xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถอดบทเรียน “ประท้วงฮ่องกง” อนาคตไทย...น่าเป็นห่วง!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 รศ.ดร.สิทธิพล เครือรัฐติกาล ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จุดเริ่มต้นของการชุมนุมประท้วงในฮ่องกงครั้งนี้ มีชนวนเหตุมาจาก “ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน” จากเกาะฮ่องกงไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ปะทุให้ชาวฮ่องกงลุกฮือออกมาเรียกร้องให้ผู้บริหารสูงสุดเขตปกครองพิเศษฮ่องกงลาออก พร้อมแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐบาลกลางของจีน นับเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุด ตั้งแต่สหราชอาณาจักรส่งมอบอธิปไตยของฮ่องกง คืนสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี 2540

สำหรับเบื้องลึกเบื้องหลังเหตุประท้วงในฮ่องกง สัมภาษณ์พิเศษฉบับนี้ “รศ.ดร.สิทธิพล เครือรัฐติกาล” ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมพูดคุยเจาะลึกปัญหาถอดบทเรียน “ประท้วงฮ่องกง” อันเป็นผลพวงมาจากรสชาติประชาธิปไตยในยุคอาณานิคมของอังกฤษ ก่อนกลับคืนสู่คอมมิวนิสต์จีน การปลุกปั่น “ม็อบฮ่องกง” ที่มีกลุ่มทุนและประเทศโลกตะวันตกอยู่เบื้องหลัง และจับตามอง “ฮ่องกงโมเดล” จะเกิดขึ้นในเมืองไทยหรือไม่

-เหตุชุมนุมประท้วงใหญ่ของฮ่องกงในครั้งนี้เบื้องลึกเบื้องหลังมีความเป็นมาอย่างไร
อย่างแรกเราต้องทำความเข้าใจขั้นพื้นฐานก่อนว่า แม้ว่าฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีนอย่างที่เข้าใจกันในปัจจุบัน แต่พัฒนาการของฮ่องกงระยะเวลา 100 กว่าปีที่ผ่านมา ฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ฉะนั้น พูดง่ายๆ ได้ว่าคนฮ่องกงแม้มีชาติพันธุ์เดียวกับมณฑลกวางตุ้ง แต่ว่าในทางความรู้สึกคนฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความทรงจำร่วมกัน ไม่มีความทรงจำทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน ดังนั้น ทันทีที่ฮ่องกงเปลี่ยนจากอาณานิคมของอังกฤษคืนสู่จีนในปี 2540 แม้กลายเป็นประเทศเดียวกันจริงแต่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันความเป็นชาติเดียวกันมันไม่เกิดขึ้น

หลังจากฮ่องกงกลับคืนสู่จีนแล้วมันก็เกิดการปกครองที่เรียกว่า 1 ประเทศ 2 ระบบ เพราะเป็นเรื่องที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่ปี 2537 ต่อมาปี 2540 คืนสู่จีน ซึ่งรูปแบบ 1 ประเทศ 2 ระบบ ความหมายของจีนคือ ฮ่องกงมีระบบเศรษฐกิจที่อยู่บนทุนนิยมมาของตัวเองมานาน แต่เราเป็นประเทศเดียวกันซึ่งฮ่องกงมีสถานะเป็นเขตบริหารพิเศษ ซึ่งทำให้คนฮ่องกงคิดว่าตัวเองจะรักษาสิทธิเสรีภาพได้ แต่ถ้าไปดูกฎหมายสิทธิการบริหารเขตเศรษฐกิจฮ่องกง มันจะมีประโยคที่บ่งบอกชัดเจนว่าถึงคุณจะมีอำนาจในตัวเอง แต่สุดท้ายอำนาจทั้งหลายต้องไปล้นไปกว่ากรอบที่ทางการคอมมิวนิสต์รัฐบาลปักกิ่งอนุญาติ ในส่วนนี้เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานทำให้เกิดการประท้วง และการประท้วงครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้เคยเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วในปี 2557 หว่าด้วยเรื่องของการเรียกร้องสิทธิของนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ เกิดการเลือกตั้งแบบ universal suffrage การเลือกตั้งสภานิติบัญญัติและเลือกตั้งผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกงให้เป็นเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง ไม่ใช่กระบวนการบางอย่างที่จะสรรหาโดยรัฐบาลจีน

