัวแล้ว ยังมีอำนาจต่อรองได้ตำแหน่ง ตามคิวที่พรรคร่วมรัฐบาล 9 พรรค รวมกลุ่มขู่ทบทวนการร่วมงานกับรัฐบาล

จนเดือดร้อนต้องใช้ “มือประสานสิบทิศ” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เจ้าเก่าลงไปเอาน้ำเย็นลูบง้างเก้าอี้ “เทกระโถน” ไปเชยชมกันถ้วนหน้า

เรียกว่า โชค 2 ชั้น คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ก็ยังฟลุกได้เป็นผู้แทนฯ แถมยังมีออปชันเพิ่มเก้าอี้ข้าราชการการเมืองอีก 1 ตำแหน่ง ยิ่งกว่าบุญหล่นทับ

ยุคนี้ “เสียงปริ่มน้ำ” ใครอยากได้อะไรขอให้บอก รัฐบาลยอมหมดจริงๆ ก่อนที่เสียง “จมน้ำ”

จับตาปล่อย “งูเห่า” แก้ “เสียงจมน้ำ”
ไม่ทันขาดคำ เสียงเย้ยหยันรัฐบาลปริ่มน้ำ-จมน้ำ

เมื่อฝ่ายรัฐบาลแพ้การลงมติในสภาผู้แทนราษฎรต่อฝ่ายค้านเป็นครั้งที่ 2 แบบติดต่อกัน ในรอบ 2 สัปดาห์

แม้จะเป็นวาระไม่สลักสำคัญ การพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต่อเนื่องมาจากสัปดาห์ก่อน โดยคราวนี้เป็นการแพ้ในหมวด 3 ข้อ13 ว่าด้วยการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการประสานงานร่วมสภาผู้แทนราษฎร (1) สภาสิ้นอายุ หรือ สภาถูกยุบ หรือไม่มีสภาเพราะเหตุอื่นใด โดย กมธ. เสียงข้างน้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝ่ายค้าน ขอสงวนความเห็นให้ตัดคำว่า “หรือไม่มีสภาเพราะเหตุอื่นใด” เนื่องจากเป็นคำที่สะท้อนให้นึกถึงการยึดอำนาจหรือการรัฐประหาร

ปรากฏว่า เสียงข้างมากของที่ประชุม 234 เสียง เห็นด้วยกับการตัดถ้อยคำดังกล่าวออกตามความเห็นของ กมธ. เสียงข้างน้อย ขณะที่เสียงที่สนับสนุนให้ยืนตาม กมธ.เสียงข้างมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝ่ายรัฐบาล มีเพียง 223 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง

ถือว่าเป็นการแพ้เสียงโหวตในสภา 2 รอบติดๆ กัน และห่างกันไม่นาน โดยครั้งแรก ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลลงมติแพ้ ส.ส.ฝ่ายค้าน ในการลงมติร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 9 (1) ว่าด้วยการทำหน้าที่ของประธานในที่ประชุม ที่ “ลุงชวน” นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องปกป้องตัวเอง กรีดจนเลือดอาบสภา หลังถูกฝ่ายค้าน และส.ส.รุ่นลูกรุ่นหลานหลอกด่าเรื่องความเป็นกลาง

ครั้งแรกถือว่า ฝ่ายรัฐบาลเสียรังวัดพลาดพลั้งเสียที โดนเฉือนไปเพียงแต้มเดียว อ้างข้างๆคูๆได้ว่าเป็น “ข้อผิดพลาดทางเทคนิค” ด้วยระบบลงมติในห้องประชุมยังไม่เสถียร

แต่รอบ 2 มันจะแจ้ง แพ้ไปมากกว่า 10 คะแนน อ้างน้ำขุ่นๆ แบบเดิมคงไม่ได้ ทำเอาค่ำคืนนั้น “วิปรัฐบาล” ผู้ประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ต้องต่อสายชี้แจง “ผู้มีอำนาจ” กันจ้าละหวั่น

