xs
xsm
sm
md
lg

อุดมการณ์การเมือง (๖) : อนุรักษนิยมและขวาใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

อนุรักษนิยมเป็นคำที่เริ่มใช้ในช่วงต้นศตวรรษที่ ๑๙ เพื่อแสดงถึงอุดมการณ์ทางการเมือง โดยในสหรัฐอเมริกาใช้คำนี้เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านหลักการและจิตวิญญาณของการปฏิวัติฝรั่งเศสปี ๑๗๘๙ ขณะที่ในอังกฤษ อนุรักษ์นิยมถูกนำมาใช้เป็นชื่อพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการในปี ๑๘๓๕

ในฐานะอุดมการณ์ทางการเมือง อนุรักษ์นิยมมีนัยถึงความปรารถนาในการรักษาสถานะเดิมหรือประเพณีดั้งเดิม และมีแนวโน้มต่อต้านการเปลี่ยนแปลง กระนั้นอนุรักษ์นิยมมิได้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอย่างหัวชนฝา หากแต่ยอมรับในบางระดับ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงเชิงการปรับตัวเพื่อรักษาสถาบันดั้งเดิมเอาไว้ สำหรับความเชื่อรากฐานเกี่ยวกับมนุษย์และสังคมของอนุรักษ์นิยมคือ เชื่อว่ามนุษย์มีความไม่สมบูรณ์ และสนับสนุนการดำรงอยู่ของโครงสร้างสังคมแบบอินทรียภาพ ทั้งยังยึดถือให้ความสำคัญเรื่องลำดับชั้นของอำนาจ และทรัพย์สิน

การปกป้องวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมเป็นฐานความเชื่อที่สำคัญของอนุรักษ์นิยม เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นการสั่งสมภูมิปัญญาจากอดีต ซึ่งผ่านการทดสอบจากกาลเวลาอย่างยาวนานแล้วว่ามีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในสังคม ทั้งยังให้บุคคลและสังคมมีสำนึกของอัตลักษณ์ มีความรู้สึกว่ามีรากเหง้า และสร้างความสมานฉันท์ทางสังคม ขณะที่การเปลี่ยนแปลงเป็นการเดินทางไปสู่สิ่งที่ไม่อาจหยั่งรู้ ซึ่งสร้างความไม่แน่นอน ความไม่มั่นคง และอันอาจนำไปสู่ความไร้ระเบียบของสังคมได้

ในเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับมนุษย์และสังคม อนุรักษนิยมเชื่อว่ามนุษย์มีความไม่สมบูรณ์อยู่ในตัวเอง มีความจำกัดทางจิตวิทยาโดยเฉพาะความกลัวต่อความโดดเดี่ยวและความไม่มั่นคง มนุษย์ต้องการความปลอดภัยและชอบในสิ่งที่คุ้นเคย และแสวงหาความมั่นคงโดยการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ยิ่งกว่านั้นมนุษย์ยังมีข้อบกพร่องทางศีลธรรม มีความเห็นแก่ตัว มีความโลภเป็นพื้นฐาน และต้องการอำนาจ ในความคิดของชาวอนุรักษนิยม อาชญากรรมมิใช่เป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมดังที่ชาวสังคมนิยมและเสรีนิยมใหม่กล่าวไว้ หากแต่เป็นผลมาจากสัญชาตญาณและความโลภของมนุษย์

อนุรักษนิยมยังมองว่าโลกมีความซับซ้อนเกินกว่าจะเข้าใจทั้งหมดได้ด้วยเหตุผลของมนุษย์ ดังนั้นอนุรักษนิยมจึงตั้งข้อสงสัยต่อความคิดเชิงนามธรรม พวกเขาชอบแบบแผนปฏิบัติที่มาจากจารีตประเพณี ประสบการณ์ และประวัติศาสตร์ หากจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนก็ทำอย่างระมัดระวัง ใช้แนวทางสายกลาง และเหนือสิ่งใดคือการใช้แนวทาง “ปฏิบัตินิยม” (pragmatism) และหลีกเลี่ยงการยึดติดหลักการหรือตำราให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ชาวอนุรักษนิยมมักย้ำว่า หลักการนามธรรมทางการเมืองอย่าง สิทธิของมนุษย์ ความเท่าเทียม และความยุติธรรมทางสังคม เป็นสิ่งที่แฝงด้วยอันตราย เพราะเป็นตัวแบบสำหรับการปฏิรูปหรือปฏิวัติ ซึ่งมักจะนำไปสู่ความทุกข์ทรมานแก่มนุษย์มากกว่าความสุขสันติ ดังนั้นสำหรับชาวอนุรักษนิยม การอยู่เฉยไม่ทำสิ่งใดเลย ดีกว่าการทำบางสิ่งที่อาจนำอันตรายมาสู่มนุษย์และสังคม