-ชนวนเหตุประท้วงในครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากกรณีร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากฮ่องกงไปจีนเพียงอย่างเดียว แต่มีปัญหาสะสมเรื้อรังตั้งแต่ของฮ่องกงคืนสู่จีน
เรื่องกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนฟังดูเหมือนจะเป็นชนวนเหตุประท้วงในฮ่องกงครั้งนี้ แต่หากมองลึกลงไปแล้วเป็นเพียงจุดเล็กๆ นะครับ เพราะว่ามีปัญหามันสะสมมาครั้งแล้วครั้งเล่า คนฮ่องกงรู้สึกว่ารัฐบาลจีนพยายามที่จะริดรอนสิทธิเสรีภาพทางการเมืองหรือการแสดงออกโดยผู้คนในสังคมฮ่องกงมาตลอด 22 ปี คือมีมาตรการเป็นซีรี่ส์ขึ้นมาเรื่อยๆ ฉะนั้น เรื่องจดหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเหมือนเป็นฟางเส้นสุดท้าย อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ปี 2557 ชาวฮ่องกงออกมาเรียกร้องการเลือกตั้งแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ สุดท้ายจีนก็ไม่ยอม ปัจจุบันผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกงมาจากการเลือกตั้งก็จริง แต่เป็นการเลือกตั้งที่มีกลไกบางอย่างที่รัฐบาลปักกิ่งกรองแคนดิเดตได้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการหายตัวไปของเจ้าของร้านขายหนังสือในฮ่องกงที่เขียนหนังสือมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์จีนแผ่นดินใหญ่

การกระทำของจีนเหล่านี้เป็นซีรี่ส์ต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนในฮ่องกงเกิดความคับข้องใจ ซึ่งการชุมนุมประท้วงครั้งนี้มีข้อสังเกตุที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง ผู้คนที่ออกมาชุมนุมไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มนักเรียนนักศึกษาคนรุ่นใหม่ อย่างในปี 2557 เหตุประท้วงจะเป็นคนรุ่นใหม่นักเรียนนักศึกษาวัยรุ่น แต่การประท้วงปี 2562 ผู้ชุมนุมประท้วงกระจายตัวมากขึ้นไม่ได้มีเฉพาะคนรุ่นใหม่เท่านั้น
เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงที่ฮ่องกง
-ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมถูกทางการจีนปฏิเสธ ยิ่งทำให้เหตุการณ์ยืดเยื้อกระตุ้นความรุนแรง
อย่างไรก็ตามทางการจีนคงไม่ประนีประนอมกับข้อเรียกร้องทั้งหลายเหล่านี้ เพราะอย่างลืมว่าจีนไม่ได้มีเฉพาะฮ่องกง จีนเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่มากมีคนหลายกลุ่มหลายชาติพันธุ์กว่า 50 ชาติพันธุ์ มีกลุ่มบริหารพิเศษอย่าง ฮ่องกง มาเก๊า ถ้าจีนยอมเคสฮ่องกงยอมถอยให้เพื่อความสงบสุขในฮ่องกง สมมติจีนยอมให้มีการเลือกตั้งสมาชิกนิติบัญญัติแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เลือกผู้บริหารสูงสุดของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เท่ากับว่า ถ้าจีนยอมปล่อยยอมยืดหยุ่นให้กับสิ่งหนึ่งที่มันจะเกิดการเรียกร้องจากที่อื่นๆ เขตปกครองที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อย่าง ทิเบต มองโกเลีย ฯลฯ จะมีปัญหาตามมาซึ่งจีนต้องคอยปราบปรามมอนิเตอร์ความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่ทางการจีนจะยืดหยุ่นต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมในฮ่องกง ท้ายที่สุดหากทางการจีนไม่ยืดหยุ่นกับข้อเรียกร้อง ขณะที่ผู้ประท้วงก็ไม่ลดราวาศอกเช่นกัน ฉะนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการนองเลือด

