xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ป.ป.ช.ฟัน“ลุงกำนัน”คดีโรงพัก “วิรัช” อ่วมโกงสนามฟุตซอล ยึดทรัพย์ “พนม” อมเงินทอนวัด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สุเทพ เทือกสุบรรณ | วิรัช รัตนเศรษฐ | พนม ศรศิลป์
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คงถึงเวลาเอาจริงแล้วกระมัง สังคมจึงได้เห็นการทำงานที่ผิดคาดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ไล่เชคบิลคดีค้างท่อมานมนาน แถมฟันเอาผู้มีอำนาจในซีกของรัฐบาลปริ่มน้ำอีกต่างหาก ไม่ว่าจะเป็น “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตนั่งร้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เจอแจ็คพอตคดีโรงพักฉาวและแฟลตตำรวจเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลอภิสิทธิ์ ส่วนนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ หนีกรรมเก่าจากคดีทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอลไม่พ้น ส่วนคดีเงินทอนวัด นายพนม-นางนิศา ศรศิลป์ เจอไล่ยึดทรัพย์ 216 ล้าน

เรียกได้ว่า 6 สิงหาคม 2562 เป็นวันวินาศสำหรับผู้ถูกกล่าวหาใน 3 คดีดังที่ค้างคาอยู่ในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช.มานมนาน โดยวันดังกล่าว นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงผลไต่สวนและชี้มูลความผิดไล่กวดทั้งปลาใหญ่ ปลาเล็ก เข้าปิ้ง เอาคดีแรกที่สังคมจับตาและรอคอยมาแสนนาน คือ คดีทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้รับความเสียหาย เป็นเงิน จำนวน 1,728 ล้านบาท นั้น

คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดนายสุเทพ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วนการกระทำของ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)

ส่วนคณะกรรมการประกวดราคานั้น พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ และ พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์ มีความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยของรัฐ พ.ศ. 2552 และผิดกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ มาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรงตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 ส่วน พ.ต.อ.จิรวุฒิ จันทร์เพ็ญ, พ.ต.อ.สุทธี โสตถิทัต, พ.ต.อ.พิชัย พิมลสินธุ์, พ.ต.อ.ณัฐเดช พงศ์วรินทร์ และ พ.ต.อ.ณัฐชัย บุญทวี มีมูลความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง

นอกจากนั้น กลุ่มเอกชน คือ บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด โดยนายวิษณุ วิเศษสิงห์ กรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท และนายวิษณุ ในฐานะส่วนตัว มีมูลความผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา10 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 , มาตรา 151 และมาตรา 157

สำหรับผู้ถูกกล่าวหาอื่นได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ดามาพงศ์ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว พล.ต.ท.ธีรยุทธ กิติวัฒน์ และ พล.ต.ท. สุพร พันธุ์เสือ ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

คดีดังกล่าวนี้ มีการกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวก ว่าอนุมัติให้ สตช.เปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง จากเดิมจัดจ้างแบบรวมการที่ส่วนกลางโดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1 - 9) จำนวนหลายสัญญา เป็นรวมการจัดจ้างก่อสร้างที่ส่วนกลางในครั้งเดียวและเป็นสัญญาเดียวโดยไม่เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างเสียก่อน โดยรู้อยู่แล้วว่าแนวทางที่อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงดังกล่าวการก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จ

ส่วนเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี กับพวกทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) จำนวน 163 หลัง เป็นเหตุให้ สตช.ได้รับความเสียหายเป็นเงิน จำนวน 3,994 ล้านบาท คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ ชี้มูลความผิดนายสุเทพ ซึ่งถือเป็นกรรมเดียวกับกรณีสร้างโรงพัก ที่มีมูลความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 157

นอกจากนั้น ยังปรากฏมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับเงินจากผู้รับจ้าง เป็นเงินจำนวน 91,678,000 บาท โดยคณะกรรมการประกวดราคา มีมูลความผิดทางอาญาและความผิดทางวินัยร้ายแรง ส่วนนายตำรวจที่เรียกรับเงินในคดีนี้มีมูลความผิดทางอาญาและความผิดทางวินัยร้ายแรง ส่วนบริษัท พีซีซีฯ โดยนายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล กรรมการผู้จัดการ ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ และนายพิบูลย์ ในฐานะส่วนตัว มีมูลความผิดตามพ.ร.บ.เสนอราคาต่อรัฐฯ และความผิดทางอาญาฐานสนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าหน้ารัฐ

ทั้งนี้ มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญา และส่งเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจาณาโทษทางวินัยต่อไป

