ผู้จัดการสุดสุปดาห์ - ปิดสังเวียนซีซันแรก ปลุกกระแสสปอร์ตเทนเมนต์ (Sport Entertainment) สร้างปรากฏการณ์ในวงการกีฬาไทยได้อย่างน่าสนใจ สำหรับรายการมวยมิติใหม่ผสมผสานกีฬากับความบันเทิง อย่าง 10 Fight 10 ศึกมวยสากลสมัครเล่นที่นำเอาดาราเซเลบ หนุ่มๆ มาดวลหมัดตัวต่อตัวบนเวทีมวย
โดยไอเดียสปอร์ตเทนเมนต์ของนักมวยดารา 10 คู่ มีที่มาจากอีเวนต์ประเภท celebrity boxing ของสหรัฐฯ ที่นำเอาคนดังมาชกกันที่จัดขึ้นมานานเป็นสิบปีแล้ว โดยเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ เปิดประตูสู่สปอร์ตเทนเมนต์ เริ่มต้นด้วยกีฬามวยที่ไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี สร้างแรงดึงดูดนำเอาดาราเซเลบชาย 20 คน มาจับคู่แลกหมัดกันบนสังเวียนผ้าใบ รูปแบบมวยสากลสมัครเล่น ต่อยตามกติกาสากลทั้งหมด 3 ยก
รายการมวยดารา 10 Fight 10 ซีซันแรกที่จบไปนั้น นับเป็นเกมกีฬาและความบันเทิงมาสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ได้อย่างน่าสนใจ หรืออย่างน้อยๆ ก็ทำให้ผู้หญิงที่ไม่เคยดูมวย หันมาดูมวยเพราะแรงดึงดูดจากดาราหนุ่มที่มาสวมมาดนักมวย
“...สิ่งที่คิดมา ทำมา รูปแบบรายการต่างๆ ก่อนที่ไฟต์จะเริ่มทั้งหมดมันคือเครื่องเคียง แต่สุดท้ายก็อยู่ที่เมนคอร์ส เพราะคนก็รอจานหลัก แต่นั่นหมายความว่าเครื่องเคียงต้องอร่อยด้วยมันถึงจะชิมไปได้เรื่อยๆ จนถึงจานหลัก เพราะคนรู้อยู่แล้วว่าจานหลักอร่อยแน่ ได้ชิมตั้งแต่ไฟต์แรกก็รู้แล้วว่าอร่อย เพราะฉะนั้น เครื่องเคียงต่อจากนี้ไม่ว่าจะทำอะไรไปคนดูก็น่าจะชอบ แต่ด้วยพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เท่ากับว่าเครื่องเคียงของรายการต้องเปลี่ยนแปลงตลอด น่าจะเป็นแบบนั้น...” ชยันต์ จันทวงศาทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการผลิตเวิร์คพอยท์ฯ ให้สัมภาษณ์ผ่าน THE STANDARD ในตอนหนึ่งว่า มวยคือกีฬาที่เหมาะสมสำหรับสปอร์ตเทนเม้นท์
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เพียงแค่มวยเท่านั้น เพราะหากพิจารณาภาพรวมมูลค่าตลาดกีฬาในปัจจุบันกีฬาประเภทต่างๆ ก็จะพบว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 120,000 ล้านบาท เนื่องจากได้รับความสนใจจากผู้รักสุขภาพและบุคคลทั่วไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ธุรกิจกีฬาเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งในแต่ละปีมียอดเติบโตอย่างน้อย 5 เปอร์เซ็นต์
สถิติเมืองไทยมีผู้เล่นกีฬาเพื่อการออกกำลังกายมากถึง 16 ล้านคน กระแสการออกกำลังกายยังคงมาแรงได้รับความสนใจในวงกว้าง ผู้คนรักสุขภาพกันมากขึ้นเริ่มหันมาออกกำลังกาย เล่นกีฬา ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าในปี 2562 คนไทยจะหันมาออกกำลังกายมากขึ้นถึง 25 ล้านคน
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ธุรกิจกีฬาเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกีฬาตลอดทั้งซัปพลายเชนกว่า 10,000 ราย ไม่ว่าจะเป็น Sport Wear Accessories Sport Equipment เครือข่ายสนับสนุนกีฬา เครือข่ายสื่อและผู้จัดการแข่งขันกีฬา มีโอกาสที่จะเติบโตทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศมากขึ้น
