xs
xsm
sm
md
lg

อุดมการณ์การเมือง (๕) : ชาวเสรีนิยมดั้งเดิมกับสมัยใหม่ และเสรีนิยมในการเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

เสรีนิยมเป็นอุดมการณ์ที่มีพัฒนาการอย่างยาวนานในการเมืองสมัยใหม่ ในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ เสรีนิยมเป็นผลผลิตจากการล่มสลายของระบอบศักดินาในยุโรป และเติบโตในสังคมทุนนิยม ทว่า เมื่อเข้าสู่สนามการแข่งขันทางอุดมการณ์ เสรีนิยมดั้งเดิม (classical liberalism) เผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์และถูกท้าทายอย่างหนักหน่วงจากอุดมการณ์คู่แข่ง และมีการปรับตัวหลายแง่มุมที่แตกต่างจากเดิม กลายมาเป็น เสรีนิยมสมัยใหม่ (modern liberalism) ในปัจจุบัน

แก่นของเสรีนิยมคือการให้ความสำคัญต่อปัจเจกบุคคล โดยผนึกชุดของค่านิยมสำคัญ ๕ ประการเข้าด้วยกันนั่นคือ ปัจเจกชนนิยม เสรีภาพ เหตุผล ความยุติธรรม และความอดกลั้น

ปัจเจกชนนิยม เป็นความเชื่อที่ว่า ปัจเจกบุคคลมีความสำคัญกว่ากลุ่มทางสังคมหรือชุมชน เสรีนิยมแบบดั้งเดิม เชื่ออย่างแรงกล้าใน “ปัจเจกชนนิยมเชิงอัตตา” ซึ่งเป็นความเชื่อที่เน้นผลประโยชน์ส่วนตนและการพึ่งตนเองของบุคคลมากกว่าผลประโยชน์ของสังคมและการพึ่งคนอื่น

ทว่าชาว เสรีนิยมสมัยใหม่ มีความเชื่อเรื่องนี้แตกต่างออกไป พวกเขาเชื่อใน “ปัจเจกชนนิยมเชิงพัฒนาการ” ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาปัจเจกบุคคลให้บรรลุศักยภาพและความสำเร็จในตนเอง โดยสร้างความตระหนักว่าปัจเจกบุคคลแต่ละคนมีคุณสมบัติเฉพาะและมีอัตลักษณ์แห่งตน ที่ทำให้เขาแตกต่างจากคนอื่น

การให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคลอย่างสูงส่ง นำไปสู่การผูกพันกับค่านิยม “เสรีภาพ” ของปัจเจกบุคคล เสรีภาพของปัจเจกบุคคลเป็นค่านิยมการเมืองที่สูงสุดของอุดมการณ์เสรีนิยม เสรีนิยมดั้งเดิม มองว่า เสรีภาพเป็นสิทธิตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นแก่นหลักสำหรับการนำไปสู่การดำรงอยู่ของมนุษย์ที่แท้จริง ทั้งยังเป็นโอกาสของบุคคลในการเลือกดำเนินชีวิต ทำงาน ตั้งถิ่นฐาน ซื้อสิ่งของ และอื่น ๆ อีกมากมาย

ชาวเสรีนิยมมองเสรีภาพเป็น ๒ แบบ แบบแรกเป็นความเชื่อของชาว เสรีนิยมแบบดั้งเดิม เรียกว่า “เสรีภาพเชิงนิเสธ” ซึ่งเป็นความเชื่อว่า เสรีภาพเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในบุคคล โดยบุคคลเป็นอิสระจากการแทรกแซงและสามารถกระทำอะไรก็ตามที่เขาเลือกแล้ว เสรีภาพแบบนี้มีเป็นเสรีภาพในเชิงลบ เพราะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการขาดหายของข้อจำกัดจากภายนอกต่อการเลือกบุคคล

สำหรับแบบที่สองเป็นความเชื่อของ ชาวเสรีนิยมสมัยใหม่ ที่เรียกว่า “เสรีภาพเชิงปฏิฐาน” หรือเสรีภาพเชิงบวก ซึ่งหมายถึง ความหมายความสามารถของบุคคลในการเป็นนายแห่งตนเองหรือความเป็นอิสระ การเป็นนายแห่งตนเองมีนัยว่า บุคคลสามารถพัฒนาทักษะและความสามารถพิเศษ ขยายความเข้าใจและบรรลุความสำเร็จ สิ่งนี้นำไปสู่การเน้นการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ในการพัฒนาตนเองและในท้ายที่สุดก็เกิดการตระหนักรู้ในตนเองขึ้นมา และเสรีภาพเชิงบวกยังคำนึงถึงผลประโยชน์และสวัสดิการของผู้อื่นด้วย ซึ่งเป็นความคิดที่ชาวเสรีนิยมยุคใหม่ได้รับอิทธิพลจากสังคมนิยม บางครั้งจึงมีเรียกชาวเสรีนิยมที่เชื่อในเสรีภาพเชิงบวกว่าเป็น “เสรีนิยมเชิงสังคม”