เพราะการแพ้โหวตครั้งที่ 2 เสมือนยืนยันว่า “เสียเปรียบ” เกมในสภาฯ จาก “เสียงปริ่มน้ำ” กลายเป็น “เสียงจมน้ำ”

ปล่อยไว้ต่อไปการพิจารณากฎหมายสำคัญ อาจจะพังกันทั้งแถบได้ โดยเฉพาะที่จ่อคิวจะเข้าสภาติดๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ถ้าแพ้โหวตแบบนี้ คือ “หายนะ” รัฐบาลต้องเป็นลิเกลาโรง อยู่ไม่ได้ต้องลาออกแสดงความรับผิดชอบ

หรือในการอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี คะแนนแกว่งๆ แบบนี้ รัฐมนตรีซีกพรรคพลังประชารัฐมีเสียวแน่ เพราะไว้ใจใครไม่ได้ แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองที่พร้อม “หักหลัง” อยู่แล้ว

เพราะต้องยอมรับว่า การลงมติ 2 ครั้งที่ฝ่ายรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ มี ส.ส.ของฝ่ายรัฐบาลไปโหวตแนวทางเดียวกับฝ่ายค้านด้วย บางส่วนอ้างว่าเข้าใจผิด บางส่วนก็อ้างว่าโหวตตามที่ได้แปรญัตติไว้

แต่จริงๆ แล้วในทางการเมืองอ่านไม่ยากว่า “ตั้งใจ” เขย่าเสถียรภาพ “เรือเหล็ก”

อย่างที่รู้กัน พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ยินดีปรีดากับแนวทางการทำงานของนายกรัฐมนตรี และส.ส.พรรคพลังประชารัฐเท่าไร แต่จำใจมาแต่แรก

และหากดูให้ดีเหมือนเป็นการ “เอาคืน” พรรคพลังประชารัฐ ที่ทำให้ “ลุงชวน” ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องเสียหน้าในครั้งแรก ตอนลงมติข้อบังคับเรื่อง “ความเป็นกลาง” ซึ่งฝ่ายค้านยืนยันให้ส่งไว้ในข้อบังคับของการทำหน้าที่ประธานสภาฯ และมี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ไปโหวตให้

มาครั้งนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ความไม่เป็นประชาธิปไตย” อาจเป็นรายการ “ค่ายสะตอ” เอาคืน โหวตลงแนวทางเดียวกับพรรคฝ่ายค้าน ที่คาดการณ์กันว่า เป็นบรรดาพรรคเล็กไปโหวตสวน เพราะยังอยู่ในช่วงขู่ทบทวนร่วมรัฐบาลนั้น คงไม่ใช่ เพราะ “ผู้กองมนัส” ไปเคลียร์หมดแล้ว

สถานการณ์เป็นอย่างนี้ “ผู้มากบารมี” คงเห็นแล้วสถานการณ์ไว้วางใจไม่ได้ แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง อาจจะต้องเปิด “ไพ่เด็ด” ที่ซุกเอาไว้ออกมาใช้เร็วกว่ากำหนด

ตามคิวที่ว่ากันว่า มีการเลี้ยง “งูเห่า” ให้น้ำกันทุกเดือนเอาไว้ส่วนหนึ่งในพรรคฝ่ายค้าน ร่วมๆ 30-40 ชีวิต เพียงแต่ยังไม่งัดออกมาใช้ เพราะยังไม่มีกฎหมายสำคัญ แต่รอบนี้คงต้องควักเอาใช้ป้องกันโหวตแพ้อีก

เพราะแพ้หนสองหนพอได้ แต่แพ้บ่อยๆ ไป มันจะกระเทือนไปถึงรัฐบาล ทั้งงานฝ่ายนิติบัญญัติเดินไม่สะดวก

แล้วยังทำให้ภาพ “เรือเหล็ก” กลายเป็น “เรือบุโรทั่ง” อีกด้วย.


กำลังโหลดความคิดเห็น