อนุรักษนิยมให้ความสำคัญกับหน้าที่ของบุคคล เชื่อว่าเสรีภาพคือการทำตามหน้าที่ และเชื่อว่าหากสังคมใดที่บุคคลรู้จักแต่สิทธิและเรียกร้องสิทธิของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงหน้าที่จะทำให้รากเหง้าของสังคมถูกบั่นทอนและนำไปสู่ความไร้ระเบียบได้ อนุรักษนิยมมองสังคมเหมือนกับเป็นสิ่งมีชีวิต (organism) หรือมองสังคมเป็นองค์รวมที่มีคุณลักษณะเฉพาะ ซึ่งเกิดจากแต่ละส่วนทำงานสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน มากกว่าการรวมกันของส่วนย่อยที่แยกส่วน การมองว่าสังคมเป็นสิ่งมีชีวิตนี้นำไปสู่ความคิดที่ว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมต้องเป็นไปอย่างธรรมชาติเชิงวิวัฒนาการ มากกว่าการวางแผนประดิษฐ์สร้างโดยมนุษย์ เช่น ครอบครัวมิได้เป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์โดยนักคิดหรือนักทฤษฎีการเมือง หากแต่เกิดขึ้นเองโดยแรงกระตุ้นทางสังคมอย่างเป็นธรรมชาติ ของมนุษย์ อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ กลุ่ม “ขวาใหม่” มีจุดยืนที่แตกต่างจากออกไปจากอนุรักษนิยมดั้งเดิม พวกขวาใหม่เชื่อว่า “ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสังคม มีแต่ปัจเจกบุคคลและครอบครัวของพวกเขาเท่านั้น”

อนุรักษนิยมยังเชื่อว่าโดยธรรมชาติแล้วสังคมมีลำดับชั้น ดังนั้นความเท่าเทียมทางสังคมจึงเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้นมาเพราะฝืนธรรมชาติ อำนาจ สถานภาพ และทรัพย์สินล้วนแล้วแต่มีการกระจายอย่างไม่เท่าเทียมทั้งสิ้น บางคนเกิดมาโดยมีความฉลาดและความเป็นผู้นำอยู่ในตัว อำนาจมีการวิวัฒนาการอย่างเป็นธรรมชาติ เริ่มจากครอบครัวที่เด็กต้องได้รับการปกป้องดูแลให้ปลอดจากภยันตราย มีสุขภาพที่ดี และมีวินัย อำนาจต้องมาจากเบื้องบนหรือจากบิดาเพราะเด็กไม่รู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดีต่อตนเอง

อำนาจเบื้องบนจึงเป็นรากฐานของสังคมและสถาบันทางสังคมทั้งปวง ในโรงเรียน ครูต้องมีอำนาจ ในโรงงานนายจ้างต้องมีอำนาจ และในสังคมรัฐบาลต้องมีอำนาจในการสั่งสอนประชาชน การเน้นรักษาสังคมที่เชื่อฟังผู้นำ เคารพอำนาจ และมีวินัยจึงเป็นแก่นหลักของอนุรักษนิยม และอุดมการณ์การเมืองแบบนี้จึงเรียกว่า “อนุรักษนิยมเชิงอำนาจนิยม” (authoritarian conservatism)

อนุรักษนิยมเชิงอำนาจนิยม เป็นความเชื่อในการรวมศูนย์อำนาจของรัฐบาล หรือเป็นการใช้อำนาจจากเบื้องบนต่อประชาชน ไม่ว่าประชาชนจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม อำนาจนิยม (authoritarian) แตกต่างจาก “อำนาจหน้าที่” (authority) เพราะอำนาจหน้าที่มีฐานของความชอบธรรมที่ได้รับการยินยอมจากประชาชนเบื้องล่าง ส่วนอำนาจนิยมมีพื้นฐานความคิดจาก “ความเชื่อภูมิปัญญาของผู้นำ” หรือ แนวคิดที่ว่า “ระเบียบสังคมสามารถรักษาได้ด้วยการเชื่อฟังโดยปราศจากการตั้งคำถามใด ๆ ต่อผู้มีอำนาจ” ตัวอย่างเช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบเผด็จการทหาร ระบอบอำนาจนิยมประชานิยม

ระบอบอนุรักษนิยมเชิงอำนาจนิยมมีแนวโน้มปราบปรามฝ่ายค้านและปิดกั้นเสรีภาพทางการเมือง อย่างไรก็ตามรัฐบาลอำนาจนิยม แตกต่างจากรัฐบาลเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยม (totalitarianism) ซึ่งใช้อำนาจเบ็ดเสร็จควบคุมประชาชนในทุกมิติของชีวิต ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งพบได้ใน ระบอบฟาสซิสต์และคอมมิวนิสต์