ค่านิยมที่สามคือ การเชื่อในเหตุผล เหตุผลเป็นมรดกทางปัญญาจากยุคแห่งการตื่นรู้ในยุโรป แก่นหลักของยุคแห่งการตื่นรู้คือ ความปรารถนาในการปลดปล่อยมนุษย์ออกจากอวิชชาและความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ เพื่อสร้างยุคแห่งเหตุผลขึ้นมา หลักคิดเหตุผลนิยมของยุคแห่งการตื่นรู้มีอิทธิพลต่อเสรีนิยมในหลายแง่มมุม อย่างแรกคือการสร้างความเข้มแข็งแก่ความศรัทธาในปัจเจกชนและเสรีภาพ เพราะว่ามนุษย์มีความสามารถในการคิดอย่างมีเหตุผล พวกเขาสามารถกำหนดได้ว่า อะไรคือสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับตนเอง และดำเนินการเพื่อให้ได้มาถึงสิ่งนั้น

ถัดมาความเชื่อในเหตุผลทำให้ชาวเสรีนิยมมีแนวโน้มต่อต้านหลักคิด “ปิตานิยม” หรือ ระบบพ่อปกครองลูก เพราะว่า ปิตาธิปไตยเป็นกำแพงกีดกั้นปัจเจกบุคคลจากการตัดสินใจเลือกเชิงจริยธรรมของตนเอง ทั้งยังเป็นเงื่อนไขให้ผู้อ้างความเป็นปิตาหรือ “คุณพ่อรู้ดี” ทางจริยธรรมฉกฉวยโอกาสใช้อำนาจในทางที่ผิดเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาเองอีกด้วย

เหตุผลนิยมยังเชื่อในความก้าวหน้าของประวัติศาสตร์ ซึ่งมาจากการขยายความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่บนพื้นฐานของเหตุผล อำนาจของเหตุผลและความรู้เปิดเส้นทางให้มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตและชะตากรรมของตนเองได้ เหตุผลยังปลดปล่อยมนุษยชาติออกจากการยึดติดกับอดีต จารีตและประเพณีที่ล้าหลัง ชาวเสรีนิยมเชื่อว่าองค์ความรู้และความเข้าใจต่อโลกและสังคมก้าวหน้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยความมีเหตุผลของมนุษย์นั่นเอง

ยิ่งกว่านั้นเหตุผล ยังให้ความสำคัญกับการอภิปราย การวิวาทะ และการโต้แย้ง ชาวเสรีนิยมเชื่อว่าความขัดแย้งของมนุษย์เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ความขัดแย้งเหล่านั้นสามารถยุติลงได้ด้วยการอภิปรายและถกเถียงกันด้วยเหตุผล ซึ่งจะนำไปสู่การเจรจาต่อรองเพื่อจัดสรรผลประโยชน์และความต้องการที่สมเหตุสมผลของแต่ละฝ่ายได้

ค่านิยมถัดมาของชาวเสรีนิยมคือ ความยุติธรรม ซึ่งมีนัยถึงความเที่ยงธรรมและความชอบธรรมในการจัดสรรรางวัลและการลงโทษภายในสังคมซึ่งครอบคลุมเกี่ยวกับเรื่องค่าจ้างแรงงาน การปันส่วนกำไร ที่อยู่อาศัย การบริการสาธารณสุข การศึกษา สวัสดิการสังคมและอื่น ๆ เสรีนิยมดั้งเดิม สนับสนุนแนวคิดระบบคุณธรรมนิยมแบบจำกัด (strict meritocracy) หรือ ระบบที่ยุติธรรมคือการให้รางวัลตามความสามารถและการทำงานหนักของปัจเจกบุคคลเป็นหลัก ในทางเศรษฐกิจพวกเขาเน้นถึงความจำเป็นของระบบแรงจูงใจที่มีต่อระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะการให้รางวัลแก่ผู้ชนะในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ในทางศีลธรรม พวกเขาเชื่อว่าความยุติธรรมคือการให้รางวัลแก่คนที่มีความสามารถสูงและทำงานหนัก

ชาวเสรีนิยมสมัยใหม่ มองเรื่องความยุติธรรมแตกต่างจากชาวเสรีนิยมดั้งเดิมในบางแง่มุมพวกเขาใช้แนวคิดความยุติธรรมของสังคม เพื่อแสดงนัยเกี่ยวกับความเชื่อในมาตรการของความเท่าเทียมทางสังคม เช่นในหนังสือเรื่อง ทฤษฎีความยุติธรรมของ จอห์น รอลส์ ระบุว่า มาตรการที่มีนัยถึงความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสามารถมีความชอบธรรมได้ก็ต่อเมื่อ มาตรการนั้นสร้างประโยชน์แก่คนจนที่สุดในสังคม