กระแสสุขภาพดันธุรกิจกีฬาโตต่อเนื่อง กรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่ามีการขึ้นทะเบียนใหม่ๆ กว่า 200 แห่ง ประกอบกิจการเกี่ยวกับสุขภาพอย่าง ฟิตเนส โยคะ ยิมมวยไทย สนามฟุตบอล สนามฟุตซอล ฯลฯ
สถานการณ์ดังกล่าวสอดรับหับ “นโยบายสปอร์ตซิตี้” หรือการสร้าง “เมืองกีฬา” ตามแผนขับเคลื่อนพัฒนากีฬาแห่งชาติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่มีเป้าหมายกระตุ้นอุตสาหกรรมการกีฬาแบบครบวงจร โดยสนับสนุนการดำเนินการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกีฬา เช่น การผลิต บริการ นำเข้าส่งออก การจัดการแข่งขัน การพัฒนาและสนับสนุนนักกีฬา เป็นต้น
โดยเฉพาะการออกกำลังด้วยการต่อยมวยได้รับความนิยมมากเรื่อยๆ ยกตัวอย่าง ยิมมวย “เจริญทอง มวยไทยยิม” ของ “เจริญทอง เกียรติบ้านช่อง” หรือ “ครูเป็ด - เจริญ ชูมณี” นักมวยผู้กึกก้องในวงการมวยอาชีพ พลิกค่ายมวยสู่การเปิดยิมมวย สำหรับการออกกำลังกายเป็นเจ้าแรกๆ เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ซึ่งมีผู้สนใจเรียนมวยจากหลากหลายสาขาอาชีพ พร้อมๆ กับริเริ่มขายแฟรนไชส์ยิมมวยสำเร็จรูป ชูจุดขายครูมวยที่ผ่านการอบรมและฝึกฝนมาอย่างดี
ทั้งนี้ จะเห็นว่าในปัจจุบัน “ยิมมวย” ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วประเทศ ตัวเลขค่ายมวยอย่างไม่เป็นทางการประเมินว่าไม่ต่ำกว่าสองพันแห่ง ซึ่งเป็นการยืนยันว่ากระแสการออกกำลังกายด้วยการต่อยมวยนิยมเพียงใด เพราะมวยไทยเป็นกีฬาที่สนุก สร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง เผาผลาญไขมันได้อย่างดีเยี่ยม ส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีเป็นการผ่อนคลายความเครียดอีกด้วย
ต้องบอกว่ามวยไทยไม่เคยตกเทรนด์ คลาสมวยไทยในฟิตเนสยังคงได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ พิชญ์ เหล่าศรีศักดากุล ผู้บริหาร FITFAC MUAY THAI วิเคราะห์ตลาดยิมมวยไทยเอาไว้ความว่า ภาพรวมของธุรกิจนี้มีลักษณะการเทิร์นโอเวอร์ค่อนข้างสูง คนที่จะอยู่ได้นานจำเป็นต้องมีต้นทุนที่มากพอในระยะยาว และต้องมีจุดแข็งและแบรนด์ที่ทำให้คนจดจำได้
ความนิยมออกกำลังโดยการต่อยมวยยังส่งผลดีต่อธุรกิจมวยไทย ซึ่งมีสินค้าที่เกี่ยวข้องมากมาย เช่น อุปกรณ์ต่างๆ นวมต่อยมวย กางเกงมวย น้ำมันมวย เวทีมวย กระสอบทราย ผ้าพันมือ ฯลฯ อีกทั้งตัวเลขการเติบโตด้านเศรษฐกิจกับการท่องเที่ยวเชิงกีฬาและการส่งออกอุปกรณ์มวยไทยไปต่างประเทศมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงเท่านั้น “มวยไทย” ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวอันภาคภูมิใจของคนไทย เป็นศิลปะการป้องกันตัวที่เป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เข้ามาในเมืองไทย ซึ่งธุรกิจมวยขับเคลื่อนเศรษฐกิจมูลค่านับแสนล้าน
ตลาดมวยไทยในต่างประเทศเป็นที่นิยม สถิติเผยว่าในยุโรปมีการสอนมวยไทยในสถานกีฬาจำนวนมากกว่า 3,869 แห่ง ใน 36 ประเทศ ประเทศเยอรมนี มีจำนวนผู้นิยมมวยไทยเพิ่มขึ้นทุกปี มีค่ายมวยไทยและสถานฝึกสอนสอนมวยไทย มากกว่า 125 แห่ง ทว่า สถานการณ์ของมวยไทยในยุโรปนั้นขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ และสถานการณ์การเมืองของแต่ละประเทศในยุโรปด้วย