ในโลกของประเทศตะวันตกช่วงทศวรรษ 1950 ความคิดแบบปฏิบัตินิยมและความคิดแบบบิดาเป็นใหญ่ หรือ “คุณพ่อรู้ดี” เป็นกระแสความเชื่อหลักของอุดมการณ์อนุรักษนิยม จากนั้นในช่วงทศวรรษ 1970 แนวคิดแบบ “ขวาใหม่” ซึ่งแตกหน่อจากอนุรักษนิยมดั้งเดิมก็อุบัติขึ้นมาเพื่อท้าทายนโยบายเศรษฐกิจสวัสดิการแบบเคนส์ (Keynesian) แนวคิดขวาใหม่เป็นผลผลิตของการนำหลักการของอุดมการณ์การเมืองดั้งเดิมที่ขัดแย้งกันมาผสมผสานกัน อย่างแรกคือ การรื้อฟื้นอุดมการณ์เศรษฐกิจเสรีนิยมดั้งเดิม ที่เน้นตลาดเสรีและการวิพากษ์บทบาทของรัฐต่อการแทรกแซงระบบเศรษฐกิจและสังคม แต่เรียกชื่อใหม่เป็น “เสรีนิยมใหม่” (neoliberalism) กับองค์ประกอบที่สองอันได้แก่ อนุรักษนิยมแบบดั้งเดิม ซึ่งเน้นการรื้อฟื้นและปกป้องระเบียบสังคม การหวนคืนไปยึดถือค่านิยมที่เน้นครอบครัวและประเพณีเดิม การสร้างวินัย การสนับสนุนอำนาจหน้าที่ที่เข้มแข็งของรัฐบาล และการรื้อฟื้นลัทธิชาตินิยม อุดมการณ์นี้ได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่า “อนุรักษนิยมใหม่” (neoconservatism)

พวกขวาใหม่จึงมีนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นตลาดเสรี ลดบทบาทของรัฐในการเข้าไปแทรกแซงระบบเศรษฐกิจ มีนโยบายสังคมที่เน้นการจัดระเบียบสังคม รื้อฟื้นประเพณี และส่งเสริมวินัย และมีนโยบายการเมืองที่เน้นความเข้มแข็งของรัฐบาลและกองทัพ ส่งเสริมลัทธิชาตินิยม และต่อต้านผู้อพยพ

อนุรักษนิยมในยุคโลกาภิวัตน์ ในรูปแบบของอุดมการณ์ขวาใหม่มีอิทธิพลต่อการเมืองและเศรษฐกิจระดับโลกอย่างมาก นับตั้งแต่มี ฉันทามติวอชิงตัน (Washington consensus) ช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นหลักการที่สนับสนุนวินัยทางการคลัง การแปรรูปกิจการรัฐให้เอกชน และการเปิดเสรีทางการเงินและการค้าระดับโลก อิทธิพลนี้ดำรงอยู่จวบจนสิ้นศตวรรษ ๒๐ และเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ ๒๑ กระแสของอนุรักษนิยมแบบขวาใหม่ก็ทวีความเข้มข้นและขยายตัวมากขึ้น และกลายเป็นกระแสอุดมการณ์ที่มีทิศทางต่อต้านโลกาภิวัฒน์ มีการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองกลุ่มขวาจัดในหลายประเทศแถบยุโรป ที่ยึดถืออุดมการณ์อนุรักษนิยมแบบชาตินิยม และมีนโยบายต่อต้านผู้อพยพอย่างรุนแรง และแม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันก็ตกอยู่ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีที่มีอุดมการณ์อนุรักษนิยมแบบชาตินิยมอย่างนายโดนัลด์ ทรัมป์

สำหรับประเทศไทยอุดมการณ์อนุรักษนิยมแบบอำนาจนิยมและปฏิบัตินิยมเป็นอุดมการณ์หลักที่ครอบงำสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาก็มีการเพิ่มเติมส่วนผสมแบบประชานิยมเข้าไปด้วย แนวนโยบายที่ปฏิบัติจริงของรัฐบาลไทยแทบทุกยุคมีความคล้ายคลึงกัน โดยเน้นเรื่อง การปกปักรักษาประเพณี สถาบัน และค่านิยมดั้งเดิม ความมั่นคงและเสถียรภาพของรัฐ การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง การเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการใช้นโยบายประชานิยมเพื่อสร้างการสนับสนุนจากมวลชน

ถึงกระนั้น แม้ว่าอุดมการณ์อนุรักษนิยมครอบงำและกำหนดทิศทางการเมืองการปกครองของประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ แต่การท้าทายจากอุดมการณ์อื่น ๆ ก็เกิดขึ้นเป็นระยะ อุดมการณ์ที่เคยท้าทายและสั่นคลอนอนุรักษนิยมไทยได้รุนแรงมากที่สุด ก็เห็นจะได้แก่ อุดมการณ์สังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีบทบาทและอิทธิพลอยู่ในสนามการเมืองไทยประมาณสามทศวรรษตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ ถึง ๒๕๓๐


กำลังโหลดความคิดเห็น