ค่านิยมประการสุดท้ายคือ การให้คุณค่าต่อ ความอดกลั้น ในความแตกต่าง ซึ่งสะท้อนการยอมรับและสนับสนุนลักษณะความเป็นพหุนิยมของสังคม ที่มีความหลากหลายของกลุ่มคน ชาวเสรีนิยมเชื่อว่า สังคมสามารถสร้างดุลยภาพระหว่างความหลากหลายของกลุ่มต่าง ๆ ได้ แม้ว่ากลุ่มเหล่านั้นจะมีการแข่งขันหรือขัดแย้งช่วงชิงผลประโยชน์ซึ่งกันและกันก็ตาม ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้แรงงานและนายจ้าง ผู้ใช้แรงงานต้องการค่าจ้างสูง ชั่วโมงทำงานน้อย และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานให้ดีขึ้น ขณะที่นายจ้างต้องการกำไรและใช้ต้นทุนต่ำ รวมทั้งค่าแรงที่ต่ำด้วย กระนั้นก็ตาม การแข่งขันเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์เหล่านี้มีมิติที่เสริมซึ่งกันและกันได้ นั่นคือ ผู้ใช้แรงงานต้องการงานทำ ส่วนนายจ้างก็ต้องการแรงงานในการผลิต กล่าวอีกแง่หนึ่งก็คือ ต่างฝ่ายต่างต้องการซึ่งกันและกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตนเองปรารถนา ในท้ายที่สุดด้วยการเจรจาอย่างมีเหตุผลและความอดกลั้น พวกเขาก็จะตกลงกันได้ในจุดดุลยภาพที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน

นอกจากค่านิยมทั้งห้าที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ประเด็นสำคัญอย่างบทบาทของรัฐ การจัดการระบบเศรษฐกิจ และความรับผิดชอบ ก็เป็นประเด็นที่ชาวเสรีนิยมดั้งเดิมกับเสรีนิยมสมัยใหม่คิดแตกต่างกัน ชาวเสรีนิยมดั้งเดิมคิดว่า รัฐควรมีบทบาทน้อยที่สุดในการเข้าไปแทรกแซงวิถีชีวิตของปัจเจกบุคคล พวกเขาสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี และมองว่าความรับผิดชอบเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่ชาวเสรีนิยมยุคใหม่ ยอมรับบทบาทของรัฐในการจัดสวัสดิการสังคม การเข้าไปจัดการกิจกรรมทางเศรษฐกิจในบางระดับ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมและป้องกันการผูกขาด และให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบทางสังคม

เมื่ออุดมการณ์แต่ละอย่างเข้ามาสู่สนามการแข่งขัน ต่างก็ถูกวิพากษ์และได้รับอิทธิพลจากอุดมการณ์อื่น ๆ ไม่มากก็น้อย ด้วยเหตุนี้ความเชื่อและค่านิยมของอุดมการณ์เสรีนิยมบางประเด็นได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามกระแสของการเปลี่ยนแปลงสังคม ทว่าอุดมการณ์เสรีนิยมนั้นเป็นอุดมการณ์ที่ทรงพลัง ดึงดูดใจ และมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้คนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางและคนหนุ่มสาวของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

สำหรับประเทศไทย อุดมการณ์เสรีนิยมมีการเติบโตและขยายตัวอย่างเชื่องช้า เพราะความเชื่อและอุดมการณ์ดั้งเดิมที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยนั้นมีพลังอำนาจสูงในการปิดกั้นการเติบโตของเสรีนิยม

อุดมการณ์เสรีนิยมปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนในเหตุการณ์เดือนตุลาคม ๒๕๑๖ ทว่าไม่อาจขยายตัวได้มากนัก ต่อมาได้ปรากฏอีกครั้งในกระแสเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี ๒๕๓๕ และหลังจากนั้นกระแสอุดมการณ์เสรีนิยมเริ่มขยายตัวมากขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา และปรากฎให้เห็นมีนัยสำคัญทางการเมืองในการเลือกตั้งเมื่อต้นปี ๒๕๖๒ ผ่านคะแนนเสียงของผู้ที่เลือกพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคที่แสดงออกถึงความคิดและความเชื่อในอุดมการณ์เสรีนิยมสมัยใหม่มากที่สุด เมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ในสนามการเมืองของการเลือกตั้งไทย

กล่าวได้ว่า สังคมไทยมีชาวเสรีนิยมดำรงอยู่ไม่น้อย และบัดนี้ดูเหมือนว่า พวกเขามีปริมาณมากเพียงพอในการเลือกพรรคการเมืองที่พวกเขาคิดว่าเป็นตัวแทนของตนเองให้กลายเป็นพรรคการเมืองที่มีที่นั่งมากเป็นลำดับสามในสภาผู้แทนราษฎร และสามารถแสดงบทบาททางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญในโลกของสภาได้ และในอนาคต คาดว่าอุดมการณ์เสรีนิยมสมัยใหม่มีแนวโน้มขยายตัวและเติบโตมากขึ้นในสังคมไทย



กำลังโหลดความคิดเห็น