-มีความเป็นไปได้ที่ทางการจีนจะงัดไม้แข็งออกมาปราบปรามม็อบฮ่องกง
ผมคิดว่ารัฐบาลจีนไม่อยากใช้นโยบายแบบเดียวกับเทียนอันเหมิน (เหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน) ในการแก้ปัญหานี้ เพราะว่ามันมีปัญหากับภาพลักษณ์ของประเทศ สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำอยู่ตอนนี้ก็ทำทุกวิธีทาง เช่น ปลุกระดมคนที่ไม่เห็นด้วยกับม็อบครั้งนี้ให้ออกมาแบบม็อบชนม็อบ ที่ฝ่ายหนึ่งใส่เสื้อสีดำ อีกฝ่ายหนึ่งสีเสื้อสีขาว หรือถ้าตามข่าวจะเห็นว่าทางการจีนปล่อยคลิปเจ้าหน้าที่ซ้อมปราบจราจล ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เรียกว่าเป็นการใช้ปฏิบัติการเชิงจิตวิทยาที่จะทำให้การประท้วงครั้งนี้เบาบางลง เพราะว่าจีนคงไม่อยากจะใช้วิธีการแบบสุดท้าย Scenario ที่เรามักจะจินตนาการกัน อย่างเหตุการณ์เทียนอันเหมิน

ถามว่าทำไม่จีนไม่อยากใช้วิธีรุนแรงในการปราบปรามการชุมนุมในวลานี้ ประเด็นสำคัญคือเรื่องภาพลักษณ์ของประเทศ ต้องไม่ลืมว่าปีนี้เป็นปีครบรอบ 70 ปีในการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 1 ตุลาฯ จะมีการพาเหรดฉลองวันชาติครบรอบการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ต้องมีพาเหรดใหญ่ในกรุงปักกิ่ง มีการเชิญแขกเหรื่อผู้นำต่างชาติมา ฉะนั้น 1 - 2 เดือน นี้ หากจีนใช้กำลังปราบปรามการประท้วงในฮ่องกงรับรองได้ว่าจะเกิดการแอนตี้จีนขึ้นมาทันที
เพราะว่าตอนนี้ทางการจีนต้องส่งบัตรเชิญไปยังนานาประเทศแล้ว ถ้าหากเดือนสิงหาฯ กันยาฯ เกิดเหตุการณ์ปราบปรามครั้งใหญ่ขึ้น มีความเป็นไปได้สูงว่าผู้นำแขกต่างประเทศจะต่อต้านจีนเชิงสัญลักษณ์ด้วยการไม่มาร่วมงานดังกล่าว ซึ่งนั่นจะทำให้จีนเสียหน้าเป็นอย่างมาก หาก 70 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนแต่แขกบอกลาไม่มากันเยอะ

ต้องบอกว่า อย่าดูเบาทางการเมืองไป เพราะว่าทางการจีนเห็นความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าเสถียรภาพเป็นอย่างมาก เสถียรภาพเป็นสิ่งที่จีนเชิดชูไว้เป็นอันดับ 1 ผู้นำของจีนยังมี ความทรงจำในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ยุคที่เป็นการเมืองของมวลชนขับเคลื่อนไปด้วยอารมณ์ของผู้คน ผู้นำของจีนหลัง เหมา เจ๋อตุง เป็นต้นมามีโจทย์หรือข้อเตือนใจตัวเองอยู่ตลอดเวลาอย่าให้แผ่นดินเกิด scenario หรือการปฏิวัติวัฒนธรรม ดังนั้น ผมคิดว่าถ้าเลยต้นเดือนตุลาฯ ไปแล้ว และจีนยังไม่มีวิธีอื่น การใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรงมีความเป็นไปได้ อย่าไปคิดว่าจีนไม่กล้าทำนะครับ

-เป็นการเลี้ยงสถานการณ์ให้สุกงอมเพื่อจัดระบบระเบียบใหม่หรือไม่
จีนไม่น่าจะใช้วิธีการทำเรื่องยืดเยื้อครับ สถานการณ์ที่มันยืดเยื้อตอนนี้ 2 - 3 เดือนแล้ว การยือเยื้อไปนานๆ มันสะท้อนเหมือนกันนะว่า ผู้นำของจีน สี จิ้นผิง ไม่มีความสามารถในการแก้ปัญหาในฮ่องกงได้ ฉะนั้น ยุทธศาสตร์ของจีนไม่เลี้ยงสถานการณ์ให้สุกงอมหรอก พูดง่ายๆ สิ่งที่จีนปล่อยให้เหตุการณ์ประท้วงฮ่องกงยืดเยื้อเพราะว่าจีนไม่อยากเสียภาพลักษณ์ของตัวเองในสายตาประชาคมโลก แต่สุดท้ายแล้วหลังจากเดือนตุลาฯ ไปแล้ว ถ้าจีนยังไม่รู้จะจัดการอย่างไรหนทางสุดท้ายคือการใช้กำลัง มีความเป็นไปได้จีนจะออกกฎหมายพื้นฐานเขตบริหารเขตพิเศษฮ่องกงเสียใหม่ แล้วฮ่องกงจะถูกริดรอนอำนาจมากกว่าเดิม