“วิรัช” ไม่รอดคดีทุจริตสนามฟุตซอล

คณะกรรมการป.ป.ช. ยังมีมติเอกฉันท์ ชี้มูลกรณีทุจริตในการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบประมาณปี พ.ศ.2555 (งบแปรญัตติ) ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างงานปรับปรุงสนามกีฬาพร้อมอุปกรณ์ (สนามฟุตซอล) อีกด้วย โดยชี้มูลผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 24 ราย 3 กลุ่ม ดังนี้

1.กลุ่มผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ประสานงาน รวม 6 ราย ประกอบด้วย 1.นายวิรัช รัตนเศรษฐ 2.นางทัศนียา รัตนเศรษฐ 3.นายสัมฤทธิ์ ปลั่งกลาง 4.นางสาวกุลธิดา วีรตานนท์ 5.นายประภัสร์ ลิมานันท์ และ 6.นางทัศนาพร เกษเมธีการุ

2.กลุ่มข้าราชการ จำนวน 9 ราย ประกอบด้วย 1.นายชินภัทร ภูมิรัตน อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2.นายรังสรรค์ มณีเล็ก อดีตผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สพฐ. 3.นายประยงค์ ตั้งเจริญ อดีตผู้อำนวยการส่วนการงบประมาณ สำนักนโยบายและแผนงบประมาณ สำนักงบประมาณ 4.นายนิเวศน์ อุดมรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 5.นายวิโรจน์ เลิศพงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านพระพุทธ 6.นายอนันต์ สุวรรณะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตูมราษฎร์บูรณะ 7.นายทองอินทร์ ไปเจอะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองพลอง 8.นางสาวพูนพิสมัย เปี่ยมสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหัวทำนบ 9.และนางสาวอ้อย สงึมรัมย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหนองนา

3.กลุ่มเอกชน จำนวน 9 ราย คือ นางสาวเบญจพันธ์ บุญบงการ 2.บริษัท สปอร์ต แอนด์ เกม จำกัด 3.นายยี พณิชยา 4.นายมานัส ชาวนา 5.ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็มเอไอ เอ็นเตอร์ไพร์ส 6.บริษัท วอเตอร์ ฮีล แลนด์ จำกัด 7.นางสาวฐิติรัตน์ ทันหาบุรุษ 8.นางสาวรัตนา มงคลสกุล 9.นายวิธิวัสส์ ภูชัสส์วุฒิกุล

นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงสรุปว่า ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการระดับสูง และกลุ่มเอกชน มีพฤติการณ์ร่วมกันทุจริตเชิงนโยบาย และเป็นตัวการร่วมกันในลักษณะการแบ่งหน้าที่กันทำ ตามบทบาทตามหน้าที่และอำนาจที่แต่ละคนมี และเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการกระทำความผิด โดยทุจริตตั้งแต่ขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบประมาณปี พ.ศ.2555 (งบแปรญัตติ) ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดอื่น รวมจำนวน 18 จังหวัด วงเงินประมาณ 4,459,420,000 บาท ใน 2 โครงการหลักหนึ่งในนั้นคือโครงการก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอล

“พนม” อมเงินทอนวัด เจอไล่ยึดทรัพย์
คดีสุดท้ายที่นายวรวิทย์ แถลงคือ กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า นายพนม ศรศิลป์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์ที่จัดสรรให้วัดพนัญเชิงวรวิหาร ประจำปีงบประมาณ 2557 และประจำปีงบประมาณ 2558 และจากการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายพนม ศรศิลป์ ที่ได้ยื่นไว้ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง ผอ.พศ. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 พบว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2561 นายพนม และนางนิสา ศรศิลป์ คู่สมรส มีการนำฝากเงินและซื้อหุ้นในสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุบลราชธานี จำกัด รวมทั้งมีการซื้อที่ดิน โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง และยานพาหนะเป็นจำนวนมาก

คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า นายพนม มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยมี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน สรุปผลปรากฏว่าพบเงินฝากและทรัพย์สินต่างๆ ของนายพนม และบุคคลใกล้ชิด ประกอบด้วย นางนิสา ศรศิลป์ (คู่สมรส) นางจรินรัตน์ แซ่ตั้ง และนางสมพิศ สุทธิบุญ (ภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส) รวมทั้งบุตรและ ญาติพี่น้อง ซึ่งบุคคลดังกล่าวไม่สามารถพิสูจน์ที่มาของทรัพย์สินดังกล่าวได้ รวมมูลค่าทรัพย์สินทั้งสิ้นจำนวน 216,062,819.54 บาท(คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินไว้เป็นการชั่วคราว จำนวน 44,108,113.29 บาท)

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วมีมติให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพื่อขอให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ต่อไป

พิสูจน์ผลงานให้เห็นว่าคณะกรรมการป.ป.ช.ปีพ.ศ.นี้ไม่ได้มีสองมาตรฐาน ฟันไม่เลี้ยงไม่ว่าขั้วไหนก็ตาม ใช่หรือไม่?


กำลังโหลดความคิดเห็น