-เหตุประท้วงในฮ่องกงเบื้องหลังมีการการปลุกปั่นจากต่างชาติ
เบื้องหลังมีโลกตะวันตกหรือว่าประเทศอื่นๆ เป็นกำลังจากภายนอกมาสนับสนุนการประท้วงครั้งนี้หรือไม่? ผมคิดว่าน่าจะมีครับ... แต่สิ่งสำคัญปัจจัยจากภายนอกไม่ใช่ปัจจัยสำคัญของปัญหานี้ เพราะว่าการสนับสนุนภายนอกมันจะปลุกไม่ขึ้นหรอกถ้ามันไม่เกิดปัญหาภายในฮ่องกงอยู่แล้ว นั่นแปลว่ามันเกิดปัญหาเกิดความตึงเครียดในฮ่องกง ระหว่างรัฐบาลจีนกับประชาชนที่อยู่ในฮ่องกงเป็นความขัดแย้งอยู่ก่อนแล้ว อาจจะมีพลังจากภายนอกที่เข้ามาสนับสนุนฝ่ายผู้ชุมนุมประท้วง แต่ไม่ว่าจะมีใครซับพอร์ตอยู่เบื้องหลัง ผมว่ามันมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่กับคนในฮ่องกงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

-นอกจากนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจอยู่เบื้องหลังสนับสนุนการประท้วงในฮ่องกง
ถ้าเป็นธุรกิจระดับใหญ่ๆ ไม่น่าจะอยู่เบื้องหลังหรือสนับสนุนการประท้วง เพราะว่าธุรกิจใหญ่ๆ มีผลประโยชน์ทางธุรกิจกับจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นตลาดใหญ่เรื่องการค้าการลงทุน จะเห็นว่าการประท้วงครั้งนี้มีพนักงานสายการบิน cathay pacific เข้าไปชุมนุมประท้วงด้วย ทางผู้บริหารพูดไว้เลยไม่ควรเข้าร่วมชุมนุมประท้วง เพราะกลุ่มทุนใหญ่ๆ ในฮ่องกงมีท่าทีเอื้อรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะว่าพวกเขามีผลประโยชน์ทางธุรกิจต่อกันเยอะ

ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมพวกนี้เขาสนับสนุนม็อบผู้ประท้วงในฮ่องกง เพราะว่าเป็นช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงจีนเข้ามาปกครองฮ่องกง มันมีการเข้ามาของทุนจีน มาประกอบกิจการในฮ่องกงมากยิ่งขึ้น เท่ากับเป็นการแย่งอาชีพคนเล็กคนน้อยในฮ่องกง ทำให้มีความรู้สึกว่าชีวิตของตัวเองแย่ลงมากขึ้นหลังจากคนจีนเข้ามาประกอบธุรกิจแข่งขันในฮ่องกง บางคนรู้สึกว่าจากเดิมอยู่ในอาณานิคมของอังกฤษมีชีวิตแย่อยู่แล้ว พอมาอยู่ใต้การปกครองของจีนชีวิตโดยเฉพาะคุณภาพชีวิตในทางเศรษฐกิจมันยิ่งแย่ลงไปอีก

-ทัศนะของชาวฮ่องกงต่อจีนแผ่นดินใหญ่
ทัศนคติของคนฮ่องกงมองยุคอาณานิคมอังกฤษเป็นยุคที่ค่อนข้างจะดีในเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ปีท้ายๆ ในการปกครองของอังกฤษ มีเล่นเกมการเมืองกับจีนนแผ่นดินใหญ่ ประมาณ 5 ปีสุดท้ายของการบริหารของอังกฤษเหนือเกาะฮ่องกง อังกฤษได้เริ่มปูพื้นฐานประชาธิปไตยเริ่มอนุญาติให้มีการเลือกตั้งขึ้นมา ฉะนั้น ประชาชนรู้สึกว่ายังหวนรำลึกยุคอาณานิคมทางบวกอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนฮ่องกงต้องการกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ

การที่เรามองเห็นผู้ประท้วงเอาธงชาติจีนไปทิ้งน้ำ ทำลายสัญลักษณ์จีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งการทำลายเหล่านั้นเป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ไม่ได้หมายความขั้นถึงว่าฮ่องกงจะเป็นเอกราชหรือฮ่องกงจะกลับไปเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เป็นแค่การแสดงออกเชิงอารมณ์ว่าฮ่องกงไม่พอใจกฎกติกาที่จีนแผ่นดินใหญ่วางเอาไว้

สำหรับคนฮ่องกงรุ่นใหม่ที่แบล็คกราวด์ไม่ใช่ลูกคนรวยที่ทำธุรกิจกับจีน เป็นคนทั่วไปอย่างกลุ่มชนชั้นกลาง หรือชนชั้นกลางกึ่งๆ ล่างหน่อย จะมีทัศนคติไม่ดีนักกับจีนเพราะรู้สึกว่าตลอดระยะเวลาที่อยู่ภายใต้การปกครองของจีนมา 20 กว่าปี นอกจากจะริดรอนเสรีภาพทางการเมือง ความเคลื่อนไหวทางสังคมแล้ว กลุ่มทุนจีน นักท่องเที่ยวจีน ที่เข้ามาในฮ่องกง เข้ามาสร้างปัญหาแย่งงานแย่งความเจริญทางเศรษฐกิจของฮ่องกงเข้าไปด้วย

-สำหรับ “ฮ่องกงโมเดล” มีความเป็นไปได้จะเกิดขึ้นในเมืองไทยหรือไม่
เป็นไปได้ครับ คนรุ่นใหม่ของเรามีประเทศไทยในเวอร์ชั่นอุดมคติที่ต่างไป ต้องบอกว่าปัจจุบันสังคมไทยมีความห่างเจเนอเรชั่นและโลกทัศน์อยู่มาก ยกตัวอย่าง กรณีพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบแต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเขาได้ที่นั่งในสภาฯ จำนวนมาก ถือเป็นเรื่องที่ผิดคาดที่คนรุ่นใหม่มาลงเล่นการเมืองครั้งแรกและได้ที่นั่งพรรคขนาดนี้ ดังนั้น กรณีการเลือกตั้งของไทยที่ผ่านมา ความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่ที่ได้ที่นั่งขนาดนั้น มันสะท้อนว่าคนในเมืองไทยมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีโลกทัศน์หรือเห็นประเทศไทยเป็นไปในอีกเวอร์ชั่น ซึ่งมันจะไม่เหมือนเวอร์ชั่นรุ่นอายุ 30 - 40 อัพ คนรุ่นใหม่อายุ 18 - 20 ปีต้นๆ เพิ่งเคยเลือกตั้งครั้งแรก คนกลุ่มนี้มีประเทศไทยในเวอร์ชั่นอุดมคติที่ต่างออกไป

ถามว่าคนไทยเรียนรู้เหตุประท้วงฮ่องกงในเรื่องใดบ้างนั้น ควรติดตามในแง่ที่ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการประท้วงลักษณะเดียวกันในประเทศไทย เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มันมีความขัดแย้งทางการเมือง มีคนที่มีโลกทัศน์ที่ต่างกันปะทะกันมาแล้ว ฉะนั้น บทเรียนจากฮ่องกงสะท้อนสังคมไทยว่า ไม่ว่าทุกๆ ฝ่ายทางการเมืองจะมีทัศนคติเป้าหมายอะไรสุ ดท้ายแล้วทุกฝ่ายต้องมีความยืดหยุ่นและประนีประนอมผลประโยชน์เพื่อสังคมดำเนินต่อไปได้ แม้ไม่เพอร์เฟกต์แต่เป็นโซลูชั่นที่ทำให้ประเทศพอที่จะเดินหน้าไปได้ ถ้าทุกฝ่ายึดมั่นในผลประโยชน์ตัวเองอย่างยิ่งยวดไม่ยอมลดราวาศอกให้แก่กันและกัน อนาคตประเทศไทยน่าเป็นห่วงครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น